พระสงฆ์ที่ไม่ยอมไปบิณฑบาต ทำผิดพระวินัยจนต้องถึงอาบัติไหมครับ .
บางท่านไม่ยอมบิณฑบาต โดยอ้างว่าสุขภาพไม่ดี เป็นหอบง่าย แต่ก็ยังสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ และยังรับกิจนิมนต์นอกวัดได้ บางท่าน บอกว่าสามารถรับบาตรจากพระอุปฐากที่เป็นลูกศิษย์ที่ไปบิณฑบาตกลับมาแล้วตักให้ได้
๑. ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาส หรือพระสมณศักดิ์สูงๆ ยังต้องไปบิณฑบาต ด้วยหรือเปล่าครับ หรือฝากลูกศิษย์ไปแทนได้
๒. ข้อยกเว้นที่จะทำให้พระสงฆ์ไม่ต้องบิณฑบาต แล้วไม่ผิดพระวินัย เช่น ฝนตกหนัก ป่วยหนักเดินไม่ได้ นอกจากนี้แล้วมีอะไรอีกบ้างครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำหรับเพศคฤหัสถ์ ก็ต้องมีการเลี้ยงชีพ นั่นคือ การประกอบอาชีพที่สุจริต เพื่อที่จะดำรงชีวิตของตนเอง และผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีความสุข แม้ เพศบรรพชิต มีพระภิกษุ ท่านก็ต้องเลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ถูกต้องสมควรกับเพศพระภิกษุ แต่ไม่ใช่ดังเช่นคฤหัสถ์ ครับ นั่นคือ การบิณฑบาต ได้อาหารมาด้วยความสุจริต ไม่ใช่ด้วยการเลียบเคียง แต่แสวงหาก้อนข้าว ด้วยการเดินไปตามตรอก สถานที่เหมาะสมด้วยกิริยาที่สมควร เป็นต้น อันเหมาะกับเพศพระภิกษุ นี่คือการเลี้ยงชีพที่ถูกต้องของเพศพระภิกษุ
๑. ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาส หรือพระสมณศักดิ์สูงๆ ยังต้องไปบิณฑบาต ด้วยหรือเปล่าครับ หรือฝากลูกศิษย์ไปแทนได้
พระภิกษุไม่ว่ารูปใด แม้แต่พระพุทธเจ้า พระองค์ก็เสด็จบิณฑบาต เพราะ เป็นวัตรข้อปฏิบัติที่สมควร ดังนั้น พระภิกษุทุกรูป ไม่เว้นว่าใครเลย ก็ควรเป็นผู้เลี้ยงชีพด้วยสุจริต คือ การบิณฑบาต เพราะ ไม่ใช่เพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ต้องปฏิบัติให้สมควรกับเพศด้วย ดังเช่น พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองกบิลพัสด์ุ เมื่อรุ่งเช้า พระพุทธเจ้าเสด็จเดินบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะ เห็นพระพุทธเจ้าเดินบิณฑบาต ขออาหาร เกิดความละอายใจ เสียใจ เหมือนกับว่า ไปขออาหารคนอื่นเขาทาน ทั้งๆ ที่ ตัวเอง เป็นลูกกษัตริย์ พระเจ้าสุทโธทนะ รีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้กล่าวว่า ทำไม พระองค์ทำให้วงศ์ของหม่อมฉันได้รับความอับอาย ในการเที่ยวขออาหารคนอื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า วงศ์ของมหาบพิตรก็อย่างหนึ่ง วงศ์ของอาตมาก็อย่างหนึ่ง เป็นคนละวงศ์กัน คือ เป็นคนละเพศกันแล้ว คือ คฤหัสถ์ กับ บรรพชิต
ดังนั้น บรรชิพ แสวงหาอาหารโดยการเที่ยวไปตามตรอก ด้วยปลีแข้ง จึงสมควรกับวงศ์อาตมา พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ณ ที่นั้น พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา บรรลุเป็นพระโสดาบัน
จากตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึง การประพฤติอันสมควร กับเพศบรรพชิต พระภิกษุแม้แต่พระพุทธเจ้า ยังแสวงหาก้อนข้าวด้วยการเที่ยวบิณฑบาต จะกล่าวไปไย ถึงภิกษุรูปอื่นๆ ครับ ก็ควรเป็นผู้แสวงหาอาหารด้วยความสุจริต ด้วยการบิณฑบาต ครับ ไม่ใช่ฝากผู้อื่นไปแทน นอกเสียจากเหตุจำเป็นบางอย่าง ครับ
๒. ข้อยกเว้นที่จะทำให้พระสงฆ์ไม่ต้องบิณฑบาต แล้วไม่ผิดพระวินัย เช่น ฝนตกหนัก ป่วยหนักเดินไม่ได้ นอกจากนี้แล้วมีอะไรอีกบ้างครับ
พระภิกษุ ไม่ต้องไปบิณฑบาต ในกรณีที่ คฤหัสถ์นิมนต์ ไปฉันที่วัด หรือ ที่อื่น ก็ไม่ต้องบิณฑบาต หากฝนตก ก็สามารถกางร่มได้ แต่ถ้าป่วยก็อนุญาตไว้ ครับ และ ถ้าสถานที่นั้น เป็นที่ๆ มีภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีสงคราม หรือ ภัยร้ายแรง ก็ไม่ต้องบิณฑบาตได้ ครับ นี่คือมีเหตุจำเป็นจึงไม่บิณฑบาต
พระภิกษุ ควรเป็นผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน การไม่บิณฑบาต ทั้งๆ ที่มีแรง ไม่ได้อยู่ในกรณียกเว้นใด การไม่บิณฑบาต เพราะความเกียจคร้าน ย่อมต้องอาบัติและเสื่อมจากคุณธรรมได้ ครับ
ขออนุโมทนาอาจารย์ประเชิญที่ให้รายละเอียดในการตอบ ให้เข้าใจถูกขึ้น ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"บุคคลไม่ควรใส่ใจคำหยาบของคนอื่นและสิ่งที่กระทำแล้ว และยังไม่ได้กระทำของเขา ควรพิจารณากิจที่ทำแล้ว และยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น"
"บรรพชิตไม่ควรประมาทในบิณฑบาต อันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ"
ควรประพฤติธรรมให้สุจริต ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งที่สำคัญ คือ การศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจจริงๆ แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ และไม่ประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ถ้าหากว่าไม่ได้ศึกษา ก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรโดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควร อันมีพื้นมาจากการไม่ได้ศึกษา ย่อมจะเป็นโทษเป็นภัยแก่ตนเองโดยส่วนเดียว แม้อาบัติเพียงเล็กน้อยก็มีโทษ ถ้าไม่ได้ปลง ไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และยังเป็นเครื่องกั้นในการไปสุคติภูมิ ด้วย ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...