เวทนา ใกล้ ไกล หมายถึงอย่างไร

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  8 ส.ค. 2555
หมายเลข  21529
อ่าน  2,036

* * * ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น * * *

กราบเท้าอาจารย์สุจินต์ และ อาจารย์ทุกท่านที่เคารพอย่างสูง

กราบเรียนถามเรื่อง

๑. เวทนา ใกล้ ไกล อะไรประมาณนี้นะครับ

๒. รูป หยาบ ปานกลาง ละเอียด ใกล้ ไกล อะไรประมาณนี้นะครับ

ตอนนี้ไม่กระจ่าง ไม่มั่นคงเลยครับ ขอรบกวนอาจารย์คลายความสงสัยให้ด้วยครับ

อนุโมทนากุศลทุกประการที่อาจารย์ และ เจ้าหน้าที่ มศพ. และ ทุกท่านได้เจริญแล้วด้วยนะครับ หลังๆ นี้ ผมฟังธรรมเยอะขึ้น ว่างเมื่อไรเป็นฟังครับ สติเกิดขึ้นมาก ตามคำอาจารย์สอนครับ นิดๆ หน่อยๆ เพิ่มขึ้น มากขึ้น ถึงจะไม่ถึงกับเห็นการเกิดดับ แต่ก็พอเทียบเคียงได้ว่า ใจสงบ สงบแบบกำลังสะสมการเห็นถูกอยู่กับการเห็นถูกบ้าง โดยอยู่กับสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏขณะนี้ เวลานี้ (อย่างนี้เป็นกุศลใช่ไหมครับ) แต่ถามอาจารย์คงไม่ได้ ต้องสะสมการฟังธรรมต่อไป แล้วจะเข้าใจไปเรื่องเอง

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่าน

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เวทนา ใกล้ ไกล อะไรประมาณนี้นะครับ

- สภาพธรรมที่มีจริงที่จริง ที่เป็นขันธ์ ๕ มีความแตกต่างกันของสภาพธรรม แม้จะเป็นสภาพธรรมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ซึ่ง ก็แบ่งสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ ทั้งที่เป็น ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด เลว ประณีต แม้แต่ความรู้สึกที่เป็นเวทนา ก็มีทั้ง ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป แม้จะเป็นเวทนาเจตสิกเหมือนกัน ซึ่ง ความไกล ใกล้ หมายถึง ใกล้ โดยเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ง่าย ส่วนไกล เพราะ มีความละเอียดลึกซึ้ง ชื่อว่ารู้ได้ยาก จึงชื่อว่าไกล

เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึกที่ใกล้ คือ ความรู้สึกที่รู้ได้ง่าย เพราะ เป็นความรู้สึกที่ปรากฏในชีวิตประจำวันที่ไม่ละเอียดมาก เช่น ความรู้สึกทุกข์ ทุกข์ทางกาย ก็ใกล้ เพราะ ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่ ความรู้สึก สุข ก็ละเอียดกว่า ความรู้สึกทุกข์

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกทุกข์กาย กับ สุขกาย ทุกข์กาย ก็ไกล และหยาบ กว่า เลวกว่าสุขกาย ใกล้กว่า ละเอียดกว่า ประณีตกว่า และหากเป็นความรู้สึกทางใจ ก็ละเอียดกว่า ความรู้สึกทางกาย ความรู้สึกทางใจ จึงไกลกว่า รู้ได้ยากกว่า ความรู้สึกทางกายที่หยาบกว่า และ ความรู้สึกทางใจ ที่กิดกับอกุศลจิต ก็หยาบกว่า เลวกว่า ไกลกว่าความรู้สึกที่เกิดกับกุศลจิต ที่เรียกว่า เนกขัมมะสุข ก็ละเอียดกว่า ประณีตกว่า ไกลกว่า เพราะรู้ได้ยากกว่า เพราะมีความละเอียด กว่าความรู้สึกทางใจที่เป็นอกุศลจิต มีความรู้สึกสุขใจที่เกิดกับความติดข้องที่เกิดกับโลภะ ครับ

ดังนั้น ไกล เพราะละเอียด รู้ได้ยากกว่า

ใกล้ เพราะหยาบ รู้ได้ง่ายกว่า ครับ

๒. รูป หยาบ ปานกลาง ละเอียด ใกล้ ไกล อะไรประมาณนี้นะครับ

- โดยนัยเดียวกันกับเวทนา แม้แต่รูป ก็มีความละเอียด ความหยาบ ไกล ใกล้ เลว ประณีต ของรูปที่แตกต่างกัน ครับ

ไกล เพราะ รูปนั้นละเอียด รู้ได้ยาก

ใกล้ เพราะ หยาบ รู้ได้ง่ายกว่า

ปรากฏในชีวิตประจำวัน สำหรับรูปธรรม ที่พอจะเข้าใจได้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นรูปใกล้ (ใกล้ต่อการพิจารณา) ซึ่งมีอยู่จริง ปรากฏให้พอจะรู้ได้

แต่รูปธรรม อีก ๕ รูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นรูปธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นรูปใกล้ ด้วย แม้จะมีจริง เกิดขึ้นเป็นไป แต่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ เมื่อไม่ปรากฏ สติและปัญญาก็ไม่สามารถระลึกรู้ได้เลย แต่เมื่อมีปัญญามากขึ้นๆ ก็สามารถรู้รูปที่รู้ได้ยากในชีวิตประจำวันได้ด้วย

ส่วนรูป ที่เรียกว่า รูปไกล นั้น ได้แก่ รูปที่ละเอียด ทั้งหมด ๑๖ รูป มีภาวรูป เป็นต้น เป็นรูปที่ไกลต่อการพิจารณา ยากที่จะรู้โดยความเป็นอารมณ์ของสติและปัญญาได้

ที่สำคัญ คือ ไม่ใช่การจะไปเลือกรู้สภาพธรรมใด ที่คิดว่าง่าย หรือ ยาก ด้วยตัวตนที่จะเลือก แต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาจะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเอง โดยไม่ใช่เราที่จะทำ เพราะ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ครับ

ขออนุโมทนาที่สนใจ ตั้งใจฟังพระธรรมอยู่ตลอดด้วย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wittawat
วันที่ 13 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบคุณ และ ขออนุโมทนา อ. Paderm นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 13 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 14 ส.ค. 2555

*

* * * ----- * * *

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

* * * ---------------- * * *

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ผเดิม

กราบขออนุโมทนากุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่อาจารย์ และ ทุกท่านได้เจริญแล้ว

ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแด่ท่านอาจารย์และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 14 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า เวทนา เป็นธรรมที่มีจริง เป็นความรู้สึกที่เกิดร่วมกับจิตทุกขณะทุกประเภท ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

เช่น สุขเวทนาเกิดกับ กายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ทุกขเวทนา เกิดร่วมกับ กายวิญญาณ อกุศลวิบาก โสมนัสเวทนา เกิดกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็ได้ เกิดร่วมกับกุศลจิต ก็ได้

ถ้าเป็นโทมนัสเวทนา ก็ต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย เท่านั้น เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่ความรู้สึก ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร มีจริง เกิดขึ้นจากสมุฏฐานของตนๆ รูปธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เป็นประจำ ที่สามารถรู้ได้ ก็ไม่พ้นไปจาก สี เสียง กลิ่น รส และสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริง ไปทีละเล็กทีละน้อย จะข้ามขั้นไม่ได้เลยทีเดียว

การที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ควรรู้ยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ สามารถศึกษาและรู้ตามความเป็นจริงได้ ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ

เวทนา ๓ - เวทนา ๕

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 21 ส.ค. 2555

*

* * * ----- * * *

ขอนอบน้อมแ่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

* * * ---------------- * * *

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ผเดิม อาจารย์คำปั่น

กราบขออนุโมทนากุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่อาจารย์ทั้งสอง และ ทุกท่านได้เจริญแล้ว

ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแด่ท่านอาจารย์ทั้งสอง และ ทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ