ตัดสินประหารชีวิต บาปหรือไม่

 
ณัฐวุฒิ
วันที่  10 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21239
อ่าน  2,721

มีผู้พิพากษาได้ตัดสินประหารชีวิตคน

ไม่ทราบว่าจะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ บางกรณีที่มีกฎหมายว่าไว้ ว่าถ้าทำแบบนี้จะต้องโทษประหารชีวิต

ซึ่งนักโทษก็ทราบว่าทำไปแล้วต้องถูกประหารชีวิต แต่ก็ยังทำ

ถือว่าผู้ตัดสิน ได้ให้โทษตามกฎหรือไม่ แล้วจะเว้นจากปาณาติบาตได้หรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก แม้แต่เรื่องการทำปาณาติบาต การฆ่าสัตว์อื่น ก็เช่นกัน ในการที่จะเป็นปาณาติบาต ที่เป็นการฆ่าสัตว์หรือไม่ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ หากมีเจตนาฆ่า ก็ชื่อว่าเป็นปาณาติบาต ซึ่งการฆ่าสัตว์ที่เป็นปาณาติบาต นั้น สามารถกระทำได้ทั้งทางกาย วาจาและใจ รวมทั้งการฆ่าด้วยตนเอง หรือ การ ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ก็ชื่อว่าเป็นปาณาติบาต เป็นบาป ครับ

ซึ่ง การใช้คำพูดที่เป็นวาจา ด้วยการฆ่าด้วยตนเอง อย่างเช่น ถ้ามีเจตนาจะฆ่า คนที่รับฟัง ด้วยรู้ว่าถ้าพูดวาจาอย่างนี้ เขาจะต้องเจ็บช้ำน้ำใจและจะต้องตาย จึงพูดคำบางคำให้ผู้นั้นฟัง ด้วยเจตนาให้เขาตาย เพราะการได้ยินคำนั้น เมื่อพูดคำนั้นไป เขาตายเพราะอาศัยวาจาของผู้นั้น ด้วยมีเจตนาฆ่า เป็นปาณาติบาต ด้วยการฆ่าด้วยตนเอง อันเนื่องด้วยทางวจีทวาร คือ ทางวาจา หากเป็นกรณีไม่ได้ฆ่าด้วยตนเอง แต่ให้ผู้อื่นไปฆ่าด้วยทางวาจา เช่น การสั่งให้คนอื่นไปฆ่าอีกบุคคลหนึ่ง เมื่อผู้นั้นตาย ย่อมเป็นปาณาติบาต ทางวจีทวาร อันอาศัยบุคคลอื่นฆ่า ครับ ซึ่งในกรณีของผู้พิพากษาตัดสินประหารชีวิตนั้น เป็นปาณาติบาตหรือไม่ ก็เป็นเรื่อง ที่ควรพิจารณาอย่างละเอียดดังนี้ ครับ

ก่อนอื่นก็ต้องกลับมาที่ความเข้าใจเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ จะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ สำคัญที่มีเจตนาฆ่าหรือไม่ครับ ถ้ามีเจตนาฆ่า ก็เป็นปาณาติบาต เป็นบาป ถ้าไม่มีเจตนาฆ่า ก็ไม่เป็นบาป เพราะฉะนั้น ในกรณีของผู้พิพากษา หรือ ผู้ที่ตัดสินคดี ในการตัดสินโทษประหารชีวิตกับนักโทษนั้น ก็เป็นไปทั้ง ๒ กรณี คือ เป็นปาณาติบาต และ ไม่เป็นปาณาติบาต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

กรณีที่เป็นปาณาติบาต เป็นบาป คือ ผู้พิพากษา มีเจตนาฆ่านักโทษ คือ มีความอยากให้ผู้ที่เป็นนักโทษตาย อาจจะเพราะความไม่ชอบส่วนตัว หรือ ไม่ชอบการกระทำของนักโทษนั้นที่ทำไม่ดีมากๆ แม้จะอ่านไปตามตัวบทกฎหมาย ที่รับรองว่า ถ้าทำผิด ตามระเบียบข้อนี้ ต้องโทษประหารชีวิตก็ตาม แต่การตัดสินนั้น ด้วยการพูดทางวาจา โดยการอ่านคำวินิจฉัย ประกอบด้วยเจตนาที่อยากให้นักโทษตาย จึงอ่านคำตัดสินประหารชีวิต ด้วยเจตนาประสงค์ให้นักโทษตาย ก็ชื่อว่า มีเจตนาฆ่า และเมื่อนักโทษสิ้นชีวิต เป็นอันครบองค์กรรมบถ เป็นปาณาติบาต ครับ ในกรณีนี้

กรณีที่ไม่เป็นปาณาติบาต คือ ผู้พิพากษา ไม่มีเจตนาฆ่านักโทษ ไม่มีความอยากให้นักโทษตาย แต่อ่านคำตัดสินไปตามประมวลบทกฎหมายนั้น ตามระเบียบที่ควรจะเป็น โดยไม่ได้มีเจตนาฆ่า คำตัดสินนั้น ที่ไม่ประกอบด้วยเจตนาฆ่า ชื่อว่า ผู้พิพากษา หรือ ผู้ตัดสินคดี ไม่เป็นบาป ไม่เป็นปาณาติบาต ครับ

ซึ่งเราสามารถพิจารณาได้ละเอียดครับว่า การอ่านหนังสือ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จิตเป็นกุศล ก็ได้ อกุศลก็ได้ ไม่ได้สำคัญที่เรื่อง แต่สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ อ่านด้วยความเข้าใจ กุศลเกิด อ่านด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ อกุศลจิตเกิด ทั้งๆ ที่เป็นข้อความเดียวกัน

ดังนั้น สำคัญที่จิตเป็นสำคัญ ครับ โดยนัยเดียวกัน การอ่านคำตัดสิน หรือ การพูดในคำนั้น การพูดก็มีเพราะอาศัยการคิดนึก ดังนั้น คิดนึกด้วยกุศลก็ได้ จึงพูดคำนั้น พูดด้วยอกุศลก็ได้ และ การพูดด้วยอกุศลก็แบ่งความละเอียดลงไปอีก คือ พูดด้วยอกุศล ที่เป็นโลภะ แต่ไม่ได้พูดด้วยอกุศลที่เป็นโทสะ และ การพูดด้วยอกุศล ก็ยังแบ่งตาม ระดับของกิเลสลงไปอีก คือ พูดด้วยอกุศลที่มีเจตนาฆ่า กับการพูดด้วยอกุศล มีโลภะเป็นต้น แต่ไม่มีเจตนาฆ่า ครับ การตัดสินคดีความของผู้พิพากษาก็เช่นกัน กล่าวคำพูด หรือ อ่านคำตัดสินคดี ด้วยกุศลก็ได้ ด้วยอกุศลก็ได้ ด้วยอกุศลที่มีเจตนาฆ่าก็ได้ ไม่มีเจตนาฆ่าก็ได้ ตามที่กล่าวมาทั้งหมด พระธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียด เพราะเป็นรื่องของจิตใจ ที่เป็นนามธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่มีข้อความใดที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนเกิด อกุศลเลย แม้เพียงเล็กน้อย พระองค์ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายในการเว้นจากการคิดร้าย โกรธเคืองหรือพยาบาทผู้อื่น เว้นจากการทำร้ายเบียดเบียน และฆ่าสัตว์อื่น เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมรักความสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ควรมีเมตตาต่อกัน การโกรธกัน เกลียดกัน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรโดยประการทั้งปวง เพราะเป็นอกุศลธรรม อกุศลธรรม จะเป็นสิ่งที่สมควรไม่ได้ สิ่งที่สมควรถูกต้อง ต้อง เป็นกุศลธรรมเท่านั้น

บุคคลผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม อันเกิดจากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะกระทำหน้าที่ใด ก็ตาม ก็ย่อมจะกระทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นคล้อยตามความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เป็นไปกับด้วยอกุศล เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ตามการสะสม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ณัฐวุฒิ
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

นี่คือ โทษของการเกิดมาในสังสารวัฏฏ์

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 11 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"สำคัญที่มีเจตนา"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 12 มิ.ย. 2555

"กรณีที่ไม่เป็นปาณาติบาต คือ ผู้พิพากษา ไม่มีเจตนาฆ่านักโทษ ไม่มีความอยากให้นักโทษตาย แต่อ่านคำตัดสินไปตามประมวลบทกฎหมายนั้น ตามระเบียบที่ควรจะเป็น โดยไม่ได้มีเจตนาฆ่า คำตัดสินนั้น ที่ไม่ประกอบด้วยเจตนาฆ่า ชื่อว่า ผู้พิพากษาหรือ ผู้ตัดสินคดี ไม่เป็นบาป ไม่เป็นปาณาติบาต ครับ"

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นครับ

การตัดสินคดีโดยพิพากษาให้ประหารชีวิต ผู้ตัดสินย่อมรู้ดีว่า ผู้ต้องโทษย่อมต้องถูกประหารด้วยคำตัดสินของตน เจตนาในการตัดสินย่อมมีอยู่และรู้ถึงผลสุดท้ายของคำตัดสินนั้น

เจตนาในขณะตัดสินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เป็นเส้นแบ่งที่บางมากระหว่างเจตนาให้ผู้ถูกตัดสินถูกประหารชีวิต กับ เจตนาที่ประกอบด้วยอุเบกขา

(แม้แต่พระโพธิสัตว์ในสมัยพระเตมียกุมาร ขณะที่เป็นพระโอรสเห็นพระราชบิดาตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด แม้จะเป็นไปตามกฎหมายจารีต แต่ท่านก็เห็นโทษภัยใหญ่ ยอมทำเป็นผู้ผิดปกติเพื่อไม่ต้องทำหน้าที่ตัดสินดังกล่าว

"ขณะนั้น พวกราชบุรุษนำโจร ๔ คนมาหน้าที่นั่ง. พระราชาทอดพระเนตรเห็นโจรเหล่านั้นแล้ว มีพระราชดำรัสสั่งให้ลงพระอาญาโจรเหล่านั้น ให้เอาหวายทั้งหนามเฆี่ยนโจรคนหนึ่ง ๑,๐๐๐ ที ให้จำโจรคนหนึ่งด้วยโซ่ตรวนแล้วส่งเข้าเรือนจำ ให้เอาหอกแทงที่สรีระของโจรคนหนึ่ง ให้เอาหลาวเสียบโจรคนหนึ่ง. ครั้งนั้นพระมหาสัตว์ได้ทรงฟังพระดำรัสของพระบิดา ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งทรงจินตนาการว่า โอ พระชนกของเราอาศัยราชสมบัติทำกรรมอันหนักเกินซึ่งจะไปสู่นรก.")

ดังนั้นหากขาดความเข้าใจศึกษาพระธรรมให้ละเอียดแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้กระทำผิดไปในอกุศลได้มากทีเดียวนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
drroyz
วันที่ 18 มิ.ย. 2555

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ