เรียนถามเรื่อง ลักษณะของกรรม

 
pdharma
วันที่  27 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21306
อ่าน  1,411

ใคร่ขอเรียนถามเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมว่า

- กรรมและวิบากกรรม เป็นธรรมหรือไม่ มีไตรลักษณ์เป็นลักษณะ ใช่หรือไม่

- ละวางกรรมที่กำลังกระทำหรือที่กระทำแล้วในอดีต ได้หรือไม่

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- กรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตนาเจตสิก (เป็นความจงใจขวนขวายที่จะกระทำ) เกิดร่วมกับจิตทุกชาติ ทุกขณะ ไม่มีเว้น กล่าวคือ เจตนาเกิดร่วมกับจิตชาติกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติอกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติวิบากก็ได้ เกิดร่วมกับชาติกิริยาก็ได้ แต่ถ้าเป็นกรรมที่จะให้ผลภายภายหน้า ต้องเป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรมเท่านั้น

- กุศลกรรม เป็นการกระทำที่ดีงาม ซึ่งจะต้องมีกุศลจิตเกิดขึ้น จึงมีการกระทำกรรมที่เป็นกุศล ประการต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากขณะจิตที่เป็นกุศล ที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในการอบรมเจริญความสงบของจิตบ้าง ในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง

ส่วนอกุศลกรรม เป็นการกระทำที่ไม่ดี มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จเป็นต้น อันเป็นผลมาจากการมีกิเลสและมีอกุศลจิตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอกุศลที่มีกำลัง จึงล่วงเป็นอกุศลกรรมประการต่างๆ แต่อกุศลจิตบางขณะที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีการกระทำอกุศลกรรม เช่น ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจในอาหาร เสื้อผ้าเป็นต้น เพราะไม่ได้มีการกระทำอกุศลกรรม เพียงแต่เกิดความติดข้องยินดีพอใจเท่านั้น

- วิบาก เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เป็นอกุศลวิบาก วิบาก จึงได้แก่ จิตและเจตสิก ที่เกิดร่วมด้วยอันเป็นผลของกรรม

- กรรมมี ๒ อย่างใหญ่ๆ คือ กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม, กุศลกรรม ดับไปแล้วจริง สามารถเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมเกิดได้ และ อกุศลกรรมดับไปนานแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดได้

เพราะฉะนั้น กุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก (ซึ่งเป็นผลของกรรม) ในชีวิตประจำวัน ก็คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส

ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสในสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว จะตรงกันข้ามเลย คือ ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้ เป็นเพราะอดีตกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น ถึงคราวให้ผล ผลเช่นนั้นจึงเกิดขึ้น

ทั้งหมด ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม ผลของกุศลกรรม และ ผลของอกุศลกรรม เป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่เที่ยงเพราะเกิดดับ เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องดับไป และเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่พ้นไปจากความเป็นไตรลักษณ์เลย กล่าวคือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

- กรรม ที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ถ้าสะสมเหตุที่ไม่ดีมามาก สะสมอกุศลทุกวันๆ ไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลกรรม พร้อมทั้งเห็นถึงภัยที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลของอกุศลกรรม ก็จะทำให้เป็นผู้งดเว้นจากการกระทำอกุศลกรรม และ เพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวันยิ่งขึ้นได้ ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

ส่วนกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตสำเร็จไปแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว เราไม่สามารถจะไปแก้จะไปลบล้างได้ (ไม่มีใครแก้กรรมหรือลบล้างกรรมได้) แต่สามารถเริ่มต้นสะสมในสิ่งที่ดี อันเป็นเหตุที่ดี ได้แก่ กุสลกรรม ได้ เพราะสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่สามารถย้อนกลับคืนได้ แต่ขณะนี้สามารถสะสมสิ่งที่ดีๆ ได้ พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีตัวตนที่ละวาง แต่ เป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่จะทำให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม และ ไม่ประพฤติในสิ่งที่ผิดที่เป็นอกุศลกรรม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- กรรมและวิบากกรรม เป็นธรรมหรือไม่ มีไตรลักษณ์เป็นลักษณะ ใช่หรือไม่

ธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ซึ่งทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ไม่พ้นจากอำนาจ ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะของสภาพธรรมโดยทั่วไป ๓ อย่าง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แม้แต่ กรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

กรรม คือ เจตนาเจตสิก ส่วนวิบากกรรม มุ่งหมายถึง จิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตนั้น เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นวิบากกรรม เป็นจิตชาติวิบาก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตที่เป็นวิบากจิตนั้น

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่เป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และ เป็นอนัตตา เพราะ สูญจากความเป็นสัตว์ บุคคล เพราะ เป็นแต่เพียงธรรม

กรรม เป็น เจตสิก ที่เป็นเจตนาเจตสิก เจตสิก เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องดับไป คือ เจตสิก เกิดพร้อมจิต ดับก็ดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้น เจตสิก ที่เป็นเจตนาเจตสิก เกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ กรรม ที่เป็นเจตนาเจตสิก ก็เป็นอนัตตา ด้วย คือ ไม่มีสัตว์ บุคคลที่ทำกรรม มีแต่ เจตนาเจตสิกที่เป็นตัวกรรมที่ทำ ครับ เจตนาเจตสิก ที่เป็นกรรม ในทางกุศลกรรม และ อกุศลกรรม จึงไม่พ้นจากกฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ตามที่กล่าวมา ครับ

วิบากกรม คือ จิต ที่เป็นผลของกรรม และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เมื่อเป็นจิต เจตสิก แล้ว ก็ย่อมไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย คือ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล บังคับไม่ได้ จิตเห็น เป็นวิบาก เป็นจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ก็ต้องดับไป ไม่เที่ยง หากจิตเห็นไม่ดับ ก็จะไม่มีการได้ยินเลย เพราะ จิตเห็น เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะจิตเห็นเกิดขึ้นและดับไป จิตอื่นๆ มีการได้ยิน ได้กลิ่น และคิดนึกเรื่องราวต่างๆ จึงเกิดขึ้นต่อได้ วิบากกรรม ที่เป็น จิตเห็น และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย คือ จิตเห็นไม่ใช่เราที่เห็น แต่เป็นเพียงสภาพธรรมที่เห็น คือ จิตเห็นเท่านั้น คือ ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

- ละวางกรรมที่กำลังกระทำหรือที่กระทำแล้วในอดีต ได้หรือไม่

กรรม ในที่นี้ ที่กล่าวมุ่งหมายถึง กรรมที่เป็นเจตนาเจตสิก ที่เป็นไปในกุศลกรรม อกุศลกรรม อันจะทำให้เกิดผลของกรรมที่เป็นวิบาก ที่ทำให้ต้องเกิดตาย ไม่มีที่สิ้นสุด และได้รับทุกข์หาประมาณไม่ได้ อันมีการกระทำที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมในอดีต และ ในปัจจุบันเป็นปัจจัย เพราฉะนั้น การจะละวางกรรม ไม่ให้เป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เราที่จะพยายามที่จะทำ ซึ่ง ผู้ที่จะไม่ทำกรรมที่เป็น กุศลกรรม อกุศลกรรม หรือ ละวางกรรมที่จะทำให้เกิดผล คือ พระอรหันต์ เพราะ เจตนา กรรมที่ท่านทำ ไม่เป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรม และ อกุศลกรรมแล้ว แต่การกระทำของท่าน เป็นกิริยาจิต คือ ไม่เป็นกุศล อกุศล อีกต่อไป เมื่อไม่มีการกระทำกรรมที่เป็นกุศล อกุศลกรรมอีก ก็ไม่มีการให้ผลของกรรม ไม่ต้องเกิดอีก เมื่อท่านสิ้นชีวิต จึงมีการเกิดขึ้น ของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และ รูป ไม่มีการเกิดขึ้นของกรรม และไม่ต้องรับผลของกรรม อย่างแท้จริง เป็นการละวางกรรม อย่างบริบูรณ์สิ้นเชิง ครับ

ซึ่งหนทางมีอยู่ คือ การเจริญอบรมปัญญา อริยมรรคมีองค์ ๘ แต่จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในหนทางที่ถูกไปเรื่อยๆ โดยใช้ระยะเวลายาวนาน โดยไม่มีตัวตนที่จะพยายามที่จะทำ ละวางกรรม แต่ปัญญาที่เกิดขึ้น จากการฟังพระธรรม จะทำหน้าที่ ละคลายกิเลส อันเป็นต้นเหตุให้มีการเกิด ให้มีการทำกรรม โดยเฉพาะต้นเหตุที่สำคัญ คือ ความไม่รู้ อวิชชา การอบรมปัญญาจึงเป็นหนทางละอวิชชา ความไม่รู้ ไปทีละน้อย จนในที่สุด ก็ดับกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีการกระทำกรรมอีกต่อไป ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
edu
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pdharma
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอขอบพระคุณทั้งสองท่านเป็นอย่างสูง และขออนุโมทนาในกุศลกรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 28 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรม

เราไ่ม่สามารถรู้ได้ว่าขณะต่อไปกรรมดีหรือกรรมชั่วจะให้ผล แต่เราก็สามารถทำเหตุดี

คือ ทำกรรมดีได้ และละเว้นกรรมชั่ว เพราะกรรมให้ผลตามควรแก่เหตุที่ทำไว้ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ