ขอเรียนสอบถาม เรื่องของจริตครับ

 
เข้าใจ
วันที่  15 ก.ค. 2555
หมายเลข  21420
อ่าน  2,129

๑. จริตของคนนั้นมีทั้งหมดกี่ประเภทครับ

๒. จริต วาสนา บ่อยๆ เนืองๆ แตกต่างกันอย่างไรครับ

๓. ฟังอาจารย์แล้วเกิดง่วงจะหลับเกี่ยวเนื่องจากอะไรครับ

๔. ฟังอาจารย์อีกท่านกับ ตา หู สว่างหายง่วงเหมือนปลิดทิ้ง เนื่องจากอะไรครับ

กราบขอบพระคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เข้าใจ
วันที่ 16 ก.ค. 2555

เนื่องจากผมเคยได้ยินมาว่า ผู้ที่จะปฎิบัติธรรมนั้นจะเจริญก้าวหน้าได้ดีต้องแล้วแต่จริตจึงอยากทราบว่า คำว่าจริตจะมีในพระพุทธศาสนาหรือไม่ครับ และถ้ามีจะเกี่ยวกับปฏิบัติหรือไม่ครับ ในความรู้สึกเวลาฟังธรรม เมื่อได้ฟังคุณนิภัตพูดทีไร ผมจะเข้าใจได้ดีแบบไม่ต้องฟังซ้ำอีก ซึ่งต่างจากการฟังจากท่านอาจารย์ สุจินต์ ต้องพิจารณาอยู่นานครับจึงเกิดนึกคิดคำว่าจริตขึ้นมาในใจ จริตแปลว่านิสัยหรือเปล่าวครับจึงเรียนมาให้อาจารย์ทราบขอกรุณาอธิบายให้หน่อยนะครับด้วยความเคารพ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จริต หมายถึง ความประพฤติเป็นไป อันเกิดขึ้นจากการสะสมมาในอดีต ที่เกิดกุศล หรือ อกุศล สะสมเป็นอุปนิสัยของบุคลนั้น ให้มีจริตต่างๆ กัน

จริต แบ่งได้หลายนัย เพราะว่าสัตว์โลกมีการสะสมอุปนิสัย อันเกิดจากกุศลหรืออกุศลที่เกิดขึ้นมามากมายครับ บางครั้งก็โดยนัย จริต ๖ จริต ๓ จริต ๒ เป็นต้น อย่างกรณีนี้ สัตว์โลกแบ่งเป็นจริต ๖ ประการคือ

จริต มีทั้งหมด ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต และ พุทธิจริต ถามว่าใครรู้จริตของตนได้ หรือว่าสัตว์โลกก็สะสมอุปนิสัยจริตต่างๆ มาทั้งนั้น จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง และใครรู้ได้ว่าเราจริตอะไรครับ

การที่เราจะรู้ว่าเรามีจริตอะไร ไม่ได้รู้ด้วยการคิดนึกเท่านั้น เพราะเป็นความละเอียดของจิต ที่สะสมในอดีตชาตินับไม่ถ้วนมากมาย ซึ่งการจะมีจริตอะไรนั้น ก็เกิดจากกรรมที่นำเกิดว่า กรรมที่นำเกิดนั้น ประกอบด้วย โลภะอ่อนหรือกล้า โทสะอ่อนหรือกล้า

โมหะอ่อนหรือกล้า เช่น ถ้ากรรมที่ทำนำเกิดนั้น เป็นกรรมที่ทำด้วยโลภะมีกำลังกล้า โทสะมีกำลังกล้า โมหะมีกำลังกล้า ก็ทำให้เป็นคน มีราคะจริต โทสะจริตและโมหะจริตด้วย ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำด้วย ดังนั้น เราไม่สามารถรู้จริตของเราได้ทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องของปัญญา และไม่ใช่เพียงสังเกตเพียงอาการเท่านั้น ผู้ที่จะรู้จริต ก็ต้องมีปัญญาครับ แต่ก็พอสังเกตได้ แต่ไม่ทั้งหมด

ส่วนการอบรมเจริญวิปัสสนา อันเป็นหนทางดับกิเลส พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสัตว์โลกมี ๒ จริต คือ ตัณหาจริตและทิฏฐิจริต

ตัณหาจริต ก็คือมีราคะกล้า หรือมีราคะ (โลภะ) อ่อน อีกประเภท คือ มีทิฏฐิกล้า คือ มีความเห็นผิดมาก กับ มีทิฏฐิอ่อน หรือ มีความเห็นผิดน้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สัตว์โลกสะสมอกุศลมามากมาย โดยไม่สามารถเดาได้เลยว่าจริตอะไร ทั้งราคะ โลภะ ความเห็นผิด เมื่อเป็นเพียงการคิดนึกเดาในจริตของตน แม้จะเดาผิดหรือถูกอย่างไร หากไม่เข้าใจหนทางในการดับกิเลส คือการเจริญสติปัฏฐาน เพียงแต่ไปหาอารมณ์ ไปพยายามรู้จริตของตน และก็จะได้เลือกหมวดธรรมที่เหมาะกับตน แต่ลืมความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจและสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้เลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ดังนั้น ประโยชน์สำคัญที่สุด คือไม่ใช่มุ่งไปหาว่าเราจริตอะไร แต่อบรมปัญญาเพื่อเข้าใจหนทางที่ถูก เมื่อปัญญาเจริญขึ้น สติและปัญญา (สติปัฏฐาน) ก็ย่อมเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เหมาะสมกับจริตของเราเองอยู่แล้วครับ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะสติและปัญญาจะทำหน้าที่เอง รู้ตรงในหมวดธรรมที่เหมาะสมกับจริตของตน แม้เราจะไม่รู้เลยว่าเราจริตอะไร แต่ปัญญาและสติที่เกิดขึ้นที่เป็นสติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา อันเหมาะสมกับจริตครับ เพราะถ้าไม่เหมาะสมกับจริตจริงๆ แล้ว ปัญญาก็จะไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมครับ

สำคัญที่สุด คือ ไม่ลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ว่า แล้วแต่สติและปัญญาจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด หากมีเรา มีตัวตน มีความต้องการที่จะรู้ จะเลือกให้เหมาะกับจริต ตามความคิดเราเอง ก็ไม่ใช่หนทางการเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่สติ แต่เป็นโลภะที่เลือกด้วยความเป็นเรา และลืมความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมครับ

ดังนั้น สบายๆ ด้วยความเข้าใจ คือ ฟังพระธรรมต่อไปในเรื่องสภาพธรรม ธรรม คือ สติและปัญญา จะทำหน้าที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ตามหมวดธรรมที่เหมาะกับจริตเอง แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าเราจริตอะไรก็ตามครับ ประโยชน์จริงๆ จึงไม่ใช่ไปรู้จริตตนเอง แต่อบรมปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกในหนทางดับกิเลส นี่คือประโยชน์จริงๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ส่วนประเด็นเรื่องฟังธรรม จากคนหนึ่งที่บรรยายแล้ว ง่วง แต่อีกคนบรรยายแล้วตาสว่าง ก็มีด้วยหลายเหตุปัจจัย ครับ

ความง่วง เป็นอกุศลธรรม ที่เป็นกิเลส ที่เป็น ถีนมิทธ เป็นนิวรณ์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ง่วง เพราะ ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจ ขณะนั้นจะไม่ง่วง เพราะ ขณะที่เข้าใจ ปัญญาเกิด นิวรณ์ คือ ความง่วงจะเกิดไม่ได้ ครับ ธรรมจึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้ง่วงได้ ครับ จึงไม่ได้เกี่ยวกับใคร บุคคลใดที่บรรยาย สำคัญ เพราะกิเลสที่สะสมมาของตนเอง เป็นสำคัญ และ เพราะฟังไม่เข้าใจด้วย ครับ

ส่วน ฟังอีกท่าน ตาสว่าง ก็เพราะ สนใจในสิ่งนั้น ทำให้ไม่ง่วง แต่การที่ตาสว่าง ต้องแยกระหว่าง ขณะที่เข้าใจครับ ตาสว่างด้วยความสนใจ แต่ไม่เข้าใจก็ได้ ตาสว่าง แล้วเข้าใจก็ได้ ครับ

ดังนั้น ไม่ว่าฟังจากใคร สำคัญ คือ ขณะที่ฟัง เข้าใจหรือไม่ เป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 16 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ อาจารย์อย่างสูงยิ่งครับ

ผมมีความโสมนัสเคารพยินดีเกิดมากครับ ที่ท่านอาจารย์ให้ทั้งความรู้ ความเข้าใจ เตือนให้มีสติ และชี้แนะแนวทางให้พึงปฏิบัติ ผมจะปฏิบัติต่อไปครับ

และวันนี้ผมดีใจมากครับที่ลูกชายมาหาในวันนี้ และได้สนทนากันในเรื่องของพระธรรม ที่ผมได้เข้ามาศึกษาในบ้านธัมมะนี้ให้เขาฟังครับ เขามีความสนใจมากครับ และว่าจะเข้ามาศึกษาดูบ้างครับ ผมมีลูกชาย ๓ คน ๑ คนบวชอยู่ครับอีก ๒ คนเขามีความใฝ่ในพระธรรมทุกคนครับ ถ้ามีโอกาสมาเจอกันก็มักจะเอาธัมมะ มาสนทนากันทุกครั้งครับ ผมมีความปรารถนาให้เขาศึกษาธรรมครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จริต ไม่พ้นไปจากเป็นความประพฤติเป็นไปของแต่ละบุคคล ตามการสะสม และ วาสนา นั้น ก็เป็นความประพฤติที่สะสมมาจนเคยชิน มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี, ในชีวิตประจำวันนั้น อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากอยู่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ธรรมดาปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมสะสมอกุศลเป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง มีความเข้าใจไปตามลำดับ ขณะที่ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เกิด ขณะนั้น กุศลจิตเกิด ก็สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรม สะสมอุปนิสัยฝ่ายดีมากขึ้น นั่นก็หมายความว่าค่อยๆ ขัดเกลากิเลสอกุศลด้วยความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีความประพฤติที่ไม่ดี ไม่เหมาะสมเป็นไปกับด้วยอกุศลมากเพียงใด แต่ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้ว ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สามารถทำให้ จากการเป็นบุคคลที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล ตามลำดับขั้น จนสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ขึ้นอยู่กับการสะสมปัญญา (ความเข้าใจถูก) ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีนั่นเอง ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

วาสนา

วาสนา

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 16 ก.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงยิ่งครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 17 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Graabphra
วันที่ 17 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่นครับ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 18 ก.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Sea
วันที่ 3 พ.ย. 2564

มีโลภะความอยากเข้าใจพระธรรมเหมือนอาจารย์ทางมูลนิธิบ้างค่ะ

สะสมเหตุคือการฟังพระธรรมต่อไป :)

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ