จิตที่นำเกิดเป็นมนุษย์พิการแต่กำเนิด

 
supim
วันที่  22 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21290
อ่าน  2,915

อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด "โสมนัสกุศลวิบากสันตีรณจิต" ที่นำปฏิสนธิเป็นมนุษย์ที่พิการแต่กำเนิด และต่างกันอย่างไรกับมหากุศลจิตดวงที่ ๘ ที่นำปฏิสนธิเป็นมนุษย์ที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์คะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเกิดเป็นผลของกรรม การเกิดเป็นมนุษย์ต้องเป็นเพราะผลของกรรมที่ดี คือ เป็นกุศลวิบาก อันเกิดจากเหตุคือการกระทำกุศลกรรมไว้ แต่ในความเป็นจริง กุศลกรรมที่ทำนั้น มีความแตกต่าง ตามระดับความประณีตของกุศลที่แตกต่างกัน กุศลบางประเภทมีกำลังประกอบด้วยปัญญา เป็นต้น กุศลบางประเภทไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็มีกำลังประณีตน้อยกว่ากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่มีเวทนาที่เป็นอุเบกขาและไม่มีปัญญา รวมทั้งเป็นสสังขาริกที่มีกำลังอ่อน ก็เป็นกุศลเหมือนกัน แต่เป็นกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนมาก

ดังนั้น เมื่อกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนมากให้ผล ก็สามารถเกิดเป็นมนุษย์ได้ครับ แต่เมื่อผลของกุศลกรรมอย่างอ่อนให้ผล ปฏิสนธิจิต เป็นชาติวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะเกิดจากกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อน จึงทำให้เกิดเป็นคนพิการตั้งแต่กำเนิด ผิดปกติตั้งแต่กำเนิดครับ เช่น บ้า ใบ้ บอด หนวก หรือพิการทางสมอง เป็นต้น เพราะเกิดจากผลของกุศลกรรมอย่างอ่อนนำเกิดครับ

ประเด็น คือ เราจะต้องแยกระหว่าง ตัวเหตุที่ทำให้เกิดผล คือ วิบาก กับผล ที่เป็นวิบากที่เป็นจิต เจตสิก อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก นั้นเป็นผลของกรรม ไม่ใช่ตัวเหตุ ส่วนมหากุศลดวงที่ ๘ ที่เป็นมหากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุข ไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง (มีการชักชวน) เป็นเหตุ ไม่ใช่ผล คือ เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น มหากุศลดวงที่ ๘ ที่มีกำลังอ่อน สามารถให้ผลเกิดวิบาก ที่เป็น ทวิเหตุ คือ ประกอบด้วย อโลภะ อโทสเจตสิก แต่ไม่ประกอบด้วย อโมหเจตสิก และสามารถให้ผล เป็น อเหตุจิต ที่เป็นชาติบาก คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ได้ ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ พิการตั้งแต่กำเนิด ครับ

เพราะฉะนั้น มหากุศลดวงที่ ๘ เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน เป็นตัวเหตุ ทำให้เกิดผล ที่เป็นวิบาก คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ครับ

จึงสรุปได้ว่า มหากุศลดวงที่ ๘ เป็นเหตุ ที่ทำให้เกิดผล คือ วิบากจิต เจตสิก ที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ทำให้ปฏิสนธิเกิดเป็นสัตว์พิการตั้งแต่กำเนิด ครับ เพราะ มหากุศลนั้น มีกำลังอ่อน เป็นกุศลเพียงเล็กน้อย ส่วนมหากุศลดวงที่ ๘ ที่ทำให้เกิด วิบากจิต ที่เป็น ทวิเหตุ เป็นมนุษย์ที่มีอวัยวะสมบูรณ์ เพราะ มหากุศลดวงที่ ๘ นั้น แม้มีกำลังอ่อน แต่ไม่อ่อนมาก จนถึงขนาดเกิดมาพิการ

ส่วน โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ตามที่ผู้ถามได้ยกมานั้น ไม่ทำกิจปฏิสนธิ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
isme404
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจค่ะ

ขออนุโมทนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
aurasa
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ที่เหมือนกัน คือ มีความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ จิต เจตสิก และ รูป เสมอกันโดยความเป็นธรรม แต่ที่ต่างกัน คือ การสะสม และ ผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

ที่เกิดมาพิการ หรือ ไม่พิการ นั้น กรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นเครื่องจัดสรร ไม่มีใครทำให้เลย ไม่มีใครบังคับให้เป็นอย่างนั้นได้เลย แต่เป็นไปแล้ว ตามสมควรแก่เหตุ คือ กรรม ที่ได้กระทำแล้ว เป็นไปนั่นเอง

การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกรรมประเภทใด ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิอย่างเดียว, แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ตามสมควรแก่กรรม ทั้งที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ หรือ เหตุ ๒ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย

การเกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการบ้า บอด หนวกตั้งแต่กำเนิด (ผิดปกติตั้งแต่เกิด) เป็นผลของกุศลที่มีกำลังอ่อน เช่น มหากุศลดวงที่ ๘ ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีเวทนาเป็นอุเบกขา เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน มหากุศลดวงนี้เวลาจะให้ผล ก็จะไม่ให้ผลเป็นอกุศลวิบากเลย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กุศลกรรมจะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก แต่จะให้ผลเป็นกุศลวิบากประเภทที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก อันเป็นผลมาจากเหตุคือกุศลที่มีกำลังอ่อน ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ผู้พิการ บ้า บอด หนวกตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะแตกต่างจากผลของอกุศลกรรม ที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ เท่านั้น

แต่ถ้าเป็นผู้ผิดปกติหลังจากที่เกิดแล้ว นั้น เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งเหตุย่อมสมควรแก่ผล เพราะการให้ผลของกรรม นั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ถึงแม้ว่าผู้กระทำอกุศลกรรม จะลืมไปแล้วว่าตนเองได้กระทำอะไรไว้บ้างทั้งในชาตินี้และในชาติก่อนๆ แต่กรรมไม่ลืมที่จะให้ผล ถ้าไม่มีเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น

ดังนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแม้ในขณะต่อไป ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ควรที่จะได้สะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ ต่อไป เพราะความดี เท่านั้น ที่จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี ไม่ใช่ อกุศลกรรม เพราะอกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

๑. แสดงว่า กุศลจิตดวงที่ ๘ (ประกอบด้วยความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีการชักชวน) ทำให้เกิดวิบากจิตได้สองชนิดคือ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ใช่มั้ยครับ

๒. แล้ว มหากุศลจิตอีก ๗ ดวงที่เหลือ ก็ทำให้เกิด มหาวิบาก ๗ ดวงที่เหลือตามกำลังใช่มั้ยครับ (เช่น มหากุศลดวงที่ ๑ --> มหาวิบากดวงที่ ๑ ฯลฯ)

๓. โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต เป็นผลของ กุศลจิตดวงไหนครับ

๔. มหากุศลจิตมี ๘ ดวง

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

เข้าใจว่ากำลังของแต่ละดวงนั้นเรียงจากมากไปน้อย คือดวงที่ ๑ มีกำลังมากที่สุด ดวงที่ ๘ มีกำลังน้อยที่สุด ใช่มั้ยครับ

ถ้าเป็นอย่างนั้น แสดงว่าปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตมีกำลังมากหรือน้อย ตามลำดับความสำคัญคือ

เวทนาที่เกิดร่วม --> มีปัญญาเกิดร่วมหรือไม่ --> มีการชักชวนหรือไม่

เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้

ขอกราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

๑. แสดงว่า กุศลจิตดวงที่ ๘ (ประกอบด้วยความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีการชักชวน) ทำให้เกิดวิบากจิตได้สองชนิดคือ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ใช่มั้ยครับ

- มหากุศลจิตดวงที่ ๘ (ประกอบด้วยความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีการชักชวน) ทำให้เกิดวิบากจิตได้ คือ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ก็ได้ ครับ ถูกต้อง ครับ

๒. แล้ว มหากุศลจิตอีก ๗ ดวงที่เหลือ ก็ทำให้เกิด มหาวิบาก ๗ ดวงที่เหลือตามกำลังใช่มั้ยครับ (เช่น มหากุศลดวงที่ ๑ --> มหาวิบากดวงที่ ๑ ฯลฯ)

- ก็เป็นโดยนัยนั้นได้ ครับ แต่ ก็ไม่เสมอไป คือ มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา สามารถทำให้เกิด วิบากจิตที่เป็น ที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ ก็ได้ แต่ มหากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ มี ๒ เหตุ จะทำให้เกิด มหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ได้ แต่สามารถทำให้เกิด วิบากจิต ที่เป็น ๒ เหตุ คือ มหากุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และทำให้เกิด อเหตุกุศลวิบาก ที่เป็น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก และโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิตได้ด้วย ครับ

๓. โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต เป็นผลของ กุศลจิตดวงไหนครับ

- โสมนัสสันตีรณจิต กุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของกุศลกรรม รู้อารมณ์ที่ดียิ่ง (อติอิฏฐารมณ์) ซึ่งสามารถเกิดจาก มหากุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา ๒ ดวง ดวงใด ดวงหนึ่งก็ได้ เพราะ เป็นกุศลที่มีกำลัง เพราะ ประกอบด้วยปัญญา และประกอบด้วยโสมนัส ส่วน กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ มีโสมนัส ๒ ดวง ก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือ โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ได้ครับ

๔. มหากุศลจิตมี ๘ ดวง

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

เข้าใจว่ากำลังของแต่ละดวงนั้นเรียงจากมากไปน้อย คือดวงที่ ๑ มีกำลังมากที่สุด ดวงที่ ๘ มีกำลังน้อยที่สุด ใช่มั้ยครับ

ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าปัจจัยที่ทำให้กุศลจิตมีกำลังมากหรือน้อย ตามลำดับความสำคัญคือ

เวทนาที่เกิดร่วม --> มีปัญญาเกิดร่วมหรือไม่ --> มีการชักชวนหรือไม่

เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้


- ต้องเรียงตามกำลังของกุศลดังนี้ ครับ คือ

ต้องพิจารณาที่ปัญญาก่อน กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มีกำลังมากกว่า กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แม้กุศลนั้นจะประกอบด้วยความรู้สึกอุเบกขา ส่วน กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จะมีความรู้สึกโสมนัส แต่ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มีความรู้สึกเฉย มีกำลังกว่า ครับ

เมื่อพิจารณาที่ปัญญาก่อนแล้ว ก็เป็นความรู้สึก ความรู้สึกโสมนัส มีกำลังกว่า ความรู้สึกเฉยๆ ในฝ่ายกุศล เช่น มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มีความรู้สึกโสมนัส มีกำลังกว่า มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แต่มีความรู้สึกเฉยๆ

และ ที่พิจารณาต่อไป คือ อสังขาริก มีกำลังมากกว่าสสังขาริก คือ อสังขาริก มีกำลัง ไม่ต้องอาศัยการชักจูง มีกำลังกว่า สสังขาริก ต้องอาศัยการชักจูง จึงจัดอันดับได้ดังนี้ครับ

มีปัญญาเกิดร่วมหรือไม่ --> เวทนาที่เกิดร่วม --> มีการชักชวนหรือไม่

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายอย่างละเอียดและชัดเจนยิ่งครับ

ขออนุโมทนาครับ

ขอถามอีกนิดว่า กำลังโลภมูลจิต ๘ ดวง ก็พิจารณาในลักษณะเดียวกันใช่มั้ยครับ คือ

มีทิฏฐิเกิดร่วมหรือไม่ --> เวทนาที่เกิดร่วม --> มีการชักชวนหรือไม่

และจากคำอธิบายของอาจารย์ผเดิม ผมสงสัยว่าอะไรเป็นปัจจัยให้ กุศลจิตประเภทหนึ่งๆ ให้ผลเป็นวิบากจิตประเภทใด

เช่น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เมื่อสติปัฏฐานเกิด เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตจิต แต่ก็อาจจะให้ผลเป็น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิเป็นอเหตุกบุคคลในชาติต่อๆ ไป ได้ใช่มั้ยครับ ... มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนี้เหรอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ถูกต้องครับ สำหรับ ฝ่ายอกุศล ที่เป็นโลภมูลจิต ก็โดยนัยเดียวกัน ครับ

ขออนุโมทนา

ส่วนคำถามที่ว่า

ผมสงสัยว่าอะไรเป็นปัจจัยให้ กุศลจิตประเภทหนึ่งๆ ให้ผลเป็นวิบากจิตประเภทใด เช่น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เมื่อสติปัฏฐานเกิด เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตจิต แต่ก็อาจจะให้ผลเป็น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิเป็นอเหตุกบุคคลในชาติต่อๆ ไปได้ใช่มั้ยครับ ... มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนี้เหรอครับ


- วิบากที่เป็นผลของกรรม ที่เป็นจิต เจตสิก เป็นได้ทั้งปฏิสนธิกาล และ ปวัตติกาล เพราะฉะนั้น มหากุศลที่เป็นสติปัฏฐาน สามารถทำให้เกิดผลในปวัตติกาลได้ คือ เกิดโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต หรือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ได้ในวิถีจิต ทางตา ทางหู ในขณะที่ปวัตติกาลได้ครับ แต่ขณะที่เป็นปฏิสนธิกาล กุศลที่มีกำลังมีสติปัฏฐาน มักให้ผลในปฏิสนธิกาล เป็นมหากุศลวิบาก ดวงใด ดวงหนึ่งใน ๘ ดวง ที่ประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นหลัก ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
daris
วันที่ 23 มิ.ย. 2555

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมครับ

ยอมรับจริงๆ ว่าบางครั้งเวลาฟังธรรมก็แอบมีความหวังว่ากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะให้ผลทำให้ชาติต่อไปเกิดเป็นติเหตุกบุคคล และมีโอกาสฟังธรรมต่อๆ ๆ ไป

แต่ได้ฟังคำอธิบายของอาจารย์ก็ยิ่งถูกตอกย้ำมากขึ้นว่า ทำอะไรไม่ได้เลยจริงๆ นอกจากฟังต่อไป ศึกษาต่อไปตามกำลัง ตามเหตุปัจจัย คำอธิบายของอาจารย์ช่วยให้คลายความเห็นผิดไปได้อีกมาก

ขอกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
edu
วันที่ 24 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
supim
วันที่ 24 มิ.ย. 2555

ได้เข้าใจชัดเจนขึ้นค่ะ และได้ทำให้เห็นความสำคัญของคำกล่าวที่ว่า "อย่าประมาท" ที่พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำหนักหนาก่อนปรินิพพานมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะธรรมทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่อาจกำหนดให้เป็นอย่างใจหวังได้

ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับ คห. 9 ค่ะ ว่าการฟังและศึกษาธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาและสติอยู่เนืองๆ นั้น เป็นสิ่งที่เราต้องเพียรทำต่อไปค่ะ

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pamali
วันที่ 3 ก.ค. 2555
ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ