การได้ทรัพย์และการรักษาทรัพย์

 
krunoi
วันที่  7 ส.ค. 2555
หมายเลข  21523
อ่าน  13,727

ขอเรียนถามว่า การได้ทรัพย์และการรักษาทรัพย์ควรทำอย่างไร ในทางพระพุทธศาสนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การได้ทรัพย์ สำหรับเพศคฤหัสถ์ ที่ถูกต้องตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือการแสวงหาทรัพย์ด้วยสัมมาอาชีวะ ด้วยอาชีพที่สุจริต ที่ไม่เป็นไปในการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และไม่เป็นอาชีพที่เนื่องเกี่ยวกับการทำบาป ทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกง เป็นต้น และพระองค์ยังแสดงละเอียดลงไปอีกว่า การแสวงหาทรัพย์ ได้ทรัพย์มา ก็ควรเป็นอาชีพที่อุบาสกควรประกอบ ไม่ประพฤติอาชีพที่ไม่ควรประกอบ มีการขายเนื้อที่ตนเองเลี้ยง ขายของมึนเมา ยาพิษ เป็นต้น ครับ

ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งเหตุและผล ในเรื่องการได้ทรัพย์ ไม่ได้ทรัพย์ ก็ต้องมีเหตุที่สำคัญ คือผลของกรรมดีที่ทำไว้ให้ผลย่อมเป็นปัจจัยให้ได้ทรัพย์ ผู้ที่เสียทรัพย์ก็เพราะผลของกรรมชั่วให้ผล

ดังนั้น พระองค์ทรงแสดง พระสูตร ปัตตกัมมสูตร ว่า

เหตุให้เกิดความเจริญซึ่งทรัพย์ เป็นต้น เพราะความเจริญของกุศลธรรม คือศรัทธา จาคะและปัญญา เพราะอาศัยกุศลกรรรมที่ทำ เพราะมีศรัทธา มีการบริจาคที่เป็นจาคะ และมีปัญญา จึงทำกุศล ผลคือย่อมได้รับเหตุที่ดี มีการได้ทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น ครับ นี่คือเหตุของการได้ทรัพย์ที่แท้จริง

ส่วนการรักษาทรัพย์ พระองค์ก็ทรงแสดงเรื่องการใช้ทรัพย์ให้เหมาะสม ให้เป็นประโยชน์ นั่นคือ เมื่อได้ทรัพย์มา แบ่งเป็น ๔ ส่วน ๒ ส่วนเก็บไว้ทำกิจการงาน อีกส่วนสำหรับทำบุญ และส่วนสุดท้ายเก็บไว้เมื่อคราวมีภัยหรือรักษาตนเอง ดังนั้น การรักษาทรัพย์ก็เพื่อประโยชน์กับตนเมื่อถึงคราวมีภัย แต่ไม่ใช่เก็บไว้ทั้งหมด

เพราะพระองค์ยังทรงแสดงถึงการใช้ทรัพย์ที่เหมาะสม คือให้กับ บิดา มารดา บุตร ภรรยา ข้าทาส กรรมกร เพื่อน และทำบุญกับสมณพราหมณ์ และให้กับประเทศที่เป็นราชพลี ด้วย ครับ

จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุของการได้ทรัพย์ การรักษาทรัพย์ และการใช้ทรัพย์ว่าอย่างไรที่สมควร ซึ่งการจะทำอย่างนี้ คิดถูก รักษาทรัพย์ได้ จะมีไม่ได้เลยหากขาดปัญญา ความคิดที่ถูก เพราะหากไม่มีปัญญาแล้ว แม้จะเก็บรักษาทรัพย์ได้ แต่ทรัพย์นั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ต่างจากคนที่ตายแล้วมีทรัพย์ เพราะไม่ใช้ หรือแม้มีทรัพย์แต่ไม่เก็บไว้คราวมีภัย ก็เดือดร้อน นี่ก็เพราะขาดปัญญาความเห็นถูกในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นธรรมเครื่องดำรงชีวิตที่ประเสริฐ ที่จะทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์ เพราะทำกุศลที่เป็นเหตุ และประกอบอาชีพที่สุจริตเพราะมีปัญญา และเพราะมีปัญญา ทำให้รักษาทรัพย์ได้และใช้ทรัพย์อย่างเหมาะสม ครับ

ที่สำคัญ ทรัพย์สินต่างๆ ไม่มีใครสามารถจะนำติดตัวไปได้เลย และเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ไม่มีปัญญา ติดข้อง และทำให้มีการทำทุจริตเพราะความติดในทรัพย์ เพราะฉะนั้นทรัพย์ที่ประเสริฐที่จะนำมาซึ่งความสุข และความพ้นภัยประการต่างๆ ที่เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐจริงๆ คือกุศลธรรม ความดี มีศรัทธา ศีล การฟังพระธรม และการเจริญขึ้นของปัญญา ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เป็น อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ การจะได้มาซึ่งทรัพย์ที่ประเสริฐ คือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า และการจะรักษาทรัพย์เหล่านี้ได้ก็คือเป็นผู้ที่อดทนที่จะไม่ละเลยการฟังพระธรรม และไม่ละเลยการเจริญกุศลประการต่างๆ ครับ

อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ เพราะทำให้พ้นจากทุกข์ เพราะทำให้สิ้นกิเลส

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
daris
วันที่ 8 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่สำคัญที่สุด จะต้องเป็นผู้ขยันหาทรัพย์ในทางที่สุจริต ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น เมื่อหาทรัพย์ได้แล้วก็จะต้องรู้จักเก็บรักษาและใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องคบเพื่อนที่ดีที่จะไม่ชักนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเสื่อม และจะต้องรู้จักเลี้ยงชีพอย่างพอเหมาะ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ด้วย

ซึ่งจะเห็นได้ว่าชีวิตของคฤหัสถ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโภคทรัพย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเป็นเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพื่อประคับประคองให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน (ซึ่งแตกต่างไปจากเพศบรรพชิต เพราะเพศบรรพชิต ไม่มีเงินทอง เนื่องจากท่านเว้นจากการรับเงินรับทอง)

โภคทรัพย์นั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับตนเองแล้ว ยังสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นๆ ด้วย

ข้อที่ควรพิจารณา คือ ทรัพย์ เมื่อกล่าวโดยประเภทใหญ่ๆ แล้ว มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ทรัพย์ภายนอก กับ ทรัพย์ภายใน

ทรัพย์ภายนอก เช่นทรัพย์สิน เงิน ทอง เป็นต้น ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัย อาจจะถูกแย่งชิง หรืออาจจะเสื่อมสูญวันใดวันหนึ่งก็ได้ ไม่ได้เป็นที่พึ่งสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ (ภายนอก) อย่างแท้จริง

แต่ทรัพย์ภายใน ซึ่งได้แก่ กุศลทุกประเภท เป็นทรัพย์ที่มีความมั่นคง มีความปลอดภัย ใครๆ ก็ลักไปไม่ได้ เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่จะติดไปตนไปในภพหน้า ทรัพย์ภายในจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ภายนอก เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะแสวงหาทรัพย์ภายนอกบ้าง ก็ไม่ควรละทิ้งทรัพย์ภายใน ด้วยการสะสมความดีประการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 8 ส.ค. 2555

ที่มาของทรัพย์ บางส่วนเป็นผลของกุศลกรรม บางส่วนมาจากความขยันหมั่นเพียรและความสามารถในการประกอบกิจการงานด้วย "ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน" คำพูดนี้ยังไม่ล้าสมัยค่ะ

ทางเสื่อมของทรัพย์นอกจากเป็นผลของอกุศลกรรม เช่นการลักทรัพย์ ฉ้อโกง แม้แต่การทำลายสาธารณสมบัติ ตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ความประพฤติในปัจจุบันก็เป็นเหตุให้เสื่อมทรัพย์ได้ด้วย เช่น การพนัน ยาเสพติด และอบายมุขทุกประเภทค่ะ

ส่วนการใช้ทรัพย์และรักษาทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนามีดังนี้ ...

๒. [เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 87

ข้อความบางตอนจาก สิงคาลกสูตร

คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้

พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน เขาย่อมผูกมิตรไว้ได้

พึงใช้สอยโภคทรัพย์ด้วยส่วนหนึ่ง

พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน

พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วยหมายจักมีไว้ในยามมีอันตราย ดังนี้.

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่ลิงก์ค่ะ

หลักการใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์

แต่ทรัพย์ใดๆ ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับอริยทรัพย์ค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 9 ส.ค. 2555

ในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้หลายนัย เช่น

คฤหัสถ์ขยันหาโภคทรัพย์ ดีชั้น ๑

เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วแบ่งปันให้แก่ผู้มีศีล ดีชั้น ๒

เมื่อได้ประโยชน์ ไม่หลงระเริง ดีชั้น ๓

เมื่อเสื่อมจากประโยชน์ก็ไม่ทุกข์ใจ ดีชั้น ๔ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 9 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนา

สรุปตามความเข้าใจว่า เมื่อเราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้น ๔ ประการนี้ คือ

๑. เลี้ยงตน เลี้ยงบิดา มารดา เลี้ยงมิตร เป็นต้น

๒. ปกป้องรักษาทรัพย์ ทำตนให้สวัสดี

๓. ทำพลี ห้า คือ บำรุงญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญให้ผู้ตาย ช่วยประเทศชาติ ทำบุญอุทิศให้เทวดา

๔. บำเพ็ญทักษิณา ฝึกตนให้ระงับกิเลสโดยส่วนเดียว เกื้อกูลแก่สวรรค์

ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่าเราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้ว นอกนั้น ถือว่าไม่ได้ใช้ทรัพย์อันเกิดประโยชน์แท้จริง ผิดถูกประการใด ขอการชี้แนะด้วย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 9 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

จากที่ผู้ถามกล่าวมา อยู่ในปัตตกัมมสูตร ซึ่งแสดงหลักการใช้ทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ ไม่เปล่าประโยชน์ไป มี ๔ ประการ ซึ่ง ๓ ข้อ ผู้ถามกล่าวถูกต้องแล้ว ส่วนข้อ ๔ เพิ่มเติมตรงที่ว่า มุ่งหมายถึง ให้ทักษิณาทาน หรือให้ทานกับสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติห่างไกลจากกิเลส ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

การใช้ทรัพย์ ๔ ประการ [ปัตตกัมมสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 10 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 10 ส.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pat_jesty
วันที่ 10 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
rameveryone072
วันที่ 16 ธ.ค. 2563

ขออนุญาตครับ ผมมีคำถามเรื่องการมีทรัพย์ แต่ไม่ได้ใช้ทรัพย์มาถามครับ

ปีนี้มีปัญหาเรื่องเงิน คือได้เงินมาแต่ก็ไม่ได้ใช้เอง ต้องไปใช้หนี้แทนแม่บ้าง ฝากแฟนไว้แล้วแฟนก็เอาไปใช้บ้าง ลงทุนก็ไม่ได้กำไร แถมขาดทุน เลยอยากทราบว่าผมทำบุพกรรมใดมาจึงเกิดเหตุเช่นนี้ครับ แล้วต้องสร้างกุศลกรรมอย่างไรถึงจะได้ใช้ทรัพย์อย่างเต็มที่

ขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 17 ธ.ค. 2563

เรียนความเห็นที่ 11 ครับ

เรื่องกรรมเป็นเรื่องละเอียดอย่างมาก ผู้ที่จะรู้ว่าทำกรรมใด แบบไหน โดยละเอียด คือ พระพุทธเจ้า ส่วนการขาดทุน ก็ต้องเพราะอกุศลกรรม มี การลักทรัพย์ เป็นต้น ที่ให้ผลจากกรรมในอดีต คนจะได้ทรัพย์ก็เพราะกุศลกรรมประการต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะการให้ทานเท่านั้น แต่มีกาลเวลาให้ผลของกรรม ไม่ใช่ทำแล้วจะได้ ทำดีเพราะความดี ไม่ใช่หวังผล ได้ทรัพย์มากแล้วก็ตาย แต่ไม่ได้สะสมปัญญาก็เกิดมาด้วยความไม่รู้ และตายด้วยความไม่รู้ต่อไป ถ้าไม่ฟัง ศึกษาพระธรรม ก็ไม่พ้นจากทุกข์ จากการเสียทรัพย์ นับชาติไม่ถ้วน

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ