การนั่งสมาธิแล้วเห็นนิมิต..คืออะไรค่ะ? (ทุกวันนี้เลิกนั่งแล้วค่ะ)
ก่อนที่ จะได้มาฟังอ.สุจินต์ เคยนั่งสมาธิ ในขณะที่นั่งก็ได้เห็นเป็นบุคคลบ้าง เหตุการณ์บ้าง ที่เรียกว่า นิมิต คือเมื่อก่อนก็เคยไปปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ที่บ้านบ้าง ที่วัดบ้าง แต่ทุกวันนี้หลังจากที่ได้ฟัง อ.สุจินต์ บรรยายธรรมะแล้วก็ไม่เคยนั่งอีกเลย และสิ่งที่ถามเพื่อให้คลายความติดข้องสงสัยว่า สิ่งที่เห็นที่เรียกว่านิมิตนั้นคืออะไรคะ เพียงขอความกรุณาผู้รู้ช่วยแก้ความสงสัยให้ด้วยค่ะ (ทุกวันนี้ฟังอ.สุจินต์บรรยายธรรมทุกวันเลยค่ะ)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตเรียนเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นของผู้ถาม ในคำว่า นิมิต ครับ
นิมิต มีหลายความหมาย แล้วแต่ว่าจะใช้กับอะไรครับ ซึ่ง สำหรับที่คนทั่วไป ไปนั่งสมาธิ และ เห็นนิมิตต่างๆ ในความเป็นจริง ที่ถูกต้อง นิมิตที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการเจริญสมถภาวนา ที่ถูกต้อง
สมถภาวนา คือ การเจริญความสงบ ที่เป็นความสงบจากกิเลส กล่าวง่ายๆ คือ เป็นการอบรมให้กุศล ที่เป็นความสงบจากกิเลส เกิดขึ้นต่อเนื่อง จนตั้งมั่น เป็นลักษณะของสมาธิ เมื่อมีการอบรมสมถภาวนาขั้นต้นที่ถูกต้อง ความสงบจากกิเลส คือ กุศลเกิดมากขึ้น ต่อเนื่อง ย่อมเกิดนิมิต ๒ ประการ คือ อุคคหนิมิต และ ปฏิภาคนิมิต เป็นลำดับไป ซึ่ง นิมิตทั้งสองประการ แสดงถึงความสงบของจิตที่เป็นกุศลที่มีกำลัง และเป็นนิมิตที่ใส เป็นต้น แต่ไม่ได้เห็นเป็นภาพเหตุการณ์ เป็นบุคคลต่างๆ อย่างนั้น ไม่ใช่นิมิต ในการเจริญสมถภาวนาที่ถูกต้อง แต่ นิมิตที่เกิดขึ้น ก็เป็นการนึกคิด เรื่องราวต่างๆ ทางใจจากที่เคยเห็น เคยได้ยินมาเท่านั้นเอง ครับ เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นเป็น บุคคล เป็นภาพ เหตุการณ์ต่างๆ ให้รู้ได้เลยครับว่า นั่นไม่ใช่นิมิต ในการเจริญสมถภาวนา และขณะนั้น ก็ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนาด้วย แต่เป็นอกุศลจิตที่คิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ ไม่ต่างกับการที่ไม่ได้นั่งสมาธิ ก็คิดเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ได้เช่นกันครับ
เพราะฉะนั้น หากเริ่มจาเหตุที่ไม่ถูกต้อง คือ ไปทำสมาธิ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่า สมาธิคืออะไร การเจริญสมถภาวนาอบรมอย่างไร เมื่อไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นิมิต ทั้ง ๒ อย่าง คือ อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต ย่อมไม่เกิด แต่สำคัญสิ่งที่เป็นการนึกคิดทางใจทั่วไป ที่เห็นสิ่งต่างๆ ว่าเป็นนิมิต ครับ นี่คือ นิมิตโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา
ส่วน นิมิต อีกนัยหนึ่ง คือ นิมิต กับ อนุพยัญชนะ
คำว่า นิมิตนิมิตฺต (การกำหนด, เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ได้ยินเสียง ผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรส เป็ด ไก่ ถูกต้องสัมผัสสำลี
นิมิต อีกนัยหนึ่ง คือ สังขารนิมิต คือ นิมิตของสภาพธรรมทั้งหลาย ที่มีลักษณะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถให้รู้ได้ ชื่อว่า นิมิตที่เป็น สังขารนิมิต ครับ
จะเห็นนะครับว่า นิมิตนั้นมีหลายความหมาย แล้วแต่ว่า จะมุ่งหมายถึง นิมิตในนัยใด ที่สำคัญ หากเริ่มจากเหตุที่ถูกต้องแล้ว แม้แต่การเจริญสมถภาวนา ก็ย่อมได้นิมิตที่ถูกต้อง ที่ไม่ใช่การเห็นเป็นภาพ เรื่องราว ที่เป็นแต่เพียงการคิดนึก ไม่ใช่นิมิตในสมถภาวนา และ ก็จะค่อยๆ สงบขึ้นจากกิเลส ตามนิมิตที่ได้ ตามลำดับ ครับ
เพราะฉะนั้นสำคัญที่ปัญญาเป็นสำคัญ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องอะไร ก็จะต้องเริ่มจากการศึกษาให้เข้าใจถูกต้อง ถ่องแท้ ย่อมดำเนินไปตามทางที่ถูก เพราะ เริ่มจากเหตุที่ถูกนั่นเอง ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
มันไม่มีอะไรหรอก แม้แต่ตัวเรา แต่ที่เห็นว่ามันมีก็เพราะ "เรานั่นแหละไปคิดมันขึ้นมา"
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"เพราะความไม่รู้จึงหลงว่าคิดนึกเป็นนิมิต"
จึงควรที่จะเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปจนกว่า
"จะเกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มีเรา"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตวิริยะของอ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ
มันไม่มีอะไรหรอก แม้แต่ตัวเรา แต่ที่เห็นว่ามันมีก็เพราะ "เรานั่นแหละไปคิดมันขึ้นมา"
แล้วสภาพ "คิด" คืออะไร?
มีจริงมั้ย?
ขอขอบคุณทุกท่านที่ตอบปัญหาเพื่อแก้ข้อติดข้องสงสัย และที่แสดงความคิดเห็นด้วยนะคะ ก็หายสงสัยแล้วเนื่องจากที่อ่านคำตอบในกระทู้ และที่แน่ใจที่สุดก็ได้ฟังบรรยายธรรมะจากท่านอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้โดยแจ่มแจ้งทุกเรื่องที่สงสัย
ต่อไปก็จะต้องฟังท่านอ.สุจินต์ ท่านบรรยายธรรม ไปจนกว่าจะถึงที่สุดของชีวิตนี้ค่ะ ...
ขอขอบคุณและอนุโมทนากับท่านอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และทุกท่านด้วยนะคะ ... ขอบคุณค่ะ