ศรัทธาแบบถาวร

 
tar
วันที่  18 พ.ค. 2555
หมายเลข  21128
อ่าน  8,626

ทำอย่างไรจึงจะเกิด ศรัทธาแบบถาวร ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธศาสนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า ธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คำสอนที่จะเป็นไปเพื่อความอยาก ความติดข้องต้องการนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระองค์ทั้งหมด เป็นไปเพื่อละโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ศรัทธา และ สภาพธรรมที่ดีงามอื่นๆ ไม่ได้เจริญขึ้นเพราะความอยาก เพราะขณะที่อยากนั้นเป็นอกุศล เป็นเหตุขัดขวางให้กุศลธรรมไม่เจริญขึ้นแล้วในขณะนั้น

ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม คือจิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

เป็นความจริงที่ว่า บุคคลผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย คือ ในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาถึงขั้นที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ศรัทธายังไม่มั่นคงจริงๆ แต่ก็สามารถอบรมเจริญเพิ่มขึ้นได้ ด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ละคลายความเห็นผิด ละคลายความสงสัยและกิเลสประการอื่นๆ ศรัทธาก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่เจริญขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอริยบุคคลทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น ท่านก็ยังเป็นปุถุชน ยังไม่มีศรัทธาที่มั่นคง แล้วท่านเหล่านั้น มีศรัทธาที่มั่นคงไม่หวั่นไหวได้อย่างไร ก็ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา

ในบางพระสูตร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมสามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า คือเกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ ในโลกน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วยครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Endeavor
วันที่ 18 พ.ค. 2555

การประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง ตามความเป็นจริง จะทำให้เกิดศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาของตนเอง ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวจริงๆ ครับ

เช่นหากได้ฟังว่ารูปธรรม นามธรรม ทั้งปวง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน (เป็นอนัตตา) และเกิดขึ้นแล้วดับไป (ไม่เที่ยง) จึงเป็นทุกข์

แบบนี้ ก็เข้าใจตามได้เพียงขั้นการฟังก่อนใช่ไหมครับ แต่ศรัทธาอาจยังไม่มั่นคง เพราะตัวเราก็ตัวเรา จะไม่มีตัวตนได้อย่างไร แขน ขานี่ก็ของเรา

ต่อเมื่อใด ที่สติได้ระลึกตรงลักษณะของธรรมะแต่ละอย่างที่เป็นปรมัตถธรรม ว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่เที่ยงจริงๆ เป็นทุกข์จริงๆ และหาความเป็นตัวตนไม่ได้จริงๆ เมื่อนั้น ก็จะเป็นความรู้ชัด เป็นปัญญาของตนเอง และเมื่อระลึกบ่อยๆ จนชิน สะสมจากอารัมมณปัจจัย (ลักษณะแท้จริงของธรรมะนั้นๆ ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตเพียงขณะเดียว แล้วจิตนั้นก็ดับไป) ระลึกต่อไปอีกจนเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย (เพราะเป็นอารมณ์ที่ประทับใจและเป็นปัจจัยให้จิตประเภทนั้น เกิดขึ้นระลึกถึงอารมณ์นั้นอีกบ่อยๆ ) ต่อไปอีก จนเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย (เป็นปัจจัยให้ภพชาติต่อๆ ไป ได้เวียนมาพบ และได้ฟังเรื่องนี้อีก) ต่อไปอีกจนเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย (คือเมื่อได้ฟังในภพชาติต่อๆ ไป ก็สามารถน้อมไปได้ง่าย ที่จะระลึกรู้ตามที่เคยระลึกแล้วในชาติก่อนๆ ) ต่อไปอีกจนเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย (เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ทันทีที่ฟังการแสดงธรรมสั้นๆ ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมได้โดยรวดเร็ว)

ศรัทธา สติ และ ปัญญา ที่เกิดนั้น จะมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ และไม่หวั่นไหวแน่นอน เมื่อได้ประจักษ์แล้วนั่นเองครับ

ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างจากความเข้าใจของผมที่เคยได้ฟังไฟล์ท่านอาจารย์สุจินต์ เรื่อง เหตุปัจจัย ผิดถูกประการใด ต้องขออภัยด้วยนะครับ
และหวังว่าทุกท่านจะมีความเพียร ที่เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ให้ไปได้ถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาลครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก แม้แต่เรื่อง ศรัทธา ครับ

ศรัทธา เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่จะไม่เกิดกับอกุศลเลย ดังนั้น เมื่อเราได้ยินคำว่า ศรัทธา ที่หมายถึง ความเชื่อ ความเลื่อมใส ย่อมหมายถึง ความเชื่อที่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ที่เป็นกุศลธรรม ดังนั้น เราจึงไม่สามารถใช้คำว่า ศรัทธา เลื่อมใสในสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ทั้งหมด หากสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ผิด เพราะ ไม่ใช่ศรัทธา แต่ เป็นโลภะที่ประกอบ ด้วยความเห็นผิด ที่เชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้องครับ นี่คือ คำว่า ศรัทธาที่ควรเข้าใจเบื้องต้นเป็นสำคัญที่จะเกิดกับจิตที่ดีงาม และเป็นความเชื่อ ความเลื่อมใสที่ถูกต้อง ครับ

ศรัทธา ยังแบ่งเป็นความละเอียด อีกครับ

ศรัทธา มี ๔ อย่าง ครับ

๑. อาคามนียศรัทธา คือ ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

๒. อธิคมศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา ที่เกิดจากการบรรลุธรรม

๓. ปสาทศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา เกิดขึ้นเมื่อได้ยินว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

๔. โอกัปปนศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากความปักใจเชื่อ

จะเห็นนะครับว่า ศรัทธามีหลายประการ ซึ่งการจะถึงความมั่นคง ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็จะต้อง ถึงการบรรลุธรรม ที่เป็น อธิคมศรัทธา เหตุผลที่ มีความศรัทธา มั่นคงในพระพุทธศาสนา คือ ในพระรัตนตรัย เพราะเหตุว่า ตนเองได้ประจักษ์ความจริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่แสดงว่า ธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ประจักษ์ตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และ ประจักษ์พระนิพพาน ด้วย ปัญญาของตนเองนั่นเองครับ จึงทำให้มีความเชื่อ ศรัทธามั่นคง เพราะ ได้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว ครับ อะไรประจักษ์ ปัญญานั่นเองที่ประจักษ์ ครับ เพราะฉะนั้น ศรัทธา จะมั่นคงได้ ก็ด้วยปัญญา เพราะ อาศัยปัญญา ที่เป็นหัวหน้าของกุศลธรรม ย่อมเป็นปัจจัยให้ศรัทธาเจริญขึ้น มากขึ้น ตามกำลังปัญญาที่เจริญขึ้น จนปัญญาถึงการบรรลุธรรม ประจักษ์พระนิพพาน ย่อมทำให้ มีศรัทธา มั่นคง ไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ค. 2555

ส่วนผู้ที่จะถึงความเป็นผู้มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ไม่ใช่พระโสดาบัน แต่ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้มีศรัทธาบริบูรณ์ ไม่หวั่นไหว โดยประการทั้งปวงครับ ดังนั้น การจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องเริ่มจากการศึกษา อบรมปัญญาเบื้องต้น ครับ ถึงจะถึงความเป็นผู้มีศรัทธาบริบูรณ์ คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

[เล่มที่ 21] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 226

แม้บุคคล ๔ จำพวก คือ ปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ชื่อว่า ผู้ไม่มีศรัทธา ในบททั้งหลายว่า อสฺสทฺโธ เป็นต้น. จริงอยู่ ปุถุชนชื่อว่าไม่มีศรัทธา เพราะยังไม่ถึงศรัทธาของพระโสดาบัน. พระโสดาบัน ... ของพระสกทาคามี. ... พระสกทาคามี ... ของพระอนาคามี. ... พระอนาคามีชื่อว่าไม่มีศรัทธา เพราะยังไม่ถึงศรัทธาของพระอรหันต์.

ดังนั้น ก็มาสู่คำถามที่ว่า จะถึง ความมีศรัทธา มั่นคงในพระรัตนตรัย ในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ซึ่งก่อนจะถึง ศรัทธาที่มั่นคง ด้วยปัญญา ก็ต้องเริ่มจากเหตุให้เกิดศรัทธา ซึ่ง ในตัณหาสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับว่า เหตุให้เกิดศรัทธา คือ การฟังพระธรรม เพราะ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมแล้ว ย่อมไม่เกิดความเลื่อมใส ไม่เกิดศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลายที่เจริญขึ้น มากขึ้นเลย และ เหตุให้มีการฟังธรรม คือ การคบสัตบุรุษ ผุ้มีปัญญา มี พระพุทธเจ้า เป็นต้น ครับ เพราะฉะนั้น เพราะอาศัย การคบสัตบุรุษย่อมเป็นปัจจัยให้ได้ฟังธรรม และเมื่อมีการฟังธรรม ย่อมเป็นเหตุให้เกิดศรัทธา

สรุปได้ว่า ศรัทธาจะเจริญ จะถึงความบริบูรณ์ไม่หวั่นไหวได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นสำคัญ ครับ ดังนั้น ไม่ได้สำคัญที่ผล ว่าจะได้ศรัทธาบริบูรณ์อย่างไร แต่สำคัญที่เหตุว่า จะถึงความเป็นผู้มีศรัทธาบริบูรณ์ ก็ด้วยการฟังธรรม และปัญญาจะไม่เจริญเลย และไม่ถึงความบริบูรณ์เลย หากขาดปัญญา ความเข้าใจพระธรรม ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

เหตุให้เกิดศรัทธา [ตัณหาสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Lamphun
วันที่ 19 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
tar
วันที่ 21 พ.ค. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
tar
วันที่ 21 พ.ค. 2555

คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเหตุผลยิ่งนัก

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 21 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
swanjariya
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
swanjariya
วันที่ 23 เม.ย. 2557

กราบอนุโมทนา

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ