ความเข้าใจธรรมมะ

 
Graabphra
วันที่  7 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21231
อ่าน  1,832

๑. ความเข้าใจธรรมะแตกต่างหรือเหมือนกันกับความเข้าใจสภาพธรรม?

๒. ความเข้าใจธรรมมะ เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจสภาพธรรม?

๓. ความเข้าใจสภาพธรรม เป็นเหตุให้พิจารณาธรรมได้ถูกต้องตามลำดับ?

๔. ความเข้าใจสภาพธรรม พิจารณาธรรมได้ตรง ถูกต้อง เป็นเหตุให้สติเกิดบ่อยๆ?

๕. การระลึกถึงความคิด (ไม่ว่าจะคิดถึงสิ่งใดก็ตาม) คือ นามธรรมที่กำลังเกิดหลังจากเห็นจะค่อยๆ เร็วขึ้น เป็นสติระดับหนึ่งๆ สลับกับสติปัฏฐานจนกว่าจะคมชัดขึ้น คลายจากความติดข้องเรื่อยๆ หากมีความเข้าใจสภาพธรรมขึ้นเรื่อยๆ แต่ละทวาร หมายถึงเห็นแล้วคิด ก็ระลึกสภาพคิด จนคมชัดขึ้น ใกล้เคียงเห็นมากขึ้น เป็นสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกัน ตามเหตุปัจจัย?

๖. ความเข้าใจสภาพธรรมเกิดขึ้นมาเอง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเข้าใจคงไม่เกิดแน่นอนครับ?

ผิดพลาดไปก็ขออภัยด้วยครับ

ขอคำชี้แนะครับและขอเชิญร่วมสนทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 มิ.ย. 2555
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๑. ความเข้าใจธรรมะแตกต่างหรือเหมือนกันกับความเข้าใจสภาพธรรม? - ความเข้าใจธรรม ก็คือ ปัญญาที่เข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้นปัญญามีหลายระดับ หรือความเข้าใจธรรมมีหลายระดับ คือ ความเข้าใจธรรมในขั้นการฟังในเรื่องธรรมส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนของพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัย ก็ชื่อว่า ความเข้าใจธรรม ที่เป็นปัญญา ความเข้าใจขั้นปรัยัติ ขณะที่ฟังเข้าใจในธรรมส่วนต่างๆ มีเรื่องกรรม เป็นต้น

ขณะนั้น มีความเข้าใจธรรมในขั้นการฟัง และความเข้าใจธรรม ในขั้นปฏิบัติ คือ มีปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา คือ เข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และความเข้าใจธรรม หรือ ปัญญาที่เข้าใจธรรมที่เป็นพระนิพพาน และเข้าใจธรรมส่วนอื่นๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง อันเกิดจากปัญญาที่เป็นปฏิเวธ คือการบรรลุธรรม ครับ จะเห็นนะครับว่า ความเข้าใจธรรมกินความกว้างขวางทั้งความเข้าใจที่ไม่ใช่เฉพาะตัวธรรมเท่านั้นที่เป็นสภาพธรรม แต่รวมถึงเรื่องราวของธรรมอื่นๆ ด้วย มีเรื่องกรรม เรื่อง บารมี เรื่องกุศลประการต่างๆ

ส่วน ความเข้าใจสภาพธรรม คือ มุ่งหมายถึงเรื่อง ตัวสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม แต่ไม่ใช่เรื่องอื่นๆ เช่น ไม่ใช่เรื่องกรรม เรื่องสมถภาวนา เป็นต้น

ซึ่งความเข้าใจสภาพธรรม หรือ ปัญญาที่เข้าใจตัวธรรม ก็มีหลายระดับอีกเช่นกัน ปัญญาขั้นการฟัง ที่เข้าใจสภาพธรรม ที่เข้าใจขั้นการฟังว่า สภาพธรรมมีจริง เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เสียง สี กลิ่น เป็นธรรม เพราะมีลักษณะให้รู้ กำลังปรากฏ แม้ยังไม่ได้ประจักษ์ตัวธรรม แต่เป็นการเข้าใจสภาพธรรมในขั้นการฟัง ครับ ความเข้าใจสภาพธรรมอีกระดับหนึ่ง คือ เข้าใจ คือ รู้ตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่มีในขณะนี้ ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา คือ เห็น กำลังปรากฏ สติและปัญญาเกิด รู้ตรงลักษณะที่เห็นกำลังปรากฏ ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา อันเป็นปัญญา ความเข้าใจสภาพธรรมในขั้นปฏิบัติที่รู้ที่ตัวจริงในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ขั้นการฟัง ครับ และความเข้าใจสภาพธรรม อีกระดับหนึ่ง คือ ประจักษ์ความจริงที่เป็นพระนิพพาน ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น ก็เป็นปัญญา ความเข้าใจที่แทงตลอดสภาพธรรม จนสามารถดับกิเลสได้ นั่นเองครับ ที่เป็นปฏิเวธ การบรรลุธรรมเพราะ ประจักษ์ตัวธรรม คือ พระนิพพาน

สรุปได้ว่า ความเข้าใจธรรมกินความกว้างขวาง ว่า ความเข้าใจสภาพธรรม เพราะความเข้าใจธรรม เข้าใจเรื่องราวในส่วนอื่นๆ ของพระไตรปิฎกด้วย ไม่ใช่เฉพาะความเข้าใจสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 มิ.ย. 2555
๒. ความเข้าใจธรรมะ เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจสภาพธรรม? - ความเข้าใจธรรม ในขั้นการฟัง ทั้งเรื่องสติปัฏฐาน และ ความเข้าใจธรรมในส่วนต่างๆ ในพระไตรปิฎก ย่อมเกื้อกูล เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นตัวจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ครับ ๓. ความเข้าใจสภาพธรรม เป็นเหตุให้พิจารณาธรรมได้ถูกต้องตามลำดับ? - ความเข้าใจธรรมที่เกิดขึ้น ขณะที่เข้าใจ ขณะนั้น ก็ชื่อว่ากำลังพิจารณา โดยไม่มีตัวตนไปแยกพิจารณาต่างหาก เพราะ คำว่าพิจารณาโดยมาก มักสำคัญว่าจะต้องคิดเป็นเรื่องราว แต่ขณะใดที่รู้ความจริงในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ก็ชื่อว่าพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ตรงลักษณะของสภาพธรรม ครับ ๔. ความเข้าใจสภาพธรรม พิจารณาธรรมได้ตรง ถูกต้อง เป็นเหตุให้สติเกิดบ่อยๆ? - ปัญญาขั้นการฟังในเรื่องสภาพธรรม หรือความเข้าใจสภาพธรรม เป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเหตุให้เกิดสติได้บ่อยๆ เพราะแล้วแต่ว่า ความเข้าใจสภาพธรรมนั้นมีกำลังหรือไม่ คือ ต้องเป็นผู้ที่เกิดสติปัฏฐานแล้ว และอาศัยปัญญาขั้นการฟังต่อไปจนมีกำลัง สติก็เกิดอีกได้ และจะบ่อยหรือไม่บ่อย ก็เป็นอนัตตา ตามกำลังปัญญาที่สะสมมาด้วย เพียงแต่เข้าใจได้ว่า สัญญา ความจำที่มั่นคงที่เกิดพร้อมกับปัญญาในขั้นการฟัง เป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน ครับ ๕. การระลึกถึงความคิด (ไม่ว่าจะคิดถึงสิ่งใดก็ตาม) คือนามธรรมที่กำลังเกิดหลังจากเห็นจะค่อยๆ เร็วขึ้น เป็นสติระดับหนึ่งๆ สลับกับสติปัฏฐานจนกว่าจะคมชัดขึ้นคลายจากความติดข้องเรื่อยๆ หากมีความเข้าใจสภาพธรรมขึ้นเรื่อยๆ แต่ละทวาร หมายถึงเห็นแล้วคิด ก็ระลึกสภาพคิด จนคมชัดขึ้น ใกล้เคียงเห็นมากขึ้น เป็นสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกัน ตามเหตุปัจจัย? - คิดมีจริง เป็นจิตที่คิด ไม่มีใครห้ามคิดได้ เพราะ คิดอยู่แล้ว เกือบจะตลอดเวาลา คิดมีจริง ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานอย่างมั่นคง มีกำลังมากแล้ว ย่อมสามารถเกิดสติและปัญญารู้ลักษณะของจิตที่กำลังคิดว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกรู้อะไร ไม่ได้จำกัดที่คิด หรือสภาพธรรมใด อันแสดงถึงความเป็นอนัตตา และไม่มีการเลือก เจาะจง ครับ ๖. ความเข้าใจสภาพธรรมเกิดขึ้นมาเอง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเข้าใจคงไม่เกิดแน่นอนครับ? - ถูกต้องครับ ขออนุโมทนา ความเข้าใจธรรม และ ความเข้าใจสภาพธรรม จะเกิดขึ้นเองไม่ได้เลย หากไม่ใช่พระพุทธเจ้า และ พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระสาวก ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง คือ ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นปัจจัยให้ความเข้าใจธรรมเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นทีละน้อย นั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 8 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะประมาณได้เลย พระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง มีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งปวง ทั้งเทวดา พรหม และ มนุษย์ทั้งหลาย, พระมหากรุณาที่ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกนั้น ก็ด้วยพระธรรมคำสอนของพระองค์ ที่เป็นแสงสว่างทำลายความมืดคืออวิชชา (ความไม่รู้) เพราะมีอวิชชานี้เองจึงทำให้ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้กระทำไม่ดี ประพฤติทุจริตกรรมประการต่างๆ มากมาย อะไรที่จะเป็นธรรมที่ละคลายอวิชชาซึ่งเป็นความไม่รู้ได้? ก็ต้องด้วยปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น แล้วปัญญา จะมาจากไหน จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าไม่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าขณะนี้เป็นธรรม ก็จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปตามลำดับ มีความเข้าใจว่าธรรมไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน มีจริงในขณะนี้ และสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ จะให้มีการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏโดยปราศจากความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 8 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 10 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
akrapat
วันที่ 10 มิ.ย. 2555

ที่กล่าวมาทั้งหมด ๖ ข้อ แสดงว่ายังไม่เข้าใจ เพราะถ้าเข้าใจ หรืออาจจะพอเข้าใจ แต่ยังไม่แน่ใจ ก็ยังนับว่ายังไม่เข้าใจ เพราะถ้าเข้าใจแล้ว ความสงสัยย่อมไม่มี เพราะความสงสัยโดยตัวมันเองก็เป็น "ธรรมะ" และที่สำคัญที่สุด จุดประสงค์ของการศึกษาธรรมะในขั้นต้นไม่ใช่เพื่อต้องการ ที่ "เอา" ความเข้าใจ แต่เพื่อให้รู้ว่า แม้ในขณะที่ยังไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็น "ธรรมะ"

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Graabphra
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ธรรมใดที่ตรงตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หากเกิดแก่ข้าพเจ้า รวมถึงธรรมอื่นใดที่ยังไม่เกิดแก่ข้าพเจ้า ขอธรรมที่เป็นคุณเป็นประโยชน์นั้นจงเกิดแก่ท่านทั้งหลายและสรรพสัตว์ ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายพบพระธรรมคำสอน รู้ตามคำสอนและพ้นจากทุกข์ ทั้งมวลครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ ผเดิม, อาจารย์ คำปั่นและทุกๆ ท่านครับและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ