บัญญัติเป็นธรรมหรือเปล่าครับ

 
utis
วันที่  7 ส.ค. 2555
หมายเลข  21525
อ่าน  2,265

บัญญัติเป็นธรรมหรือเปล่าครับ ฟัง อ.บอกว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม บัญญัติไม่มีจริงอย่างนี้บัญญัติไม่ใช่ธรรมเนอะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อพูดถึงศัพท์คำว่า ธรรม นั้น ธรรม กินความหมายกว้าง คือ ทั้งสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน รวมทั้ง สภาพธรรมที่ไม่มีจริง คือบัญญัติธรรมด้วย ซึ่ง คำว่า ธรรม นั้น มีหลากหลายความหมายดังนี้

ในคำว่า ธมฺม นี้ ธัมมศัพท์นี้ ใช้กันในอรรถทั้งหลายมี ปริยัตติ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา บุญ อาบัติ เญยยะ และจตุสัจธรรม เป็นต้น.

ดังนั้น ธรรมจึงมีหลายความหมาย

๐๑. ธรรม หมายถึง ปริยัติ เช่น พระไตรปิฎก มี วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก ก็ชื่อว่า ธรรม

๐๒. ธรรม หมาย ถึงปัญญา

๐๓. ธรรม หมายถึง ปกติ เช่น มีความแก่เป็นปกติ เกิดเป็นปกติ ตายเป็นปกติ

๐๔. ธรรม หมายถึง สภาวะ คือ ลักษณะของสภาพธัมมะของสภาวธรรมต่างๆ เช่น สภาวธรรมของกุศล อกุศล กิริยา

๐๕. ธรรม หมายถึง จตุสัจธรรม คือ อริยสัจ ๔

๐๖. ธรรม หมายถึง บุญ หรือ กุศล

๐๗. ธรรม หมายถึง บัญญัติ เรื่องราว ก็ชื่อว่า ธรรม

๐๘. ธรรม หมายถึง อาบัติของพระ

๐๙. ธรรม หมายถึง ปัจจัยของสภาพธรรมต่างๆ ก็ชื่อว่า ธรรม

๑๐. ธรรม หมายถึง ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ชื่อว่า ธรรม เช่นกัน

รวมทั้ง ธรรม ยังหมายถึง สิ่งที่ไม่มีจริงที่เป็นบัญญัติด้วย ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 47

ธมฺมศัพท์ ในบทว่า ธมฺมฏฺฐิติญาณํ นี้ ย่อมปรากฏในอรรถว่า สภาวะ, ปัญญา, บุญ, บัญญัติ, อาบัติ, ปริยัติ, นิสสัตตตา, วิการ, คุณ, ปัจจัย, ปัจจยุปบัน เป็นต้น.

... ธมฺมศัพท์ ย่อมปรากฏในอรรถว่า บัญญัติ ได้ในคำเป็นต้นว่า บัญญัติธรรม, นิรุตติธรรม, อธิวจนธรรม ดังนี้.


ดังนั้น ที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวว่า ทุกสิ่งที่มีจริง มีลักษณะ เป็นธรรม มุ่งหมายถึงธรรมที่เป็น ปรมัตถธรรม ครับ ที่แสดงถึงลักษณะที่มีจริง ส่วน สภาพธรรมใดที่ไม่มีจริง ไม่มีลักษณะที่เป็นบัญญัติเรื่องราว ไม่เป็นธรรม โดยนัย ที่เป็นปรมัตถธรรม ครับ

ดังนั้น ก็จะต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่า ท่านอาจารย์มุ่งหมายถึง ความจริงของสภาพธรรมที่มีลักษณะ เพื่อกล่าวให้เข้าใจว่า มีแต่ธรรมที่มีจริง ที่เป็นสัจจธรรม ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ที่เป็นบัญญัติเรื่องราว เพื่อที่จะไถ่ถอนความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลด้วยความเห็นผิดนั่นเอง ครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่า ธรรมมีความหมายกว้างขวาง และเมื่อได้ยินการกล่าวคำว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ก็เข้าใจได้เลยว่า มุ่งหมายถึงปรมัตถธรรม ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
utis
วันที่ 7 ส.ค. 2555

แล้วบัญญัติที่ปรากฏต่อจิตในขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ปัญญาควรเข้าใจเช่นใด ในบัญญัตินั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 7 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

การอบรมเจริญปัญญา เมื่อสติปัฏฐานเกิด ย่อมรู้ตัวจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น มีแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อเป็นดังนี้ ปัญญาย่อมรู้ความต่างได้ว่า ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ คือมีเรื่องราวต่างๆ เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ ก็เป็นขณะหนึ่ง และ ขณะที่มีสภาพธรรมที่มีจริง ก็อีกขณะหนึ่ง

ปัญญาที่ละเอียดขึ้นย่อมเข้าใจถูกในขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ หรือ เรื่องราวเป็นอารมณ์ว่าเป็นแต่เพียงเรื่องราวที่ไม่มีจริง โดยนัย ปรมัตถธรรม เมื่อไม่มีจริง ก็ไม่ควรยึดถือ และ สำคัญว่า มีสัตว์ บุคคลจริงๆ เพราะเป็นแต่เพียงบัญญัติเรื่องราวที่อาศัย จิตที่คิดนึกเท่านั้นครับ เมื่อมีปัญญาที่พิจารณาโดยละเอียดอย่างนี้ ย่อมค่อยๆ ไถ่ถอนความยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคลได้ ทั้งขั้นคิดพิจารณาในขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และ อาศัยการเจริญสติปัฏฐาน ที่รู้ลักษณะสภาพที่มีจริงด้วย ซึ่งการจะคิดถูกตามที่กล่าวมา ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมจนมีปัญญามั่นคง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
utis
วันที่ 7 ส.ค. 2555

แล้วความรู้สึกว่ามีเราเป็นปรมัตถ์ใดครับ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ วันๆ ความรู้สึกว่ามีเราปรากฏบ่อยและถี่มาก ความรู้สึกว่ามีเราก็เป็นของจริงชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่เรา ปัญญาควรเข้าใจในความรู้สึกนี้ ว่าความจริงมันคืออะไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 7 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ความรู้สึกว่ามีเรา เช่น เป็นเรา หรือแม้แต่เป็นคนนั้นคนนี้ ขณะนั้น ก็คือ ขณะที่คิดเป็นเรื่องราว ว่ามีเราอยู่นั่นเอง เมื่อเป็นเรื่องราวที่คิดว่ามีเรา ก็เป็นบัญญัติ เป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ไม่มีลักษณะ แต่ เพราะอาศัย สภาพธรรมที่มีจริงที่คิด คือ จิต

เพราะฉะนั้น เมื่อปัญญาพิจารณาถูก ย่อมพิจารณาตามความเป็นจริง แม้ในขั้นการฟังและคิดว่า คิดมีจริง คือ สภาพธรรมที่คิด คือ จิตมีจริง ไม่ใช่เราที่คิด แต่ เรื่องที่คิด คือ เรื่องราวที่คิดว่ามีเรา มีคนนั้นคนนี้ ไม่มีจริง ครับ

ปัญญาจึงควรเข้าใจถูกว่า ความรู้สึกที่คิดว่ามีเรา ก็คือ เรื่องราวที่คิดว่ามีเรา เป็นแต่เพียงบัญญัติ ที่เป็นแต่เพียงเรื่องราว ไม่มีจริงโดยปรมัตถธรรม แต่ สิ่งที่มีจริง คือสภาพธรรม คือ คิดที่เป็นจิตคิด ครับ การคิดถูกเมื่อปัญญาเกิดเช่นนี้ ย่อมจะเป็นไปเพื่อไถ่ถอนความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตนครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 8 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 8 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 8 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 8 ส.ค. 2555

บัญญัติไม่มีสภาวะที่แท้จริงเหมือนสภาพธรรมอื่นๆ

บัญญัติเป็นเพียงชื่อหรือเรื่องราวของสภาพธรรม

บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ แต่บัญญัติเป็นธรรมารมณ์

คือเป็นอารมณ์ของจิตได้ ... แม้ไม่มีจริงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บัญญัติ ไม่มีสภาวะ บัญญัติเป็นเพียงเรื่อง หรือชื่อ ของปรมัตถธรรม

เพราะมีปรมัตถธรรม จึงมีชื่อ หรือมีคำบัญญัติ เพราะแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงๆ ที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งที่มีจริงนั้นไม่ได้ มีอยู่ ๔ อย่าง ที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม ๔ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ไม่ใช่บัญญัติ

บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม บัญญัติไม่มีลักษณะให้รู้ ไม่มีจริง เพราะไม่มีลักษณะ แต่เพราะมีปรมัตถธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นี้เองจึงมีบัญญัติธรรม ยกตัวอย่างเช่น เพราะมีขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย อันได้แก่นามธรรม (จิต และเจตสิก) และรูปธรรม จึงมีการบัญญัติเรียกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นคนดี เป็นคนไม่ดี เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็สืบเนื่องมาจาก มีสิ่งที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรม นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
rrebs10576
วันที่ 9 ส.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
munlita
วันที่ 10 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
peem
วันที่ 15 พ.ย. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ