โดยปกติแล้วความจริง เรารู้ปรมัตถ์หรือว่าเรารู้สมมุติบัญญัติ.

 
ลูกศิษย์ธรรม
วันที่  11 ก.ค. 2555
หมายเลข  21397
อ่าน  1,880

ช่วยอธิบายอย่างละเอียดด้วยครับ. มีตัวอย่างมาให้อธิบายด้วยครับ.

คนป่า รู้แบบไหน? เด็กทารกถึงห้าขวบ?

คนกำลังศึกษาธรรม? สัตว์เดรัจฉาน?

ประมาณนี้นะครับ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ คือ จิต เจตสิก ซึ่ง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ คือ จิต หากไม่มีจิตแล้ว ก็ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถ์ หรือ บัญญัติ

จิต เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่า อารมณ์ ซึ่งอารมณ์ หรือ สิ่งที่ถูกจิตรู้นั้น จิตสามารถรู้ได้ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก และ รูป รวมทั้งพระนิพพาน และ จิตยังสามารถรู้ในสิ่งที่ไม่มีจริง ไม่มีลักษณะ นั่นคือ เรื่องราว รูปร่างสัณฐาน ที่เป็นบัญญัติ

สรุปได้ว่า จิต รู้ได้ทุกอย่าง ทั้ง สิ่งที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน และ บัญญัติ ครับ

ซึ่ง ที่เราบัญญัติเรียกว่า คน สัตว์ เทวดา ก็เพราะ มีจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ที่เป็นมนุษย์ ก็เพราะมีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ที่เป็นสภาพรู้ ไม่มีมนุษย์คนไหนเลย ที่ไม่มีจิต เจตสิก ไม่ว่าจะเป็น เด็กทารก ผู้ใหญ่ คนชรา ตราบใดที่ยังไม่สิ้นชีวิต เพราะฉะนั้น คนป่า ก็ต้องมี จิต เจตสิกที่เป็นสภาพรู้, เด็กทารก จนถึง ห้าขวบ ก็ต้องมีจิต เจตสิก, คนกำลังศึกษาธรรมก็ต้องมี จิต เจตสิก, สัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องมีจิต เจตสิก

มีอย่างไร หากเราเข้าใจความจริง ในสิ่งที่เกิดในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่เห็น โดยมากก่อนศึกษาธรรม ไม่รู้เลยว่าเป็นแต่เพียงธรรมที่เห็น นั่นคือ จิตทำหน้าที่เห็น คือ จิตเห็น นั่นเอง นี่คือยกตัวอย่างว่า ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ล้วนแล้วแต่เป็นจิตทำหน้าที่ และก็มีความคิดนึก เห็นเป็นสิ่งต่างๆ คือ นึกในรูปร่างสัณฐาน จนเห็นเป็นต้นไม้ สิ่งต่างๆ คนป่าเห็นไหม เด็กทารก ก็มีการเห็น, คนกำลังศึกษาธรรมก็มีการเห็น, สัตว์เดรัจฉานก็เห็น เพราะฉะนั้น ก็ต่างมีจิต มีจิตเห็นเกิดขึ้น เป็นต้น

เมื่อเข้าใจแล้วครับว่า เหล่าสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่าสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน เพราะ มีจิต เจตสิกเกิดขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ก็มาเข้าใจความละเอียดว่า ขณะใดทิ่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ กับ ขณะใดที่ จิตมีบัญญัติ, เรื่องราวเป็นอารมณ์ และ แต่ละบุคคลที่ยกตัวอย่างมานั้นแตกต่างกันอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ขณะที่เห็น จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นทำหน้าที่รู้สี ขณะที่เห็น เห็นเพียง สี เท่านั้น, สี หรือ รูปารมณ์ เป็นรูปอย่างหนึ่ง จึงเป็นปรมัตถธรรม (จิต เจตสิก รูป นิพพาน) เป็นสิ่งที่มีจริง จิตเห็น จึงรู้สี รู้ปรมัตถ์ในขณะนั้น ซึ่งขณะที่เห็น เห็นเพียง สี ยังไม่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อเห็นแล้ว วาระจิตอื่นๆ เกิดต่อทางมโนทวาร ทางใจ นึกถึง รูปร่างสัณฐาน ใน สีนั้น จึงปรากฏว่า เป็นคนนั้น คนนี้ เป็นพ่อเรา, แม่เรา, เป็นต้นไม้เป็นเก้าอี้ ขณะที่คิดนึกทางใจ เป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้น จิตนั้นมีอารมณ์ เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวแล้ว ครับ

เพราะฉะนั้น บัญญัติ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องคิดเป็นเรื่องๆ เสมอไป เช่น คิดเรื่องงาน เป็นต้น แต่ขณะใดที่เห็น เป็นสิ่งต่างๆ เป็นดอกไม้ กระเป๋า ต้นไม้ เห็นเป็นอาหาร ขณะนั้น เป็นบัญญัติ แล้ว ครับ

เด็กทารก คนป่า ผู้ที่ศึกษาธรรม สัตว์เดรัจฉาน ต่างก็เห็นแล้ว คิดนึกเป็นสิ่งต่างๆ คือ เห็นเป็นต้นไม้ ภูเขา เก้าอี้ คือ มีอารมณ์เป็นบัญญัติ ด้วยกันทั้งนั้น ครับ คือ หลังจากเห็นแล้ว ก็คิดนึกทางใจ ต่อ เป็นเรื่องราว บัญญัติต่างๆ

- มาถึงประเด็นที่ถามว่า โดยปกติแล้วความจริง เรารู้ปรมัตถ์หรือว่าเรารู้สมมติบัญญัติ. ตามความเป็นจริงแล้ว ก็รู้ทั้งปรมัตถ์ และ บัญญัติ แต่การรู้นั้น รู้โดยจิต ซึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น จิตเห็น ก็ต้องมี ปรมัตถ์ คือ สี เป็นอารมณ์ ทั้ง เด็กทารก คนป่า สัตว์เดรัจฉาน คนที่ศึกษธรรม และแม้แต่พระพุทธเจ้า ก็มี ปรมัตถ์ คือ สี เป็นอารมณ์ ในขณะที่เห็นเหมือนกัน เห็นไม่เปลี่ยนลักษณะ และ ต่างก็เกิดกับสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ก็ต่างมี สี เป็นอารมณ์ มีปรมัตถ์ เป็นอารมณ์ และ เมื่อเห็นแล้ว ก็คิดนึก เป็นรูปร่าง สิ่งต่างๆ เด็กทารก ก็เห็นเป็นขวดนม ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ รู้บัญญัติในขณะนั้น, คนป่า เห็น กวาง ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ คนศึกษาธรรม เห็นคอมพิวเตอร์ ก็มี บัญญัติเป็นอารมณ์ พระพุทะเจ้า เห็นพระอานนท์ ขณะที่เห็นเป็นพระอานนท์ ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 12 ก.ค. 2555

รวมควาว่า สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่า สัตว์เดรัจฉาน เด็กทารก ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม หรือ ศึกษาธรรม จนถึง พระพุทธเจ้า ล้วน มีปรมัตถ์ และ บัญญัติ เป็นอารมณ์ ครับ

ซึ่งเหมือนกัน โดยการรู้ โดยจิตบางประเภท เช่น รู้โดยจิตเห็นเหมือนกัน คือ ต้องเห็นสีด้วยกันทั้งนั้น แต่การู้โดยจิตบางประเภทไม่เหมือนกัน คือ ผู้ที่ไม่ศึกษาธรรม ไม่ได้อบรมปัญญา, สัตว์เดรัจฉาน, เด็กทารก แม้จะรู้ว่าเป็นอะไร และ แม้รู้สี ที่เป็นปรมัตถ์ แต่ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งการรู้อีกแบบ คือ การรู้ด้วยปัญญา คือ รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถ์ ในขณะที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา

โดยมาก ในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นการรู้บัญญัติมากกว่า ปรมัตถ์ เพราะว่า แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ที่เป็นการู้ สี และ เสียง ที่เป็นปรมัตถ์ แต่ ก็สามารถคิดนึก ทางใจ ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ ครับ แต่ไม่ใช่การรู้ด้วยปัญญา ครับ

สำหรับผู้มีปัญญา มีพระโสดาบัน พระพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เห็น สี แต่เมื่อเห็นแล้ว ก็สามารถเกิดปัญญา รู้ความจริงว่า สีไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม นี่คือการรู้ความจริงด้วยปัญญา ที่รู้ลักษณะปรมัตถ์

ดังนั้น การรู้ปรมัตถ์ ด้วยจิตที่ไม่ประกบอด้วยปัญญาก็มี เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน ซึ่งสัตว์โลกโดยส่วนมาก เป็นอย่างนั้น แต่ผู้มีปัญญา เมื่อได้ยินเสียง ก็รู้ว่าเสียงเป็นธรรม เป็นการู้ตามควาเมป็นจริง ด้วยปัญญา และ เมื่อบัญญัติเกิดขึ้น คือ มีเรื่องราวต่างๆ ผู้มีปัญญา ย่อมรู้ความแตกต่างในขณะที่ เป็นบัญญัติ เรื่องราว และ ขณะที่เป็นปรมัตถ์ ว่าแตกต่างกัน ก็เป็นการรู้ด้วยปัญญา ครับ

สรุปได้ว่า ความแตกต่างของการรู้ คือ รู้ด้วยปัญญา กับ รู้ด้วยจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ การรู้ด้วยจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา สัตว์โลก ไม่ว่าใคร ก็รู้เหมือนกัน ทั้งปรมัตถ์ และ บัญญัติ แต่การรู้ด้วยจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือ รู้ตัวปรมัตถ์ที่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา ซึ่งจะต้องเป็นผู้สะสมปัญญามา จึงจะรู้ตามความเป็นจริงในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wanipa
วันที่ 12 ก.ค. 2555
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ละคน แต่ละชีวิต ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา มีแต่ธรรมเท่านั้น

เมื่อเป็นธรรมที่มีจริงแต่ละอย่างๆ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเป็นใครได้อย่างไร เพราะเป็นธรรม ธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้นั้น มี ๒ ประะภท คือ จิต และ เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เมื่อจิตเกิดขึ้น (พร้อมด้วยเจตสิก) ก็ย่อมรู้อารมณ์ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ โดยที่จิตเท่านั้นที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วน เจตสิกก็เกิดร่วมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป

ชีวิตประจำวัน จิต (และเจตสิก) จึงรู้ได้ทั้งปรมัตถ์ และ บัญญัติ ซึ่งเมื่อศึกษาไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า ปรมัตถ์ คือ สิ่งที่มีจริงๆ เช่น สี เสียง กลิ่น รส กุศล อกุศล เป็นต้น

ส่วนบัญญัติ ไม่มีมีจริง จิต รู้บัญญัติได้โดยคิดถึง ชื่อ สัณฐาน เรื่องราวของปรมัตถ์ เพราะมีปรมัตถ์บัญญัติจึงมีได้

โดยทั่วไป การรู้บัญญัติ ย่อมอาศัย สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ปรากฏวิถีแรกๆ จากนั้นจึงมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ไม่ว่าคนป่า เด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็รู้ปรมัตถ์และสมมติบัญญัติ แต่ไม่มีปัญญารู้ว่าขณะนั้นเป็นปรมัตถ์และบัญญัติ ต้องศึกษาธรรมและอบรมปัญญาจึงจะรู้ปรมัตถ์และบัญญัติ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 12 ก.ค. 2555

ปัญจทวารวิถีจิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

และมโนทวารวิถีจิตที่รับอารมณ์ต่อ ก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ (มีอารมณ์เดียวกัน)

ดังนั้นอารมณ์ของวิถีจิต ๒ วาระนี้สำหรับปุถุชนและพระอริยเจ้า จึงไม่ต่างกัน

คือรู้อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ ... แต่รู้ด้วยจิต ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา

(และโดยมากชวนวีถีจิตของปุถุชนส่วนใหญ่ก็เป็นไปกับอกุศล)

หลังจากนั้น มโนทวารวิถีจิตจะเกิดต่ออีกหลายวาระ

ซึ่งมโนทวารวิถีจิตวาระหลังๆ นี้จะมีบัญญัติหรือปรมัตถ์เป็นอารมณ์

ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการ

สำหรับปุถุชนผูัไม่ได้สดับ ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานจะมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ไม่ได้เลย

เพราะปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (และญาณขั้นต่างๆ ) เท่านั้น

พระอริยเจ้าและกัลยาณปุถุชนมีอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์หรือบัญญัติก็ได้

แต่ต่างกันตรงที่ ...

แม้พระอริยเจ้ามีอารมณ์เป็นบัญญัติ ... แต่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
akrapat
วันที่ 13 ก.ค. 2555

พระอริยเจ้าและกัลยาณปุถุชนมีอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์หรือบัญญัติก็ได้

แต่ต่างกันตรงที่ ...

แม้พระอริยเจ้ามีอารมณ์เป็นบัญญัติ ... แต่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเลยค่ะ

เห็นด้วยกับความเห็นที่ 7 ครับ เพราะฉะนั้น นี่แหละคือสาเหตุว่าทำไม ท่านปล่อยวางได้

ไม่มีความหวั่นเกรง ครั่นคร้าม รักตัวกลัวตาย เพราะถึงแล้วซึ่งพระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ลูกศิษย์ธรรม
วันที่ 14 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ