การเห็นรูปในขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

 
samroang69
วันที่  7 พ.ค. 2555
หมายเลข  21088
อ่าน  1,326

ขอรบกวนถามสักหน่อยครับว่า เคยได้ยินว่าเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ในขณะที่เห็นรูปและยังไม่ทันรู้ว่าเป็นรูปอะไร คือเห็นสีนั้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ครับ ถ้าเกิดร่วมด้วยนั้นจะเป็นเจตสิกประเภทใดครับ มีลักษณะอย่างไรครับ

ขอคำอธิบายด้วยนะครับ

ขอบคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 7 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เกิดร่วมด้วยเสมอตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ สำหรับในขณะที่เห็น ก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง คือ จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) เกิดขึ้นรู้สี หรือ รูปารมณ์ จักขุวิญญาณ มีเจตสิก เกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ได้แก่ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) เจตนา (จงใจขวนขวายให้ธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจของตนๆ ) เอกัคคตา (ตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพธรรมเป็นใหญ่ในการรักษาธรรมที่เกิดพร้อมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการะ (สภาพธรรมที่ใ่ส่ใจในอารมณ์) เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ รู้อารมณ์เดียวกันกับจักขุวิญญาณ อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจักขุวิญญาณและดับพร้อมกับจักขุิวิญญาณ

นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้ แม้แต่จักขุวิญญาณ ก็บังคับให้เกิดไม่ได้ ไม่มีใครทำเห็นให้เกิดขึ้นได้ แต่เห็นก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เราที่เห็น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 7 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจพื้นฐานการทำหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่างครับ ว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น และเป็นสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ความหมายคือ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ มาประชุมรวมกัน จึงเกิดขึ้นได้ ครับ

ยกตัวอย่าง จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง จิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย คือ อาศัยสภาพธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย จิตจึงจะเกิดขึ้นได้ จิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เป็น เจตสิกเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกันและดับพร้อมกัน ซึ่งเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ และเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ปรุงแต่งอะไร คือ ปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้นนั่นเอง ครับ ดังนั้น เพราะมีเจตสิก จิตจึงเกิดขึ้นได้ และเพราะมีจิต เจตสิกจึงเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ธรรมทั้งสองอย่างจึงไม่แยกกันเลย ครับ

แต่จิต มีหลายประเภท ที่มีหลายประเภท เพราะ มีเจตสิกหลายประเภท จิตมีทั้งหมด ๘๙ โดยละเอียด มี ๑๒๑ ส่วนเจตสิกมี ๕๒ เจตสิก ซึ่ง จิตที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทที่เกิดร่วมด้วย ครับ

จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้กระทบสัมผัส

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 7 พ.ค. 2555

ขณะที่เห็นรูป อะไรเห็น ไม่ใช่เราที่เห็น แต่เป็นจิตที่เห็น จิตเห็นที่เกิดขึ้นเรียกว่า จักขุวิญญาณจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท คือ

๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์

๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์

๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์

๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์

๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้

๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์ ไม่ใช่เพียง ขณะที่เห็นรูปเท่านั้น ที่มีเจตสิก ๗ ประเภท ขณะที่ได้ยินเสียง แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรเลย ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ขณะที่ได้กลิ่น แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับจิตได้กลิ่นนั้น ๗ ประเภท ครับ

ขณะที่เห็นรูป จิตเห็น เป็นจิตชาติวิบาก คือ เป็นผลของกรรม ที่มีในชีวิตประจำวัน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 7 พ.ค. 2555

ซึ่งโดยปกติของปุถุชนแล้ว ย่อมสำคัญการเห็นว่าเป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน ไม่ได้รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ในชีวิตประจำวัน จึงควรสำเหนียกครับว่า ได้ประโยชน์จากการเห็นหรือไม่ หรือ เมื่อเห็นแล้ว แต่ก็ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส มีความติดข้องในสิ่งที่เห็น และก็ตกอยู่ในอำนาจของโมหะ คือ ความไม่รู้ แม้ขณะที่กำลังเห็นเป็นปกติ ว่าเห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมไม่ใช่เรา

พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ตัวจริง ขณะที่เห็น และ สิ่งที่เห็นและสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิตเห็น คือ เจตสิกต่างๆ และแสดงพระอภิธรรม เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจว่า เป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง (อภิธรรม) คือ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะได้ คือ ไม่ว่าใครเห็น คน สัตว์ ก็เป็นแต่เพียงเห็น ทำหน้าที่เห็นสีเท่านั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสัจจะ และไม่ว่า จะเป็นเห็นที่ไหน ที่บนโลก บนดวงจันทร์ บนสวรรค์ เห็นก็เป็นแต่เพียงเห็น เป็นจิตเห็นเท่านั้น ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตเห็น ก็ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะอีกเช่นกัน นี่แสดงถึง อภิธรรม ธรรมที่ละเอียดยิ่ง และ แสดงถึง ความไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ดังนั้น การศึกษาอภิธรรม การศึกษาเรื่องสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก คือ เพื่อถึงตัวจริงของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก ในขณะนี้ ที่เป็นการแสดงถึงความไม่มีตัวตน ไม่มีเราที่เห็น ได้ยิน คิดนึกเลย ล้วนแล้วเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ครับ

เพราะฉะนั้น ทุกคนเห็นแล้ว และก็จะต้องเห็นต่อไป ตราบใดที่ยังมีกิเลส แต่เห็นแล้ว ตกอยู่ในอำนาจความไม่รู้ เมื่อสำเหนียอย่างนี้แล้ว จึงเห็นประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะ ปัญญาที่เจริญขึ้นในอนาคตกาล ย่อมจะทำให้เข้าใจเห็น ที่เกิดขึ้นหนึ่งขณะ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา นั่นเป็นขณะที่ประเสริฐสูงสุด และ ชื่อว่า ได้ประโยชน์จากการเห็นจริงๆ ประโยชน์ คือ เห็นแล้วเข้าใจลักษณะธัมมะ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
samroang69
วันที่ 8 พ.ค. 2555
ขอบคุณ และขออนุโทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 8 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"จิตและเจตสิกเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์และเกิดร่วมกัน เจตสิกเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิตและเกิดที่เดียวกับจิต คือจิตเกิดดับที่ไหนเจตสิกก็เกิดดับที่นั่น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิตก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่มีลักษณะและหน้าที่ในการรู้อารมณ์นั้นต่างกันไปตามลักษณะและกิจการงานของเจตสิกแต่ละประเภท"

"จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้กระทบสัมผัส"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น, อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 9 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 10 พ.ค. 2555

ทันทีที่เห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ดวง เราเรียนรู้ชื่อได้ แต่ลักษณะจริงๆ ของเขาต้องปรากฏกับปัญญาของผู้แสดง เช่น พระพุทธเจ้า ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ