ควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ
กราบเรียนถามนะคะ
ได้อ่านเจอข้อความในพระไตรปิฎกว่า "ควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ "
อยากขอคำอธิบายอย่างละเอียดในข้อความนี้ทีค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมทุกคำ เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อกล่าวถึงคำใดก็ต้องมีความเข้าใจในคำนั้นด้วย แม้แต่คำว่า อนิจจตา แปลว่า ความเป็นของไม่เที่ยง ความเป็นของไม่เที่ยงย่อมทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เกิดดับทั้งหมด ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อประมวลแล้ว ก็เป็นจิต เจตสิก และ รูป
จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป และทุกขณะของชีวิตไม่มีขณะใดเลยที่จะปราศจากจิต มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ไม่เคยปราศจากจิตเลย
เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ก็เป็นสภาพธรรมมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ สติ (สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้เกิดแล้วก็ดับไปทั้งนั้น
รูป หรือ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร รู้อารมณ์อะไรๆ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่นามธรรม รูปธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน
แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่สภาพธรรมเกิดแล้ว มีแล้วในขณะนี้จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนเป็นของชั่วคราว มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
จึงเป็นเรื่องของปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น เมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปเท่านั้น หาความเป็นแก่นสารไม่ได้ ย่อมไม่ควรแก่การยึดถือ ติดข้องยินดีพอใจ ทำให้มีการขัดเกลาละคลายความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ธรรมที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน แต่เพราะยังไม่เข้าใจ จึงขาดการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้ ครับ
..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความละเอียดลึกซึ้ง ของ คำว่า ควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ
อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยง ของสภาพธรรมที่เป็น สังขารธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยงเลย
คำว่า ควรคิดถึง การคิดถึง เป็นการคิดถึงด้วยปัญญา โดยมากจะใช้คำว่า พิจารณา ไม่ใช่ตัวเราที่จะพยายามคิดถึง หรือ พยายามจะพิจารณา แต่แล้วแต่ว่า ปัญญาจะเกิด พิจารณา ความไม่เที่ยงของสภาพธรรม หรือไม่ ซึ่งการพิจารณาอนิจจตา ความไม่เที่ยง การพิจารณาที่เป็นปัญญานั้น ก็มีหลายระดับ คือ การพิจารณา อนิจจตา ความไม่เที่ยง ที่เป็นเรื่องราวของสภาพธรรม เช่น พิจารณาว่า สิ่งต่างๆ ไม่เที่ยง แตกสลายไปเป็นธรรมดา ไม่มั่นคง ยั่งยืน และเมื่อเกิดมา ก็ต้องแก่และตาย ไม่เที่ยง เป็นธรรมดา นี่ เป็นการพิจารณาด้วยปัญญาระดับต้น พื้นฐาน ในความไม่เที่ยง ที่เป็นเพียงเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ไม่ได้ประจักษ์ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมจริงๆ ครับ และการพิจารณาความไม่เที่ยง ที่เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง เป็นปัญญาระดับสูง คือการประจักษ์ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นและดับไปในขณะนี้ ขณะนี้ เห็น เห็นจะต้องดับไป จึงจะได้ยินได้ แต่ขณะนี้ เห็น กับได้ยิน พร้อมกันเลย เห็นไม่ได้ดับไปเลย แสดงถึงการยังไม่ได้ประจักษ์ตัวลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ซึ่งจะประจักษ์ อนิจจตา ได้ ก็ด้วยปัญญาระดับวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ จึงจะรู้ การเกิดดับ ความไม่เที่ยงขอสภาพธรรมได้ ครับ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น จะต้องเริ่มจาก ปัญญาขั้นต้น คือ ปัญญาขั้นการฟังให้เข้าใจ ในเรื่องราวของสภาพธรรม เมื่อปัญญา เจริญขึ้น ย่อมรู้ความจริงของสภาพธรรม โดยเริ่มต้นรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ก่อน ยังไม่ถึงการประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ครับ
จะเห็นนะครับว่า ปัญญา มีหลายระดับ และการประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นอนิจจตา ความไม่เที่ยง จริงๆ ต้อเงป็นปัญญาระดับสูง ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นและดับไปอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงคิดนึกเป็นเรื่องราวราวที่ว่า เราเกิดมาต้องตาย เป็นต้น เท่านั้น ครับ เพราะถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เกิดดับ การเกิด การแก่ และการตายก็ไม่มีเลย
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม หลากหลายนัย และให้ผู้ได้ศึกษา ได้อ่าน ได้พิจารณาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยพระองค์ได้แสดงพระธรรม ให้สัตว์โลกได้พิจารณาเนืองๆ อีก ๕ ประการ คือ
๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
การพิจารณา ธรรม ๕ ประการ และการพิจารณา ความไม่เที่ยง ประโยชน์ที่พระองค์ให้พิจารณา เพื่อ งดเว้นจากบาป การกระทำอกุศลธรรม อันอาศัยความมัวเมาในหนุ่มสาว ความไม่แก่ มัวเมา ประมาทว่าตนเองไม่มีโรค และมัวเมาว่าตนเองอาจจะอายุยืน เป็นต้น ก็จะทำให้ทำกุศลธรรม เจริญกุศล งดเว้นจากบาปอกุศล เพิ่มมากขึ้น ครับ
ซึ่ง แม้เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาด้วยปัญญา แต่ต้องไม่ลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แล้วแต่ครับว่า ปัญญาจะเกิดหรือไม่ แม้จะเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาก็ตาม ซึ่ง การพิจารณาด้วยความเห็นถูก ด้วยปัญญาจะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยการอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น จะทำหน้าที่เอง คือจะเกิดพิจารณาในสภาพธรรมด้วยความเห็นถูก โดยไม่มีเราที่จะไปพิจารณา ครับ หน้าที่คือ การฟังพระธรรมต่อไป
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ธรรมที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน แต่เพราะยังไม่เข้าใจ จึงขาดการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้ ครับ
"ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น, อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ
อนิจจตา การพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ถึงความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง แม้ในครั้งพุทธกาล อุบาสิกาคนหนึ่งกำลังทำบุญถวายทานกับพระภิกษุ ขณะนั้นก็มีคนส่งจดหมายมาบอกว่าสามีถูกคนฆ่าตาย หลังจากนั้นไม่นานอุบาสิกาก็ทำของตกแตก พระสารีบุตรบอกว่า เป็นธรรมดาที่สังขารทั้งหลายมีความแตกไปเป็นธรรมดา อุบาสิกากล่าวว่า อย่างนั้นเจ้าค่ะ แม้สามีของดิฉันเพิ่งตายไป ดิฉันก็ไม่เศร้าโศกเพราะพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ค่ะ