อันตรายิกธรรม

 
นิรมิต
วันที่  11 ส.ค. 2555
หมายเลข  21542
อ่าน  2,164

สวัสดีครับ เพิ่งได้สมัครเป็นสมาชิกบ้านธรรมะในวันนี้ รบกวนขอฝากเนื้อฝากตัวกับท่านทั้งหลายด้วยครับ

คือมีความสงสัยในเรื่องของอันตรายิกธรรม ๕ ข้อ อริยุปวาท กับ อาณาวีติกกมะ

๑. อริยุปวาทนี้ ด้วยเหตุเท่าใด จึงชื่อว่าอริยุปวาท คือ ต้องต่อว่าด้วยเหตุใด กล่าวร้ายอย่างไร จึงชื่อว่าอริยุปวาท แล้วถ้าว่าเราได้กระทำในใจ ไม่ได้ออกมาเป็นวาจา จะยังเป็นอริยุปวาทไหม

ในกรณีที่กระทำออกไปแล้วโดยมิทราบว่าท่านเป็นอริยบุคคลหรือไม่ เพราะดูจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ไม่น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปตามอัธยาศัยแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย จึงได้กล่าววาจาอันน่าจะเป็นอริยุปวาทออกไป อย่างเช่น ภิกษุนี้มีกริยาทรามดูแล้วไม่เป็นไปตามพระวินัย ไม่น่าเลื่อมใส สมควรจักลาสิกขาเสีย แล้วปรากฏว่าท่านเป็นอริยบุคคล อย่างนี้จะเป็นอริยุปวาทไหม

แล้วการกล่าวอริยุปวาทแก่ท่านที่ไม่มีโอกาสจักได้กระทำการขออดโทษ อย่างเช่นท่านพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายที่นิพพานแล้ว อย่างนี้จักเป็นอย่างไร

๒. อาณาวีติกกมะ ในข้อนี้ ด้วยเหตุเท่าใดชื่อว่าห้ามแค่นิพพาน ไม่ห้ามสวรรค์ ด้วยเหตุเท่าใดชื่อว่าห้ามทั้งสอง

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
นิรมิต
วันที่ 16 ส.ค. 2555

ขอสอบถามเพิ่มเติมครับ

บางครั้งบางคราว แม้เป็นพระโสดาบัน เพราะยังไม่ใช่พระอรหันต์ จิตของท่านก็ยังมีอกุศลอยู่ หากเราไปกล่าวติเตียนในอกุศลจิตของท่าน ก็เสมือนการไปลบล้างคุณความดีของท่าน

อย่างนี้จะเป็นอริยุปวาทไหม แต่ถ้าไม่ติเตียนเลย ก็ไม่ใช่การที่ควร ถ้าขณะนั้นพระโสดาบันกำลัง ... อย่างเช่น กำลังขุ่นเคืองใจ อะไรทำนองนี้

เราจะวางตัวอย่างไรในสังคมผู้ศึกษาธรรมให้ไม่มีอริยุปวาท เพราะเราก็ไม่ทราบได้ว่าท่านใดเป็นอริยบุคคลขั้นไหน เพราะภายนอกบางทีแต่ละท่านก็ทะเลาะกันในบอร์ดธรรมะต่างๆ ก็มี ถ้าจะสนทนากัน บางครั้งก็อดเป็นอกุศลไม่ได้แม้จะพยายามให้เป็นการสนทนากันด้วยกุศล

ขอรบกวนชี้แนะด้วยครับ _/_

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 ส.ค. 2555

อริยุปวาท คือ เจตนา ว่าร้ายพระอริยเจ้า ซึ่งมีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก รวมทั้งแม้พระอริยเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์ การมีเจตนาด้วยจิตที่เป็นอกุศล เจตนาว่าร้ายและทำการว่าร้าย ชื่อว่า อริยุปวาท ซึ่งการติเตียนว่าร้ายพระอริยเจ้า ก็ด้วยการกล่าวว่าร้ายในสิ่งที่ไม่จริง เป็นต้นว่า กล่าวว่าไม่มีคุณความดี ติโทษพระอริยเจ้าครับ

ซึ่งโทษก็คือห้าม สวรรค์และมรรคผล นิพพาน โทษหนักเท่าอนันตริยกรรม

ซึ่งในประเด็นที่ถามนั้น ถ้ามีเจตนาดี ที่ไม่ใช่เพื่อกล่าวว่าร้ายท่าน ลบล้างคุณความดี ก็ไม่เป็นไร ครับ แม้จะเกิดอกุศลจิตสลับบ้างก็ตาม แต่ถ้ามีเจตนาที่จะกล่าวตู่ ว่าท่านจริงๆ โดยกล่าวถึง คุณธรรมของท่าน หากท่านเป็นพระอริยบุคคล ก็เป็นอริยุปวาท ได้

ที่สำคัญ หากเรารู้ว่า ตนเอง เกิดอกุศลบ่อยๆ ในเรื่องวาจา ก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะสนทนา เพราะ อาจจะทำให้เผลอว่าไปได้ ครับ แต่ก็ขอขมา ได้ ครับ

๒. อาณาวีติกกมะ ในข้อนี้ ด้วยเหตุเท่าใดชื่อว่าห้ามแค่นิพพาน ไม่ห้ามสวรรค์ ด้วยเหตุเท่าใด ชื่อว่าห้ามทั้งสอง

- การต้องอาบัติ โดยไม่ได้ปลงอาบัติ โดยการแกล้งต้องอาบัติ ชื่อว่า อาณาวีติกกมะ ซึ่ง อาบัติทุกข้อ ไม่เว้นข้อใด หากไม่ได้ปลงอาบัติ แกล้งต้อง ก็ชื่อว่า ห้ามทั้งสองอย่าง ไม่เว้นข้อใด ข้อหนึ่ง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิรมิต
วันที่ 16 ส.ค. 2555

อนุโมทนาสาธุครับ อ.ผเดิม (เห็นท่านอื่นเรียกท่านอย่างนี้ ขออนุญาตเรียกด้วยนะครับ)

คือผมได้กระทำกรรมอย่างนี้ไปแล้ว ด้วยการกล่าวให้เสียซึ่งคุณของพระภิกษุบางรูป ที่คำสอนดูแล้วตัวเองคิดเองว่าผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงสอน และก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นพระอริยเจ้าหรือเปล่า บางครั้งก็ไม่ได้กล่าว แต่มีจิตยินดีที่มีคนไปว่าท่าน อะไรทำนองนี้ จะขอขมาอย่างไรดี เพราะบางท่านก็มรณะภาพแล้ว การขออดโทษตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในอรรถกถานั้น มีบอกหรือไม่ว่า หากขออดโทษด้วยการกล่าวขอขมาด้วยใจน้อมไปเพื่อขอขมาจริงๆ เฉยๆ แล้วระลึกถึงท่านผู้นั้นที่ได้กระทำกรรมนี้ไป จะถอดถอนอริยุปวาทได้ไหม ขอท่านผู้รู้ช่วยตอบแบบตรงๆ จริงๆ ไม่ต้องกลัวว่า ผมจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นกรรมหนักถึงขั้นห้ามสวรรค์นิพพานจริง ผมก็ยอมรับตามนั้น ขอแค่เป็นคำตอบจริงๆ ว่า ยังจะมีโอกาสรอดหรือเปล่าเท่านั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 16 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

อริยุปวาท สำคัญที่เจตนา ว่ามีเจตนาว่าร้ายที่เป็นผรุสวาจาหรือไม่ แม้การขอขมาก็เช่นกัน สำคัญที่เจตนา หากมีเจตนาขอขมา สำนึกผิด และกล่าวการขอขมา หากท่าน มรณภาพไปแล้ว ก็สามารถที่จะไปที่วัดที่มีการทำการเผาศพท่านก็ได้ หรือ นึกถึงท่าน และ ขอขมาก็ได้ เพราะ มีเจตนาที่จะสำนึกในสิ่งที่ทำไป และกล่าวขอขมาด้วยเจตนาการขอขมานี้ ก็เป็นการที่จะเห็นโทษ และ ไม่กั้นสวรรค์ มรรคผล ในชาตินั้น

สบายใจได้นะครับ

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 220

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นเอกจาริกภิกขุ (ภิกษุผู้จาริกไปผู้เดียว) สถานที่อยู่ของท่านไม่มีใครรู้ สถานที่ไปขอท่านเล่าก็ไม่ปรากฏไซร้ ก็พึงไปหาภิกษุที่เป็นบัณฑิตรูปหนึ่ง แล้วบอก (ปรึกษาท่าน) ว่า "ท่านขอรับ กระผมได้กล่าวถึงท่าน กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น วิปฏิสาร (เกิดมีแก่กระผมทุกทีที่ระลึกถึงท่าน กระผมทำอย่างไร (ดี) "

ภิกษุบัณฑิตนั้นจะกล่าวว่า "ท่านอย่าคิดไปเลย พระเถระจะย่อมอดโทษให้แก่ท่าน ท่านจงทำจิตให้ระงับเถิด"

ฝ่ายเธอก็พึงบ้างหน้าต่อทิศทางที่พระอริยะไป ประคองอัฐชลีกล่าว (ขึ้น) ว่า "ขมตุ"

- ขอพระเถระนั้นจงอดโทษเถิด"

ถ้าพระอริยะนั้นเป็นผู้ปรินิพพานเสียแล้ว เธอพึงไป (ให้) ถึงที่ที่นับว่าเป็นเตียงที่ท่านปรินิพพาน กระทั่งถึงป่าช้าผิดิบก็ดี ขอขมา (ท่าน) เถิด

เมื่อได้ทำ (การขอขมา) เสียได้อย่างนี้แล้ว กรรมนั้นก็ไม่เป็นสัคคาวรณ์ ไม่เป็นมัคคาวรณ์เลย (กลับ) เป็นปกติเท่านั้นเองแล


มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๒ - หน้าที่ 111

เหมือนอย่างว่า การขอขมาที่อริยุปวาทกบุคคลทำในป่าช้า ในเมื่อพระอริยะที่ตนด่าถึงมรณภาพแล้ว ย่อมห้ามอุปวาทันตรายได้ ฉันใด ผรุสวาจา แม้บุคคลประกอบในที่ลับหน้า ก็ย่อมเป็นผรุสวาจาได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 16 ส.ค. 2555

กราบขอบคุณและอนุโมทนา อ.ผเดิม ครับ ที่ให้ความกระจ่างกับผมในเรื่องนี้ ต่อจากนี้ไปก็จะระวังไม่ให้ล่วงได้อีกครับ ไม่ว่าท่านจะเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่ไ่ด้เป็น หากมีเหตุอันใดจำจะต้องกล่าวเพื่อติเตียนผู้ใด ก็ขอให้คำกล่าวนั้นพึงเป็นแต่กุศลเจตนาไม่เจือด้วยจิตปรามาสเถิด สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 16 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- เรื่องที่เกี่ยวกับคำพูด หรือ ความประพฤติเป็นไปทางวาจา นั้น บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็จะเห็นได้ว่า มีคำพูดหลายอย่างที่ควรเว้น ไม่ควรพูด แสดงให้เห็นว่าเพราะจิตใจไม่ดี ความประพฤติเป็นไปทางวาจา จึงไม่ดี ด้วย เป็นเรื่องของกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดคำพูดประการต่างๆ ขึ้น เป็นชีวิตจริง เป็นเรื่องของวจีทุจริตทั้งสิ้น ซึ่งควรละ ควรเว้น ไม่ควรสะสมให้มากขึ้น แต่สิ่งที่ควรสะสมให้มีขึ้น คือ กุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน นั่นเอง

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง เตือนให้เห็นอกุศลและโทษภัยของอกุศลประการต่างๆ ตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา ได้เข้าใจตามความเป็นจริงและจะได้ขัดเกลากิเลสของตนเองในชีวิตประจำวัน ต่อไป

- การต้องอาบัติของพระภิกษุ ถ้ายังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ย่อมเป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผล ไม่ใช่เพียงเท่านั้น อีกทั้งยังกั้นการไปสู่สุคติภูมิ ด้วย หมายความว่าถ้าหากมรณภาพลงในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ย่อมเป็นผู้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
กฤต
วันที่ 17 ส.ค. 2555

สาธุ ครับ สาธุ เจียมตัว เงียบ สงบ สำรวม เป็นดีที่สุดใช่ไหมครับ ส่วนใครจะเป็นอะไรทำดีทำชั่ว ก็เป็นเรื่องของคนนั้นๆ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ