ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๐๔๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๗]
- พระธรรม ทำให้เกิดปัญญา และเป็นสิ่งที่ควรจะได้ศึกษา เพราะว่าถ้าไม่ศึกษาพระธรรมแล้วจะกล่าวว่าเข้าใจพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
- กุศล คือ สภาพจิตที่ดี ดีอย่างไร? ขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ซึ่งถ้า พูดอย่างนี้ ถ้ายังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด บางท่านก็อาจจะบอกว่า ตัวเองไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ความจริงแล้ว ทุกคนมีโลภะ โทสะ โมหะ ทุกวัน ตั้งแต่ตื่นไม่รู้ ตัวเลยว่า ตื่นมาด้วยโลภะ ทันทีที่ตื่น ทำทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่การเคลื่อนไหวส่วน หนึ่งส่วนใดของร่างกาย การที่จะลุกขึ้นรักษาบริหารร่างกาย ก็เต็มไปด้วยความต้องการ
- ขณะใดที่เป็นกุศล คือ ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ยากหรือง่ายกับ การที่จะไม่เป็นอกุศล?
- ช่วยเหลือคนอื่นแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นกุศล บางคนก็มีวาจางาม คิดถึง อกเขาอกเรา เสียงอย่างนั้นไม่เหมาะ คำอย่างนี้ที่จะทำให้คนอื่นเสียใจ ก็งดเว้น ไม่กล่าวคำอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นกุศล
- วันหนึ่งๆ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญสติปัญญา ศึกษา พิจารณาจิตใจของตัวเองแล้ว จะไม่รู้เลยว่าใจของตัวเองสะอาดหรือสกปรกแค่ไหน? มีกุศลมากหรือว่ามีอกุศลมาก?
- พบกัน ก็ควรที่จะเกื้อกูลกัน ดีกว่าพบกันแล้ว ก็โกรธกันแล้วก็ตายไปด้วย ความโกรธ
- กิเลสทั้งหลายที่ทุกคนมี เช่น ความตระหนี่ ความหวงแหน ความโลภ ความติดข้อง ความพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความริษยา ความอาฆาตพยาบาทต่างๆ หรือแม้แต่ความหงุดหงิดรำคาญใจเมื่อนึกถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้ว หรือกุศลที่ยังไม่ได้ทำ เหล่านี้จะดับหมดโดยเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย ก็ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
- ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจะกระทำบุญแทนกันได้ แม้แต่เรื่องของการอบรมเจริญ ปัญญา ก็จะต้องอบรมเจริญด้วยตนเอง
- ขณะใดที่พลอยยินดีตามกุศลของคนอื่น ขณะนั้นไม่ได้ริษยา ไม่ได้เห็นแก่ตัว ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงาม
- ไม่รู้แล้วจะเป็นปัญญาหรือเปล่า? ไม่ว่าจะไปนั่งทำอะไรทั้งหมด แล้วก็ไม่รู้ ควรจะ ทำต่อไปหรือไม่ เพราะว่าทำเท่าไรๆ ก็ไม่รู้
- ถ้าทำแล้วไม่รู้ อย่าไปทำ ไม่มีประโยชน์เลย เมื่อทำไปๆ ก็ไม่รู้
- พระธรรมทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ กำลังมีจริงๆ
- การฟังพระธรรม ก็จะต้องอดทนที่จะสละเวลาของความสำราญความสุขรื่นเริง การพักผ่อน เพื่อฟังพระธรรม
- บุคคลผู้ที่ได้รับฟังพระธรรม ก็ควรที่จะน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมาก เพื่อให้ทุกคนเป็นผู้ที่ว่าง่าย ต่อการที่กุศลจิตเกิด เป็นผู้ที่อดทน เป็นผู้ที่ไม่ว่ายาก
- ไม่มีใครทำให้ธรรมใดๆ เกิดขึ้นได้เลย
- การฟังพระธรรม เป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะทำให้มีความมั่นคงในความเป็นจริง ของสภาพธรรมที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้
- ชีวิต เป็นธรรม ชีวิตประจำวันทุกขณะ เป็นธรรมทั้งหมด เห็นเป็นธรรม ได้ยิน เป็นธรรม เป็นต้น ไม่มีอะไรที่เป็นเราเลยแม้แต่อย่างเดียว
- เข้าใจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็เป็นประโยชน์แล้ว จะให้เข้าใจมากกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะสะสมความไม่รู้มามากและนานแสนนาน
- ถ้าจิต ดี กาย วาจา จะเป็นอย่างไร? ก็ย่อมดี มีความประพฤติเป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร มีความหวังดี ความปรารถนาดีกับทุกคน ไม่เป็นศัตรูกับใครๆ
- รู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ได้แน่ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
- ในเมื่อยังไม่สามารถเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมได้ ก็ต้องอาศัยการอบรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย
- ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวัน บ่งถึงการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ
- เกิดมาแล้ว จะทำอะไรดี ระหว่าง ดี กับ ชั่ว? เมื่อเป็นคนดีแล้ว แต่ยังไม่รู้อะไร จึงศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ นี้คือที่มาของ "ทำดีและศึกษาพระธรรม" ซึ่งจะทำให้ชีวิตเป็นชีวิตที่คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๔๖ ได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๔๖
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาต ร่วมปันธรรม ด้วยครับ
- อย่างบางคน ที่เขาสนใจ ธรรมะ แต่ เขาไม่ได้สนใจ สติปัฏฐานแสดงว่า เขา ยังไม่รู้ว่าสติปัฏฐาน หมายถึง สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เขาไปสนุกสนานอยู่กับ "เรื่องราว" เช่น มี จิต เท่าไร มี เจตสิก เท่าไร ฯลฯ อย่างนั้นเป็นการเรียนทฤษฎี เรียนเป็นเรื่องราว หมายความว่าเขา ยังไม่อยาก รู้จักตัวจริงทั้งๆ ที่ตัวจริง กำลังปรากฏ
- อย่างเช่นเวลาที่กำลังดูทีวี เห็นได้ชัดว่า ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย มีแต่ "สี" แล้วเพราะอะไร จึงเห็นว่าเป็นคนกำลังพูด ฯ อย่างเช่น เรื่องดาวพระศุกร์ เหมือนเป็นตัวจริงๆ เลย แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรสักนิดเดียว เห็น สี แต่ คิดต่อ ว่า รักดาวพระศุกร์ เกลียดคนที่รังแกดาวพระศุกร์ ตามความจริงแล้ว ตัวท่านผู้ฟังก็ไม่มี เหมือนกับที่ ไม่มีดาวพระศุกร์จริงๆ อย่างที่เห็นในทีวีนั้น เพราะฉะนั้น เวลานี้ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่มี ตัวท่านผู้ฟัง มีความคิด "เรื่องตัวท่านผู้ฟัง" มีปาก ที่กำลังพูด มีเสียงที่กำลังปรากฏแล้วก็ "คิกนึก" เป็นเรื่องราว (บัญญัติ) ซึ่ง "บัญญัติ" ไม่มีจริง
- ความเข้าใจ นั้น ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจ ลักษณะของ นามธรรม และ รูปธรรม เข้าใจ ลักษณะ ของ จิต เจตสิก รูปประกอบกัน จนกว่าจะ เข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถ ละ ความยึดถือ ว่า เป็นตัวตน ออกได้ เพราะ เข้าใจ จริงๆ ว่า สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป หรือ นามธรรม และ รูปธรรม เท่านั้นที่กำลังทำกิจ หน้าที่ของตนๆ ตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชา และมีอยู่แล้ว ในชีวิตประจำวันนี้เอง ซึ่ง สติ สามารถ ระลึกรู้ ลักษณะของ สภาพธรรม ที่เกิดขึ้นได้เมื่อ สติ เกิดระลึกได้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจ "ลักษณะ" ไม่ใช่ เข้าใจเพียง "ชื่อ" แม้จิต จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา คือ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง แต่สิ่งใดที่หมดไปแล้ว ก็หมดไปแล้ว สบายมาก ไม่ต้องกังวลไม่ต้องไปนึกถึงแต่นึกถึงด้วย กุศลจิต ได้ หมายความว่าถ้านึกถึง ด้วย "อกุศลจิต" ก็จะเป็น "การสะสมอกุศล" อย่างนี้ ทรัพย์ สมบัติมหาศาล ก็ซื้อไม่ได้ และ เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ เป็น "บุญ" ของใคร ก็ตามที่สะสมมาที่จะมี ศรัทธา ที่จะมี การฟังพระธรรม และมีความเข้าใจในพระธรรมที่ได้ฟัง
- เมื่อมีการระลึก และ รู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรม เพิ่มขึ้นความเห็นผิด ว่าเป็น ตัวตนก็จะน้อยลง และเป็นปัจจัยให้คิดถึงตัวเองน้อยลงว่า เราเป็นคนดี หรือ คนเลว สภาพธรรมที่เป็น อกุศล และ กุศล เกิดขึ้นเพราะ "เหตุปัจจัย" เมื่อคลายความยึดมั่น ว่า เป็นตัวตนที่เห็น ที่ได้ยิน ฯและที่เป็น คนดี หรือ คนเลว แล้วก็ย่อมเป็นประโยชน์
- ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยังเห็นแก่ตัว เพราะการกระทำโดยมาก ก็ทำโดยนึกถึงตัวเอง อาบน้ำ ทานข้าว ก็เพื่อตัว แม้แต่การทำกุศล ก็มีการกระทำกุศลในบางครั้งก็เพื่อตัวเอง อยากได้ผล อานิสงส์ ก็เห็นแก่ตัวแล้ว ทำเพราะไม่ให้ ผู้อื่นติเตียนว่ากล่าว ก็เห็นแก่ตัว แม้แต่การทำดีกับคนอื่น ทำเพราะหวังแม้แต่ความ รัก คำชม คำยกย่องสรรเสริญ ก็เป็นการเห็นแก่ตัวเช่นกัน เพราะฉะนั้น เรามักมองความเห็นแก่ตัวว่า คนที่ไม่ช่วยเหลือใครเลย คือ คนที่เห็นแก่ตัว ซึ่งความเห็นแก่ตัว ที่เป็นอกุศลมีหลายระดับ ตามระดับของอกุศลแต่แม้การทำดี ช่วยเหลือ เพื่อตัว ก็ เป็นความเห็นแก่ตัวโดยละเอียดแล้ว นั่นคือ อกุศลที่เกิดขึ้น เห็นแก่ตัวแล้ว ในขณะนั้น ที่สำคัญที่สุด เพราะ ยังมีตัว ยึดถือว่ามีเรา เมื่อยังยึดว่ามีตัวเอง ก็ต้องเห็นแก่ตัวเอง ด้วยอกุศล เป็นธรรมดา เมื่อเข้าใจความจริงว่า มีความเห็นแก่ตัวอยู่ หนทางที่ถูก คือ เข้าใจตัวเอง คือ เข้าใจความจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้น ไม่มีตัวเอง ไม่มีใคร แต่ละขณะ โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจว่ามีธรรม ย่อมจะเป็น หนทางละความเห็นแก่ตัว
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"เกิดมาแล้วจะทำอะไรดี ระหว่าง ดี กับ ชั่ว? เมื่อเป็นคนดีแล้ว แต่ยังไม่รู้อะไร จึงควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ นี้คือที่มาของ "ทำดีและศึกษาพระธรรม" ซึ่งจะทำให้ชีวิตเป็นชีวิตที่คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์"
"แม้การทำดี ช่วยเหลือ เพื่อตัว ก็เป็นความเห็นแก่ตัวโดยละเอียดแล้ว นั่นคือ อกุศลที่เกิดขึ้น เห็นแก่ตัวแล้ว "
"แม้จะมีทรัพย์สมบัตติสักเท่าไร ก็ไม่สามารถซื้อปัญญาได้"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ
อกุศลที่เกิดขึ้น เห็นแก่ตัวแล้ว
เป็นการเตือนสติได้ดีค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เกิดมาแล้วจะทำอะไรดี ระหว่าง ดี กับ ชั่ว? เมื่อเป็นคนดีแล้ว แต่ยังไม่รู้อะไร จึงศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ นี้คือที่มาของ "ทำดีและศึกษาพระธรรม" ซึ่งจะทำให้ชีวิตเป็นชีวิตที่คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
- อย่างเช่นเวลาที่กำลังดูทีวี เห็นได้ชัดว่า ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย มีแต่ "สี"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.คำปั่น อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านค่ะ