ภพ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า ภพ มาจากภาษาบาลี ว่า ภว (ว่าโดยศัพท์แล้ว มีหลายความหมาย หมายถึง ความมีความเป็น, ความเจริญ, ความเกิดขึ้นเป็นไป)
ภพ หมายถึง สถานที่เกิดของหมู่สัตว์ มี ๓๑ ภพภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น รูปพรหมภูมิ ๑๖ อรูปพรหมภูมิ ๔ หรือหมายถึงความบังเกิดขึ้นเป็นบุคคลต่างๆ และ ในบางแห่งเช่น
ภพ ในปฏิจจสมุปบาท ภพมี ๒ ความหมายคือ
กรรมภพ หมายถึง เจตนาเจตสิก (อกุศลเจตนา โลกียกุศลเจตนา) และ
อุปปัตติภพ หมายถึง ผลของเจตนา (โลกียวิบาก รวมทั้งเจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป) ด้วย
ในอรรถกถา โลกสูตร แสดงไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นภพใดๆ ก็ตาม ไม่พ้นไปจาก ขันธ์ คือ ความเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป.
ข้อที่ควรจะได้พิจารณา คือ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ยากมาก (ซึ่งมนุษย์ ก็เป็นหนึ่งในภพที่เป็นสุคติภูมิ เป็นผลของกุศลกรรม) เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็ยังแตกต่างกันตามการสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้นนั้น มีน้อยมาก การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปตามลำดับ ย่อมเป็นชีวิตที่คุ้มค่า คุ้มค่าแล้วกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้ฟังพระธรรมซึ่งหาฟังได้ยากเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ยังจะต้องฟัง ต้องศึกษาต่อไป อบรมเจริญปัญญาต่อไป ซึ่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ไม่มีการเกิดอีกเลยได้ในที่สุด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ภพ ตามที่อรรถกถาอธิบายไว้ คือ เพราะ มี เพราะ เป็น จึงชื่อว่าภพ ดังนั้น ภพ คือ การเกิด การเป็นไป และการมี การเป็น ซึ่ง ก็ต้องพิจารณาครับว่า เป็นการเกิด การเป็นไปของอะไร และ อะไรที่มี ที่เป็น
ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่มีจริง คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน และ การที่ มีสัตว์ บุคคล มี สวรรค์ นรก มีสิ่งต่างๆ เพราะ อาศัยการเกิดเป็นไปของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น มี ปรมัตเกิดขึ้น จึงมีบัญญัติเรื่องราว
ดังนั้น คำว่า ภพ จึงหมายถึง ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ทั้งที่เป็น จิต เจตสิกและรูปด้วย อย่างเช่น ภพ คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตที่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าภพ และ แม้ที่อยู่ของสัตว์โลก ที่เป็นรูปธรรม ก็ชื่อว่า ภพ เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม
ซึ่ง ภพ ยังแบ่งเป็นอีกหลายนัยดังนี้ ครับ
๑. สัมปัตติภพ
๒. สมบัติสมภพ
๓. วิปัตติภพ
๔. วิปัตติสมภพ
สัมปปัติภพ คือ สุคติโลกสวรรค์
สมบัติสมภพ หมายถึง กรรมดีที่เป็นกุศลกรรม ที่ทำให้เกิดในสุคติ
วิปัตติภพ คือ อบายภูมิ มี นรก เป็นต้น
วิปัตติสมภพ คือ อกุศลกรรมที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ
จากที่กล่าว จะเห็นได้ครับว่า ภพ แสดงถึง ความมี ความเป็น ของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น โดยมากเราจะคิดถึงภพ ที่หมายถึงภพนี้ คือ ที่อยู่ของหมู่สัตว์เท่านั้น ภพหน้า ก็เป็นเทวโลก นรก เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง กุศลกรรมที่กำลังทำอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นภพแล้ว ที่จะทำให้เกิดในภพภูมิที่เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ที่ดี และ การทำชั่ว อกุศลกรรม ก็เป็นภพในขณะนั้น ที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ เป็นภพหน้าที่ไม่ดีได้
แต่เมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว การเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็เป็นการแสดงถึงความมี ความเป็น ของใคร ไม่ใช่ของสัตว์ บุคคล แต่เป็นการแสดงถึงความมี ความเป็นของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา อยู่แต่ละขณะจิต
ดังนั้น ผู้ที่จะไม่มีภพเลยจริงๆ แม้ในภพนี้ คือ สภาพธรรมในขณะนี้ คือ พระอรหันต์ผู้ที่ปรินิพพาน ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม อันแสดงว่ายังมี ยังเป็น ยังมีภพอยู่ ครับ
เพราะฉะนั้น กำลังมีภพกันอยู่ และตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังจะต้องมีภพหน้า ที่หมายถึง ขณะจิตต่อๆ ไป ไม่ใช่เพียงความหมายที่ยาวไกลที่เป็นภพหน้า มี นรก สวรรค์เท่านั้น ขณะจิตที่เกิดต่อๆ ไป ก็เป็นภพหน้าอยู่
ดังนั้น การจะดับภพ ดับการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นไป ก็ด้วยการดับเหตุ คือ กิเลสที่เป็นต้นเหตุให้มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม มีภพไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมค่อยๆ ละกิเลสไปตามลำดับ จนถึงการไม่มีภพในที่สุด
เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเรื่องภพแล้ว จึงย้อนกลับมาที่ตนเองว่า ตนเอง เป็นผู้ประกอบ สมบัติสมภพ คือ กรรมดีที่เป็นให้เกิดสุคติ หรือว่า ประกอบ วิปัตติสมภพ ที่เป็นกรรมชั่ว ที่ทำให้เกิดในอบาย เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว จึงอบรมเหตุที่จะทำให้ สมบัติสมภพ กุศลกรรมเจริญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ
มีโอกาสอ่านเรื่องเกี่ยวกับปฏิจจสมุปาท กล่าวไว้ว่า อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ แต่ดิฉันไม่เข้าใจว่า ภพ คืออะไร ใจไปนึกถึงแต่คำว่า ภพภูมิ หรือที่เกิดของสัตว์โลก จะค่อยๆ ทำความเข้าใจค่ะ
ขอบพระคุณความเห็นที่ 1 และ 2 และขออนุโมทนาค่ะ
เรียนความเห็นที่ 6 ครับ
อุปปัติภพ คือ ความเกิดขึ้นของจิต เจตสิก และรูปที่เป็นผลของกรรม มีโลกียวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และ กัมมัชรูป
ยกตัวอย่าง เช่น ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพภูมิที่เป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิต ที่เกิดขึ้น พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย รวมทั้ง รูป ที่เกิดจากกรรม มี หทยรูป เป็นต้น จิต เจตสิก รูปเหล่านี้ที่เกิดจากกรรม เป็นปัจจัยเรียกว่า อุปปัตติภพ ครับ
เรียนถาม
อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด การกระทำที่เป็นกุศล หรืออกุศล สิ่งนั้นเป็นผลที่เกิดจากการยึดถือ การเกาะเกี่ยวเอาไว้ และเมื่อมีการกระทำที่เป็นกุศล หรืออกุศล จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการรับวิบาก คือ การเกิดมารับกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ
อุปปัตติภพ อ่านแล้ว ก็เหมือนกับการเกิด เหมือนคำว่า ชาติ ดูซ้ำซ้อนกัน
เรียนความเห็นที่ 8 ครับ
อุปปัตติภพ หมายถึง การเกิด แต่ เป็นการเกิดของ จิต เจตสิก รูปที่เป็นผลของกรรม ครับ
เรียนถาม
จากความเห็นที่ 9
อุปปัตติภพ คือ การเกิดของ จิต เจตสิก และรูปที่เป็นผลของกรรม เมื่อเป็นเช่นนั้น คำว่า ชาติ คือ วิบากจิต หรืออย่างไรคะ
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ 10 ครับ
ชาติในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ชาติไทย ชาติจีน แต่หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ที่เป็นการเกิด ดังนั้น ชาติในที่นี้ มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้น อันเป็นการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ที่เป็น รูปขันธ์ และนามขันธ์ รูป มุ่งหมายถึง รูปที่เป็นกัมมชรูป ขณะที่เกิดขึ้น
ส่วนนามขันธ์ ที่เป็นชาติ คือการเกิดขึ้น ของนาม หมายถึง วิบากจิต และเจตสิก ซึ่ง ภพที่เป็น คือ กัมมภพ ที่เป็นกุศลกรรม และ อกุศลกรรม เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือ วิบากจิต เจตสิก ที่เป็นนามขันธ์ ในขณะนั้น และรูปที่เป็น กัมมชรูป จึงชื่อว่า ชาติในขณะนั้น ครับ
สรุปได้ว่า ชาติในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ ที่เป็น นามธรรม คือ วิบากจิตและเจตสิก