บัวสามเหล่า ไม่ใช่สี่เหล่า

 
Wad
วันที่  15 ก.ค. 2555
หมายเลข  21418
อ่าน  12,148

มีผู้กล่าวว่าในพระบาลีนั้นพระพุทธองค์ตรัสถึงบัวเพียงสามเหล่าไม่ใช่สี่เหล่า

มีข้อความที่ยกมาประกอบดังนี้ค่ะ

... เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ
บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ
บางเหล่าตั้งขึ้น พ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด
ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ...

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงเรื่องนี้อย่างไร มีในเล่มใด ตอนใดของพระไตรปิฎก ท่านผู้รู้โปรดแนะนำด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากข้อความที่ยกมานั้น อยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตอนที่ สหัมบดีพรหม ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เมื่อพระพรหมอาราธนา พระพุทธเจ้าก็ทรงตรวจดูสัตว์โลก ซึ่งก็เห็น หมู่สัตว์ที่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น ซึ่ง เป็นบัว ๓ เหล่า บางเหล่าตั้งขึ้น พ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ในอรรถกถา อธิบายว่า คือ

อุคฆฏิตัญญูบุคคล คือ เพียงฟังห้วข้อของพระธรรมเท่านั้น ก็บรรลุธรรม

บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ คือ

วิปัญจิตัญญูบุคคล คือ เมื่อได้ฟังหัวข้อแล้วอธิบายโดยละเอียด ก็สามารถบรรลุธรรม

บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ คือ

เนยยะบุคคล คือ สามารถบรรลุธรรมในชาตินั้นได้ แต่ต้องอาศัยการฟัง การศึกษามาก จึงจะบรรลุธรรมได้ ครับ

ซึ่ง ข้อความที่ท่านผู้ถามยกมานั้น เป็นการแสดงถึง บุคคลที่สามารถบรรลุได้ในชาตินั้น ไม่ได้รวมถึง บุคคลที่ไม่สามารถบรรลุชาตินั้น แต่บรรลุในชาติถัดๆ ไป ซึ่ง

ข้อความอรรถกถาอธิบายว่า แม้ ไม่ได้ยก บุคคลที่ ๔ ที่เป็น ปทปรมบุคคล ที่ไม่บรรลุธรรมในชาตินี้ แต่บรรลุธรรมในชาติต่อๆ ไป ก็หมายรวมบุคคลเหล่านี้ด้วย เพียงแต่ไม่ยกขึ้นไว้ในพระไตรปิฎก เพราะ ความจริง บุคคล แบ่ง เป็น บัว ๔ เหล่า ที่สามารถบรรลุได้ คือ

๑. อุคฆฏิตัญญูบุคคล - บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยฟังเพียงการยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดงเท่านั้น

๒. วิปัญจิตัญญูบุคคล - บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยต้องอาศัยการขยายความแห่งหัวข้อธรรมโดยละเอียด (โดยพิสดาร)

๓. เนยยบุคคล -บุคคลผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยอาศัยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ทั้งโดยหัวข้อและโดยการขยายความให้ละเอียดจากกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการสอบถาม มีการไตร่ตรอง พิจารณาโดยแยบคาย

๔. ปทปรมบุคคล บุคคลผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้นได้ แม้ว่าจะได้ฟังมาก ศึกษามาก สอนผู้อื่นมาก เป็นต้น

ดังนั้น เมื่ออ่าน พระสูตรใด ก็ต้องย้อนกลับไปที่พระสูตรนั้นครับว่า พระสูตรนั้น มุ่งหมายถึงอะไร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกที่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น ก็จะต้องแบ่งเป็น ๓ จำพวก เท่านั้น ครับ แต่ บุคคล ที่สามารถบรรลุธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติปัจจุบัน หรือ ชาติหน้า แบ่งเป็น บัว ๔ เหล่า ตามที่กล่าวมา ซึ่งหลักฐาน การอธิบายในพระไตรปิฎก มีดังนี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2555

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 148

อรรถกถามหาปทานสูตร

อธิบายว่า บัวบางเหล่าที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำคอยรอสัมผัสแสงอาทิตย์แล้วบานในวันนี้. บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำจักบานในวันพรุ่งนี้. บางเหล่ายังจมอยู่ภายในน้ำอันน้ำเลี้ยงไว้จักบานในวันที่ ๓.

แต่ว่ายังมีดอกบัวเป็นต้นที่มีโรคแม้เหล่าอื่นไม่ขึ้นพ้นจากน้ำแล้ว ดอกบัวเหล่าใด จักไม่บาน จักเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้น ท่านไม่ควรนำขึ้นสู่บาลี ได้แสดงไว้ชัดแล้ว.

บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะก็เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ เหล่านั้นแล.

ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น

บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง ชื่อ อุคฆฏิตัญญู.

บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร ชื่อว่า วิปจิตัญญู.

บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแยบคาย ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร ชื่อว่า เนยยะ.

บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้นแม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก ชื่อว่า ปทปรมะ.

ในบทนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดู หมื่นโลกธาตุ เช่นกับ ดอกบัว เป็นต้น ได้ทรงเห็นแล้วว่า บุคคลจำพวก อุคฆฏิตัญญู ดุจดอกบัวจะบานในวันนี้

บุคคลจำพวก วิปจิตัญู ดุจดอกบัวจักบานในวันพรุ่งนี้

บุคคลจำพวก เนยยะ ดุจดอกบัวจักบานในวันที่ ๓

บุคคลจำพวก ปทปรมะ ดุจดอกบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ด้วยการแสดงพระธรรมที่เหมาะควรแก่อัธยาศัยของแต่ละบุคคล ผู้ที่ได้สั่งสมบารมีมาก็ได้ฟังและสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ

ส่วนผู้ที่ไม่ได้บรรลุ ก็สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเพื่อประโยชน์ในภายหน้าต่อไป จากการทรงแสดงพระธรรมของพระองค์ บางครั้งทรงยกเป็นอุทเทศ (หัวข้อ) ขึ้นแสดงเท่านั้น บางครั้งก็ทรงแสดงโดยละเอียด ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังอย่างแท้จริง เพราะจากการแสดงพระธรรมของพระองค์นั้น พระองค์ไม่ทรงหวังอะไรจากผู้ฟังแม้แต่น้อย นอกจากผู้ฟังจะเข้าใจเป็นปัญญาของตนเองเท่านั้น

พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลผู้ที่ได้สะสมอบรมเจริญเหตุที่ดีมา นั่นก็คือ ได้สะสมการฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มา จึงมีโอกาสได้ฟังพระธรรม และ มีความเข้าใจไปตามลำดับ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 16 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Wad
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ