รบกวนขอสอบถามเกี่ยวกับหลักฐานในการแปลมหาชาติภาษาบาลีเป็นภาษาไทย

 
tookta
วันที่  9 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21238
อ่าน  3,779

พอดีหลานมาทำรายงานที่บ้านแล้วเขาสงสัย ก็เลยรบกวนท่านผู้รู้ช่วยอธิบายด้วยนะคะ

คือหลักฐานในการแปลมหาชาติจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย มันมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

แต่อยากรู้ว่า หลักฐานการแปลที่เหลืออยู่มีอะไรบ้าง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เทศน์มหาชาติ คือ การร่ายยาว หรือการเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ว่าด้วยพระบุพจริยาของพระพุทธองค์ในอดีตชาติ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เวสสันดรชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นคาถาภาษาบาลีนับได้ ๑๐๐๐ พระคาถา อยู่ในรูปคาถา คือ คำร้อยกรอง

ต่อมา บรรพบุรุษของเราทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรในสมัยสุโขทัยได้เห็นพ้องต้องกัน ว่า เวสสันดรชาดกเป็นเรี่องที่เหมาะสมจะเชิดชู เป็นหลัก เป็นประธานในการเสริมสร้างอัธยาศัยของคนในชาติ จึงได้มีการแปลเป็นภาษาไทย ตั้งแต่ยุคสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมา ครั้นถึงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้มีความรู้ในด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงมีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้น เมื่อปีขาล พ.ศ.๒๐๒๕ วิธีแต่ง นำเอาภาษาบาลีเดิมตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปล เป็นคำร้อยกรองในภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป ตามความถนัดของกวีผู้แต่ง หรือ ตามกำหนดที่ได้ตกลงวางไว้เป็นแบบ คงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะและให้ใกล้กับภาษาบาลีเดิมทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือที่แต่งดีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หนังสือมหาชาติคำหลวงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าให้แต่งขึ้นนั้น ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับใช้สวด และต่อมาได้โปรดเกล้าให้นิมนต์พระสงฆ์ผู้สามารถอ่านวรรณคดีได้ถูกต้องตามทำนองกวีนิยมสมัยนั้น เข้าไปอ่านวรรณคดีมหาชาติคำหลวงถวายในพระที่นั่งเป็นประจำ จนเกิดเป็นประเพณีนิยม สืบต่อๆ มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากเวลามีงานนักขัตฤกษ์ เช่น เข้าพรรษา ครั้งโบราณก่อนนั้น เป็นหน้าที่ของขุนทินบรรณาการและขุนธานกำนัน กับผู้ช่วยอีก ๒ คน นั่งบนเตียงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วสวดมหาชาติคำหลวงโดยทำนองอย่างเก่า ถวายพระมหากษัตริย์ในเวลาเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล

ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงได้สูญหายไป ๖ กัณฑ์ เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ต่อมา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งกัณฑ์ที่ขาด ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์ ขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๕๘ หนังสือมหาชาติคำหลวงจึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เป็นเรื่องของความนึกคิด การสืบต่อกันของความคิด ตามการสะสม อันเป็นไปที่ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ แต่ที่สำคัญ ประโยชน์ของพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจ เรื่องของปัญญาที่เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส ละความไม่รู้ ละความติดข้อง

ดังนั้น การกระทำอะไรก็ตาม หากเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ เพื่อได้ คือ เพื่อความได้บุญ แม้แต่การฟังธรรม ก็เป็นการตั้งจิตไว้ผิด ย่อมไม่ได้สาระ และ ส่วนของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจ แต่ย่อมได้อกุศลธรรม สะสมไป เพราะ มีโลภะเป็นปัจจัย และความไม่รู้เป็นต้นเหตุ ครับ

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ไม่ใช่ เพื่อได้ ไม่ใช่เพื่อได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่การฟังพระธรรม เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา เพราะ ปัญญาที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อละ ความอยากได้ ละอกุศลธรรมประการต่างๆ เป็นสำคัญ ครับ เพราะฉะนั้น แทนที่จะอยากฟัง อยากได้อานิสงส์ของการฟังบทพระธรรมใด ก็ควรที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจในบทนั้น ก็จะเป็นประโยชน์ที่ถูกต้อง คือ ประโยชน์ คือ กุศลธรรมและปัญญาที่เกิดขึ้นในจิตใจ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เทศน์มหาชาติ ตามความเป็นจริงแล้ว คือ การแสดงถึงพระชาติใหญ่ๆ ของพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เฉพาะเวสสันดรชาดกเท่านั้น ยังมีพระชาติที่เป็นวิธูรบัณฑิต สุวรรณสาม เป็นต้น การแสดงพระธรรมไม่ว่าจะเป็นส่วนใด ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะเวสสันดรชาดกเท่านั้น ที่ควรแสดง ชาดกอื่นๆ รวมไปถึงพระธรรมส่วนอื่นๆ ก็ควรนำมาแสดงด้วย จุดประสงค์ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟัง เป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ สรรเสริญ ถ้ามีการใส่ทำนองหรือเทศน์แบบแหล่ นั้น ไม่ถูกต้อง ผิดพระวินัยสำหรับพระภิกษุด้วย เพราะการกล่าวด้วยเสียงธรรมดา ย่อมจะฟังง่ายกว่าการใส่ทำนอง

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงเหตุที่ทรงแสดงชาดก ไว้ว่า

"เหตุที่ทรงแสดงชาดก ควรที่จะได้พิจารณาว่า แต่ละคนก็มีการเกิดแล้วเกิดอีก แต่ละชาติ เลือกไม่ได้เลย แล้วแต่เหตุปัจจัย จากผู้ไม่รู้สู่ความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระชาติต่างๆ จะมากมายสักแค่ไหน แต่ละพระชาติก็เปลี่ยนไปตามเหตุ ปัจจัย บางพระชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน บางพระชาติเป็นคนยากจนเข็ญใจ แต่ทั้งหมด ก็คือสามารถที่จะบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะรู้ความจริง และแสดงให้เห็นความต่างกัน อย่างเทียบไม่ได้เลยระหว่างผู้ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tookta
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงนะคะที่ช่วยไปค้นคว้า และนำความรู้ที่ถามไป มาอธิบายอย่างละเอียด แล้วจะนำไปบอกหลาน

(และขอขอบคุณแทนหลานสาวด้วยนะคะ)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ