ไม่ยินดีสังขารเก่า ไม่ชอบใจสังขารใหม่
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจาก
[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒- หน้าที่ 479
ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไป ก็ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง.
คำว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ความว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ล่วงแล้ว เรียกว่า สังขารเก่า
บุคคลไม่ควรยินดี ไม่ควรบ่นถึง ไม่ควรติดใจ ซึ่งสังขารทั้งหลายที่ล่วงแล้ว
ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป
ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความชอบใจ ความบ่นถึง ความติดใจ ความถือ
ความยึดถือ ความถือมั่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า.
คำว่า ไม่พึงทำความชอบใจสังขารใหม่ ความว่า รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปัจจุบัน เรียกว่า สังขารใหม่
ไม่ควรทำความชอบใจ ความพอใจ ความรัก ความกำหนัด ในสังขาร
ทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ด้วยสามารถแห่งตัณหา ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ คือ
ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่.
คำว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก ความว่า
เมื่อสังขารเสื่อมไป เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป
ไม่พึงเศร้าโศก ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่น ไม่พึงร่ำไร ไม่พึงทุบอก
คร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล คือ เมื่อจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา
กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เสื่อมไป เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงลำบากใจ ไม่พึงถือมั่น ไม่พึงร่ำไรไม่พึงทุบอกคร่ำครวญ ไม่พึงถึงความหลงใหล
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก.
ว่าด้วยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
ตัณหา เรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
ในคำว่า
ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
ได้แก่ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌาโลภะ อกุศลมูล
เหตุไรตัณหาจึงเรียกว่ากิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
บุคคลย่อมเกี่ยวข้องเกาะเกี่ยว ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ
คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะ ด้วยตัณหาใด เหตุนั้น
ตัณหานั้นจึงเรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง. คำว่า
ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
ความว่า บุคคลไม่พึงเป็นผู้อาศัยตัณหา พึงละ บรรเทาทำให้สิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีซึ่งตัณหา เป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด
ไม่เกี่ยวข้องตัณหา พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่พึงยินดีสังขารเก่า ไม่พึงทำความชอบใจในสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไป ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงเป็นผู้อาศัยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง.
สังขาร หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เพียงร่างกาย แต่หมายถึง สภาพธรรมที่
มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไป คือ ขันธ์ 5 หรือ จิต เจตสิก รูป หรือ สภาพธรรม
ที่มีจริงที่กำลังปรากฎในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเห็น ได้ยิน คิดนึก ล้วนแล้วแต่
เป็นสังขารทั้งสิ้น สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เช่น รูปที่สวย เสียงที่ได้ยิน คิดนึก
ล้วนแล้วแต่เป็นสังขารเก่า เพราะ ดับไปแล้ว แต่ปุถุชน ย่อมคิดนึก ยินดีพอใจ ในสิ่ง
ที่ล่วงไปแล้ว ด้วยอำนาจกิเลส และ คิดนึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ด้วยสำคัญว่าเป็นเรา
และเป็นเขา ด้วยอำนาจทิฏฐิ มีความเห็นผิด เป็นต้น ชื่อว่า ยินดีในสังขารเก่า และ
แม้การยินดีพอใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ก็ชื่อว่า ยินดีในสังขารในปัจจุบัน หรือ
ยินดีในสังขารใหม่ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของปุถุชน ที่ยังจะต้องยินดีในสภาพธรรมที่ดับไป
แล้ว และกำลังปรากฎ และ เมื่อสภาพธรรมเสื่อมไป ก็ทุกข์ใจ เสียใจ เพราะ ติดข้อง
ในสภาพธรรมนั้นด้วยโลภะ เป็นต้น หนทางการที่จะไม่ยินดีในสังขาร ในสภาพธรรม
จะต้องเริ่มจากเข้าใจก่อนว่า สังขาร คืออะไร คือ รู้จักตัวจริงของสังขาร หรือ ของสภาพ
ธรรมที่กำลังปรากฎ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา หากไม่รู้จักตัวสังขาร หรือ สภาพ
ธรรม จะละความยินดีในสังขารไม่ได้เลย ครับ
ดังนั้น จึงต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไร และ อบรม
ปัญญาเพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เป็นสังขารในขณะนี้ ก็จะค่อยๆ ละสังขาร
ด้วยอำนาจกิเลส มีความไม่รู้ ละความเห็นผิดว่าสังขาร สภาพธรรมว่าเป็นเรา จนละ
ความยินดีในสังขารจนหมดสิ้น
ขออนุโมทนาคุณหมอ และ ทุกท่าน ครับ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผเดิม และ ทุกท่าน ครับ
ดีและมีประโยชน์มากครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม และทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมทั้งหมดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อขัดเกลาละ
คลายกิเลส จนกว่ากิเลสจะหมดสิ้นจริงๆ แม้แแต่ในเรื่องของโลภะความติดข้องยินดี
พอใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องในอารมณ์ ไม่สละ ไม่ปล่อย
เมื่อมีความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ความ
เศร้าใจในภายหลังอย่างแน่นอน ผลที่แท้จริงของความติดข้อง ก็คือ ความทุกข์ที่เกิด
เพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ติดข้อง นั้นพระองค์ทรงแสดงให้เห็นตามความเป็น
จริง และการที่จะค่อยๆ ละคลายความติดข้องได้ ก็ด้วยการค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม
ที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ควร
แก่การติดข้องยินดีพอใจ จนกว่าจะสามารถดับความติดข้องในในที่สุด ทั้งหมดเป็น
เรื่องของปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับจริงๆ ครับ
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านด้วยครับ...