ประมวลธรรม ... สนทนาธรรมพื้นฐานพระอภิธรรม ๒๗ พ.ค. ๒๕๕๕
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
ประมวลธรรม
จากการสนทนาพื้นฐานพระอภิธรรม
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕
☺ หน้าที่ของบัณฑิต คือการฝึกตน
☺ ธรรมละเอียดและลึกซึ้ง ไม่ควรประมาทโดยคิดว่าเข้าใจแล้ว
☺ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่เข้าใจเพียงชื่อ และเพียงคำพูดถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้
☺ ขณะนี้เอง แม้มีจิตก็ไม่รู้ว่า จิตขณะนี้เป็นอะไร
☺ จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เพราะมีจริงๆ ใครๆ ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ได้เลย
☺ สิ่งที่มีจริงนั้นจริงอย่างไร ก็มีจริงอย่างนั้น เดี๋ยวนี้กำลังมีสิ่งที่กำลังเป็นจริงอย่างนั้นทุกขณะ คือ เป็นธาตุที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่น เห็น ไม่มีใครต้องไปทำอะไรขึ้นมาเลย แต่ขณะนี้ก็เห็น แต่ว่ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก และรู้ความจริงของเห็นแค่ไหน
☺ ฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ก็เพื่อให้ถึงความเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ตามความเป็นจริง
☺ ถ้าไม่มีการฟังการไตร่ตรอง ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวันได้
☺
- บัณฑิต เป็นผู้ฉลาด รอบรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในสิ่งที่มีจริง
- บัณฑิต เป็นผู้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหลายเป็นธาตุ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
- บัณฑิต เป็นผู้ที่เข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
- บัณฑิต เป็นผู้มีปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริง ขณะนั้นเป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้น พร้อมกับความติดข้องหรือพร้อมกับความโกรธ ซึ่งเมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสะสมสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
- บัณฑิตเป็นผู้ที่รู้ว่าจิตที่มีในขณะนี้สามารถจะฝึกได้ คือเข้าใจถูกได้และสะสมความเข้าใจได้
- บัณฑิต เป็นผู้รู้ว่า มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็หมดไปไม่มีอะไรเหลือ
☺ แทนที่จะพูดเรื่องของคนอื่นมากมาย พูดแล้วพูดอีก บัณฑิตก็จะรู้ว่าขณะที่พูดนั้น จิตเป็นอย่างไร เป็นอะไร
☺ จะฝึกคนอื่น ฝึกได้ไหม จะสำเร็จไหม? ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ขณะที่คิดจะฝึกจิตของคนอื่น ฝึกจิตของตนเองหรือเปล่า
☺ ชนะผู้อื่น ขณะนั้นเป็นกิเลสอะไร ปัญญาเริ่มเข้าใจที่จะชนะกิเลสขณะนั้นหรือเปล่า เมื่อปัญญามีมากขึ้น กิเลสนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย
☺ จุดประสงค์ของการฟังเพื่ออะไร ไม่ใช่เพียงเพื่อรู้สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ แต่เพื่อรู้ว่า กิเลสมากๆ นี้อยู่ที่ไหน ขณะที่คิดว่าคนนั้นก็มีกิเลส คนนี้ก็มีกิเลส ขณะที่คิดถึงคนอื่นว่ามีกิเลส จิตของตนขณะนั้นมีกิเลสหรือเปล่า
☺ ถ้าเป็นผู้ที่รอบรู้และเข้าใจจริงๆ จะรู้ว่าจิตนี้ น่ารู้กว่าจิตอื่นหรือเปล่า แล้วก็รู้ได้ด้วย จิตอื่นไม่มีทางที่จะไปรู้ได้เลย
☺ เห็นคนอื่นเขามีโลภะมาก ติดในลาภ ในยศอะไรต่างๆ แล้วจิตของตนเองนี้ล่ะติดในอะไรหรือเปล่า จิตของตัวเองน่ารู้กว่า น่าแก้ไขกว่าหรือเปล่า
☺ เข้าใจจริงๆ ไหมว่าอยู่คนเดียวในโลก มีเห็นแล้วมีคิดนึกตามสิ่งที่ปรากฏ เป็นเรื่องราวมากมายใหญ่โต และคิดจะแก้ไขคนอื่น แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นมีคนอื่นจริงๆ หรือเปล่า หรือ กำลังมีจิตของตนเอง คิดเรื่องราวต่างๆ มีคนต่างๆ มากมาย
☺ จิตเป็นสิ่งที่มีจริง ควรรู้อย่างยิ่ง
☺ ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จิตก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย
☺ ขณะที่กำลังเห็น กำลังคิดนึกนี้ คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่จิตของตนเองเท่านั้นที่รู้
☺ โลภะไม่ดี ริษยาไม่ดี กิเลสต่างๆ ไม่ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมะแต่ละหนึ่งไม่ใช่ใครเลย ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ก็เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนกับใครทั้งสิ้น ขณะที่คนอื่นเขามีกิเลส กิเลสของเราอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า หรือยังไม่ปรากฏเพราะยังไม่เกิดขึ้นให้เห็น
☺ การฟังธรรม เพื่อให้เห็นโทษของกิเลสที่มีในตน เพราะโดยมากจะคิดถึงแต่กิเลสของคนอื่น
☺ ไม่มีทางและไม่มีใคร ที่สามารถจะเอากิเลส ออกไปได้ ด้วยความเป็นตัวตน นอกจากปัญญาที่เริ่มเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้ง
☺ ปัญญาที่เริ่มเข้าใจธรรมที่ลึกซึ้งเป็นอย่างไร? มีความเข้าใจ เข้าไปถึงใจด้วยความมั่นคงว่า ไม่มีใคร มีแต่จิต เจตสิกและรูปเพราะมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เห็นตามความเป็นจริงของธรรม และปัญญาจะเป็นผู้เลือกสรร และวิจัยว่าธรรมอะไรไม่ดีกำลังเกิดขึ้น และสามารถที่จะรู้ว่าหนทางที่จะไม่มีกิเลสได้คืออย่างไรโดยไม่ใช่ด้วยความหวังและความต้องการ
☺ ทำไมจึงกล่าวว่า อยู่คนเดียวในโลก ขณะที่กำลังหลับสนิท ไม่ใช่ไม่มีเฉพาะคนอื่น แม้สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นเราก็ไม่มีเลยแล้วก็ต้องตื่นขึ้นเป็นไป ไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาให้จิตนี้เที่ยง จิตประเภทนั้นเกิด จิตประเภทนี้ไม่เกิด
ตื่นคือ ก่อนนั้นไม่เห็น แล้วเห็นสิ่งที่ปรากฏ ก่อนนั้นไม่ได้ยิน แล้วได้ยินเสียง ทั้งเห็น ทั้งได้ยินก็ดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาและเสียงก็ดับ แล้วมีหลายๆ คนหรือเปล่า ถ้าเห็นหลายคน แสดงว่าความไม่รู้มีมากแค่ไหน
☺ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าเป็นอวิชชา เคยไม่รู้มานานแสนนาน หลายแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ถ้ายังไม่รู้เหมือนอย่างนี้ ก็ต้องอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน สุขทุกข์ไปตามเรื่องราวด้วยความไม่รู้
☺ การฟังธรรมะ ก็เพื่อรู้ความจริง แล้วปัญญาจะทำหน้าที่ รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
☺ เห็นก็เห็นคนเดียว ได้ยินก็ได้ยินคนเดียว แม้แต่คิดก็คิดคนเดียว ธรรมที่เกิดขึ้นทีละหนึ่ง ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ จะเกลียดคนอื่นไหม จะโกรธคนอื่นไหม หรือจะเมตตาและให้อภัย เพราะมีปัญญาที่จะเห็นโทษว่า ขณะใดที่โกรธเกลียดคนอื่น ก็สะสมสิ่งที่ไม่ดีและยังเพิ่มขึ้นตามความไม่รู้ ซึ่งจะตามไปแม้เป็นคนอื่นแล้ว
☺ รู้ความจริง และเข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา ไม่มีตนที่เที่ยง ถ้าเข้าใจถูก รักตนที่เกิดดับมากแค่ไหน ผิดหรือถูก ที่ไปรักสิ่งที่เกิดดับ แล้วก็ไปยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็ไม่มีแล้ว ไม่เหลือเลย แล้วก็ไม่กลับมาอีกด้วย เพียงแค่เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็หมดไป
☺ ทุกสิ่งต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็มีสิ่งที่กระทบตา ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานที่จำได้ ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ แค่เดินมาไม่ต้องเรียกชื่อก็รู้ว่าเป็นใคร เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ จะต้องติดข้องกับสิ่งที่เกิดแล้วดับหรือ? นี่ฝึกหรือเปล่า ฝึกที่จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เพราะรู้ความจริง
☺ ถ้าศึกษาพระสูตรไม่ดี จะมีความเห็นผิด เพราะเป็นเราทั้งหมดเลย ได้ยินคำว่าเพียรก็เพียรแล้วด้วยความเป็นเรา ไม่ได้เข้าใจถูกต้องว่าเพียรคืออะไร เกิดขึ้นเพราะเหตุไร เพียรเกิดขึ้นแล้วดับไป
☺ พระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรม ก็คือสิ่งที่มีจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงโดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง ซึ่งคนอื่นไม่ต้องไปคิดอะไรอีก เพียงแค่ฟัง แล้วค่อยๆ ไตร่ตรองให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะทำให้คลายความไม่รู้และคลายความเห็นผิด
☺ โกรธไม่ดี แต่ก็ยังโกรธอยู่ เพราะรักตัวเอง ต้องการสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เพราะมีตนอันเป็นที่รัก ซึ่งความเป็นจริง ตนก็ไม่มี มีแต่สิ่งที่มีจริงๆ (ปรมัตถธรรม) ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแต่ละหนึ่ง คือมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา แล้วก็มีจิต เจตสิก กำลังคิดนึก กำลังพูด แต่ละหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น
☺ หนทางที่จะฝึกจิต ก็คือ การเข้าใจความจริงว่าเป็นสภาพธรรม ถ้าไม่ข้าใจ อะไรจะฝึก ความไม่รู้ฝึกไม่ได้ ยิ่งไม่รู้เข้าไปใหญ่
☺ ถ้าไม่เคยฟังธรรมเลย ก็จะพูดคำที่ไม่รู้จักทั้งนั้น เช่นคำว่า จิต, ฝึก เพราะฉะนั้น ควรศึกษาทีละคำ เพื่อจะได้เข้าใจความจริง มิฉะนั้น ก็จะไขว้เขวคลาดเคลื่อน เพราะเติมความคิดของตัวเองเข้าไปวิจัย วิจารณ์ด้วย
☺ ที่พึ่งจริงๆ คือ ความรู้ตั้งแต่ต้น ว่าความจริงนั้นคืออะไร ทีละอย่างๆ เช่น จิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของจิต ถ้าไม่เข้าใจจิตเลย จะฝึกจิตได้ไหม ความเข้าใจถูกต้องจึงจะเป็นที่พึ่งได้
☺ จิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ให้เริ่มเข้าใจว่า ขณะนี้มีธาตุรู้ มีสภาพรู้ จิตมีหลากหลายประเภท
จิตที่ไม่ดี เมื่อมีปัจจัยเกิดแล้วเป็นอกุศล แต่ไม่รู้ว่าเป็นจิต
จิตที่ดี เมื่อมีปัจจัยเกิดแล้วเป็นกุศล แต่ไม่รู้ว่าเป็นจิต
☺ เมื่อฟังธรรม ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้เกิดความเห็นถูก จากการได้ยิน ได้ฟัง เริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริงทีละอย่างๆ ไม่มีใครสามารถจะไปบังคับบัญชาได้ จะไปบังคับให้เข้าใจหรือให้ปัญญาเกิดขึ้นก็ไม่ได้ แต่เมื่อมีปัจจัยแล้ว จึงเกิดขึ้นได้
☺ อะไรเป็นเสบียงที่แท้จริงในการเดินทางในสังสารวัฏฏ์
เสบียง หมายถึง สิ่งที่เป็นเครื่องเกื้อกูลในหนทาง ได้แก่ สิ่งที่จำเป็นในการเดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง เช่น ข้าว ปลา อาหารต่างๆ เสบียงที่ใช้เดินทาง ภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง คือ กุศลธรรมหรือธรรมฝ่ายดีซึ่งจะให้ผลเป็นกุศลวิบากในภพต่อๆ ไป จึงเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง
☺ ถ้าสะสมกุศลมามาก ก็เดือดร้อนน้อย ถ้าสะสมกุศลมาน้อย ก็เดือดร้อนมาก เพราะมีอกุศลวิบากมาก แต่ทั้งหมดเป็นธรรม นี่คือความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากมีศรัทธาที่จะมาฟัง มีการเจริญกุศลขั้นทาน ศีล และฟังจนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นธรรมทั้งหมด ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนถึงขณะจุติของพระอรหันต์เกิดขึ้น ก็หยุดเดินทางไกลในสังสารวัฏฏ์
☺ สังสารวัฏฏ์ (มาจากคำว่า สังสาระ คือ การท่องเที่ยว วัฏฏะ คือ การวนเวียน) หมายความถึง มีธรรม (จิต, เจตสิก และรูป) เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย หมายความถึง ลำดับแห่งการเกิดดับสืบต่อกันของขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นไป อย่างไม่ขาดสาย ขณะนี้เป็นแต่ละขณะของสังสารวัฏฏ์
☺ ขณะนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ และมีโอกาสได้ฟังธรรม เพราะอะไร เพราะความดีที่ได้สะสมมาแล้วในกาลก่อน (กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา) จึงทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีศรัทธาและเห็นประโยชน์ที่จะศึกษาพระธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน และความดีเหล่านี้ก็จะเป็นที่พึ่งเป็นเสบียงในการเดินทางไกลในสังสารวัฏฏ์
☺ แข็งที่ปรากฏทางกาย ก็เป็นหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ถ้ายังไม่มีแข็ง และรู้แข็ง สังสารวัฏฏ์ จะอยู่ที่ไหน เพราะเป็นการเกิดดับสืบต่อ จะขาดสักหนึ่งขณะก็ไม่ได้ สืบต่ออย่างรวดเร็วจนกระทั่งไม่ปรากฏการเกิดดับ
☺ ขณะที่เข้าใจผ่องใส จิตไม่เศร้าหมองด้วยความไม่รู้ ศรัทธา เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท และมีระดับต่างๆ กัน ศรัทธาของปุถุชน กัลยาณปุถุชน และพระอริยบุคคล ก็ต่างกัน ขณะที่มีความเห็นผิด ไม่ผ่องใส จึงไม่มีศรัทธา
- ขณะที่มีธรรมฝ่ายดีเกิดด้วย ขณะนั้นมีสภาพที่ผ่องใส ปราศจากอกุศล จึงมีศรัทธา
- ขณะที่ให้ทานหรือมีกายสุจริต วาจาสุจริต หรือมโนสุจริต ขณะนั้นมีลักษณะที่ผ่องใส จึงมีศรัทธา
☺ ขณะที่เข้าใจพระธรรมแต่ละอย่าง ก็คือ ให้เข้าใจขึ้นๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ใช่ว่าเข้าใจทั้งหมดทีเดียว
☺ ขณะที่ไม่เข้าใจ ก็คือ ไม่เข้าใจ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
☺ ขณะนี้ กำลังเดินทางไปไหน? ขณะที่อกุศลจิตเกิด เดินทางไปอบายภูมิ ขณะที่กุศลจิตเกิด เดินทางไปสุคติภูมิ ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลือกเดินไปทางไหนได้หรือไม่
ไม่มีเรา แต่ขณะนั้นเป็นปัญญา เข้าใจถูก เห็นถูก ก็ไปถูก
☺ เพราะมีทุกข์มาก แล้วจะหยุดการเดินทางได้อย่างไร? เพราะไม่รู้ จึงมีเยื่อใย จึงมีเรา มีกิเลสทุกอย่างตามมา ยับยั้งไม่ได้ ส่วนใหญ่คิดจะห้ามกิเลส ลืมสิ่งที่ได้ฟังมาหมดว่า สิ่งที่มีจริง เกิดแล้วปรากฏแล้ว เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่คือ ความเห็นถูก ซึ่งจะละคลายการยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นเรา เพราะความจริงก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดแล้วดับ ต้องเริ่มจากการค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ ความคิดที่จะไปยับยั้งไม่ให้มีอกุศลเกิด กิเลสเกิด ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
☺ ปัญญาที่เห็นถูก ตามความเป็นจริง จนเป็นพระโสดาบัน จะเหลือเพียง ๗ ชาติ เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมดไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดได้อีกเลย
☺ มีการเข้าใจผิดกันว่า ไม่ต้องสนใจอะไร นอกจากการอบรมเจริญปัญญา กุศลอย่างอื่นไม่ต้องเจริญ เข้าใจผิดได้ เพราะยังมีความไม่รู้อยู่ ต้องเป็นผู้ละเอียด และเห็นว่าปัญญา ไม่เคยชวนใครไม่ให้ทำกุศล กุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็ควรเจริญ, อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็ควรละ ควรขัดเกลา
☺ สีลัพพตปรามาสที่ละเอียด คือ แม้การเข้าใจธรรมผิด คลาดเคลื่อน ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิด มัดไว้ คล้องไว้ไม่ให้ไปสู่ความเห็นที่ถูก อย่างเช่น ฟังธรรม ต้องใส่สีขาว นี่แหละ คือ สีลัพพตปรามาส ถ้ายึดมั่นก็เป็นสีลัพพตุปาทาน
☺ ธรรมเป็นเรื่องปกติ ในสมัยพุทธกาล บุคคลที่ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปทั้งที่เป็นปกติ ไม่ต้องไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นสีขาวทั้งสิ้น
☺ ความจงใจที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘
☺ ความเห็นถูกเท่านั้นที่จะค่อยๆ ละความเห็นผิด การปฏิบัติผิด จนผู้นั้นสามารถที่จะรู้ได้ว่า ปัญญาจริงๆ ก็คือ เข้าใจในความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ และสามารถที่จะละคลายความติดข้องด้วย และที่สำคัญหนทางนี้เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การไม่ต้องเกิดอีก ซึ่งไม่ใช่การทำ แต่เป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
☺ หนทางนี้มีจริงๆ แต่เห็นยาก และ ลึกซึ้ง ปกติธรรมดาอย่างนี้ กำลังเข้าใจธรรม สัมมาทิฏฐิเกิด นั่นเป็นหนทางแล้ว และเป็นหนทางที่ถูกต้องด้วย
☺ แม้แต่ฟังพระธรรมแล้ว มีวิตกคือตรึกถึงสิ่งที่ปรากฏด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ก็เพราะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นหนทาง แต่ยังไม่ถึงการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนสมบูรณ์
☺ ถ้าไม่มีปัญญา ก็นั่งจ้องไป จงใจไป เพราะไม่เข้าใจ
☺ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีปัญญาที่เกิดขึ้นมีกำลังโดยไม่มีการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย
☺ ต้องอาศัยความเข้าใจที่มั่นคง สัญญาความจำที่มั่นคง ไม่ใช่ไปจำเรื่องอื่น แต่จำในความเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะปัจจัย เมื่อใดที่มั่นคง เมื่อนั้นก็ไม่มีการที่จะไปจดจ้อง
☺ สะสมความไม่รู้มามาก แต่ว่าขณะที่ฟังพระธรรม ก็เริ่มเข้าใจเริ่มสะสมความรู้ความเข้าใจในขณะที่ฟังพระธรรม ความเข้าใจเป็นสังขารธรรม เกิดแล้วก็ดับไป แต่ก็ยังสะสมสืบต่อที่จิต มีปัจจัยให้ฟังพระธรรม เริ่มเข้าใจอีก หรือแม้ในขณะที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ได้คิดถึงพิจารณาไตร่ตรองในพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง
☺ ขณะที่คิด ก็เป็นนามธรรม ที่เกิดขึ้นคิด สามารถที่จะรู้ได้หรือไม่ว่าขณะที่คิดถึงสิ่งที่ดับไปแล้ว ก็เป็นธรรม อย่าง เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เมื่อความรู้ความเข้าใจยังไม่เกิด ก็ต้องสะสมความเข้าใจในขั้นการฟังต่อไป
☺ อกุศล เป็นขยะ เป็นสิ่งที่เน่าเหม็น แต่ละคนมีมากมีน้อยแค่ไหน เพียงได้ยินคำนี้ คือ คำว่า อกุศล เป็นขยะ เป็นสิ่งที่เน่าเหม็น ก็สามารถเข้าใจจิตของตนด้วยความตรง เพราะขณะใดก็ตามที่ไม่เข้าใจความจริง ขณะนั้นก็เป็นอกุศล และอกุศลก็จะมีตั้งแต่การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แล้วก็ยังมีความติดข้อง ความโกรธ ความพยาบาท โกรธคนนั้น ไม่ชอบคนนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ จะไม่เน่าเหม็นได้อย่างไร
☺ จิตเน่าเหม็นด้วยอกุศลต่างๆ มากมาย ถ้าไม่มีพระธรรมเป็นเครื่องเยียวยารักษา ก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ
☺ การที่จะระบายน้ำเสีย คือ กิเลสอกุศล ออกไปจากจิต ได้ ก็ด้วยการเพิ่มน้ำใส คือกุศล และ อบรมเจริญปัญญา
☺ ถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ไม่สามารถที่จะเห็นกิเลสของตนเองตามความเป็นจริง เมื่อไม่เห็น ก็ไม่มีทางที่จะขัดเกลา ละคลายได้เลย
☺ พระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อสัตว์โลก ด้วยการทรงแสดงพระธรรม ทรงพร่ำสอนอยู่บ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาเป็นสำคัญ
จากบุคคลที่เต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยความติดข้อง เต็มไปด้วยความโกรธ เต็มไปด้วยความไม่รู้ ก็สามารถขัดเกลาละคลายจนกระทั่งสามารถดับจนหมดสิ้นได้.
ขอเชิญคลิกอ่านประมวลธรรม ย้อนหลังได้ที่นี่
ประมวลธรรม ... สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ๙ พ.ค. ๒๕๕๕
...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน...