ขอความเข้าใจเกี่ยวกับสักกายทิฏฐิครับ
กราบเรียนอาจารย์และท่านผู้รู้ครับ
ขอเรียนถามเกี่ยวกับสักกายทิฏฐิ เพราะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าขณะไหนอย่างไรเป็นสักกายทิฏฐิ เข้าใจตามศัพท์ว่า สักกายทิฏฐิเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือรูปนามว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ทราบว่าในชีวิตประจำวันนั้นขณะไหนอย่างไรที่เป็นสักกายทิฏฐิ เช่น ถ้าถามว่าในขณะนี้ใครกำลังนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ตั้งกระทู้อยู่ ก็ตอบว่าเป็นเรา (คือเป็นตัวผมที่นั่งพิมพ์อยู่) แต่ก็รู้สึกว่าไม่ได้ยึดถืออย่างมั่นคงว่าต้องมีเราเป็นคนคนนี้แน่ๆ ที่กำลังทำ (คือรู้สึกว่าไม่ได้มีความเห็นใดๆ ) แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา คือไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เพราะสติไม่ได้เกิดระลึก ถ้าเป็นเช่นนี้เป็นสักกายทิฏฐิรึเปล่าครับ
อีกข้อคืออยากทราบว่า สักกายทิฏฐิต้องเป็น ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตใช่มั้ยครับ และอยากทราบว่า สักกายทิฏฐิ กับ อัตตสัญญา เกี่ยวข้องกันอย่างไรครับ
กราบขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สักกายทิฏฐิ สก (ของตน) + กาย (ที่ประชุม) + ทิฏฺฐิ (ความเห็น)
ความเห็นว่าเป็นกายของตน, ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน หมายถึง ความเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ของเรา หรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงตามสภาพธรรม เช่น ยึดถือ ขณะที่ว่า เห็น เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นต้น
จากคำถามที่ว่า
เข้าใจตามศัพท์ ว่าสักกายทิฏฐิเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือรูปนามว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ทราบว่าในชีวิตประจำวันนั้นขณะไหนอย่างไรที่เป็นสักกายทิฏฐิ เช่น ถ้าถามว่าในขณะนี้ ใครกำลังนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ตั้งกระทู้อยู่ ก็ตอบว่าเป็นเรา (คือเป็นตัวผมที่นั่งพิมพ์อยู่) แต่ก็รู้สึกว่าไม่ได้ยึดถืออย่างมั่นคงว่าต้องมีเราเป็นคนคนนี้แน่ๆ ที่กำลังทำ (คือรู้สึกว่าไม่ได้มีความเห็นใดๆ ) แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา คือไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เพราะสติไม่ได้เกิดระลึก ถ้าเป็นเช่นนี้เป็นสักกายทิฏฐิรึเปล่าครับ
- เราจะต้องเข้าใจครับว่า สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่เกิดขึ้นยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ซึ่งขณะที่สักกายทิฏฐิ เกิดขึ้น นั่นก็คือ ขณะที่ อกุศลจิตเกิด ที่เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับ ความเห็นผิด คือ ทิฏฐิเจตสิก
ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศล แม้จะมีเรา มีเขา ไม่มีสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคลในขณะนั้น และขณะที่เป็นอกุศล ที่เป็นโทสะ ไม่ชอบคนนั้น คนนี้ แม้จะมีคนนั้น คนนี้ แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็น คือ ด้วยความเห็นว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลจริงๆ เพียงแต่เกิดขุ่นเคืองใจ อันมีบัญญัติ ที่เป็นสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ แต่ไม่ได้ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ที่เป็นสักกายทิฏฐิ ครับ
เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิ จึงต้องเป็นความยินดีพอใจ ที่เป็นโลภะยินดีในความเห็นนั้น จึงมีความเห็นนั้น ยินดีในสิ่งที่ผิด ในความเห็นผิด คือ ยินดีพอใจใน ความเห็นว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคลจริง ซึ่งในชีวิตประจำวัน จึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อเราอยู่กับเรื่องราวที่เป็น คนนั้น คนนี้ เป็นเรา เป็นสิ่งต่างๆ จะต้องมีทิฏฐิเจตสิก ที่เป็นความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิเสมอไป เพราะ บัญญัติเรื่องราวเป็นอารมณ์ของกุศลก็ได้ และ อกุศลประเภทอื่นที่ไม่ใช่โลภะ ก็ได้ ครับ (สักกายทิฏฐิเกิดกับโลภมูลจิต) แต่ขณะใดมีความเห็นขึ้นมาว่ามีเรา มีคนอื่นจริงๆ ด้วยความเห็นนั่นเป็นความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิแล้วครับ เช่น ถ้าเห็นเราในกระจก ยินดีในรูปร่างหน้าตาของเรา ขณะนั้น เป็นโลภะ ที่ไม่ประกอบ ด้วยความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิ เพราะยังไม่มีความเห็นว่า มีตัวเราจริงๆ แต่เมื่อมีคนมาถามว่า มีตัวเราจริงๆ ไหม ก็ตอบ หรือ คิดในใจว่า ก็มีเราจริงๆ จะเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร นี่คือ มีความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิ เกิดแล้ว ที่กำลังยึดถือด้วยความเห็นผิด สำคัญว่ามีเราจริงๆ แต่ต่างกับกรณีที่มีคนมาถามว่า เมื่อกี้ ใช่เราที่เดินไปซื้อของร้านนี้หรือเปล่า ตอบว่า ใช่ผมเอง ขณะนั้น ไม่ได้มีความยึดถือว่ามีเราจริงๆ แต่เป็นการตอบด้วยการยืนยันว่าเป็นเราเอง ไม่ใช่คนอื่น แม้พระอรหันต์ ท่านก็ตอบยืนยัน ว่าเป็นตัวท่าน โดยสมมติโวหาร ว่าเป็นท่าน เป็นเรา เป็นเขา ได้ แต่ไม่มีความเห็นผิด ที่เป็นสักกายทิฏฐิ ครับ
แต่ถ้าเป็นการตอบ เนื่องด้วยความเห็นผิด ที่คิดว่ามีเราจริงๆ อันนี้เป็นสักกายทิฏฐิ แต่ถามว่า ใครที่นั่งทำคอมอยู่เมื่อกี้ ก็ตอบว่า เป็นผมเอง ยืนยันตัวเอง แต่ไม่ได้มีความยึดถือจริงๆ ว่ามีเรา แต่ถ้าถามว่า มีตัวคุณจริงๆ ไหม ขณะที่ทำคอม ตอบว่ามีตัวเราจริงๆ สิ นี่แสดงถึง การยึดถือว่ามีเราจริงๆ เป็นสักกายทิฏฐิ ครับ
และอีกประการหนึ่ง แม้จะไม่ได้รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีสักกายทิฏฐิ เพราะ สักกายทิฏฐิ เกิดกับโลภยมูลจิตเท่านั้น ขณะที่เป็นกุศล ไม่ประกอบด้วยปัญญา แม้มีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ก็ไม่มีสักกายทิฏฐิ แม้ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ขณะที่เป็นโลภะ ชอบอาหาร แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แม้ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ก็ไม่มีสักกายทิฏฐิ มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลในขณะนั้น แต่มีทิฏฐานุสัยนอนเนื่องในจิตแต่ละขณะใด ของปุถุชน
ซึ่งจะกล่าวต่อไปดังนี้
ข้อเพิ่มประเด็นเพื่อความแจ่มแจ้งนะครับ สำหรับ ที่กล่าวมา กล่าวถึง อกุศลจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันว่า ขณะใดมีสักกายทิฏฐิ แต่เมื่อว่าโดยอนุสัยกิเลส ทิฏฐานุสัย ยังไม่ได้ดับ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ยังมี สักกายทิฏฐิและทิฏฐานุสัยนอนเนื่องไปในจิตแต่ละขณะ แม้จะไม่ได้มีความเห็นผิดในจิตนั้น เช่น กุศลจิตเกิด ไม่ได้มีความเห็นผิด แต่ก็ยังมีสักกายทิฏฐิที่ยังไม่ได้ดับ นอนเนื่องสืบต่ออยู่ในจิตแต่ละขณะ เพียงแต่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นอกุศลจิตนั่นเอง ครับ
คำถามที่ว่า
อีกข้อคือ อยากทราบว่า สักกายทิฏฐิ ต้องเป็น ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ใช่มั้ยครับ
- ได้กล่าวไปแล้วครับ สักกายทิฏฐิ องค์ธรรม คือ ทิฏฐิเจตสิก จะต้องเกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิตเท่านั้น ครับ
และอยากทราบว่า สักกายทิฏฐิ กับ อัตตสัญญา เกี่ยวข้องกันอย่างไรครับ
- เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย สักกายทิฏฐิ ก็คือ เจตสิกประเภทหนึ่ง คือ ทิฏฐิเจตสิก แต่จิตเกิดขึ้นไม่ใช่มีเจตสิกประเภทเดียว มีเจตสิกอีกหลายประเภทเกิดร่วมด้วย รวมทั้งสัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้น ขณะใดที่เห็นผิดยึดถือว่ามีเรา มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมๆ กับ สัญญาเจตสิก ที่ทำหน้าที่จำ แต่เมื่อเป็นความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็จำผิด คือ จำว่ามีเรา จำว่ามีอัตตา คือ จำด้วยอัตตสัญญานั่นเอง จำว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ครับ
ดังนั้น ขณะใดที่เห็นผิด ว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ที่เป็น สักกายทิฏฐิ ขณะนั้น จำผิดด้วย ที่เป็นอัตตสัญญา จำว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายอย่างกระจ่างชัดครับ
ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ
- เราอาจจะมีอัตตสัญญาโดยที่ไม่มีสักกายทิฏฐิเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่ครับ เช่นขณะที่เห็นเป็น คน สัตว์ สิ่งของ เป็นอัตตสัญญา แต่ไม่เป็นสักกายทิฏฐิ เช่นนี้หรือไม่ครับ
- โดยทั่วไปของคนที่ได้ฟังธรรมและพิจารณาจนเข้าใจอย่างมั่นคง จะกล่าวได้มั้ยครับ ว่าเป็นเหตุให้สักกายทิฏฐิมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เพราะความเข้าใจธรรมขั้นฟัง ขั้นพิจารณา แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับทิฏฐานุสัย ก็มีปัจจัยให้เกิดสักกายทิฏฐิได้ เช่น ถ้าขาดการฟังธรรม หรือชาติต่อไปไม่มีโอกาสฟังธรรมก็จะเป็นบุคคลที่มีความเห็นผิดได้อีก
- แล้วก็อีกข้อที่สงสัยมานาน คือ ขณะใดที่มีความเห็นผิดเกี่ยวกับโชคลาง ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดใช่มั้ยครับ แต่สมมติว่าเราเกิด "กลัว" ว่าถ้าวันนี้แต่งตัวใส่เสื้อผ้าสีดำทั้งชุดจะเป็นอัปมงคลจะโชคร้าย มันเหมือนกับเป็นโทสมูลจิตที่กลัว แสดงว่าต้องเป็นคนละขณะใช่มั้ยครับ คือ ขณะที่กลัวว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับตัวเองก็เป็นโทสะ แต่ขณะที่เชื่อว่าแต่งชุดดำจะโชคร้ายก็เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่เกิดสลับกัน เป็นเช่นนี้หรือไม่ครับ
กราบขอบพระคุณครับ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
- เราอาจจะมีอัตตสัญญาโดยที่ไม่มีสักกายทิฏฐิเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่ครับ เช่น ขณะที่เห็นเป็น คน สัตว์ สิ่งของ เป็นอัตตสัญญา แต่ไม่เป็นสักกายทิฏฐิ เช่นนี้หรือไม่ครับ
- โดยทั่วไปแล้ว อัตตสัญญา จะต้องเป็นความจำที่จำผิด ว่ามีสัตว์ บุคคล มีเราจริงๆ ซึ่งเกิดร่วมกับความเห็นผิด ดังนั้น ขณะที่เป็นกุศล เช่น พรมหวิหาร ๔ มีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์มีเมตตากับผู้อื่น ไม่ได้จำว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ด้วยความเห็นผิด ที่เป็นอัตตสัญญา ในขณะนั้น แม้พระอรหันต์ ก็มีพรหมวิหาร ๔ มีสัญญาเจตสิก เกิดร่วมกับจิต มีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ แต่ไม่เป็นอัตตสัญญา ครับ เพราะฉะนั้น อัตตสัญญา จึงจะต้องเป็นความจำที่ผิด คือ จำว่ามีสัตว์ บุคคล มีเรา ที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกที่เป็นความเห็นผิด มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น ครับ
โดยทั่วไปของคนที่ได้ฟังธรรมและพิจารณาจนเข้าใจอย่างมั่นคง จะกล่าวได้มั้ยครับ ว่าเป็นเหตุให้สักกายทิฏฐิมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เพราะความเข้าใจธรรมขั้นฟัง ขั้นพิจารณา แต่ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับทิฏฐานุสัย ก็มีปัจจัยให้เกิดสักกายทิฏฐิได้ เช่นถ้าขาดการฟังธรรม หรือชาติต่อไปไม่มีโอกาสฟังธรรมก็จะเป็นบุคคลที่มีความเห็นผิดได้อีก
- ขณะที่อกุศลเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงอนุสัยกิเลสแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ฟังพระธรรม บ่อยๆ มีปัญญาความเข้าใจ ย่อมมีโอกาสเกิดอกุศลที่เป็น สักกายทิฏฐิ ความยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ได้น้อยกว่า ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่ได้สะสมความเห็นถูก ครับ
เพราะ ผู้ที่ศึกษาพระธรรม ย่อมมีโอกาสได้ยินได้ฟังและเข้าใจในสิ่งที่ถูกว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม ก็ทำให้คิดถูกขึ้น เมื่อคิดถูกขึ้น คิดผิดก็น้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เกิดความเห็นผิด แต่เกิดน้อยกว่า ผู้ที่ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรม หรือ มีความเห็นผิด ครับ
และแม้ผู้ที่ฟังพระธรรมในชาตินี้ แต่ความเข้าใจก็ยังไม่มั่นคง ตราบใดที่ยังไม่ใช่เป็นพระโสดาบัน ไม่ต้องกล่าวถึงชาติหน้า ชาตินี้ก็ยังทำให้กลับมาเห็นผิด สำคัญว่ามี สัตว์ บุคคล จริงๆ ได้ตลอด เพราะ มีอนุสัย คือ ทิฏฐานุสัยอยู่ครับ และเหตุให้เกิดความเห็นผิดมากขึ้น คือ ฟังแนวทางหรือคำสอนที่ผิดนั่นเองครับ
แล้วก็อีกข้อที่สงสัยมานาน คือ ขณะใดที่มีความเห็นผิดเกี่ยวกับโชคลางขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดใช่มั้ยครับ แต่สมมติว่าเราเกิด "กลัว" ว่า ถ้าวันนี้แต่งตัวใส่เสื้อผ้าสีดำทั้งชุดจะเป็นอัปมงคล จะโชคร้าย มันเหมือนกับเป็นโทสมูลจิตที่กลัว แสดงว่าต้องเป็นคนละขณะใช่มั้ยครับ คือ ขณะที่กลัวว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็เป็นโทสะ แต่ขณะที่เชื่อว่าแต่งชุดดำจะโชคร้าย ก็เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่เกิดสลับกัน เป็นเช่นนี้หรือไม่ครับ
- ถูกต้องครับ
จะกล่าวได้ว่า อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล โดย ปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เพราะ เห็นผิด ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ความกลัวได้เป็นธรรมดา ครับ ซึ่งก็เป็นจิตต่างขณะกัน ขณะที่กลัวไม่ได้เห็นผิด แต่เพราะอาศัยความเห็นผิด เชื่อถือโชคลาง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ซึ่งเป็นจิตต่างขณะกัน ครับ แต่เกิดสลับกันอย่างรวดเร็วจนแยกไม่ออก เพราะ ต้องแยกด้วยปัญญา ไม่ใช่เรา
ขออนุโมทนา ครับ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในคำอธิบายที่ละเอียดและกระจ่างชัดครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวัน ทุกขณะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ รวมถึงความเห็นผิด ก็มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นทิฏฐิเจตสิก ผู้ที่เป็นปุถุชน สะสมความเห็นผิดมามากในสังสารวัฏฏ์ สะสมความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ มีบุคคล เห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นต้น การจะไถ่ถอนความเห็นผิดได้นั้น ก็ด้วยปัญญา แต่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาด ยังมีพืชเชื้อของความเห็นผิดอยู่ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล (สักกายทิฏฐิ) ก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นอกุศลธรรมที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจริง
และที่ตั้งที่จะให้ทิฏฐิประเภทนี้เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่จริงที่เกิดดับในขณะนี้ ที่เป็นขันธ์ ๕ ได้แก่รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพราะยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง เช่น เห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เราที่เห็น ได้ยิน เป็นธรรมไม่ใช่เราที่ได้ยิน เป็นต้น จึงมีการยึดถือความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน
ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย แต่ความเห็นผิดทุกประการจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้น สักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถืดสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์บุคคล ก็ดับได้ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย พระโสดาบันไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล
การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นกุศลธรรมเจริญขึ้น ศรัทธา ปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้น เป็นการขัดเกลา ละคลายความเห็นผิด รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย
ขณะที่กุศลธรรมเกิด อกุศลธรรมจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และความเห็นผิดจะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่ออบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโสดาบัน เมื่อนั้น ความเห็นผิดจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมอบรมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับจริงๆ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...