ตัวอย่างชัดๆ ของ ปริยัติ และ ปฏิบัติ

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  1 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21204
อ่าน  1,903

คำบรรยายธรรมะของท่านอาจารย์สุจินต์

ในเทปสติปัฏฐาน ม้วนที่ ๒ ตอนที่ ๘๐

ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้ทราบว่ามีบางท่านกล่าวว่า ที่บรรยายเรื่องแนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวันนี้นะคะ บางท่านก็กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ และบางท่านก็กล่าวว่าเป็นเพียงปริยัติเท่านั้น แม้แต่ผู้บรรยายก็ไม่เห็นปฏิบัติ

คือท่านมีความเข้าใจว่าการปฏิบัติคือ การทำ ซึ่งต้องเป็นการทำอะไรขึ้นนะคะ ให้เห็นหรือว่าให้ปรากฏ เป็นต้นว่า จะต้องเดินนะคะ เดินอยู่นั่นแล้ว เรียกว่า จงกรม บ้าง หรือว่าจะต้องนั่งนานๆ นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย ท่านก็เข้าใจว่า ถ้าจะปฏิบัติแล้ว ถ้าจะทำแล้วก็ต้องทำอย่างนั้น คือต้องทำนั่งนานๆ และก็ไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำกิจธุระตามปกติ ไม่พูด ไม่อ่านหนังสือ ไม่ทำอะไร ท่านเข้าใจว่าถ้าใครปฏิบัติ ต้องเห็นว่าเขาปฏิบัติ

แต่ถ้าไม่ทราบความหมายของ ปริยัติกับปฏิบัติ ว่ามีความหมายอย่างไรเวลาที่ฟังเรื่องของแนวทางเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขณะใดเป็นปริยัติ ขณะใดเป็นปฏิบัติ บางท่านไม่ทราบก็เข้าใจว่า เป็นเพียงเรื่องของปริยัติเท่านั้น

แต่ว่าถ้าท่านฟังโดยตลอดนะคะ ท่านก็จะทราบได้ว่า

ปริยัติ หมายความถึง ขณะที่ท่านรู้เรื่องของ จิต เจตสิก รูป ท่านรู้เรื่องของสภาพธรรมะ แต่ท่านไม่ได้รู้เรื่องของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนั้น นั่นเป็นปริยัติ เรียกว่าเป็นเพียงขั้นการศึกษาเท่านั้น ถึงแม้ว่า ท่านกำลังฟังอยู่ในขณะนี้นะคะ แต่ท่านไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ความรู้เป็นขั้นการฟังคือเป็นปริยัติ แต่ว่าปฏิบัตินั้นคืออย่างไร ไม่ใช่ให้ไปทำนั่ง ให้เห็นว่าปฏิบัติหรือว่าไปเดินให้เห็นว่าปฏิบัติ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สติระลึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาพิจารณารู้ชัดในสภาพธรรมะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้น เป็นปฏิปัตติธรรมะ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ใช่ต้องไปทำนั่งนานๆ หรือว่าต้องไปทำเดินไปเดินมา แล้วก็เห็นว่าคนนั้นกำลังปฏิบัติหรือว่าคนนี้กำลังปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เข้าใจด้วยนะคะ ถึงการศึกษาว่าขั้นปริยัติหมายถึงการศึกษาเรื่องของธรรมะ แต่ว่าขั้นปฏิบัติหรือการปฏิบัตินั้น หมายความถึง รู้ลักษณะของธรรมะที่กำลังปรากฏ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
peeraphon
วันที่ 1 มิ.ย. 2555

เข้าใจตามลักษณะเช่นนี้ครับ การปฎิบัติไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่กำหนดลมหายใจ แต่รู้ลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ณ ขณะนั้น โดยไม่เลือกอารมณ์.

ชาตินี้โชคดีมากๆ ที่ได้มาเจอพระธรรมของจริง และได้พบกับกัลยาณมิตร มีอาจารย์สุจินต์ และอาจารย์หลายๆ ท่าน และพี่ๆ ที่ชี้ให้เห็นทางสว่าง ทรัพย์สินและวิชาทางโลกที่ได้มาในชาตินี้ไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลยกับสมบัติที่เจอ ณ ขณะนี้ ถึงแม้ว่าชาติหน้า จะไม่ได้เจอแบบนี้อีก อย่างน้อยๆ ก็ได้สะสมไปจนกว่าจะได้พบอีกครั้งครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 1 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
isme404
วันที่ 2 มิ.ย. 2555

ชาตินี้โชคดีมากๆ ที่ได้มาเจอพระธรรมของจริง และได้พบกับกัลยาณมิตร มีอาจารย์สุจินต์ และอาจารย์หลายๆ ท่าน และพี่ๆ ที่ชี้ให้เห็นทางสว่าง ทรัพย์สินและวิชาทางโลกที่ได้มาในชาตินี้ ไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลยกับสมบัติที่เจอ ณ ขณะนี้ ถึงแม้ว่าชาติหน้า จะไม่ได้เจอแบบนี้อีก อย่างน้อยๆ ก็ได้สะสมไปจนกว่าจะได้พบอีกครั้งค่ะ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 7 มิ.ย. 2555

รู้ลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ณ ขณะนั้น โดยไม่เลือกอารมณ์. ชาตินี้โชคดี มากๆ ที่ได้มาเจอ พระธรรมของจริง และได้พบกับกัลยาณมิตร มีอาจารย์สุจินต์ และ อาจารย์หลายๆ ท่าน และ พี่ๆ ที่ชี้ให้เห็นทางสว่าง ทรัพย์สินและวิชาทางโลกที่ได้มาในชาตินี้ไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลยกับสมบัติที่เจอ ณ ขณะนี้ ถึงแม้ว่าชาติหน้า จะไม่ได้เจอแบบนี้อีก อย่างน้อยๆ ก็ได้สะสมไปจนกว่าจะได้พบอีกครั้งครับ

ขอน้อมจิต อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 23 มี.ค. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ