ธรรมะ
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจประเสริฐที่สุด
มีใจเป็นสภาพถึงก่อน
มีความหมายว่าอย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก มีดังนี้ครับ
" ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส
แล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัว
ฉะนั้น.
- ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ ... ใจในที่นี้หมายถึงจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เมื่อเจตสิกจะเกิดขึ้น จิตก็ต้องเกิดขึ้นด้วย แต่แม้เจตสิกบางประเภทจะไม่เกิด จิตก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ใจเป็นใหญ่ คือ หากจิตไม่เกิด เจตสิก ก็เกิดไม่ได้เลย ครับ
ดังข้อความในอรรถกถาที่ได้อธิบายว่า ใจเป็นหัวหน้า ด้วยเหตุผลดังนี้ ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 36
ใจชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลายนั่นด้วยอรรถว่า เป็นปัจจัยเครื่องยังธรรมให้เกิดขึ้นฉะนี้ เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั่น จึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า, เพราะเมื่อใจไม่เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้. ฝ่ายใจ ถึงเจตสิกธรรมบางเหล่าแม้ไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดขึ้นได้แท้.
- สำเร็จแล้วด้วยใจ ... ไม่ว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นฝ่ายอกุศล หรือ กุศลทั้งทางกาย วาจา และ ใจ ก็ต้องสำเร็จแล้วด้วยใจคือมีจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลจิต อกุศลจิต กาย วาจาที่แสดงออกมา ถ้าปราศจากจิตแล้วก็ไม่สามารถทำกิจต่างๆ ทางกายและวาจาได้เลย
เช่น จะให้ทาน ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นก็ให้ทานไม่ได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงสำเร็จแล้วด้วยใจด้วยประการฉะนี้
- ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ... ผ่องใสด้วยกุศลจิต พูดก็ย่อมพูดในวจีสุจริต ๔ มีการไม่พูดปด พูดคำจริง เป็นต้น ทำอยู่ก็ดี คือ ทำทางกายที่เป็นกายสุจริต ๓ มีการงดเว้นจากฆ่าสัตว์ เป็นต้น และแม้จะไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย และ วาจา ใจก็ย่อมเป็นมโนสุจริต เป็นไปในกุศลธรรม มีความเมตตา เป็นต้น
- ความสุขย่อมไปตามเขา เหมือนเงาไปตามตัวฉะนั้น ... เพราะกุศลที่ได้ทำไว้ทั้งทางกาย วาจา และ ใจ ผลของกุศลกรรมย่อมนำความสุขมาให้กับบุคคลผู้ทำนั้น ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เหมือนกับเงาที่ย่อมติดตามตัวไปตลอดฉันใด กุศลที่ทำไว้ก็จะติดตามไปให้ผลกับบุคคลนั้นเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม
ส่วนที่กล่าวว่าใจประเสริฐที่สุด ในความเป็นจริง ไม่ใช่ใจที่ประเสริฐที่สุด แต่ ธรรม ที่ประเสริฐที่สุด คือ ปัญญา
ปัญญา เป็นธรรมที่ประเสริฐที่สุด เพราะสามารถดับกิเลสได้ ส่วน ใจ หรือ จิต มีทั้งจิตที่เป็นกุศล หรือ อกุศล จิตที่ดี และ ไม่ดี ใจ จึงไม่ใช่ ธรรมที่ประเสริฐสุด ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นนามธรรมทั้งคู่ คือ จิต และ เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้เหมือนกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ
ทุกขณะของชีวิตไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว เมื่อกล่าวถึงธรรมทั้งสองประเภทแล้ว จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกแม้จะเกิดร่วมกับจิต ก็ไม่ได้เป็นใหญ่เหมือนกับจิต เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไปเท่านั้น
เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท ไม่ได้เกิดพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๕๒ ประเภท ต้องตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
และที่ควรจะได้พิจารณา คือ โดยความเป็นจริงของจิตแล้ว ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ที่ดี และ ชั่ว หรือไม่ดี ก็เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นั่นเอง ทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เลย เป็นแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้นจริงๆ ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...