ข้อความเตือนสติเรื่องอุฏฐานสูตร และสาวัชชสูตร

 
wittawat
วันที่  29 ก.ค. 2555
หมายเลข  21481
อ่าน  1,717

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร ... อุฏฐานสูตร และ สาวัชชสูตร

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร

๑. สาระของการแสดงอุฏฐานสูตร และ สาวัชชสูตร

สาระของการแสดงบุคคล ต่างจำพวกซึ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหมั่นบ้าง ผลกรรมบ้างบุคคลมีโทษมากบ้าง น้อยบ้าง หรือบุคคลไม่มีโทษ

ชีวิตที่เกิดมาแม้เป็นมนุษย์ก็มีหลากหลาย บางคนสุขสบาย บางคนไม่ขวนขวายขยันทำงานก็อยู่ไม่ได้ ทั้งหมดต้องย้อนถึงเหตุคือการสะสมของบุญกรรม ซึ่งทำให้บุคคลแตกต่างกันไป บางบุคคลแม้ว่ายากไร้แต่เป็นผู้อบรมเจริญปัญญามาแล้วสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ก็มี เช่น สุปปพุทธกุฏฐิที่กว่าจะได้ทานข้าวต้องเก็บหาจากของที่ทิ้งแล้ว หรือแม้ว่าเป็นผู้ที่มีบุญมาก เช่น ท่านพระอนุรุทธะ ผู้ไม่เคยได้ยินคำว่าขาดแคลน เพราะผลทานในพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งก็มีชีวิตแต่ละหนึ่ง แล้วแต่ว่าประสบพบเห็นอะไร การสะสมที่มีมาแล้ว แม้เห็นสิ่งเดียวกันแต่ใจก็ต่างกัน กุศลก็ต่างระดับกัน ซึ่งมุ่งหมายถึงการแสดงความจริงแต่ละหนึ่ง แต่ละขณะ ซึ่งต้องเป็นไปตามเหตุและผล ซึ่งเหตุย่อมนำมาซึ่งความหลากหลาย ตามความวิจิตรของจิตที่สะสมมา

๒. ฐานของกรรม

ทั้งๆ ที่สิ่งที่ได้มาก็เป็นผลกรรมเช่นเดียวกัน แต่ทำไมบางคนต้องขยัน บางคนไม่ต้องขยัน โดยละเอียดแล้ว แม้แต่เห็นก็เป็นผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นยาจกหรือเศรษฐี แม้เห็นสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ที่จะให้ผลได้ต้องมีฐานที่ตั้งที่เป็นปัจจัยที่กระทำไว้แล้วสามารถให้ผลได้ โดยละเอียด คือ เห็นขณะใด ได้ยินขณะใด ก็เป็นผลกรรม ซึ่งต้องไม่ปราศจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อกล่าวโดยความเป็นอยู่ของชีวิต แต่ละชีวิตก็ต่างกัน แม้จะได้ผลกรรมอย่างนี้ บางพวกต้องอาศัยความขยัน ซึ่งผลของความขยันแม้มาก อาจให้ผลเล็กน้อยก็เป็นได้ เพราะไม่สามารถที่จะทราบฐานของกรรม ที่ได้กระทำแล้วให้ผลมากๆ

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา

นิรุตติปฏิสัมภิทา คือความแตกฉานทางภาษา ซึ่งไม่ใช่เพียงการแยกศัพท์ เช่น ผู้ชำนาญทางภาษา ที่เข้าใจ ประธาน กิริยา เอกพจน์ พหูพจน์ เพราะถึงจะทราบอย่างนั้น แต่ถ้าไม่ได้เข้าใจจุดประสงค์แท้จริงที่ทรงแสดงธรรมด้วยทรงมุ่งหมายสิ่งใด นั่นก็ไม่ใช่นิรุตติปฏิสัมภิทา เพราะฉะนั้น นิรุตติปฏิสัมภิทา ต้องเป็นความเข้าใจโวหารของธรรมที่ทรงแสดง เพื่อส่องถึงสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่จริง เช่น การทรงแสดงเรื่องของจิต ก็ต้องทราบด้วยว่า ขณะนี้มีจิตที่กำลังรู้อยู่ทุกขณะโดยไม่ขาดจิต ซึ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นต้น

๔. การเข้าใจโวหารของพระสูตร อุฏฐานสูตร สาวัชชสูตร

เมื่ออ่านพระสูตร เช่น อุฏฐานสูตร ว่ามีบุคคลที่ดำรงชีวิตอยู่ ด้วยความหมั่นบ้าง ด้วยผลของกรรมบ้าง ซึ่งต่างกันโดยความเป็นเทพบ้าง คนมั่งคั่งบ้าง คนที่ต้องหมั่นทำงาน หรือสัตว์นรก เป็นต้น ไม่ใช่ว่าให้คิดอยากรู้ว่า เราเป็นบุคคลประเภทใด นั่นไม่ใช่การเข้าใจโวหารของพระสูตร แต่ให้เห็นว่าบุคคลที่มีชีวิตอยู่ลำบากก็มี ที่อยู่สบายก็มี ซึ่งเป็นผลของกรรม ซึ่งต้องทราบถึงเหตุที่ทำให้ผลเป็นอย่างนั้น คือไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมบถหรืออกุศลกรรมบถ สิ่งที่สำคัญ คือธรรมภายใน คือ จิต ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตอะไร คำพูด การกระทำก็เป็นไปตามจิตนั้น ซึ่งให้ผลวิจิตรต่างกันไป และใน สาวัชชสูตร ที่แสดงบุคคลซึ่งมีโทษแตกต่างกัน (บุคคลมีโทษส่วนเดียว บุคคลมีโทษมาก บุคคลมีโทษน้อย) และบุคคลไม่มีโทษ ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเกิดลำบากหรือว่าสบาย อกุศลนั้นก็เป็นโทษ ซึ่งยังมีบุคคลประเภทที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะละอกุศลเลย และก็มีบุคคลที่แม้ว่าอกุศลมีมาก เพราะไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่ก็ยังมีวาระของการอบรมเจริญกุศล คือความเข้าใจธรรม จนกว่าที่จะถึงการมีโทษน้อย เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และไม่มีโทษเลยคือเป็นพระอรหันต์

๕. บุคคลมีโทษโดยส่วนเดียว

ทรงแสดงความต่างของบุคคล ซึ่งในชีวิตของเขา เมื่อไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่เห็นโทษของการมีชีวิตอยู่ด้วยอกุศล ก็ไม่ใช่กัลยาณปุถุชน ซึ่งไม่ใช่ว่า ต้องคิดถึงทุกขณะจิต ว่ามีกุศลบ้างหรืออย่างไร แต่เมื่อประมาณแล้ว เทียบแล้ว ก็คือ มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นโทษ

๖. บุคคลมีโทษมาก

คือ บุคคลซึ่งส่วนใหญ่ วันหนึ่งๆ เป็นอกุศลที่ครอบงำ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าเว้นจากขณะที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนาแล้ว ที่เหลือทั้งหมดก็เป็นอกุศล แม้ความฝันก็เป็นไปกับอกุศล นี้คือ บุคคลที่มีโทษมาก ซึ่งก็คือ พวกเราเอง

๗. ผลของอกุศลกรรม

ถ้าเป็นผู้ที่เกรงกลัวผลของอกุศลกรรม ก็ไม่ควรที่จะทำอกุศลกรรม ควรเห็นประโยชน์ของกุศล เห็นโทษของอกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นโทษ

๘. “อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นโทษ”

ผู้ที่ละเอียดศึกษาโทษของอกุศลจิต เห็นโทษแม้โทษเพียงเล็กน้อยว่าเป็นโทษ เพราะอกุศลจิตเกิดเมื่อไร แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นโทษ แม้ไม่ต้องล่วงกรรมบถ ซึ่งก็ขึ้นกับว่าปัญญาสามารถเห็นโทษได้ระดับใด เพราะถ้าปัญญามีมาก ก็เห็นโทษของอกุศลจิต แม้อกุศลจิตเพียงเล็กน้อย

๙. วัตถุประสงค์ของการฟังธรรม

เพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน

๑๐. สิ่งสำคัญที่สุด

จะเกิดเป็นผู้ยากไร้ ซึ่งต้องดำรงชีวิตด้วยความขวนขวายแต่ไม่ไร้ปัญญา หรือว่าเกิดเป็นผู้สมบูรณ์ทรัพย์ ลาภ ยศ แต่ไร้ปัญญา สิ่งสำคัญที่สุด คือปัญญา ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ยากไร้หรือเพียบพร้อม ถ้าไม่มีปัญญาก็ต้องได้รับผลของกรรม

“ไร้อะไรก็ไร้ได้ ถ้าหากไร้ปัญญา ก็สามารถเกิดในอบายภูมิได้ แม้จะสมบูรณ์เพียบพร้อมในปัจจุบัน”

“ได้รับประทานอาหารครบ ๓ เวลา แล้วมีปัญญาหรือไม่?”

๑๑. ของภายนอก ของภายใน

การมีทรัพย์ ไร้ทรัพย์ การมีอำนาจ หรือเป็นขอทาน เป็นของภายนอก ของภายในจริงๆ คือ จิตที่สะสมมา ซึ่งหลากหลายและละเอียดทุกขณะ เช่น ขณะที่กำลังฟังธรรม ความละเอียดของความเข้าใจธรรมที่สะสมมา ก็ต้องแตกต่างกัน

๑๒. อายุบวร

บางคน มีอายุบวร (คำ “สวัสดี” ในประเทศศรีลังกา) คือ มีชีวิตอยู่ยาวนานก็จริง ในเวลานี้เราก็มีอายุถึงวันนี้ แล้วที่ผ่านมาซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ถ้าไม่ได้มีความเข้าใจคุณค่าของชีวิต เกิดมาแล้วอยู่นานๆ เพื่ออะไร? เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมว่ามีชีวิตอยู่ยาวนานเพื่อเข้าใจธรรม เพราะเมื่อเข้าใจธรรมแล้ว ชีวิตที่มีอยู่ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เป็นไปในฝ่ายกุศล และอยู่ด้วยความเข้าใจธรรม โดยที่ไม่หลงลืมความเข้าใจจากการฟังนั้นๆ

๑๓. คุณค่าของการเกิดเป็นมนุษย์และการได้ฟังธรรม

ต้องเห็นคุณค่าของการได้เกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งมีโอกาสได้ฟังธรรม พิจารณาเพิ่มความเข้าใจถูกต้องในธรรม ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งในทุกคำที่ทรงแสดง เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟัง เพื่อที่จะสามารถเป็นกัลยาณปุถุชน คือ มีโอกาสที่ได้เข้าใจธรรมในระหว่างๆ (มีโอกาสที่กุศลจะเกิดขึ้นได้บ้าง ในท่ามกลางปรกติที่เป็นอกุศล เพราะความเข้าใจที่เกิดจากการฟัง)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 30 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Graabphra
วันที่ 1 ส.ค. 2555
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
munlita
วันที่ 2 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 6 ส.ค. 2555

ขอน้อมรับ และกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 14 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ