มโนทวาร หทัยวัตถุ และรูปอื่นๆ

 
peeraphon
วันที่  23 พ.ค. 2555
หมายเลข  21156
อ่าน  1,953

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

ผมมีคำถาม ที่ได้เห็นมาจากชีวิตจริงครับ. เนื่องจากญาติเป็นมะเร็ง และคราวนี้เกิดขึ้นไปที่สมอง. และเริ่มจำไม่ได้ว่าทำอะไร หรือจะทำอะไร ความจำเริ่มเสื่อม. จึงเริ่มพิจาราณา สภาพธรรมะ ว่า เคยได้ฟังพระธรรมมาว่า จิตนึกคิดที่เป็น มโนวิญญาณจิต เกิดขึ้นที่ หทัยวัตถุ และขณะที่คิด ก็อาจมีอารมณ์ที่สืบต่อมาจาก ปัญจทวาร วิถีจิตต่างๆ และอาจมี บัญญัติ และ สัญญาเป็นอารมณ์ด้วย. เหตุใดเมื่อรูปของสมองเริ่มเสื่อมแล้ว จำอะไรไม่ได้ จึงขอความกรุณาอาจารย์ ช่วยอธิบายให้กระจ่างด้วยครับ

ขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ก่อนอื่นเราจะต้องแยก ความเข้าใจเดิมที่เป็นวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ทางโลก ที่ปุถุชนตั้งขึ้น กับ สัจจะความจริง ว่าแยกขาดจากกัน

ความจริงที่เกิดขึ้น คือ มี แต่ จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น ความเป็นไปของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการนึกคิด จำเรื่องราวต่างๆ ได้ ก็เพราะ อาศัย จิต เจตสิกและรูป เป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงทำให้มีการนึกคิด จำเรื่องราวต่างๆ ได้ ครับ

ซึ่ง สมอง ก็คือ การประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม รูปธรรม คิดไม่ได้นึกคิดไม่ได้ จำไม่ได้ แต่การนึกคิดได้ จำได้ เป็นหน้าที่ของ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น และอาศัย รูปเป็นปัจจัยด้วยครับ

ดังนั้น เราก็จะต้องรู้สาเหตุที่แท้จริงครับว่า อะไรที่ทำให้ตรึกนึกคิดเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้ หรือ เรากล่าวว่า ความจำเสื่อม จำไม่ได้ เป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วว่า ความจริงมีแต่ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นและดับไป การนึกขึ้นได้ จำได้ หรือไม่ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เป็น จิต เจตสิก ซึ่ง จิตที่ทำให้หลงลืม ไม่รู้ จำไม่ได้ นั่นคือ โมหมูลจิตที่ ประกอบด้วย อุทัจจะ ความฟุ้งซ่าน ครับ

ขณะใดที่ โมหมูลจิตเกิดขึ้น ที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน ขณะนั้นไม่รู้อะไร จำไม่ได้ ในขณะนั้น และเมื่อเกิดบ่อยๆ ดังเช่น คนบ้า คนที่เป็นอัลไซม์เมอร์ ก็ทำให้โมหมูลจิต นั้น มีกำลังที่เกิดบ่อยๆ เป็นปัจจัยให้มีความหลงลืมเป็นส่วนมาก จำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ แพราะความเกิดบ่อย ของโมหมูลจิต ในช่วงเวลานั้นนั่นเองครับ

ตามที่กล่าวแล้ว รูป ย่อมมีผลต่อการเกิดขึ้นของจิตเช่นกัน และที่ลืมไม่ได้เลย กรรม ที่เป็นอกุศลกรรม เป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้ มีความผิดปกติของร่างกาย และเกิดความเป็นบ้า หลงลืม ได้ เมื่อรูป คือ มหาภูตรูป ถูกทำลาย และรูปอื่นๆ ผิดปกติ ดังในพระสูตรที่กล่าว ถึง งูทั้ง ๔ ตัว คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ว่า หากธาตุไหนมากไป เกิด ความผิดปกติ ก็ทำให้ร่างกาย ผิดปกติไปด้วย งูตัวใดตัวหนึ่งก็กัด เพราะฉะนั้น เมื่อ รูปอื่น ที่บัญญัติว่าเป็นมะเร็ง เป็นปัจจัยให้รูปอื่น มีปัญหา ไม่สมดุล มี ธาตุ ๔ ไม่สมดุล กัน การทำลาย ความมีปัญหาของรูป ความผิดปกติของรูป ย่อมมีผลต่อการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดโมหะ ความฟุ้งซ่านได้

อย่าง คนที่เจ็บปวดทางร่างกาย เพราะ ความมีปัญหาของรูป ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทสมูลจิตได้บ่อยๆ เพราะ การสะสมกิเลสมาส่วนหนึ่ง และ เพราะ ความผิดปกติของรูปก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง สำหรับผู้เป็นปุถุชน ทำให้เกิดกิเลสได้ ครับ

โดยนัยเดียวกัน เมื่อ สมอง คือ รูปธรรม ถูกทำลายมากๆ ก็ทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุ ๔ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิต สำหรับปุถุชนได้ รวมทั้งเกิดอกุศลได้มากขึ้น นั่นคือ โมหมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความฟุ้งซ่านมากขึ้น ก็ทำให้จำไม่ได้ หลงลืมมากขึ้นนั่นเอง ครับ เพราะ ความผิดปกติของรูป เป็นปัจจัย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 26 พ.ค. 2555

เรียนถามค่ะ

ผู้ที่ศึกษาธรรมกับผู้ไม่ได้ศึกษา แม้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันจะมีลักษณะของโมหมูลจิตที่ต่างกันไหมคะ มีผลให้รับรู้และตอบสนองกับความเจ็บป่วยแตกต่างกัน ซึ่งนอกเหนือจากการสะสมกิเลสมาส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังเป็นเพราะมีระดับความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงต่างกันด้วย ใช่ไหมคะ

ขอความกรุณาค่ะ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 26 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ลักษณะของโมหมูลจิต ของผู้ที่ศึกษาธรรม กับไม่ได้ศึกษาธรรม ลักษณะของโมหมูลจิต ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต่างกัน แต่ ผู้ที่เจ็บป่วย ของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ย่อมเกิดอกุศลจิตประเภทต่างๆ ได้ง่ายกว่า และบ่อยกว่าผู้ที่ศึกษาธรรม ที่มีปัญญาเข้าใจธรรม ครับ เพราะ สามารถคิดถูกได้บางขณะ ครับ เพราะฉะนั้น โมหมูลจิต และ โทสมูลจิต ของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมก็สามารถเกิดได้บ่อยกว่า เป็นปัจจัยให้เกิดความหลงลืมได้ง่ายกว่า ผู้ที่ศึกษาธรรม สะสมปัญญามาบ้างครับ เพราะ ผู้ที่ศึกษาธรรม สะสมปัญญา เป็นเหตุปัจจัยให้คิดถูกได้ และ ไม่เกิดอกุศลจิตบ่อยเท่ากับผู้ที่ไม่ศึกษา ครับ ดังเช่น ผู้มีปัญญา มี พระอริยสาวก ท่านเจ็บป่วย ก็คิดถูกได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 2 มี.ค. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ