อนัตตา สี่งที่ปรากฏทางตาเหมือนฟ้าแลบ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจาการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
กฤษณา ถ้าอย่างนั้น ความหมายของคำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่หมายถึง สิ่งที่เป็นรูปร่างสัณฐาน
ท่านอาจารย์ หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าจะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เมื่อไร นั่นคือ อนัตตา
เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าถึง ความหมายของอนัตตาจริงๆ ก็คือรู้ว่า รูปารมณ์คืออย่างไร ทางตาที่กำลังเห็น ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม
โดยวิธีอื่นที่จะไปเพียรนั่งจ้อง จะให้รูปารมณ์ดับ เสียงดับ กลิ่นดับ ได้ยินดับ คิดนึกดับ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า สภาพธรรมเกิดดับ แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้การเกิดดับของสภาพธรรมนั้นได้ แม้เพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นของจริงอย่างหนึ่ง เสมอเหมือนกันหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะกล่าวถึงหรือไม่กล่าวถึง จะนึกรูปร่างหรือไม่นึกถึงรูปร่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงของจริงอย่างหนึ่ง เมื่อไร ที่ระลึกแล้วไถ่ถอน การที่เคยยึดถือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏจึงจะรู้ว่า อนัตตา คือไม่มีสิ่งใดที่เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน ในสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นจึงไม่มีเรา
กฤษณา ในขณะนี้ เป็นขณะที่ดิฉัน กำลังเห็นสิ่งต่างๆ เช่นเห็นเก้าอี้ เห็นกระดานดำ หมายความว่า ที่ดิฉันเห็นในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ปรากฏกับสติ หมายความว่าสติยังไม่เกิด ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ตั้งแต่เกิดมาเลย ก็ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ แล้วนิจจสัญญา ความทรงจำ ไม่เคยทิ้งเลยว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้ ที่เป็นคนนั้นคนนี้ จนกว่าที่กล่าวเมื่อกี้นี้
ขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนี้ แม้สิ่งอื่นซึ่งไม่ได้กล่าวถึงก็เป็นรูปารมณ์ด้วยฉันใด ไม่ต่างกันเลย เอาสิ่งอื่นไปไว้ที่ไหนหมด
ที่เป็นรูปารมณ์ที่ปรากฏ เพราะว่าไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐานฉันใด การที่จะเห็นว่าเป็นแต่เพียงรูปารมณ์ ก็ฉันนั้น คือไม่ใช่ขณะที่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน แล้วทรงจำว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเป็นคนนั้นคนนี้ ต้องเสมอเหมือนกันนะคะ สิ่งซึ่งไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐาน ก็ปรากฏฉันใด สิ่งที่เคยทรงจำรูปร่างสัณฐานไว้ ก็จะต้องไถ่ถอนออกจนเหลือแต่สภาพที่เพียงปรากฏทางตา เช่นสิ่งที่ไม่ได้กล่าวถึง หรือนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ฉันนั้น นั่นคือลักษณะของรูปารมณ์ เป็นประจำเป็นปกติ
การรู้สัจจธรรม ไม่ใช่รู้สภาพธรรมผิดปกติ แต่รู้ของจริง ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน แต่ต้องพร้อมสติซึ่งเริ่มระลึกแล้วศึกษา จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น
กฤษณา ถ้าในขณะที่ลืมตาอยู่นี้ สติปัฏฐานไม่เกิดทางตา หมายความว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ปรากฏแก่สติ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏกับจักขุวิญญาณ
กฤษณา สิ่งที่ปรากฏทางตา จะปรากฏ กับ จิตที่มีสติด้วยหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้บอกว่าอย่างนั้นใช่ไหมคะ คำตอบก็ชัดอยู่นี่คะ แล้วว่า เมื่อกี้สติไม่เกิด แล้วรูปารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา จะไปปรากฏกับสติได้อย่างไร ในเมื่อบอกว่าสติไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนฟ้าแลบ ถ้ารู้นะคะว่าขณะนี้ค่ะ ลิ่งที่ปรากฏทางตาน่ะเหมือนฟ้าแลบ สั้นขนาดนั้น นอกจากนั้นก็คือ คิด แล้วก็มีฟ้าแลบอีก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แลบจริงๆ เพราะเกิดแล้วดับเร็วมาก เหลือแต่นิมิตคือสิ่งที่ปรากฏ เหมือนยังอยู่
ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทาง คุณpaderm และ ทุกท่านครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ
เมื่อปรากฏเร็วเช่นนี้ นิมิตที่ปรากฏต่อให้คิดจะเรียกได้ว่าเป็น "เงาของปรมัตถ์" ได้หรือไม่ครับ
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
เงาของปรมัตถ์ ท่านมุ่งหมายถึง บัญญัติ ที่เป็นเรื่องราว สิ่งที่ไม่มีจริง อันมีเพราะอาศัยการคิดนึกของจิต หลังจากเห็น ได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น นิมิตที่ปรากฏต่อหลังจากเห็น ได้ยิน แล้วคิดนึกต่อนั้น เป็นเงาของปรมัตถ์ นั่นคือ บัญญัติเรื่องราวได้ ครับ ซึ่งการเจริญสติปัฏฐาน ต้องรู้ตัวจริงของสภาพธรรมที่เป็น สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่การรู้เงาของปรมัตถ์ที่เป็นบัญญัติ ครับ
เชิญอ่านข้อความที่บรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ เรื่อง เงาของปรมัตถ์ ครับ
สุ. ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีใครรู้บ้างว่า มีแต่ปรมัตถธรรมที่เป็นสภาวธรรมจริงๆ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีสัตว์ มีบุคคล มีหญิง มีชาย มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ นั่นคือมีบัญญัติ มีความคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จึงรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว บัญญัติ คือ ในขณะที่จิตคิดเรื่องราวหรือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เช่น เห็นคน เป็นปรมัตถธรรมหรือเป็นบัญญัติ
พระ. เป็นบัญญัติ
สุ. เจ้าค่ะ
พระ. เพราะว่าแต่งตั้งให้ว่านี่คือคน
สุ. จำได้ว่าเป็นรูปร่างสัณฐานสีอย่างนี้เป็นคน
พระ. ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านกล่าวว่า บัญญัติก็อุปมาเหมือนเงาของปรมัตถธรรม โยมอาจารย์ช่วยขยายหน่อย
สุ. เพราะเหตุว่า ไม่มีบัญญัติจริงๆ ต่างหาก นอกจากว่าปรมัตถธรรมเกิดแล้วก็ดับไป แต่ว่าเมื่อปัญญาไม่สามารถจะประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็ยึดถือรูปร่างสัณฐานที่รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ยึดมั่นว่า สิ่งนั้นมีจริง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นคิดนึก บัญญัติก็มีไม่ได้เลย
พระ. นั่นคือความคิดนึกของจิตเป็นเงา
สุ. ใช้เป็นคำอุปมาให้เข้าใจเท่านั้นเองว่า ไม่ใช่หมายความถึง สิ่งที่มีจริง เมื่อไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ก็หลงยึดถือปรมัตถธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น กว่าที่จะสามารถแยกปรมัตถธรรมออก เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่รวมกัน ก็ยากที่จะต้องค่อยๆ ฟังและค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ