ผู้ป่วยหนักระยะสุดท้าย

 
daris
วันที่  7 พ.ค. 2555
หมายเลข  21087
อ่าน  35,425

กราบเรียนอาจารย์และท่านผู้รู้ครับ

เหตุที่ตั้งกระทู้นี้เพราะวันนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณย่าของเพื่อนคนหนึ่งอายุ ๙๐ ปีแล้ว ท่านเป็นโรคหัวใจต้องรับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดเป็นประจำ แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ ท่านได้พลัดตกเตียงศีรษะกระแทกจนมีเลือดออกในสมองปริมาณมาก และสมองบวม ตอนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และความรู้สึกตัวลดลง ตอบสนองต่อการกระตุ้นแรงๆ เท่านั้น

ได้เห็นท่านในสภาพใส่ท่อช่วยหายใจ มีสายน้ำเกลือระโยงระยาง แขนทั้งสองข้างก็บวมมากอาจเพราะติดเชื้อ ก็ระลึกได้ว่าเมื่อชาติก่อนๆ เราก็คงเคยประสบความทุกข์ทรมานแบบนี้ก่อนที่จะเสียชีวิต บางชาติอาจจะทรมานยิ่งกว่านี้เสียอีก และแม้ชาตินี้ก็มีโอกาสต้องทรมานเช่นนี้เช่นกัน

แต่คนที่เป็นทุกข์โทมนัสมากเช่นกันก็คือลูกหลานของเขา ที่ต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา

วันนี้จึงอยากขอสนทนาเพื่อขอความรู้เกี่ยวกับการตัดสินใจรักษาหรือไม่รักษาผู้ป่วยวิกฤต (ได้ลองค้นในกระทู้เก่าแล้วได้ความรู้ขึ้นมาก แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ยังข้องใจ)

คิดว่าสำคัญและน่ากลัวมาก เพราะยิ่งคนที่ตัดสินใจเป็นลูกก็มีโอกาสเป็นอนันตริยกรรมได้ เพราะจิตเกิดดับเร็วมากอาจจะมีเจตนาให้คนไข้เสียชีวิตเกิดแทรกขึ้นในความหวังดีเมื่อไหร่ก็ได้ โดยจะขออนุญาตสนทนาเป็นประเด็นๆ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน

ประเด็นที่ ๑ "รักษาที่โรงพยาบาลหรือรักษาที่บ้าน"

ขอยกตัวอย่างกรณีของคุณย่าเพื่อนนะครับ ในเคสแบบ ถ้าจะพูดกันตรงๆ ในมุมมองของแพทย์ผู้รักษา (และแพทย์ส่วนใหญ่) คงจะต้องพูดตรงๆ ว่า "โอกาสรอดชีวิตน้อยเต็มที" เพราะปัจจัยทั้งอายุที่มาก ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่ก่อน และโรคก็รุนแรงมาก ตอนนี้ถึงจะอาการทรงตัวอยู่ แต่ต่อไปก็มีแนวโน้มจะทรุดลง ทั้งจากตัวโรค ทั้งจากการแทรกซ้อนจากการอยู่โรงพยาบาลคือการติดเชื้อ

ทางเลือก คือ รักษาประคับประคองที่โรงพยาบาลต่อไป (เครื่องช่วยหายใจ น้ำเกลือ อาหารทางสายยาง ยาฆ่าเชื้อ) หากอาการทรุดลงก็รักษาไปตามอาการ หรือ ำไปรักษาที่บ้านตามอาการ ให้เพียงยาเพื่อให้ลดความทรมานเช่นยาแก้ปวด ให้อาหารทางสายยาง โดยจุดประสงค์คือให้ทุกข์ทรมานน้อยที่สุดก่อนเสียชีวิต แต่แน่นอนว่าวิธีนี้ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตเร็วขึ้นเพราะการรักษาที่บ้านยังไงก็คงไม่ดีเท่าที่โรงพยาบาลในแง่ของการยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้

คำถาม คือ หากญาติตัดสินใจพาคนไข้กลับไปรักษาที่บ้าน มีโอกาสเป็นปาณาติบาตหรือไม่ หากมีเจตนาที่จะให้ผู้ป่วยอยู่อย่างสบายขึ้นที่บ้านที่คุ้นเคย (แต่ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวแล้ว) และต้องการให้ผู้ป่วยทรมานน้อยลง แต่ญาติเองก็รู้ว่าหากรักษาที่บ้านก็มีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าที่โรงพยาบาล

กราบขอความรู้ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ในที่สุดแล้วทุกคนก็จะละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะไปก่อนใครเท่านั้นเอง และไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าจะเป็นเมื่อใดจากประเด็นคำถามของคุณหมอ ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาทีเดียว จะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ ต้องดูที่เจตนา ว่ามีเจตนาที่จะให้ตายหรือไม่ ถ้ามีเจตนาที่จะทำให้สิ้นชีวิตนั้นเป็นปาณาติบาต แต่เมื่อพิจารณาจากคำกล่าวเบื้องต้น ไม่ได้มีเจตนาฆ่า ไม่มีเจตนาที่จะให้สิ้นชีวิต แต่ก็ได้มีการประคับประคองรักษาให้ผู้ป่วยทรมาน้อยลง ด้วยการรักษาพยาบาลที่บ้าน มีเจตนาที่จะรักษา และการรักษาที่บ้านบางครั้งบางคราวอาจจะได้ผลดีกว่าการรักษาที่โรงพยาบาล ก็ได้

และที่สำคัญไม่มีใครรู้ว่าใครจะสิ้นชีวิตช้าหรือเร็ว ได้ ทางที่ดีที่สุดแล้ว ในฐาะที่เป็นผู้ดูแลรักษาก็ควรกระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด รักษาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จะเป็นปาณาติบาต หรือ จะเป็นบาปที่เป็นอกุศลกรรมหรือไม่ สำคัญที่สุด คือ เจตนาครับ คือ มีเจตนาฆ่าหรือไม่ หากมีเจตนาฆ่า และผู้นั้นตายเพราะการฆ่า ชื่อว่าเป็นปาณาติบาต หากทำกับ บิดา มารดา เป็นอนันตริยกรรม แต่ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเจตนาอย่างอื่น ไม่เป็นปาณาติบาต ครับ ดังนั้นจะต้องพิจารณาที่จิตของผู้นั้นว่า มีเจตนาอย่างไร

พระพุทธเจ้า เมื่อจะพยากรณ์ว่า ภิกษุรูปนี้ ต้องอาบัติปาราชิก ข้อที่ฆ่ามนุษย์หรือไม่ ที่เป็นปาณาติบาต พระภิกษุรูปนั้นก็จะกราบทูลเล่าเหตุการณ์ให้พระพุทธเจ้าฟัง พระพุทธเจ้าจะไม่พยากรณ์ทันทีว่า เธอต้องอาบัติปาราชิก หรือ ไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่จะถามภิกษุรูปนั้น ว่าเธอคิดอย่างไร คือ เธอมีเจตนาอย่างไร ภิกษุรูปนั้นก็จะทูลตอบพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์มีเจตนาฆ่าภิกษุณุปนั้นพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว แต่ถ้าภิกษุรูปนั้น ทูลตอบว่า ข้าพระองค์ไม่ได้มีเจตนาฆ่าภิกษุรูปนั้นพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก คือ ไม่เป็นปาณาติบาตในการฆ่ามนุษย์ ครับ

สำหรับเหตุการณ์ที่ผู้ถามเล่ามานั้น ก็ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ ว่ามีเจตนาอย่างไร หากมีเจตนาที่ประสงค์ให้ ผู้ป่วยตายเร็วขึ้น เพื่อที่จะได้สบาย ไม่ทรมาน นี่ก็เท่ากับว่ามีเจตนาฆ่าแล้ว เมื่อผู้ป่วยตาย เพราะ ให้กลับมาบ้าน เพื่อมีความประสงค์ให้ตายเร็ว เป็นปาณาติบาตแล้ว เพราะมีเจตนาฆ่า เป็นสำคัญ แต่ ถ้ารู้ว่า อย่างไรก็ตาย แต่ไม่อยากให้คนไข้ต้องติดเชื้อ ที่โรงพยาบาล และพยายามรักษาที่บ้าน ตามอาการที่สำคัญ เพื่อความสุขของคนไข้ ที่อยากอยู่กับญาติ คนใกล้ชิด และอยากอยู่บ้านของตนเอง อันนี้ไม่เป็นปาณาติบาต แม้รู้ว่า ที่บ้านอาจจะมีโอกาสสิ้นชีวิตได้ง่ายกว่า เพราะไม่มีเจตนาฆ่านั่นเองครับ แต่มีเจตนาให้อยู่กับบ้าน กับคนคุ้นเคย เจตนาให้มีความสุขที่ไ้ด้อยู่กับคนที่บ้าน แม้จะรู้ว่ามีโอกาสอยู่ได้น้อยกว่าโรงพยาบาล แต่เจตนาฆ่าไม่มี ครับ

แต่ถ้า มีเจตนาให้ตายเร็วขึ้น เพราะไม่อยากให้ทรมาน จึงให้ไปอยู่บ้าน เจตนาฆ่ามีแล้ว ส่วนความหวังดี ที่ไม่อยากให้ทรมาน ก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่ง ดังนั้น ต้องพิจารณาจิตในขณะนั้นว่า มีเจตนาอย่างไร ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 9 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"จะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ ต้องดูที่เจตนา ว่ามีเจตนาที่จะให้ตายหรือไม่"

"ที่สำคัญ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะสิ้นชีวิตช้าหรือเร็ว ได้" ทางที่ดีที่สุดแล้ว ในฐาะที่เป็นผู้ดูแลรักษาก็ควรกระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด รักษาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 9 พ.ค. 2555

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่น อาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายอย่างกระจ่างชัดครับ

ขออนุญาตถามในประเด็นต่อไป

ประเด็นที่ ๒ "ช่วยแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเต็มที่"

ข้อนี้เป็นเหตุการณ์ที่พบบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือเมื่อเมื่ออาการของผู้ป่วยแย่ลงมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดเข้าสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest) ปกติหากผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะนี้แล้ว ทีมแพทย์พยาบาลก็ต้องช่วย โดยการช่วยทั่วๆ ไปคือการทำ CPR (cardiopulmonary resuscitation) โดยมีกระบวนการทั่วไปที่ประกอบด้วย

๑. การใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้อุปกรณ์บีบลมเข้าปอด

๒. การกดหน้าอก (ปั๊มหัวใจ) โดยผู้ทำการปั๊มใช้มือสองข้างวางที่กลางอกแล้วใช้น้ำหนักตัวกดเป็นจังหวะเพื่อให้ดันเลือดจากหัวใจให้ไปเลี้ยงร่างกายได้

๓. การให้ยาต่างๆ เพื่อให้หัวใจบีบตัวดีขึ้น หรือยาที่ทำให้หัวใจเต้นเป็นจังหวะดีขึ้น (กรณีหัวใจหยุดเต้นเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง)

๔. การใช้เครื่องกระตุกหัวใจ เป็นการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นปกติอีกครั้ง โดยวิธีนี้จะทำให้ร่างกายของคนไข้กระตุกอย่างแรง และหากคนไข้ยังรู้สึกตัวอยู่ก็จะเจ็บปวดเหมือนโดนไฟฟ้าชอร์ต

๕. การช่วยอื่นๆ เช่นการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม การติดเครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นจังหวะ

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่มีโรครุนแรงอยู่แล้วเช่นมะเร็งระยะสุดท้าย หากช่วยด้วยวิธีดังกล่าว หัวใจก็อาจกลับมาเต้นเองได้ แต่ท้ายที่สุดก็มักจะอาการแย่ลงอีก หัวใจหยุดเต้นอีก ก็ต้องเริ่ม CPR อีกรอบ (เคยทราบว่ามีผู้ป่วยบางท่านได้รับการทำ CPR 6-7 ครั้ง เพราะลูกหลานยืนยันว่าต้องการและมีความหวังให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม)

คำถามคือ ช่วยแค่ไหนถึงจะเต็มที่ โดยแพทย์มักจะให้ญาติเป็นผู้เลือกว่าต้องการให้ช่วยแค่ไหน โดยมีตั้งแต่

-- ช่วยเต็มที่ทุกวิถีทาง ทั้งใส่ท่อ ปั๊มหัวใจ กระตุกหัวใจ ใช้ยา ทุกอย่างที่ทำได้

-- ให้ใส่ท่อช่วยหายใจได้ กรณีที่หายใจเองไม่ได้ แต่หากหัวใจหยุดเต้นแล้ว ไม่ต้องปั๊มหัวใจ ไม่ต้องกระตุกหัวใจ แค่ให้ยากระตุ้นหัวใจ

-- ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ปั๊มหัวใจ ไม่กระตุกหัวใจ แต่ใช้ยากระตุ้นหัวใจได้

-- ไม่ให้การช่วยเหลือพิเศษนอกจากการประคับประคองให้ผู้ป่วยสบายที่สุด คือให้ยาแก้ปวด ให้ออกซิเจน ยาระงับประสาทให้ลดความกระวนกระวาย

คงจะคล้ายๆ กับประเด็นที่แล้วว่าหากช่วยเต็มที่ ก็จะยื้อชีวิตไปได้ระยะหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดผู้ป่วยก็จะแย่ลงอีก และจนท้ายที่สุดญาติก็ต้องให้การตัดสินใจว่าแค่ไหนถึงจะพอ แค่ไหนถึงจะหยุดช่วยชีวิต

ขอความกรุณาอาจารย์ให้ความรู้ความกระจ่างด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

ประเด็นการช่วยเหลือย่างไร กับคนไข้ ให้เต็มที่ ซึ่ง ทางการแพทย์ก็จะมีกฎระเบียบ เป็นขั้นตอนอยู่แล้วครับว่า ควรช่วยอย่างไร ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาเป็นโรคๆ ไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องช่วยเต็มที่ จนถึงที่สุด ให้เขามีชีวิตต่อไปให้ได้ ถ้าเรามองสั้นๆ ก็ดูเหมือนว่า ทรมานคนไข้ใช่ไหม ครับ

แต่ในความเป็นจริงนั้น ภพหน้าที่จะไม่เกิดไม่รู้เลย และโดยมาก พระพุทธเจ้าแสดงไว้ครับว่า เมื่อบุคคลตายจากเป็นมนุษย์โดยมาก เกิดในอบาย มี นรก เป็นส่วนใหญ่ เปรียบเหมือนแผ่นดินทั้งหมด คือ จำนวนมนุษย์ ผู้ที่จะไปเกิดในสุคติ เท่าปลายฝุ่นที่ติดอยู่ในเล็บ แต่ผู้ที่ไปเกิดในอบายเท่ากับแผ่นดินทั้งหมด นี่แสดงถึง โอกาสที่จะไปอบายภูมิ มีนรก สูงมาก เพราะโดยมากสัตว์โลกประกอบอกุศลกรรม มากกว่า กุศลกรรม ดังนั้น นรก ทรมานร้ายแรงกว่า การที่เป็นมนุษย์ แต่ป่วยหนักอยู่ หลายแสนเท่า หาประมาณไม่ได้การช่วยเท่าที่ทำได้ ให้มีชีวิตอยู่ จึงเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง ครับ

ซึ่งในพระไตรปิฎก ก็แสดงไว้ครับว่า มีบุรุษคนหนึ่ง ถูกเสียบหลาวทั้งเป็น ทรมานมาก ถ้าเราเป็นคนที่ใกล้ชิด ก็คงอยากให้เขาพ้นทุกข์ไวๆ โดยตายเร็วๆ แต่ เปรตที่เป็นญาติ กลับมาบอก บุรุษนั้นว่า ท่านอย่าเพิ่งตายเลย จงมีชีวิตอยู่เถิด เพราะท่านจะต้องตกนรก เมื่อตายไป ซึ่งทรมานกว่า การถูกเสียบหลาวหาประมาณไม่ได้ครับ ดังนั้น การช่วยเต็มที่ให้มีชีวิต คือ วิธีที่ดีที่สุด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 9 พ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาให้ความกระจ่างครับ

ขออนุญาตถามอีกสองประเด็นครับ

ประเด็นที่ ๓ "เกี่ยวกับพินัยกรรมชีวิต (living will) " หรือ หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

โดยในผู้ป่วยระยะสุดท้ายเช่นมะเร็งแพร่กระจาย แพทย์อาจพิจารณาหารือกับผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยยังมีความสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ เกี่ยวกับการรักษา ในระยะสุดท้ายของชีวิตว่าผู้ป่วยต้องการให้มีการช่วยชีวิต (CRP) ตามขั้นตอนในประเด็นที่ ๒ หรือไม่ หากผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่อยากทรมานจากการช่วยชีวิตก็จะเซ็นพินัยกรรมเป็นคำสั่งว่าห้ามมีการช่วยชีวิตโดยวิธีต่างๆ (ไม่ให้ใส่ท่อ ไม่ให้ปั๊มหัวใจ ไม่ให้กระตุกหัวใจ) แพทย์ก็จะรักษาโดยเพียงประคองอาการ ให้ยาระงับปวด ยาระงับประสาท และการรักษาอื่นๆ ที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทรมาน จนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยโรคของเขาเอง อยากทราบว่าเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ครับ เพราะจากที่อาจารย์ผเดิมได้อธิบายในประเด็นที่ ๒ ไว้ ว่าควรจะช่วยผู้ป่วยเต็มที่ หากเราเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายซะเองแล้วเราควรจะทำพินัยกรรมชีวิตลักษณะนี้หรือไม่

และสมมติเหตุการณ์ว่า นาย ก. เป็นบุตรของ นาย ข. ซึ่งเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่ง นาย ข. ได้ทำพินัยกรรมชีวิตไว้ว่าห้ามมีการ CPR ในระยะสุดท้ายของชีวิตของเขา เมื่อถึงคราวที่ นาย ข. จะจากไปจริงๆ หัวใจหยุดทำงาน แพทย์จะไม่ทำการ CPR ตามคำสั่งในพินัยกรรม และนาย ก. ก็ไม่ร้องขอให้แพทย์ช่วย (ทั้งๆ ที่หากญาติ สามารถหาเหตุผลที่ฟังขึ้นมาบอกแพทย์ให้เชื่อได้ว่า ณ ขณะนั้น นาย ข. อาจเปลี่ยนใจอยากให้ช่วยเหลือให้มีชีวิตต่อ เช่น มีหลานเพิ่งเกิด นาย ข. น่าจะอยากพบหน้าหลานก่อนเสียชีวิต ... เช่นนี้แล้วแพทย์สามารถให้การช่วยเหลือโดยขัดคำสั่งในพินัยกรรมได้) เพราะต้องการให้บิดาจากไปอย่างสงบ ตามเจตนาแรกของบิดา เช่นนี้แล้วถือว่า นาย ก. ได้ทำอนันตริยกรรมหรือไม่ครับ

ประเด็นที่ ๔ "ดูจากแค่ร่างกายภายนอกเราสามารถบอกได้หรือไม่ว่าจุติจิตของบุคคลนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว"

ขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jesse
วันที่ 9 พ.ค. 2555

เป็นหัวข้อที่มีประโยชน์มากๆ ค่ะ

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ

ตอบประเด็นที่ ๓ และ ๔ ครับ

การช่วยผู้ป่วย ก็ต้องช่วยเต็มที่ตามที่กล่าวมา ครับ เพราะ ไม่ว่าจะอย่างไร จะช่วยเต็มที่เท่าไหร่ มีการกระตุ้นหัวใจ สุดท้าย ก็ต้องจากไปแน่นอน และก็สามารถให้ยาระงับการทรมานต่างๆ ได้ แม้จะช่วยอยู่ ส่วนการทำพินัยกรรม ก็สามารถทำได้ เพราะเมื่อเราเข้าใจถึงความเป็นอนัตตา แม้เราจะทำพินัยกรรม แต่เมื่อถึงเวลานั้น เวลาที่เกิดโรคกับเราจริงๆ ญาติของเรา ก็อาจจะปล่อยไปตามพินัยกรรมที่ได้ทำไว้ หรือไม่ปล่อยก็ได้ ซึ่ง ก็ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความเป็อนัตตา ครับ

ส่วนประเด็น เรื่องการที่ บุตร ไม่ยอมรักษาบิดา เพราะ บิดาทำพินัยกรรมที่จะไม่ให้ช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ญาติของร้อง ก็ไม่ทำ ประเด็นนี้ละเอียดมากครับ เราควรแยกระหว่าง การมีเจตนาฆ่า กับ เจตนาไม่ช่วยเหลือครับว่าแตกต่างกัน

อย่างเช่น คนที่ตกน้ำ เราว่ายน้ำเป็น แต่เราไม่ช่วย เพราะกลัวจมไปด้วย หรือ แม้อยากให้เขาตาย จึงไม่ช่วย ไม่เป็นปาณาติบาต เพราะ การตกน้ำ ไม่ได้เกิดจากเจตนาฆ่าของบุคคลนั้น และไม่ได้เป็นความพยายามและเป็นการกระทำของคนที่ไม่ช่วยให้ตกน้ำ (ไม่มีความพยายามที่จะฆ่าทางกาย) ส่วนสัตว์นั้นตาย เพราะ การกระทำของตนเอง ไม่ใช่ผู้ไม่ช่วย จึงไม่เป็นปาณาติบาต ครับ เช่นเดียวกัน การที่บุตร ไม่รักษาบิดา ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ตามพินัยกรรม คือ ไม่ปั๊มหัวใจต่อ เพราะรู้ว่าบิดา ได้ตายแล้ว คือ หัวใจหยุดเต้นแล้ว (บุตรสำคัญว่าบิดาตายแล้วจริง) ไม่ได้มีเจตนาฆ่า ครับ เพราะ ไม่ใช่ผู้ที่ทำการฆ่า พยายามฆ่าเสียเอง แต่เป็นเพราะโรคทำให้สิ้นชีวิต หัวใจหยุดเต้น การไม่ช่วย จึงไม่ได้หมายความว่า มีเจตนาฆ่า ครับ แต่หากว่าบิดา หัวใจยังไม่หยุดเต้นแต่หาวิธีทำให้หัวใจหยุดเต้นเร็วขึ้น ด้วยมีเจตนาฆ่า อันนี้เป็นปาณาติบาตแน่นอนครับ

ส่วนการจะรู้ว่า จุติเกิดหรือไม่นั้น ดูเพียงภายนอกไม่ได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
daris
วันที่ 10 พ.ค. 2555

พระธรรมละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาช่วยอธิบายอย่างกระจ่างชัดครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ทุกครั้งที่เห็นคนป่วย คนชรา ก็เป็นเครื่องหมายเตือนให้เราทำความดี ไม่ประมาท ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kinder
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
tanakase
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Khun
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ถึงตอนนี้ สิ่งที่ดีที่สุด ที่เราจะทำให้คนป่วยได้ คือ การให้คนป่วยได้ระลึกถึงบุญกุศลที่คนป่วยได้เคยทำมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตัวอย่างเช่น "วันนั้นคุณย่าได้ถวายจีวร ปลื้มมากเลย พระได้ทรงจีวรของย่าด้วย" หากคุณย่าจำไม่ได้หรือไม่รับรู้แล้ว เราคงจะพูดกันเองอยู่ข้างๆ ในสิ่งที่ทำให้คนฟังเกิดกุศลในใจขึ้นมา หรือให้คุณย่ามีส่วนร่วม เช่น วันนี้วันพระ เราได้ซื้อพวงมาลัยมาถวายพระ ก็เอาพวงมาลัยมาไว้ที่มือคุณย่าแล้วบอกให้คุณย่าไหว้พระนะ เราจะนำไปไหว้พระหรือไว้หิ้งพระ จะทำทุกวันก็ได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
aiatien
วันที่ 11 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
wanipa
วันที่ 11 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณผู้ที่ตั้งหัวข้อนี้ และขอขอบพระคุณอาจารย์ khampan.a และอาจารย์ paderm ที่กรุณาให้คำตอบได้อย่างละเอียด เห็นด้วยค่ะ ธรรมมีความละเอียดลึกซึ้งจริงๆ

ขออนุโมทนาในกุศลบุญค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
rrebs10576
วันที่ 11 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
jaturong
วันที่ 14 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
peem
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
Rattiya
วันที่ 6 ก.ค. 2563

ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
isme404
วันที่ 16 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Dusita
วันที่ 3 มี.ค. 2564

กราบ อนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
สิริพรรณ
วันที่ 9 มี.ค. 2564

เป็นหัวข้อที่มีประโยชน์มากค่ะ ทุกชีวิตเกิดแล้วต้องตายด้วยผลของกรรม ขณะที่ยังอยู่ก็ควรเมตตากัน ช่วยเหลือกัน สิ่งที่เกื้อกูลกันที่ประเสริฐที่สุด คือการได้ให้รู้ความจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความพ้นทุกข์จากภัยทั้งหลายที่มาจากการเกิดด้วยความไม่รู้

กราบขอบพระคุณอาจารย์อาจารย์วิทยากรทั้ง 2 ท่านด้วยความเคารพ และขอบคุณผู้ตั้งคำถาม และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
Witt
วันที่ 17 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ