ใจ กาย ไม่เที่ยง

 
tar
วันที่  21 พ.ค. 2555
หมายเลข  21145
อ่าน  3,595

ทำไม ใจกับกาย จึงไม่เที่ยง บางครั้งก็ทุกข์ บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ธรรมดา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ไว้ครับว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือเป็นสังขารธรรม คือ จิต เจตสิกและรูป ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

ใจ คือ จิต ที่อาศัย เจตสิกปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยงเกิดขึ้นและดับไป กาย คือการประชุมรวมกันของรูปธรรม รูปธรรม ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ก็เกิดขึ้นและดับไป เช่น รูปร่างกาย ที่เป็น ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดขึ้นและดับไป ทำให้เห็นมีการแก่ชราของรูปร่างกาย เพราะอาศัยการเกิดขึ้นและดับไป เสื่อมสลายของรูปธรรมนั่นเอง ครับ

สำหรับที่ถามในเรื่องที่ว่า บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ แสดงให้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมที่คงอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ไม่เที่ยง ชื่อว่าเป็นทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกข์ ไว้ ๓ อย่าง ดังนี้

ทุกขทุกข คือ สภาพธรรมที่เป็นทุกข์ทางกาย

สังขารทุกข์ คือ สภาพธรรมทั้งหมด ที่เป็น จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไปไม่เที่ยงเลย

วิปรินามทุกข์ คือ ความแปรปรวนไป ไม่เที่ยง ของสุขเวทนา แม้ความสุขก็ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลงไป เป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือ ความรู้สึกที่ทุกข์ จึงเป็นความไม่เที่ยง ที่เป็น วิปรินามทุกข์ ครับ

ดังนั้น วิปรินามทุกข์ จึงตรงกับที่ผู้ร่วมสนทนา กล่าวว่า แม้แต่ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป ครับ

ความไม่เที่ยงของสภาพธรรม จึงเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว แม้เพียงหนึ่งวินาที ก็เกิดดับ แสนโกฏิขณะ เป็นล้านๆ ๆ นับประมาณไม่ได้ แล้วครับ ไม่ใช่เพียงความรู้สึกที่เป็นเวทนาเจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป จิตประเภทอื่นๆ เจตสิกประเภทอื่นๆ รวมทั้งรูปอื่นๆ ก็เกิดขึ้นและดับไป อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่รู้เลย ครับ

ซึ่งจากคำถามที่ว่า ทำไม ใจ กับ กายจึงไม่เที่ยง

เหตุผลเพราะว่า ใจ คือ จิต ไม่เที่ยง เพราะ อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่ไม่เที่ยง

จิตเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่เที่ยงประชุมรวมกัน คือ เจตสิก เมื่อเจตสิกก็ไม่เที่ยง ทำให้จิตเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตไม่เที่ยงด้วย ครับ เช่นเดียวกับ เวทนาเจตสิก ความรู้สึก สุข ทุกข์ ก็ไม่เที่ยง เพราะอาศัย เหตุปัจจัยปรุงแต่งที่ไม่เที่ยง เช่น อาศัย กายคือ รูป ที่เป็นที่เกิดของเวทนาเจตสิก รูปทั้งหลาย ที่บัญญัติว่ากาย ก็ไม่เที่ยง และนามธรรมทั้งหลาย ที่เป็น นามกาย ที่เป็น เจตสิกประเภทอื่นๆ ที่ทำให้เวทนาเจตสิกเกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านั้นก็ไม่เที่ยงเช่นกัน เมื่อเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่ทำให้เวทนาเจตสิกเกิดขึ้นไม่เที่ยง เวทนา ความรู้สึกก็ไม่เที่ยงเช่นกัน ครับ เช่นเดียวกับ กาย คือรูปที่ไม่ใช่รูปเดียวมาประชุมรวมกัน อย่างน้อย ต้องมี ๗ รูป เพราฉะนั้น รูป ที่เป็นประธาน คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อาศัย รูปอื่นๆ ที่ไม่เที่ยง เมื่ออาศัยสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่ไม่เที่ยง ตัวเองก็ไม่เที่ยงด้วยเพราะอาศัย สิ่งที่เกิดขึ้น มาประขุมรวมกันที่ไม่เที่ยงด้วยนั่นเอง ครับ นี่คือ เหตุผลที่ว่า ใจ กับ กาย คือ จิต เจตสิก รูปทำไมถึงไม่เที่ยง ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ 16

ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้นอาศัยจึงเกิดขึ้นไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็สุขเวทนาอาศัยกาย จึงไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วจึงเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ค. 2555

ดังนั้น จึงไม่มีเรา มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็นจิต เจตสิกและรูป แต่หลงยึดถือว่าเป็นเรา หรือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ทั้งๆ ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป แต่ที่หลงยึดถือว่า มีเราที่มีจิต มีกาย ทั้งๆ ที่มีแต่ธรรมเพราะว่า มีความไม่รู้ คือ อวิชชา และมีปัญญาน้อย จึงไม่สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ละ เพราะ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ที่เป็นวิถีจิตสืบต่อกัน จึงทำให้ เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ จึงยึดถือด้วยความไม่รู้และความเห็นผิดนั่นเอง ดังเช่น ไฟที่ก้านธูป หากแกว่งอย่างรวดเร็ว ก็เห็นเป็นวงไฟที่เป็นวงกลมต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ไฟ ก็เป็นเพียงจุดเดียว เพราะ ความรวดเร็วของการแกว่ง และเพราะ ไม่มีการเห็นที่สามารถประจักษ์ด้วยตาเปล่าได้ ครับ ฉันใด เมื่อไม่มี ตา คือ ปัญญาย่อมไม่เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้จริงๆ ครับ

ซึ่ง ปัญญาขั้นแรกจะต้องเริ่มจากการรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ยังไม่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมได้ โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น จนประจักษ์ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูกในการอบรมเจริญปัญญา คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา นั้น แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไป และไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ได้เลย

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ต้องตั้งต้นว่า สิ่งนั้น คือ อะไร? แม้แต่ กายกับใจ ความเข้าใจเบื้องต้น ใจ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ภาษาบาลี ใช้หลายคำ ทั้ง จิต มโน มนัส หทัย เป็นต้น เมื่อมีใจ หรือ มีจิต ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิกประเภทต่างๆ ตามควรแก่ประเภทของจิต ส่วน กาย มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ในที่นี้ มุ่งหมายถึง รูปกาย ซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นธรรมทั้งหมด ทั้งจิต เจตสิก และ รูป เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่จะไม่ดับไปนั้น ไม่มีเลย ในอรรถกถาทั้งหลาย ได้แสดงไว้ว่า ธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เป็นธรรมที่ไม่เที่ยง เพราะมีแล้วกลับไม่มี เพราะประกอบด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เพราะเป็นไปชั่วคราว เพราะเป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นตัวตน ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป

เมื่อกล่าวถึงทุกข์แล้ว ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงเฉพาะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไปทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) หรือที่จำแนกเป็นปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต (วิญญาณขันธ์) เจตสิก (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์) ยรูป (รูปทั้งหมด ๒๘ รูป) เท่านั้น ที่เป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ทนอยู่ไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน สภาพธรรมเหล่านี้เท่านั้น ที่เกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านี้เท่านั้นที่ตั้งอยู่ (ชั่วขณะสั้นๆ ) สภาพธรรมเหล่านี้เท่านั้นที่ดับไป ล้วนเป็นทุกข์ ทั้งนั้น และเมื่อกล่าวถึงสุข ก็มีจริง สุขในที่นี้ มุ่งหมายถึง สุขกาย (สุขเวทนา ที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณกุศลวิบาก) และ สุขใจ (โสมนัสเวทนา) ซึ่งเมื่อเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะทนอยู่ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วต้องดับไป ก็จะทำให้เข้าใจว่า แม้สุขเวทนา กับ โสมนัสเวทนา ที่เรียกว่า เป็นสุขนั้นก็ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ด้วย ดังนั้น สุข มีจริง เป็นธรรมประเภทหนึ่ง คือ เวทนาเจตสิก แต่สุขก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป จึงเป็นทุกข์ เพราะเกิดดับ

ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตประจำวัน เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตาย ที่ใครๆ ก็คิดเอาเองไม่ได้ จะเข้าใจได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก จากที่ไม่รู้มาก่อน ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้น เพราะสิ่งที่จะรู้ จะเข้าใจนั้น มีจริงในขณะนี้ มีจริงทุกๆ ขณะของชีวิต ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
หลานตาจอน
วันที่ 21 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 21 พ.ค. 2555
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ใจก็เป็นธรรม กายก็เป็นธรรม สุขก็เป็นธรรม ทุกข์ก็เป็นธรรม

แม้ไม่สุข แม้ไม่ทุกข์ก็เป็นธรรม"

"ธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เป็นธรรมที่ไม่เที่ยง เพราะมีแล้วกลับไม่มี

เพราะประกอบด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป"

"ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา"

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 22 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 22 พ.ค. 2555

เป็นธรรมดา ของจิต เจตสิก ที่เป็นอย่างนี้ บางครั้งก็เกี่ยวกับอารมณ์ที่มากระทบทำให้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เวทนาก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าปัญญาเกิดจะไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่ไม่มีสาระ เกิดแล้วดับแล้ว ไม่เหลืออะไรเลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pat_jesty
วันที่ 22 พ.ค. 2555

เมื่อยังมีเหตุ ก็ย่อมเป็นธรรมดา ที่จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจของตนๆ แล้วก็ดับไป จนกว่าจะดับเหตุหมด ซึ่งต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรม จนเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นๆ จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาพธรรมความเป็นจริง ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
akrapat
วันที่ 23 พ.ค. 2555

ก็เพราะมันไม่เที่ยง ไงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 28 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ