คำถามเกี่ยวกับ พรหมชาละ ธรรมชาละ ทิฎฐิชาละ

 
peeraphon
วันที่  15 พ.ค. 2555
หมายเลข  21117
อ่าน  5,037

เรียน ท่านอาจารย์ครับ

ผมมีข้อสงสัย เรื่อเกี่ยวกับ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร.

เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุปปิยปริพาชก กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า. หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงธรรมที่เกี่ยวกับ ทิฏฐิ ๖๒. ซึ่งมีเยอะมาก หลายๆ ข้อ ไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ จับใจความได้ว่า เป็นทิฏฐิ ความเห็นผิด ของพราหมณ์ ในสมัยครั้งพุทธกาล ที่กล่าวถึง สัญญา และ นิพพาน. แต่ อยากจะให้ท่านอาจารย์ ช่วยอธิบาย เนื้อหาใจความที่เป็นแก่น จากพระสูตรนี้หน่อยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 16 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วยพระองค์เอง แล้วทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้สัตว์โลกให้รู้ตาม จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น จากการได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง สิ่งที่พระองค์ทรงแสดง ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริง แม้แต่ความเห็นผิด ก็มีจริง เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งมีหลากหลาย ตามการสะสมของผู้ที่มีความเห็นผิด ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ความเห็นที่ผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม คือ มิจฉาทิฏฐิ ในพรหมชาลสูตร พระองค์ทรงแสดงว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดประการต่างๆ ไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุที่มีความเกิด จึงมีความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจและความคับแค้นใจ ชนเหล่านั้น ย่อมติดอยู่ในข่ายแห่งความเห็นผิด เหมือนปลาติดข่าย ฉะนั้น

แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น กิเลสใดๆ ไม่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อีกเลย ทรงดับตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ได้แล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

พรหมชาลสูตร เป็นพระสูตรที่ยาวมาก พระองค์ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า ธรรมปริยายนี้ ชื่อว่า อรรถชาละ (เพราะทรงแสดงประโยชน์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า)

ชื่อว่า ธรรมชาละ (เพราะทรงแสดงธรรมที่เป็นแบบแผนเป็นอันมากในพระสูตรนี้)

ชื่อว่า พรหมชาละ (เพราะเป็นการแสดงถึงพระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐ ที่ทรงรู้สภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง)

ชื่อว่า ทิฏฐิชาละ (เพราะทรงแสดงถึงความเห็นผิดมากมาย ๖๒ ประการในพระสูตรนี้)

ชื่อว่า พิชัยสงครามอันยอดเยี่ยม (เพราะผู้ที่ได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว สามารถดับกิเลสได้ ชนะมารทั้งปวงได้)

สำหรับนิพพานในปัจจุบัน ในพระสูตร นี้ ไม่ใช่พระนิพพานในทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็สำคัญผิดว่า ความเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เป็นนิพพานในปัจจุบัน ความเป็นผู้ได้ฌานขั้นต่างๆ ที่สามารถข่มระงับกิเลสได้ ก็เข้าใจเป็นนิพพานในปัจจุบัน

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อป้องกันความเห็นผิด เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง และจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะเป็นพระสูตรใดก็ตาม ไม่พ้นไปจากการที่ทรงแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งผู้ที่ศึกษาพระธรรม ย่อมเข้าใจพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง แค่ไหนก็แค่นั้น การที่จะเข้าใจพระธรรมทั้งหมดตลอดพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่ศึกษาในยุคนี้สมัยนี้จริงๆ แต่เมื่อไม่ขาดการฟัง การศึกษา ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากพระไตรปิฎกโดยตรงได้ที่นี่ ครับ

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 1 เป็นต้นไป

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นขอเล่าพรหมชาลสูตร โดยย่อดังนี้ ครับ

พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เดินทางไกล ระหว่าง เมืองราชคฤห์ ไป นาลันทาโดยมี สุปปิยปริพาชก และ พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ เดินตามมาข้างหลัง ขณะนั้น สุปปิยปริพาชก กล่าวติเตียน พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ส่วน พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ ได้ยินอาจารย์กล่าวติเตียนพระรัตนตรัย คิดด้วยความแยบคาย จึงกล่าวสรรเสริญ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ถ้อยคำทั้งสองคน ต่างเป็นข้าศึกกัน ภิกษุสงฆ์ที่เดินอยู่ข้างหน้าก็ได้ยินถ้อยคำทั้งสองคน เมื่อแวะระหว่างทางแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็สนทนาในเรื่องที่คนทั้สองต่างพูดต่างกัน ทั้งที่เป็นอาจารย์และเป็นศิษย์ พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ได้แสดงธรรมกับภิกษุทั้งหลายว่า ไม่ว่าใครก็ตาม กล่าวติเตียน เรา คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ เธอทั้งหลาย ไม่ควรโกรธ ขุ่นเคืองใจ น้อยใจ เพราะคำติเตียนนั้น พระองค์ตรัสว่า ขณะที่พวกเธอโกรธ ขณะนั้น เธอทั้งหลายจะเข้าใจคำสุภาษิต หรือ ธรรมในขณนั้นได้หรือไม่ ไม่ได้แน่นอน เพราะ ขณะที่โกรธ ขณะนั้น เป็นอกุศล แต่เมื่อใครกล่าว ติเตียน พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เธอควรแก้โดยธรรม ว่า ไม่จริง ไม่จริงอย่างไร ด้วยจิตที่ดี

ส่วนใครก็ตามที่ชมเรา สรรเสริญพระรัตนตรัย มี พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของสุปปิยปริพาชก เป็นต้น เธอทั้งหลาย ไม่ควรทำใจยินดี เพลิดเพลินในคำชมนั้น เพราะ จะเป็นอันตรายกับเธอ เพราะขณะนั้น เป็นโลภะ ขณะที่โลภะเกิด ย่อม ไม่เป็นประโยชน์กับผู้นั้น และย่อมไม่เข้าใจธรรมในขณะนั้น ครับ แต่เมื่อใครชม สรรเสริญพระรัตนตรัย เธอควรกล่าวว่า สิ่งนั้นจริง จริงเพราะอะไร เป็นต้น ด้วยจิตที่ดี คือ ไม่ว่าใครจะชม หรือ ติ พระรัตนตรัย ก็ไม่โกรธ และ ไม่ยินดีด้วยโลภะ แต่ควรที่จะแสดงธรรมว่า ไม่จริงเพราอะไร จริงเพราอะไร นี่คือ ประโยชน์ที่สำคัญ คือ ได้ความเข้าใจพระธรรมในการแสดง และทำให้ผู้อื่น ที่กล่าวชมและติ ได้เข้าใจธรรมด้วยเพราะประโยชน์ จุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า คือ ให้สัตว์โลกเกิดกุศล เกิดปัญญา ไม่ใช่ให้เกิด อกุศล ครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่อไปครับในเรื่องที่ พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระรัตนตรัย กล่าว สรรเสริญ ชม พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่าปุถุชนที่กล่าวชมเรา กล่าวมชมเราในคุณธรรมของเราที่มีประมาณน้อย เพียงขั้นศีล เพราะว่า ปุถุชน ไม่ได้รู้ถึงปัญญาของตถาคต

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 17 พ.ค. 2555

พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงกำลังของปัญญาของพระองค์ ที่จะแสดงธรรมอันลึกซึ้ง คือ พระองค์ตรัสว่า ยังมีธรรมอย่างอื่นอีกแล ที่ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ที่ตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง อันเป็นเหตุให้คนทั้งหลายกล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ.

ซึ่งธรรมนั้น ก็คือ ทิฏฐิ ๖๒ คือ ความเห็นผิดประการต่างๆ ซึ่งปุถุชนไม่รู้ ความเห็นผิดเหล่านี้ เพราะว่า ตัวแองก็ตกอยู่ในความเห็นผิดเหล่านี้ ซึ่งก็ไม่พ้นจากความเห็นผิด ๖๒ ประการ ครับ

แก่น สาระประโยชน์ของพระสูตรนี้ คือ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า การที่ปุถุชน ชมเรา สรรเสริญเรา เพียงเล็กน้อยในสิ่งที่เราตรัสรู้ แต่สิ่งเราตรัสรู้ คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นความเห็นผิดประการต่างๆ ซึ่งปุถุชนไม่รู้ แต่พระองค์ทรงตรัสรู้

ซึ่งจะขออธิบาย ทิฏฐิ ๖๒ ดังนี้ ครับ

ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งเกิดร่วมกับโลภมูลจิต ๔ ดวง แม้ ความเห็นผิด จะมีเพียง ๔ ดวง แต่ความเห็นผิดนั้น ก็มีมากมาย ทั้ง ๖๒ ประการ แต่รวมลงแล้ว ก็คือ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ครับ

ประเด็นที่สำคัญที่สุด ในความเห็นผิด ๖๒ ประการ ที่ปุถุชนยึดถือ มีสาเหตุ ต้นเหตุมาจาก มี สักกายทิฏฐิ คือ ความยึดถือว่าเป้นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ อยู่

สมดังในพระสูตรอื่นกล่าวว่า ในความเห็นผิดทั้งหลายทั้งหมดนั้น มี สักกายทิฏฐิเป็นมูล เป็นเหตุ อธิบายว่า สักกายทิฏฐิ คือ ความยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล เพราะว่า สำคัญผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ทำให้เกิดความเห็นผิดประการต่างๆ เช่น ในบรรดา ทิฏฐิ ๖๒ ล้วนแล้วมาจาก ความยึดถือผิดว่ามีสัตว์ บุคคล เป็นสำคัญ อย่างเช่น การยึดถือว่าเที่ยง ยั่งยืน คือ สำคัญผิดว่า มีคน สัตว์ ที่เคยเกิดมาในอดีต เที่ยง มาบัดนี้ ก็ยังเป็นเรา เป็นคน เป็นสัตว์ ที่เกิดมาในปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต เราก็จะไปเกิดเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ และไปอยู่บนสถานที่ที่นิรันดร์ โดยสำคัญว่า มีตัวเรา มีสัตว์ บุคคลไปอยู่ นี่แสดงถึง ทิฏฐิใน ๖๒ ประการ มี ความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน (สักกายทิฏฐิ) เป็นเหตุและในทิฏฐิ ๖๒ บางประการที่เห็นว่า ตายแล้วไม่เกิด ขาดสูญ ก็มีที่ตั้งจากสักกายทิฏฐิ เพราะ สำคัญว่า มีสัตว์ มีบุคคลที่ตาย มีสัตว์ บุคคลที่ไม่เกิดอีก ซึ่ง คำว่า สัญญา ในทิฏฐิ ๖๒ ก็คือ มีสัญญา คือ มีจิตที่ดำรงอยู่ คือ สำคัญว่า ในร่างกาย มีจิตที่เที่ยง ดำรงอยู่ คือ ไม่เกิดดับแน่นอน ซึ่งก็เป็นการสำคัญผิดว่า มีตัวเรา ที่มีสัญญาอยู่ภายใน มีจิตอยู่ภายในและเที่ยง ยั่งยืน ครับ คือ เมื่อตายไป จิตและสัญญา ก็อยู่ในร่างกายใหม่ที่เป็นสัตว์ บุคคลใหม่ อันมีพื้นฐานมาจากความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล สัญญาและจิต เป็นเรา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 17 พ.ค. 2555

พระองค์แสดงถึง ความเห็นผิด ที่ยึดถือว่า นิพพานในปัจจุบัน คำว่า นิพพานนั้น เป็นคำที่คนสมัยนั้น ใช้กันทั่วไป คือ หมายถึง เย็นสนิท ดับ และเป็นความสุขสูงสุด ซึ่งความเห็นผิดที่ยึดถือว่า นิพพานมีในปัจจุบัน คือสำคัญสิ่งที่สงบจากกิเลสชั่วคราว ว่าเป็นนิพพานในปัจจุบัน เช่น ขณะที่ได้ฌาน เป็นต้น ก็คิดว่าเป็นความสงบ เย็นสนิท เป็นนิพพานแล้ว ทั้งที่ สภาวะของพระนิพพาน ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่ เป็น จิต ที่เป็นฌานจิต แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ประจักษ์ได้ด้วย การเจริญวิปัสสนา จนถึงปัญญาระดับมรรคจิต ครับ ซึ่งความเห็นผิดว่า นิพพานมีใน ปัจจุบัน ก็มาจากสักกายทิฏฐิ อีกนั่นเอง เพราะสำคัญว่า เป็นเราได้ความสงบแล้ว ไม่ได้ประจักษ์ตัวธรรม จึงยึดถือว่เป็นเราสงบ เป็นเราที่นิพพานในปัจจุบัน ครับ

จากที่กล่าวมาในทิฏฐิ บางประการใน ๖๒ ประการ สรุปได้ว่า สาระพระสูตร หรือ แก่น พระสูตรนี้ พระองค์แสดง ทิฏฐิ ๖๒ ประการเพื่อให้รู้ว่า พระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ในความเห็นผิดของสัตว์โลกประการต่างๆ และ แม้จะอ่านยากในทิฏฐิ ๖๒ ประการ แต่ให้รู้ว่า ทิฏฐิ ทั้งหมดเหล่านี้ มาจาก สักกายทิฏฐิ เพราะความยึดถือว่ามี สัตว์ บุคคล ตัวตน จึงทำให้มีความเห็นผิดประการต่างๆ และสัตว์โลกก็ติดอยู่ในความเห็นผิดเหล่านี้ ไม่สามารถพ้นไปได้ หากไม่ได้อบรมปัญญา และ พระองค์ทรงแสดง หนทาง คือ พระองค์ทรงแสดงว่า พระองค์ทรงรู้ความเห็นผิดเหล่านี้ และพระองค์ก็ไม่ทรงติดในความเห็นผิดเหล่านี้ และรู้วิธี อุบาย เครื่องสลัดออก คือ การเจริญสติปัฏฐาน หรือ อริยมรรค

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 17 พ.ค. 2555

เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้ ทรงแสดง หนทางที่จะสลัดออกจากความเห็นผิด คือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อใดที่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ แต่ละขณะ เช่น เห็นเป็นแต่เพียงธรรม ย่อมไม่ยึดถือว่า เป็นเราที่เห็น เมื่อไม่มีเราที่เห็น ก็ไม่คิดผิด สำคัญว่า มีเราที่จะเกิด เพราะเป็นแต่เพียงจิตที่เกิดแต่ละขณะ และไม่มีเราที่จะตาย เพราะเป็นแต่เพียงจิตที่เกิดขึ้นและดับไป และไม่มีเราที่จะเกิดในชาติหน้า เพราะ แป็นแต่เพียงจิตที่เกิดดับ สืบต่อ จากจุติจิต ไปปฏิสนธิจิต

นี่แสดงให้เห็นถึง หนทางการละ ทิฏฐิ ๖๒ ที่มีรากฐานมาจาก สักกายทิฏฐิ ความยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน โดยอาศัยการฟังพระธรรมในเรื่องของสภาพธรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเจริญขึ้นในขั้นการฟัง และก็จะเข้าใจประเด็นทิฏฐิ ๖๒ ที่อ่านยาก แต่ อรรถ เพื่อให้เข้าใจว่า คือ ควาเมเห็นผิดที่มีอยู่ อันมี สักกายทิฏฐิ เป็นเหตุเพราะ สำคัญผิดว่ามีสัตว์ บุคคล นั่นเอง จึงอบรมปัญญาขั้นการฟัง และก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะ ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ และความเห็นผิด เพราะ รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละขณะนั้นเท่านั้นครับ

ประโยชน์พระสูตรนี้ หรือ พระสูตรใดๆ คือ น้อมเข้ามาในตนว่า ตนเองมีความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิ หรือไม่ ซึ่งก็มีอยู่ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน จึง อบรมหนทางการละกิเลส และเจริญกุศลทุกๆ ประการ เพราะ พระธรรมทุกบท ทุกสูตร พระองค์ทรงแสดงเพื่อจุดประสงค์ คือ ผู้ฟังเกิดกุศล เกิดปัญญา และ เพื่อละกิเลสของผู้ฟังเป็นประการสำคัญ ครับ

ดังนั้น แม้ไม่รู้ความหมาย ชื่อทั้งหมดในพระสูตรนั้น แต่สามารถน้อมเข้ามาในตนว่า คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้และกำลังมีกับตน คือ ความเห็นผิดที่ยังมีอยู่ จึงอบรมปัญญาเพื่อละกิเลส ประโยชน์คือการเจริญขึ้นของกุศลและปัญญา ในการอ่านพระสูตรใดพระสูตรหนึ่ง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 17 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 17 พ.ค. 2555

ปุถุชนยังมีความเห็นผิดอยู่ จะดับความเห็นผิดได้ต้องบรรลุเป็นพระโสดาบัน หนทางการดับกิเลสคือการเจริญสติปัฏฐาน เพราะขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นละความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ชั่วขณะ และ ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าปัญญาจะคมกล้าละความเห็นผิดได้เป็นสมุจเฉท ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เข้าใจ
วันที่ 17 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peeraphon
วันที่ 17 พ.ค. 2555

ขอบพระคุณท่านอาจารย์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

ข้อความในพระไตรปิฎกลึกซึ้งมาก ปัญญาของผู้เริ่มต้นศึกษา ไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด เป็นข้อความที่ทรงแสดง ซ้ำๆ กันหลายตอน แต่แม้แต่การอ่านซ้ำๆ กันหลายตอนนั้น ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดเลยครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 17 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

" สิ่งที่พระองค์ทรงแสดง ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริง แม้แต่ความเห็นผิด ก็มีจริง "

"พระธรรมทุกบท ทุกสูตร พระองค์ทรงแสดงเพื่อจุดประสงค์ คือ ผู้ฟังเกิดกุศล เกิดปัญญา และ เพื่อละกิเลสของผู้ฟังเป็นประการสำคัญ ครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น, อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
mon-pat
วันที่ 24 พ.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
nong
วันที่ 27 พ.ค. 2555

ชัดเจนและมีประโยชน์มากค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
mon-pat
วันที่ 8 มิ.ย. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

อ่านซ้ำอีกก็เข้าใจเพิ่มขึ้นครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ