วชิราสูตร - อาทิตตสูตร - ๒๓ - ก.ย. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ก.ย. 2549
หมายเลข  2131
อ่าน  1,549

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ทุกวันเสาร์...ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

วชิราสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนวชิราภิกษุณี

จาก.. เล่ม 25 [เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 108

อาทิตตสูตร

ว่าด้วยความเป็นของร้อนแห่งขันธ์ ๕

จาก.. เล่มที่ 27 [เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 142

นำการสนทนาโดย

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ย. 2549

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 108

๑๐. วชิราสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนวชิราภิกษุณี

[๕๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเช้า วชิราภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง

[๕๕๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้วชิราภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาวชิราภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะวชิราภิกษุณีด้วยคาถาว่า สัตว์นี้ ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ ที่ไหน สัตว์บังเกิดในที่ไหน สัตว์ดับไป ในที่ไหน

[๕๕๔] ลำดับนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าว คาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมมุษย์ ทันใดนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู่มีบาปใคร่จะให้ เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้ เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา

ครั้นวชิราภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาป แล้วจึงได้กล่าวกะมาร ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า ดูก่อนมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่า สัตว์ เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมี ฉันใด

เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติ ว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น ความจริง ทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์เท่านั้นย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วชิราภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

จบ วชิราสูตร

จบ ภิกขุนีสังยุต

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ย. 2549

อรรถกถาวชิราสูตร

ในวชิราสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า นยิธ สตฺตุปลพฺภติ ความว่า ในกองสังขารล้วนนี้ ว่าโดยปรมัตถ์ จะได้แก่สัตว์ก็หาไม่

บทว่า ขนฺเธสุ สนฺเตสุ ความว่า เมื่อขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ ท่านกำหนดเอาด้วยอาการนั้นๆ

บทว่า สมฺมติ คือ เป็นเพียงสมัญญาว่าสัตว์เท่านั้น

บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์ คือ ขันธ์ ๕

บทว่า นาญฺตฺร ทุกฺขา ความว่า นอกจากทุกข์ สภาวะอย่างอื่นไม่มีเกิดไม่มีดับ

จบ อรรถกถา วชิราสูตรที่ ๑๐

จบ ภิกขุนีสังยุตเพียงเท่านี้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ย. 2549

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 142

๙. อาทิตตสูตร

ว่าด้วยความเป็นของร้อนแห่งขันธ์ ๕

[๑๓๓] กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณร้อนนัก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ใน วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

จบ อาทิตตสูตรที่ ๙

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 20 ก.ย. 2549

อรรถกถาอาทิตตสูตรที่ ๙

ในอาทิตตสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อาทิตฺตํ ความว่า ร้อนนัก คือลุกโพลงด้วยไฟ ๑๑ อย่าง

ในพระสูตรทั้งสองนี้ ตรัสทุกขลักษณะเท่านั้น

จบ อรรถกถาอาทิตตสูตรที่ ๙

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 21 ก.ย. 2549
อนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ