เราไม่ศรัทธาพระบิณบาตรบางรูป แต่เราไส่เพื่อบำรุงศาสนา จะได้บุญแค่ใหน

 
วลพ
วันที่  24 ก.ค. 2555
หมายเลข  21466
อ่าน  1,367

แถวหมู่บ้านผม มีพระรูปเดียวที่มาบิณฑบาต แล้วรูปล่าสุด ผมรู้สึกไม่ค่อยศรัทธา เพราะท่านบิณฑบาต แล้วท่านซ้อนมอเตอร์ไซค์ บิณฑบาต เด็กวัดเป็นคนขับ เดินบ้าง ซ้อนมอเตอร์ไซค์บ้าง เพราะหมู่บ้านผมใหญ่มาก แล้วคนไส่บาตรก็ไส่ล้น จนต้องให้เด็กวัด เอากระสอบมาใส่ของที่ใส่บาตรเลยทีเดียว แต่ถ้าผมไม่ใส่บาตรพระรูปนี้ ก็ไม่มีรูปอื่นให้ใส่เลยเวลาผมใส่ ผมเลยอธิษฐาน ทานนี้เพื่อศาสนาพุทธ เพื่อหมู่สงฆ์ทั้งหมด

แบบนี้ผมจะได้บุญแค่ไหน เพราะขาดศรัทธา พระที่มาบิณฑบาต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญ คือ สภาพธรรมฝ่ายดี ที่เป็นไปในขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญความสงบของจิต และขณะที่เข้าใจธรรม อบรมปัญญา ขณะนั้น เป็นบุญ เป็นกุศล แม้แต่การให้ทาน

การให้ทาน ให้ด้วย อนุเคราะห์ช่วยเหลือประการหนึ่ง และ ให้เพราะ บูชาคุณความดี ประการหนึ่ง เพราะฉะนั้น หากให้เพื่อบูชาคุณความดี ของ พระอริยสงฆ์ ไม่ได้จำเพาะเจาะจง ตัว บุคคล ตัวภิกษุบุคคล ขณะนั้น ก็เป็นบุญ เป็นกุศลแล้ว เพราะ สามารถสละวัตถุ สิ่งของเพื่อบูชาคุณความดีของ สังฆรัตนะในขณะนั้น ขณะนั้น มีศรัทธาเกิดร่วมด้วย แม้ขณะจิตก่อนหน้านี้ ที่เห็นพฤติกรรมไม่ดี ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่มีศรัทธา แต่เพราะอาศัยการคิดถูก จึงเกิดศรัทธา ไม่ใช่ศรัทธาในตัวบุคคล แต่ศรัทธาความเชื่อในขณะนั้น ที่จะให้ บูชาคุณความดีของสังฆรัตนะ นั่นเอง ครับ

เพราะฉะนั้น จะต้องแยกระหว่างจิต คนละขณะ คนละเหตุการณ์ ขณะที่ไม่ชอบ ไม่เลื่อมใสในพฤติกรรม เป็นจิตขณะหนึ่งที่ไม่มีศรัทธา แต่ขณะที่ให้ ด้วยบูชาคุณความดีของสงฆ์ มีศรัทธา เพราะ ศรัทธาเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกประเภท ครับ

ที่สำคัญ การทำความดี ไม่ใช่ อยู่ที่ว่า จะได้ผลของความดี ผลของบุญ แต่ทำเพราะเพื่อประโยชน์กับผู้อื่น และ บูชาคุณความดีของผู้นั้น รวมทั้งการเจริญกุศล ก็เป็นไปเพื่อสละ ขัดเกลากิเลส เป็นสำคัญ เป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องของการได้บุญ

ดังนั้น บุญไม่ได้มีเฉพาะการให้ทานเท่านั้น ยังมีกุศลประการอื่นๆ ที่ควรทำ ควรเจริญ อันเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่ว่าจะเป็น การรักษาศีล การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะ กุศลอื่นๆ หากไม่ได้อบรมปัญญา ก็ไม่สามารถจะพ้นจากทุกข์ พ้นจากากิเลสได้เลย

ที่สำคัญ กุศลอื่นๆ จะเจริญได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะ อาศัยปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมรู้ว่าอะไรควร ไม่ควร จึง ประพฤติทางกาย วาจา และใจที่สมควร อันเป็นเหตุให้กุศลประการต่างๆ เจริญขึ้นตามลำดับ และ ถูกต้องด้วย ดังนั้น หากไม่มีโอกาสในการเจริญกุศลขึ้นทาน มีการให้พระภิกษุ ก็สามารถให้กับบุคคลอื่น บิดา มารดา เพื่อน พี่ น้องก็ได้ เพราะเราไม่ได้ติดที่กุศล แต่มุ่งอนุเคราะห์คนอื่น และ ก็สามารถทำกุศลอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องให้ทาน ในกาลเวลาที่เหมาะสมก็ได้ ครับ มีการฟังพระธรรม สนทนาธรรม เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การให้ทาน จะน้อยหรือมาก ก็เป็นการสละความตระหนี่ของตนเอง เป็นกุศลประการหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะการใส่บาตรเท่านั้นที่จะเป็นการให้ทาน การให้วัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ถึงแม้ว่าผู้รับจะไม่ใช่เพศบรรพชิต ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำด้วย

นอกจากนั้นแล้ว บุญ ซึ่งเป็นความดี นั้น มีมากถึง ๑๐ ประการ [ที่นอกเหนือจากการให้วัตถุสิ่งของ (ทาน) แล้ว ก็ยังมีอีก ถึง ๙ ประการ] ที่จะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ดังนี้

๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคล
อื่นให้เดือดร้อน

๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา ๑

๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้น
ไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศล

๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคนพาล ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น

๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติมิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตามซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นกุศล ไม่ปะปน กุศลธรรม กับ กุศลธรรม เป็นต้น

ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของการเจริญกุศล ที่ควรจะสะสมเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิดแล้ว ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของอกุศลที่จะเกิดขึ้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 26 ก.ค. 2555

การทำบุญจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำกับพระก็ได้ ถ้าสิ่งไหนขาด เราทำกับสิ่งนั้น จะได้ประโยชน์กว่า เช่น เด็กยากจน คนป่วย ฯลฯ แล้วไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะได้บุญมากหรือได้บุญน้อย เพราะมุ่งถึงประโยชน์ของผู้รับมากกว่า และที่สำคัญ การศึกษาพระธรรม ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น กุศลอื่นๆ ก็เจริญตามกำลังของปัญญาด้วย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วลพ
วันที่ 26 ก.ค. 2555

ขอบคุณครับ แสดงว่าผมตั้งจิตใส่บาตรถูกทางแล้ว

ขอบคุณแนะนำการทำบุญ อย่างอื่นด้วยนะครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 29 ก.ค. 2555

การให้ คือ การสละ

วัตถุที่ให้ไปก็เป็นประโยชน์กับผู้รับ

ส่วนการสละ เป็นประโยชน์กับผู้ให้โดยตรง

เพราะได้ขัดเกลาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
munlita
วันที่ 10 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ