โวฏฐัพนจิต

 
Thanapolb
วันที่  28 พ.ค. 2555
หมายเลข  21180
อ่าน  4,636

ขอเรียนถามจิตดวงต่อไปอีกสักเล็กน้อยครับ คือ โวฏฐัพพนจิต ที่ทำกิจ ตัดสินอารมณ์ศึกษามาทราบว่า เป็นกิริยาจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก และ มีเจตสิกอีก ๓ ดวง คือ วิตก วิจาร และ อธิโมก

ที่อยากทราบเพิ่มเติม ดังนี้

๑. ปัจจัยที่ทำให้โวฏฐัพพนจิต ทำกิจตัดสินอารมณ์ว่าจะให้ ชวนะ เป็นกุศล หรืออกุศลเกิดจากการสะสมในอดีต ว่าจะตัดสินว่า ชวนะจะเป็นชาติอะไร อย่างนั้นไหม หรือเพราะอะไรให้โวฏฐัพพนจิต ตัดสินเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่า เป็นเพียงปัจจัยให้ ชวนะเกิดต่อ หลังโวฏฐัพพนจิต ดับไป เท่านั้น ส่วน ชวนะ จะเป็นกุศลหรือ อกุศล มาจากเหตุของการสะสมในอดีต หรืออุปนิสัยเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

๒. เคยได้อ่านข้อความที่ว่า โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นตัดสินอารมณ์ แต่เพราะอารมณ์มีกำลังอ่อนเพราะใกล้จะดับแล้ว ชวนจิตจึงไม่เกิด ในชีวิตประจำวันมีบ่อยไหมครับ และเป็นกรณีไหนบ้าง เช่น อารมณ์ไม่ชัดเจน หรือว่า อาจเป็นขณะที่กำลังจะหลับ หรือ จะหมดสติ เป็นต้น

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ปัจจัยที่ทำให้โวฏฐัพพนจิต ทำกิจตัดสินอารมณ์ว่าจะให้ ชวนะ เป็นกุศล หรืออกุศล เกิดจากการสะสมในอดีต ว่าจะตัดสินว่า ชวนะจะเป็นชาติอะไร อย่างนั้นไหม หรือเพราะอะไรให้โวฏฐัพพนจิต ตัดสินเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่า เป็นเพียงปัจจัยให้ ชวนะเกิดต่อ หลังโวฏฐัพพนจิต ดับไป เท่านั้น ส่วน ชวนะ จะเป็นกุศลหรือ อกุศล มาจากเหตุของการสะสมในอดีต หรืออุปนิสัยเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว


โวฏฐัพพนจิต เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นกิริยาจิต ซึ่งจิตที่กระทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร นี้ คือ มโนทวาราวัชชนจิต (โวฏฐัพพนจิต เรียกตามกิจของจิต) ซึ่งจะต้องเกิดก่อนที่ชวนจิตทางปัญจทวาร จะเกิดเสมอ เมื่อแปลโดยศัพท์แล้ว คือ ตัดสินอารมณ์ เมื่อว่าโดยอรรถแล้ว ก็เป็นจิตที่กระทำทางให้ชวนจิต เกิดสืบต่อ ถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิด ชวนจิตก็เกิดไม่ได้ โวฏฐัพพนจิต ที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิตทำกิจ โวฏฐัพพนกิจ เรียกว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือเป็นจิตที่เป็นบาท หรือเป็นจิตที่กระทำทางให้ชวนจิตเกิดขึ้น แล้วแต่การสะสมในอดีต ที่เมื่อรู้อารมณ์นี้จิตจะเป็นอกุศล เมื่อรู้อารมณ์นั้นจิตจะเป็นอกุศล ซึ่งชวนจิต จะเป็นกุศล หรือ อกุศล ในขณะที่มีอารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใด มีการสะสมมาในอดีต เป็นสำคัญ ครับ ส่วน โวฏฐัพพนจิต ก็ทำหน้าที่ ตัดสินอารมณ์นั้น ตามการสะสมทำให้เป็นกุศล และ เป็นอกุศลในชวนจิตของปุถุชน โดย โวฏฐัพพนจิต ทำทางให้เกิด ชวนจิตประการหนึ่ง และ ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ตามการสะสมมา ทำให้เป็นกุศล หรือ อกุศลประการหนึ่ง แต่ที่สำคัญ จะเป็นกุศล หรือ อกุศลหรือไม่ ในขณะที่มีอารมณ์ใด ตามการสะสมมาในอดีต เป็นสำคัญ แต่อาศัยเหตุปัจจัยอื่นๆ มี โวฏฐัพพนจิต ด้วย ครับ ที่เป็นเหตุใกล้ ส่วนการสะสมในอดีต เป็นเหตุไกล


๒. เคยได้อ่านข้อความที่ว่า โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นตัดสินอารมณ์ แต่เพราะอารมณ์มีกำลังอ่อนเพราะใกล้จะดับแล้ว ชวนจิตจึงไม่เกิด ในชีวิตประจำวันมีบ่อยไหมครับ และเป็นกรณีไหนบ้าง เช่น อารมณ์ไม่ชัดเจน หรือว่า อาจเป็นขณะที่กำลังจะหลับ หรือจะหมดสติ เป็นต้น


บางวาระ เมื่ออตีตภวังค์เกิดและดับไปแล้วหลายขณะ ภวังคจลนะก็เกิดและดับไปหลายขณะ ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดแล้วดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้วดับไป ปัญจวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดแล้วดับไปสัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้วดับไป สันตีรณจิตเกิดแล้วดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับไป ๒-๓ ขณะ รูปก็ดับไป ชวนจิจึงเกิดไม่ได้ วาระนั้นจึงเป็น “โวฏฐัพพนวาระ” เพราะวิถีจิตสิ้นสุดลงที่โวฏฐัพพนจิต อารมณ์ที่เป็นไปตามวิถีจิตนี้เรียกว่า ปริตตารมณ์ (อารมณ์ที่เล็กน้อยมีกำลังอ่อน)

ปริตตารมณ์ อารมณ์ที่เล็กน้อย หมายถึง ความเป็นไปของอารมณ์ที่มีกำลังอ่อนขณะที่เป็นอารมณ์ของวิถีจิตทางปัญจทวาร อารมณ์สิ้นสุดที่โวฏฐัพพนจิตเท่านั้น ซึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องถึงกับสลบ ครับ ส่วนขณะที่หลับสนิท เป็นภวังคจิตยาว อันนี้ก็ไม่ใช่ แต่รูปใด แม้ขณะนี้ที่กำลังเห็น เพราะรูปนั้น คือ สี เกิดดับในขณะที่เป็นภวังคจิตหลายขณะแล้ว ดับในขณะที่เป็นโวฎฐัพพนะจิต เพราะฉะนั้น อารมณ์นั้น ชื่อว่าเล็กน้อย เพราะว่า เกิดในวิถีจิต ไม่กี่ขณะเอง ครับ จึงดับไป

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 29 พ.ค. 2555

การศึกษาพระอภิธรรม คือ ค่อยๆ อาศัยชื่อที่กำลังเรียน น้อมเข้ามาสู่ในชีวิตประจำวัน เพราะ สิ่งที่ศึกษา ก็ไม่พ้นสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าใจถึงความละเอียดของจิต วิถีจิต และอารมณ์ย่อมทำให้น้อมถึงพระปัญญาคุณ ที่อนุเคราะห์และแสดงธรรมอย่างละเอียด ด้วยจุดประสงค์ให้สัตว์โลก ได้เข้าใจว่า ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมเป็นไป และ ไม่มีใครทำให้เกิดกุศล หรือ อกุศลได้เลย เพราะเป็นการสะสมมาในอดีต และ เป็นการทำหน้าที่ทำทางให้เกิด กุศล หรือ อกุศล คือ โวฏฐัพพนจิต เพียงขณะเดียว เพียงขณะเดียวเท่านั้น มีใครทำอะไรทัน คือ เตรียมตัวให้เป็นกุศลหรือ อกุศลไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจดังนี้ แทนที่จะทำให้เกิดกุศล หรือ อกุศลก็เข้าใจว่าทำไม่ได้ ก็สะสมเหตุที่ดี คือ สะสมความเข้าใจพระธรรมและ การกระทำกุศลประการต่างๆ ที่เป็นการสะสมใหม่ ที่จะเป็นการสะสมในอดีตต่อไปก็จะเป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนจิต ทำทางให้เป็นกุศลมากขึ้น ตามการสะสมใหม่คือ การอบรมปัญญาศึกษาพระธรรมและเจริญกุศลทุกๆ ประการ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่งและที่สำคัญ คือ มีจริงในขณะนี้ แม้แต่จิตที่กำลังกล่าวถึง คือ โวฏฐัพพนจิต เป็นจิตประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน ซึ่งโดยทั่วไปก็จะแปลว่า ตัดสิน อาจจะดูฟังแล้วเข้าใจยากว่าตัดสินอะไร ก็เพื่อให้เข้าใจว่า เป็นจิตที่กระทำทางให้ชวนจิตเกิดขึ้น เพราะถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิด ชวนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดสืบต่อจากโวฏฐัพพนจิต ก็เกิดไม่ได้ ส่วนชวนจิตจะเป็นกุศล หรือ อกุศล ก็แล้วแต่ การสะสมมาของแต่ละบุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นธรรม ที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

ถ้าโวฏฐัพพนจิตไม่เกิด ชวนจิตทางปัญจทวารก็เกิดขึ้นไม่ได้ นี้เป็นความแน่นอนของจิตที่จะต้องเป็นอย่างนี้ โดยที่ ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาในการกำหนดตัดสินได้ตามใจชอบ แล้วแต่การสะสมในอดีตของแต่ละบุคคลว่าเมื่อโวฏฐัพพนจิต ดับไปแล้ว จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ตามการสะสมจริงๆ และถ้าเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีกุศลจิตเกิดขึ้น ไม่มีอกุศลจิตเกิดขึ้น เมื่อโวฏฐัพพนจิตของพระอรหันต์ดับไปแล้ว ชวนจิตของท่านก็เป็นมหากิริยา ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้, สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แม้จะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่สภาพจิต ต่างกันก็ได้ ตามการสะสมจริงๆ เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ก็ได้ ทั้งหมดเป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

- จากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้อธิบายไว้ว่า เมื่ออารมณ์ กระทบปสาทแต่ละวาระนั้น ไม่ใช่ว่าวิถีจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อไปตลอดทั้ง ๗ วิถี เมื่อ วิถีจิตไม่เกิดเลยก็เป็นโมฆวาระ เมื่อวิถีจิตสิ้นสุดที่โวฏฐัพพนะก็เป็นโวฏฐัพพนวาระ อารมณ์ของโวฏฐัพพนวาระเป็นปริตตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ของวิถีจิตเพียงเล็กน้อย โดยเป็นอารมณ์ของวิถีจิตเพียง ๕ วิถีจิตเท่านั้น (อาวัชชนวิถี วิญญาณวิถี สัมปฏิจฉันนวิถี สันตีรณวิถี และ โวฏฐัพพพนวิถี)

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จุดประสงค์ต้องตรง คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพื่อที่จะจำว่า มีจิตกี่ดวง และมีเจตสิก กี่ดวง เกิดกับจิตกี่ดวง แต่เพื่อปรุงแต่งเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพ ธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือ สภาพ ธรรม ทั้ง หลาย ว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนได้ในที่สุด ครับ

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Thanapolb
วันที่ 30 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณท่านอ.ผเดิม, อ. คำปั่น และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 24 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Junya
วันที่ 2 ก.ค. 2566

กราบยินดีในกุศล และกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์เป็นอย่างยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศล และกราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ