สุขภาพจิตแย่ควรจะทำอย่างไรดีนะ

 
tookta
วันที่  28 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21312
อ่าน  3,356

ในบางครั้งเราตั้งใจทำสิ่งต่างๆ โดยนึกถึงผู้อื่นเป็นหลัก (คือพยายามที่จะทำอะไรไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน) แต่ก็ถูกเพื่อนๆ มองว่าเราไม่ดี จนเรารู้สึกว่าสุขภาพจิตของเราแย่ (คือทำอะไรก็ผิดไปหมด) จนไม่อยากจะยุ่งกับใครแล้ว (ก็ถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาใคร)

ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะวางตัวยังไงแล้ว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแ่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้วสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ อกุศลจิต ก็ย่อมเกิดขึ้นมาก เกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิตจริงๆ ไม่ว่าจะประสบกับเหตุการณ์ใดๆ ก็มักจะหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศลประการต่างๆ ทั้งโลภะ บ้าง โทสะ บ้าง และในขณะที่โลภะ หรือ โทสะ เกิดขึ้น ก็จะมีโมหะ เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขณะที่กุศล ไม่เกิด ก็เป็นอกุศล ยากที่จะพ้นไปได้ ยากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้จริงๆ เพราะบุคคลผู้ที่ไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจของอกุศลใดๆ เลยนั้น มีเพียงบุคคลประเภทเดียว คือ พระอรหันต์,

ขณะที่ถูกเพื่อนๆ มองว่าเราไม่ดีจนเรารู้สึกว่าสุขภาพจิตของเราแย่ ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง เป็นความไม่สบายใจ เป็นอกุศลจิต เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เมื่อเราได้กระทำในสิ่งที่ดีแล้ว ใครจะคิดอย่างไร ใครจะว่าอย่างไร สะสมมาที่จะเกิดอกุศลอย่างไรก็เป็นเรื่องของบุคคลคนนั้น ตามการสะสมของเขา ซึ่งบุคคลที่มีลักษณะอย่างนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ แต่มีแล้วทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ว่าร้ายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มี ผู้ที่ว่าร้ายพระอัครสาวก ก็มี เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

แต่สำหรับผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม ก็ย่อมจะมีความจริงใจ มีความตั้งใจที่จะเจริญกุศลสะสมความดีต่อไป เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ คือ กุศลธรรม ไม่ใช่สิ่งอื่น และประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ ความดีที่เราได้กระทำนั้น ก็ย่อมเป็นความดี ถึงใครจะบอกว่า ไม่ดี ก็ตาม ความดี ย่อมไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นตามที่เขาว่า

เมื่อเข้าใจถึงการสะสมของแต่ะละบุคคล เราก็จะไม่หวั่นไหวไปกับคำพูดของผู้อื่น เพราะใครจะคิดอย่างไร ว่าอย่างไร ก็เป็นไปตามการสะสมของเขา เป็นเรื่องของเขา หน้าที่ของเรา คือ อดทน ให้อภัยในความผิดของผู้อื่น (ที่เขาว่าเรา เป็นต้น) ควรที่จะได้พิจารณาว่า ไม่ควรโกรธ เพราะขณะที่โกรธ เป็นอกุศลของเรา และมีความมั่นคงที่จะสะสมสิ่งที่ดี และอบรมเจริญปัญญา ต่อไป ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเดือดร้อนใจมีจริง อันมีต้นเหตุมาจากกิเลสที่มีในจิตใจ เพราะฉะนั้น ทุกข์มีเพราะกิเลส ทุกข์ไม่ได้มีเพราะอาศัยคนอื่น เกิดขึ้น แต่เพราะกิเลสเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น การคาดหวัง ในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน เมื่อคาดหวังมาก ด้วยโลภะ ย่อมเป็นปจัยให้เกิดโทสะ­ ทำให้เกิดความเดือดร้อนใจเมื่อไม่เป็นไปตามนั้น

เพราะฉะนั้น แทนที่จะทำอะไรด้วยนึกถึงคนอื่น ก็ควรจะทำอะไร นึกถึง พิจารณาที่จิตใจของตนเป็นสำคัญ ว่ากระทำสิ่งเหล่านั้นต่อผู้ร่วมงานด้วยจิตอะไร กุศล หรือ อกุศล หากทำด้วยกุศล ด้วยเมตตา ย่อมไม่เดือดร้อนในการกระทำนั้น แม้ว่า ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร แต่หากทำด้วยการจะจัดการ ด้วยความต้องการที่เกิดจากกิเลสของตนเอง ย่อมเป็นปัจจัยให้เดือดร้อนใจภายหลังได้ เมื่อคนอื่นมองอีกอย่าง ไม่เป็นไปตามที่ตนปรารถนา ครับ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนไว้ว่า ผู้ที่รักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น นั่นคือ แทนที่จะไปตามรักษา กระทำ นึกถึงคนอื่น ก็ให้ตามรักษา พิจารณาจิตใจของตน คือ รักษาตนด้วยกุศลจิต กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยกุศลจิต มี เมตตา และ อดทน เป็นต้น

ขณะที่รักษาตน คือ รักษาจิตใจด้วยกุศลในขณะนั้น กาย วาจา ก็เป็นไปในทางที่ดี กับ คนอื่นด้วย โดยที่ไม่ได้หวังว่า เขาจะดี หรือ ร้ายกับเรา แม้จะคิดไม่ดีกับเรา ก็รักษาตน คือ รักษาใจเราก่อนด้วยกุศลจิต ที่เข้าใจและเมตตาเกิดขึ้นได้ เมื่อจิตเป็นกุศล รักษาตนแล้ว ก็รักษาผู้อื่นด้วย เพราะการกระทำทางกาย วาจาของตนก็จะดี ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย และ ไม่คาดหวัง และ ไม่เป็นผู้จัดการ บังคับสภาพธรรมให้เป็นไปตามใจของตน ครับ

ที่สำคัญ ควรพิจารณาที่การกระทำของตนเองเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาที่การกระทำจิตใจของผู้อื่น คือ พิจารณาในการกระทำที่ผ่านมาว่า การกระทำนั้น ทำให้ผู้อื่นเกิดอกุศล หรือไม่ เพราะ แม้การกระทำบางอย่างที่เราคิดว่าดี แต่อาจทำให้คนอื่นไม่ชอบ เกิดอกุศล ก็ควรงดเว้นไม่กระทำสิ่งนั้น หากการกระทำของเราไม่ได้เกิดจากุศลจิตจริงๆ ก็ควรงดเว้น เพราะ หากไม่งดเว้น ก็จะทำให้เกิดอกุศลจิต เดือดร้อนใจ ไม่ชอบทั้งสองฝ่ายได้ ครับ

แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่า การกระทำถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ควรจะใส่ใจ สนใจ เพราะ หากเป็นกุศลแล้ว จะไม่ได้สนใจ คาดหวังจากผู้อื่น เพราะ ทำด้วยความไม่คาดหวัง ที่เป็นลักษณะของโลภะ อกุศล ครับ

ชีวิตจะต้องมีกุศล มีความดี เป็นที่พึ่ง เป็นตัวตัดสิน ไม่อยู่ที่สิ่งแวดล้อม คนอื่นเป็นที่พึ่ง ให้ชีวิตดำนินไปตามสังคม หากชีวิตแขวนไว้กับสิ่งแวดล้อม ค่านิยม ผู้คนสังคมรอบข้าง ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตามอำนาจของกิเลส ชีวิตของเราก็จะต้องทุกข์ใจ ในความคาดหวังของบุคคลอื่น ที่เราจะต้องเปลี่ยนตนเองตาม สังคม บุคคลรอบข้าง ดังนั้น การเป็นตัวของตัวเอง เป็นสิ่งที่ดี ที่เข้าใจถูกว่า เป็นตัวของตัวเองด้วยกุศล ด้วยความดี แต่ไม่ใช่เป็นตัวของตัวเองด้วยอกุศล หรือ จะต้องตามผู้อื่นด้วยผู้อื่นคิดกับเราแบบนี้จึงจะต้องทำแบบนี้ ครับ

สุขภาพจิตแย่ เพราะ กิเลสเกิดขึ้น สำคัญว่า มีเขา มีเรา มีสัตว์ บุคคลที่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แท้ที่จริงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ดำเนินไป เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ สิ่งที่เดือดร้อนใจ ดับไปนานแล้ว และก็วนอยู่กับความคิดของตนเอง สิ่งผ่านไปไม่มีอะไรที่จะมีสาระ นอกจาก ปัญญา ความเห็นถูก ที่จะเป็นที่พึ่งจริงๆ

ดังนั้น แทนที่จะใส่ใจรอบข้างไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ก็ควรเข้าใจถูก ว่า ควรวางตัวด้วยความเป็นตัวของตัวเองที่ประพฤติในกุศลธรรม ทำสิ่งที่ดี ซึ่งการจะรู้ว่าอะไร ดีไม่ดี ควรไม่ควร หรือไม่ ก็คือ มีปัญญา นั่นเอง และปัญญาจะมีได้ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ไม่มีวิธีใด ที่จะแก้สุขภาพจิต อันเกิดจากการคิดผิด ด้วยกิเลส อกุศล ด้วยการมีปัญญา อกุศลแก้อกุศลไม่ได้ การจะทำด้วยความพยายาม ตัวตน จะแก้ปัญหาด้วยความเป็นเรา แก้ไม่ได้ ปัญญาที่เกิดขึ้นเท่านั้นที่จะแก้ได้ ด้วยการศึกษาพระธรรม และย้อนกลับมาที่ว่า เราฟังพระธรรม อบรมปัญญามากพอหรือยัง ที่จะทำให้คิดถูกมากขึ้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Graabphra
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 29 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"อกุศลและกุศลในชีวิตประจำวัน ย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย

ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีเหตุปัจจัยจึงจะเกิดขึ้น เหตุปัจจัยที่ว่านั้น

มีทั้งเหตุปัจจัยภายในคือการสะสมมาของแต่ละบุคคล

รวมทั้งเหตุปัจจัยภายนอกคือการคบมิตรหรือการคบคนด้วย"

"การคบบัณฑิต นำมาซึ่งความเจริญทั้งปวง"

"กุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับทุกคน"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น, อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

... พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนไว้ว่า ผู้ที่รักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น นั่นคือ แทนที่จะไปตามรักษา กระทำ นึกถึงคนอื่น ก็ให้ตามรักษา พิจารณาจิตใจของตน คือ รักษาตนด้วยกุศลจิต

... ที่สำคัญ ควรพิจารณาที่การกระทำของตนเองเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาที่การกระทำ จิตใจของผู้อื่น ...

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ความไม่รู้มักทำร้ายจิตใจในความเป็นตนอยู่เสมอครับ

กราบอนุโมทนากับอ.คำปั่น, อ.ผเดิมและสหายธรรมทุกๆ ท่านดัวยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
รากไม้
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ขออุปมา เหมือนการลงมือปลูกต้นไม้ใหญ่ ที่มั่นคงแข็งแรงนั้นต้องใช้เวลา ๑๐ ปี แต่ว่าเราไปหวังว่ามันจะต้องโตเต็มที่และออกผล ภายใน ๑-๒ ปี ด้วยความ "ไม่รู้จัก" ว่าการปลูกต้นไม้นี้ จะต้องใช้เวลานานมาก ... จึงเกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจในการดูแลต้นไม้ เหตุเพราะว่า ต้องการได้ผลเร็วๆ แต่ว่ายังไม่ได้ผลตามที่ใจต้องการ เพื่อจะได้เอามาชื่นชม ให้สมใจเสียที

จริงอยู่ว่า ยังห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดความต้องการผล ทั้งความสุข ความเจริญ และสิ่งดีๆ ต่างๆ ฯลฯ อันเป็นผลจากทาน กุศลที่ได้ทำไปแล้วนั้น ตราบใดที่ยังมีกิเลสที่ยังละไม่ได้ ก็ย่อมเกิดการคาดหวังสิ่งดีๆ เหล่านั้นให้เกิดกับตัวเอง แต่ก็ควรทราบว่า ... เมื่อคาดหวังในสิ่งที่ไม่ควรหวัง ก็ย่อมมีการผิดหวังแน่นอน และทุกข์ที่เกิดนั้นเกิดจากการคาดหวังนี้เอง

การให้ทาน เป็นกุศลอย่างหนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรียนรู้ "การสละออก" โดยเริ่มจากสละสิ่งที่เราไม่ต้องการแล้ว ให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เลย คือ จะต้องมีจิตที่เป็น "อโลภะ" ในสิ่งนั้นด้วย, แล้วก็ต้องทำให้มาก เพื่อเรียนรู้ให้รู้จักการทำทานในรูปแบบต่างๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ... เช่น เรียนรู้ว่า ถ้าให้สิ่งที่เรายังหวงแหนมากอยู่ ก็จะทำให้เกิดความเสียดายในภายหลัง, ถ้าให้แก่คนพาล คนไม่ดี ที่ไม่รู้จักบุญคุณคนเลย เขาก็ยังทำความเดือดร้อนแก่เราได้, ถ้าให้แก่คนที่ดี รู้จักบุญคุณคน เขาย่อมขวนขวายหาทางตอบแทนเราเมื่อมีโอกาส และไม่ทำความเดือดร้อนให้เรา, ถ้าให้ผิดเวลา ไปให้ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการในขณะนั้น เขาก็จะสุขใจ ดีใจ และซาบซึ้งใจ น้อยกว่าการให้ในเวลาที่เหมาะสม ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การให้แก่คนดี แม้ว่าจะพึงหวังผลดีตอบแทนได้บ้าง แต่ก็ไม่ควรหวัง เพราะไม่มีทางจะรู้ได้ว่าเขาจะตอบแทนเราตอนไหน อย่างไร และเขารู้จักการให้ตอบแทนในเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ให้สิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควรแก่เราหรือไม่ ... รวมถึงการที่เขาตอบแทนเรามาแล้ว แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่ามันไม่ได้ถูกใจเราเลย เราไม่ได้อยากได้อย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าเขายังไม่ได้ตอบแทน เพราะไม่ตรงกับผลที่เราหวังไว้

การให้ทานที่ดีและถูกต้อง จะต้องเป็นระดับที่ทำเพื่อขัดเกลากิเลส คือ การให้เพื่อละความตระหนี่ ให้สิ่งที่เราหวงแหนแก่ผู้อื่น การให้ในระดับนี้กระทำได้ยากกว่า เพราะต้องละโลภะต่อสิ่งนั้นด้วยจึงจะใช้ได้ คือ ขณะจิตก่อนจะให้ ขณะให้ และหลังการให้ จะต้องไม่มีโลภะต่อสิ่งนั้น และต้องไม่หวังตอบแทนด้วยสิ่งใดๆ อื่นๆ อีกด้วย ... ดังนั้น สำหรับผู้ที่ยังมีโลภะมากอยู่ จะไม่ค่อยเกิดผลดีเท่าไหร่ คือ ถ้าฝืนทำการให้ในสิ่งที่เราเองก็อยากได้เหมือนกัน ด้วยความจำใจให้ นั้นย่อมจะทำให้เกิดความเสียดาย ทำให้เรารู้สึกว่าเราสูญเสียอะไรบางอย่างไป ใจที่มีโลภะมันก็ย่อมอยากจะได้สิ่งดีๆ อะไรบางอย่างตอบแทนกลับมาบ้าง เพื่อชดเชยการสูญเสีย เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี ... หรือบางคนก็จะทำทานไปด้วยคิดว่า สิ่งที่ได้ตอบแทนกลับมาแล้วในขณะที่ให้ทานก็คือบุญกุศล การคิดแบบนี้ก็ทำให้สบายใจดี ไม่ทำให้รู้สึกถึงการสูญเสีย ไม่เสียดาย แต่ก็ยังไม่ใช่ทานที่บริสุทธิ์อยู่ดี ยังต้องขัดเกลาต่อไปจนกว่าจะเป็นการให้ที่บริสุทธิ์จริงๆ ... เน้นว่าต้องให้ทานโดยที่ไม่หวังอะไรตอบแทนเลย เป็นการให้ที่บริสุทธิ์และสมบูรณ์ จึงจะเป็น "อโลภะ" ... ซึ่งย่อมส่งให้มีผลดีมากๆ มีอานิสงส์มาก สะสมในจิตเป็นพืชเชื้อเจริญงอกงามไพบูลย์เรื่อยไปจนถึงระดับที่ สละขันธ์ห้านี้ไปโดยปราศจากเยื่อใยได้ในที่สุด

สรุปก็คือว่า ถ้าไปให้ทานผิดบุคคล ผิดวิธี ผิดเวลา หรือลัดขั้นตอน เกินกำลังอินทรีย์ หรือผิดวัตถุประสงค์ของการให้ทาน ก็ยังจะทำให้เกิดทุกข์ได้เหมือนกัน ยังต้องอบรมต่อไป พร้อมด้วยการเจริญกุศลประเภทอื่นๆ ทุกประการ ด้วยความเพียรอันยิ่ง

ขอเป็นกำลังใจให้คุณ Tookta ในการเจริญทานกุศล และ กุศลอื่นๆ ด้วยนะครับ

ขออนุโมทนากุศลจิตทุกท่านครับ ... และ

ขอกราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ทำให้ผมได้เกิดปัญญาอันหาค่ามิได้นี้

ขออุทิศกุศลทั้งปวงแด่ท่านอาจารย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
tookta
วันที่ 30 มิ.ย. 2555

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้คำแนะนำที่ดีๆ นะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
talaykwang
วันที่ 19 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนา​ในกุศล​ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ