ระลึกรู้อย่างนี้หรืออย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอบูชาคุณพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ได้ยินมาว่าระลึกรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ได้มาก แต่ตามความเข้าใจของผม หมายถึงว่าไม่ได้แบ่งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏออกเป็นสัดส่วนเท่าๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน แล้วสติจะระลึก ไม่มากไปในสภาพธรรมใดๆ แต่เป็นเพราะเหตุปัจจัยคือฟังเรื่องธรรมะมา จิตก็คิดเรื่องธรรมะคือ สภาพนามธรรมที่กำลังปรากฏ จิตที่คิดเรื่องแข็งปรากฏคือสภาพนามธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมกับระลึกรู้แข็ง แต่ที่ระลึกรู้ได้ยากคือกิเลสที่กำลังเกิดพร้อมกับจิตที่คิดว่าระลึกที่แข็ง เลยทำให้หลงไปว่ากำลังระลึกแข็งได้มาก กิเลสปิดบังไม่ให้สติเกิดระลึกว่าเป็นสภาพนามธรรมที่กำลังคิดถึงเรื่องสภาพแข็งจากเหตุปัจจัยคือฟังเรื่องธรรมมา
แค่คิดเรื่องแข็งแต่หลงไปว่าระลึกรู้แข็งมากกว่าอย่างอื่น แต่สติสามารถระลึกรู้ว่ากิเลสเกิดได้ด้วย รู้ว่าไม่เป็นประโยชน์เลยคลายจากสภาพที่กิเลสกำลังเกิด จากนั้นก็ระลึกอย่างอื่นต่อ หรือไม่ก็เป็นความนึกคิดที่เป็นกุศลต่อ เพราะเป็นประโยชนใช่ไหมครับ แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ควรยึดที่เกิดต่อจากการคลายกิเลสไป แต่แรกเริ่มจะดีใจติดใจที่สามารถคลายความโกรธได้เพราะติดในสภาพธรรมที่เกิดหลังจากที่คลายความโกรธได้ เพราะอยากให้สภาพธรรมแบบนี้เกิดอีก นี่เป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก เข้าใจยากและคลายได้ยาก แต่มีค่ามากถ้าเข้าใจได้ครับ ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยนะครับ
หากมีข้อชี้แนะประการใด หรือสนใจร่วมสนทนาด้วย ก็ขอเชิญครับ เพื่อความเข้าใจถูกมากขึ้น ตรงต่อสภาพธรรมมากขึ้นครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หากสติปัฏฐานเกิด หรือ สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นจะไม่สงสัยเลยว่า อย่างนี้หรืออย่างไร เพราะขณะนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่เป็นการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ โดยมาก เรามักเอาความคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ไปปนกันว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ตรงลักษณะ เพราะขณะที่คิดถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ขณะนั้น คิดถึงเรื่องราวของสภาพธรรมว่าขณะนั้น แข็งนะ แต่ไม่ไ่ด้รู้ตรงลักษณะที่แข็งจริงๆ เพราะขณะที่รู้แข็ง ในขณะนั้นที่คิดนึก ไม่ได้มีปัญญารู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ
ซึ่ง แม้ขณะที่โกรธเกิดขึ้น และคิดนึกในสภาพธรรมที่โกรธ ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ขณะนั้น ความโกรธคลายลงก็จริง แต่เป็นความโกรธที่คลายลง ด้วยสติและปัญญาขั้นคิดนึก คิดถูก แต่ไม่ได้คิดถูก ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่โกรธกำลังเกิดขึ้นว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ เพราะฉะนั้น การรู้ลักษณะของโกรธ ที่เป็นสติปัฏฐานจะต้องเป็นการรู้ตรงลักษณะที่โกรธกำลังเกิด โดยไม่ใช่การคิดนึก แต่รู้ตรงลักษณะ และ ขณะนั้น จะมีลักษณะที่โกรธ ปรากฏเท่านั้น จึงรู้ด้วยปัญญาในขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ นี่แสดงถึงความละเอียดลึกซึ้งของการเจริญสติปัฏฐานว่าเป็นสิ่งที่ยาก ลึกซึ้ง กว่าจะถึงได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบเหมือนกับผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐาน เปรียบเหมือนการเอาปลายขนทราย ไปแทงปลายขนทราย คือเอาสิ่งที่เล็กมากๆ ไปแทงให้โดนสิ่งที่เล็กมากๆ ให้โดนพอดี ดังเช่น ผู้ที่ยิงธนู ไปยิงถูก ปลายของลูกธนูอีกดอกหนึ่งที่เป้าหมาย ซึ่งยาก แต่ปลายขนทรายเล็กมากๆ เล็กกว่า ปลายของลูกธนู จึงเป็นเรื่องยาก การเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องยากกว่านั้น เพราะ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมมามากแล้ว จึงจะทำให้เกิดสติปัฏฐานได้ เพียงแต่ว่า หนทางที่ถูก คือ การฟังพระธรรมต่อไป โดยที่ปัญญาขั้นการฟัง ก็จะเป็นเครื่องนำทางให้ ไม่หลงไปในทางที่ผิด ที่สำคัญว่า การคิดนึกถึงสภาพธรรม เป็นสติปัฏฐานที่เกิดแล้วครับ และ มีความเข้าใจถูกครับว่า เมื่อสติยังไม่เกิด ก็ยังไม่เกิด ไม่ได้สำคัญผิดว่าเกิด เพราะถ้าเกิดจริง ย่อมไม่สงสัยในขณะที่สติเกิด เพราะ มีปัญญารู้ในขณะนั้นด้วย ครับ
สำคัญที่ความมั่นคงในขั้นการฟัง ฟังบ่อยๆ และ มั่นคงในหนทางนี้ว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แม้ สติและปัญญา หรือ สติปัฏฐาน หน้าที่คือ ฟังพระธรรมต่อไป และเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดเอง โดยไม่ต้องเลือก หรือ ทำ และเมื่อเกิด ย่อมจะรู้ว่า ความจริง ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดเป็นอย่างไร เปรียบเหมือน ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่เคยเห็น แต่เมื่อเห็นแล้วกับตาของตน ย่อมรู้ว่าเป็นอย่างไร ครับ สติปัฏฐานก็เช่นกัน เกิดแล้วในขณะนั้นย่อมรู้ และไม่สงสัยว่า ระลึกอย่างไร ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ เป็นการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่พ้นจากสติไปได้ สติย่อมมีอย่างแน่นอน โดยไม่มีตัวตนที่ระลึก หรือไปเจาะจงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติ คือ เป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังมีในขณะนั้น มีสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึก และมีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ย่อมเป็นกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา และมีสติที่เป็นสภาพธรรมที่ระลึกด้วย เพราะสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้นั้น ก็เป็นธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันนี้เองที่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย
บุคคลผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมจะทราบทีเดียวว่า ลักษณะของสติ คือในขณะไหน ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ปกติในชีวิตประจำวัน มีเห็น มีได้ยิน มีกลิ่น มีรส มีเย็น มีร้อน อ่อนแข็ง มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ เป็นต้น ก็แล้วแต่ว่าสติจะระลึกที่ลักษณะใด ตรงไหนก็ตรงนั้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไ่ม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ประการที่สำคัญนั้น ก่อนที่จะไปถึงสติปัฏฐาน ขอให้ฟังให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าพระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ฟังพระธรรมให้เข้าใจในสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม อย่างมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นความเข้าใจในความจริงอย่างมั่นคง จึงจะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้เลย คือ ธรรม เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...