ตัวอย่างชัดๆ ของสีลัพพตปรามาสกายคันถะ
คำบรรยายในการสนทนาธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์
ในเทปสติปัฏฐาน ม้วนที่ ๒ ตอนที่ ๘๐
ผู้ถาม คำว่า สีลัพพตปรามาส คือ เป็นข้อปฏิบัติที่ผิดจากองค์มรรค จึงเป็นสีลัพพตปรามาส ก็อยากจะฟังให้ชัดหน่อยครับว่า หรือ ยกตัวอย่างว่าเช่นไร
ท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านผู้ฟังขอตัวอย่างของสีลัพพตปรามาสให้ชัดเจนน่ะค่ะ ว่ามีความหมายมากน้อยอย่างไร
ถ้าท่านดูในพระไตรปิฎกจะพบตัวอย่างของสีลัพพตปรามาส เช่น การประพฤติอย่างโค นะคะ อย่างสุนัข ซึ่งเข้าใจว่าหนทางนั้นจะเป็นการขัดเกลาทำให้จิตบริสุทธิ์ได้ ใช่ไหมคะ นี้เป็นตัวอย่างที่มีกล่าวในพระไตรปิฎก
แต่ขอให้ทราบว่าผู้ที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ คือ พระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น สีลัพพตปรามาสกายคันถะ เนี่ยค่ะ มีตั้งแต่อย่างหยาบ นอกคำสอนในพระพุทธศาสนา เช่น การคิดว่าข้อปฏิบัติเช่นโคน่ะค่ะ จะเป็นหนทางทำให้บริสุทธิ์หมดกิเลส ผิดจากมนุษย์ธรรมดา มนุษย์ธรรมดานี้มีกิเลสมากนัก ต้องทำอย่างโค ถึงจะไม่มีกิเลสน่ะค่ะ นั้นก็จะเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะอย่างหยาบที่เห็นได้ชัด แต่ถ้ายังมีข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนจากมรรคมีองค์ ๘ เข้าใจว่าเป็นข้อปฏิบัติถูก นั้นเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เช่น คิดว่าปัญญานั้นไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปกติประจำวัน นี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เพราะเป็นเหตุให้ลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติอื่นใช่ไหมคะ ที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเข้าใจว่ารู้ไม่ได้
ลืมคิดถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทรงรู้แจ้งสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏตามปกตินี้ใช่ไหม ลืมคิดถึงพระอริยสาวกว่าท่านต้องรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี้ใช่ไหม ก็ทำให้ข้อประพฤติปฏิบัตินั้นคลาดเคลื่อนไป ก็เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สีลัพพตปรามาส จะต้องมุ่งหมายถึง ข้อประพฤติปฏิบัติที่จะถึงการดับกิเลส ดังนั้น ข้อประพฤติปฏิบัติอะไรที่แปลก แต่ ทำด้วย ไม่มีความเห็นว่า เป็นหนทางการดับกิเลส ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส แต่ ข้อประพฤติปฏิบัติใด ที่ คิดว่า การทำอย่างนี้ เป็นหนทางการดับกิเลส แต่ ไม่ใช่หนทางการดับกิเลส ขณะนั้น เป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด เป็นสีลัพพตปรามาส ที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ครับ
ซึ่ง อกุศล ที่เป็นสีลัพพตปรามาส ก็มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย จนถึง มีกำลังมาก เพราะฉะนั้น แม้ขณะที่เข้าใจว่า จะต้องจดจ้อง พยายามให้รู้ มีตัวตนที่จะพยายามที่จะทำ จะรู้ในสภาพธรรมในขณะนี้ นี่ก็เป็นสีลัพพตปรามาส แล้ว เพราะ ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา ที่ไม่สามารถทำได้ เป็นข้อวัตร ปฏิบัติที่ผิด เพราะไม่สามารถทำให้ถึงการดับกิเลสได้ ครับ
ขออนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ คุณผู้ร่วมเดินทางที่แบ่งปันธรรม ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้เคยกล่าวไว้ น่าพิจารณาทีเดียวว่า
"ปฏิบัติด้วยความไม่รู้ จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร? ปฏิบัติในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด แล้วเข้าใจว่าถูก นี้แหละ คือ มิจฉาทิฏฐิ"
สีลัพพตปรามาส เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือ ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ว่าเป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะ ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
กล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นทิฏฐิเจตสิก (มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ผูกไว้ในสังสารวัฏฏ์ต่อไป เป็นความจริงที่ว่า ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ขาดการพิจารณา ขาดการไตร่ตรอง ในเหตุในผล ย่อมจะโอนไปน้อมไปในหนทางที่ผิดได้
ผู้ที่จะดับสีลัพพตปรามาสได้อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ดังนั้น เมื่อยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาในหนทางที่ถูกต้อง จึงต้องเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นจริง จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเมื่อมีความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะทำให้มีความมั่นคงในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ยิ่งขึ้น ครับ.
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ
สีลัพพตปรามาส คือการปฏิบัติผิด เช่น คิดว่านอนตะปู อดอาหาร จะทำให้พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนทางสายกลาง คือ การเจริญอริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางพ้นทุกข์ ค่ะ
"... ปฏิบัติด้วยความไม่รู้ จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?
ปฏิบัติในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด แล้วเข้าใจว่าถูก นี้แหละ คือ มิจฉาทิฏฐิ ..."
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ก่อนจะละสิ่งใดก็ต้องรู้จักสิ่งนั้นก่อน"
"ละความไม่รู้ด้วยความรู้ (ปัญญา) "
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ