ถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในงานบาป จะทำอย่างไรดีครับ?

 
ชะอมทอดกรอบ
วันที่  16 ส.ค. 2555
หมายเลข  21572
อ่าน  2,017

ผมเป็นนักศึกษาครับ ทางสาขามีจัดงานกินหมูกระทะ ทุกคนต้องจ่ายค่างานคนละ ๑,๐๐๐ บาท กับใครหลายๆ คนอาจจะน้อยนิดนะครับ
แต่เงินส่วนนี้ผมนำไปซื้อของมาทำกับข้าวกินได้เป็นเดือนๆ (เป็นเด็ก ม. ที่ทำกับข้าวกินเองครับ ประหยัด)
แถมที่บ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร จะจ่ายเงินเป็นพันไปอย่างฟุ่มเฟือย
ปัญหามันคือ ทุกคนต้องจ่ายสิครับ ใครไม่จ่ายจะโดนอคติจากเพื่อน
เผลอๆ เพื่อนมองว่าเห็นแก่ตัวด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าผมไม่เห็นแก่ตัวครับ
ด้วยเหตุผลดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เหตุผลที่

๑) วันหยุดเข้าพรรษา อาสาฬหบูชา ที่ผ่านมาบังเอิญสังเกตเห็นว่า ร้านหมูกระทะทุกร้านแถวมหาวิทยาลัยปิด ถ้าเป็นร้านเหล้าจะไม่แปลกใจเลย แต่นี่ร้านหมูกระทะ ความข้องใจมากระจ่าง เมื่อพี่ที่รู้จักบอกว่า คงสืบเนื่องมาจาก "โรงฆ่าสัตว์" ปิด ตาสว่างทันใดครับ
ที่เรากินกันอย่างสนุกสนานเฮฮา กินกันจนยัดแทบไม่ลง "ความสุขนี้เราได้มันมาจากโรงฆ่าสัตว์"
นับแต่วันนั้นมา ตั้งใจบอกกับตัวเองเลยครับ ว่าชีวิตที่เหลือต่อไปนี้ จะกินเพื่ออยู่ จะระลึกถึงสรรพชีวิตที่เสียไปเพื่อให้เราดำรงอยู่ จะพยายามกินด้วยสติ ไม่กินด้วยตัณหาอีกเด็ดขาด
หมูกระทะเป็นอะไรที่เฟ้อ และเกินไปซะแล้วสำหรับชีวิต
เราเอาชีวิตของผู้อื่นมาสนองตัณหาตลอดเลยเหรอเนี่ย .

... เหตุผลที่ ๒) ผมมองว่าการจัดงานแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นครับ
เป็นไปเพื่อความสะสมกิเลสซะมากกว่า หากจะทำกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธ์ ยังมีกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมอีกเยอะแยะมากมายครับ แต่พูดไปก็ไม่มีใครฟัง รู้สึกเสียดายเงินที่ลงไปกับงานพวกนี้มากๆ ครับ เป็นทุกสาขา เป็นทุกคณะ (เท่าที่ชีวิตนิสิตผมได้พานพบมา) อย่างงานโต๊ะจีนของเอก หมดเงินทั้งสิ้นค่อนแสน คิดดูสิครับ เงินจำนวนนี้นำไปเลี้ยงข้าวกลางวันเด็กได้กี่คน สังฆทานกี่ชุด ทำอะไรดีๆ ได้อีกตั้งมากมาย แต่นักศึกษาผู้ได้ชื่อว่ามีการศึกษา (แต่ไม่มีปัญญา) เขาไม่ทำกัน เขาชอบงานกินเลี้ยง งานดนตรีอะไรนั่น

ตอนผมปี ๑ เคยถูกบังคับซื้อเหล้าให้รุ่นพี่ขวดละแปดร้อยเลยครับ เจริญไหมล่ะ ไม่ทำก็อยู่ในสังคมยากอีก เพื่อนๆ คงมองว่าเห็นแก่ตัว

เหตุผลที่ ๓) เงินหนึ่งพันบาทไม่ใช่น้อยๆ เลยสำหรับผม ทุกวันนี้จะซื้อขนมกันซักทียังคิดแล้วคิดอีก เพราะผมมองว่าการกินขนมเป็นการกินเพราะตามใจกิเลส มากกว่าการกินเพื่อดำรงอยู่ และเงินหนึ่งพันนี้ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผมซื้อของมาทำกับข้าวได้เป็นเดือนๆ (มากกว่าหนึ่งเดือนแน่นอน) เรื่องเสียดายเงินไม่เท่าเสียความรู้สึกหรอกครับ ถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในงานที่มันขัดกับหลักดำเนินชีวิตแบบนี้ ผมควรจะทำเช่นไรดีครับ จะยืนกรานด้วยหลักเดิม ไม่จ่าย ไม่ขอมีส่วนร่วม งานมันไร้ประโยชน์ เป็นไปเพื่อสะสมกิเลส และมัวเมาซะมากกว่า หรือจะจ่ายๆ ไป เพราะกลัวเพื่อนจะไม่คบดีครับ (จ่ายเพราะเห็นแก่ตัว กลัวเพื่อนไม่คบ กลัวเพื่อนว่า) การอยู่ในสังคม ยังไงเราก็ต้องไหลตามสังคม (เน่าๆ ) แบบนี้เรื่อยไปหรือครับ เจอแบบนี้เข้าไป ทำให้เริ่มเบื่อๆ ทางโลกแล้วล่ะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากเหตุการณ์ที่กล่าวมา เป็นการแสดงถึง การคิด พิจารณาที่เป็นเหตุ เป็นผล

ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องทำตาม เพราะ เพียงความเกรงใจ หรือ เพราะกลัวคนอื่นรอบข้างมองไม่ดี แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลแล้ว เมื่อเรามีเงินไม่มาก และจะต้องใช้ชีวิตให้เหมาะสม ตามฐานะของตน การใช้เงิน ใช้ทรัพย์ จึงต้องตามฐานะ ตามความเหมาะสม ว่าจำเป็นหรือไม่อย่างไร ครับ เพราะ ไม่มีใครช่วยเราได้ ตัวเราเองต่างหาก ที่จะช่วยเรา ดังนั้น ก็ควรที่จะอธิบายเหตุผลให้กับทางสาขา ด้วยเหตุผลจำเป็น ซึ่ง ถ้าหากเราเป็นผู้มั่นคงในความถูกต้องแล้ว ต่อไปก็จะสะสมความเป็นผู้ตรง ถูกต้อง โดยไม่ได้ใส่ใจว่า ใครจะรัก หรือ ไม่รัก ใครจะชอบ หรือ ไม่ชอบ และไม่ติดที่ความเกรงใจ แต่จะพิจาณาด้วยปัญญา ด้วยเหตุผลเป็นสำคัญ

สิ่งที่ได้ ประเสริฐ คือ อุปนิสัยที่ดี คือ ความเป็นผู้ตรง ตามความเป็นจริง ไม่เอนเอียง ไปตามสังคม สิ่งแวดล้อม และค่านิยม ครับ

ในตามความเป็นจริงนั้น ความเห็นแก่ตัว คือ ขณะใดที่เป็นอกุศล ชื่อว่าเห็นแก่ตัวแล้ว แม้จะกินเลี้ยงกัน แต่ ทำด้วยความสนุกสนานบันเทิง ด้วยโลภะ ก็เป็นความเห็นแก่ตัวแล้วในขณะนั้น แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลว่าอะไร ควรไม่ควร รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ตามฐานะ ก็ชื่อว่าเป็นประโยชน์ในโลกนี้

และ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงการใช้ชีวิตที่ประเสริฐของคฤหัสถ์ด้วย คือ ไม่เป็นผู้ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเพือยจนเกินไปด้วย ครับ เพราะจะต้องใช้ทรัพย์ตามฐานะ และประพฤติประโยชน์ในโลกนี้ให้ถูกต้อง ตามที่กล่าวมา เมื่อพิจารณาด้วยความห็นถูก ถูกต้อง จะกล่าวว่าเห็นแก่ตัวไม่ได้ ในการที่จะไม่ไปร่วมสังสรรค์ เสียทรัพย์ที่เกินฐานะของตน ครับ

ดังนั้นการอยู่ในสังคม คือ ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ก็อยู่ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่รังเกียจสังคม หรือ บุคคลต่างๆ แต่เข้าใจความเป็นจริงของสังคมและบุคคลต่างๆ ว่าเป็นธรรมดาที่อยู่ด้วยกิเลสเป็นส่วนมาก แม้แต่ตัวเราก็เช่นกัน สำคัญ คือ อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ปัญญาที่เกิดนั่นเองจะเป็นเครื่องดำเนินชีวิตที่ดี ในการตัดสินเหตุผล และเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้อย่างถูกต้อง โดย ไม่ได้อาศัยความอคติ ด้วยความเกรงใจในสังคม ในคนนั้นคนนี้ ด้วยความรักตัว นั่นคือเห็นแก่ตัว แต่เมื่อใด้พิจารณาด้วยปัญญา ไม่ใช่เห็นแก่ตัว แต่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรม จึงประพฤติตัดสินได้อย่างถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tookta
วันที่ 19 ส.ค. 2555

เรารู้สึกชื่นชมความคิดของเจ้าของกระทู้จังเลย คิดว่าควรจะทำในสิ่งที่ถูกต้องก็น่าจะดีนะคะ ไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนจะไม่คบ ขอให้ทำดีกับทุกคน สักวันเขาก็คงจะดีกับเรานะคะ

สังคมสมัยนี้ก็เป็นแบบนี้แหละ มีแต่คนที่เห็นแก่ตัวทั้งนั้น เราคงจะต้องอดทนกับสังคมแบบนี้นะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แต่ละคนมีการสะสมที่แตกต่างกัน ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวันจึงแตกต่างกันออกไปมากมาย ทั้งหมด ล้วนมีแต่ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน

จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้น ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่ง เมื่อมีการกระทำเช่นนี้ มีการชักชวนกันให้ทำอย่างนั้น เราในฐานะที่เป็นเพื่อน ควรที่จะได้แสดงความเห็น แสดงถึงความจริงว่า ที่ถูกต้องแล้วควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครชวนให้ทำอะไร ก็จะทำไปทั้งหมด ต้องแนะนำสิ่งที่ดีให้กับเพื่อนๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 19 ส.ค. 2555

ได้ฟังความเห็นด้วยเหตุและผลของอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นแล้ว คงตัดสินใจได้แล้วนะครับ

การจะถูกผู้อื่นนินทา มีอคติ หรือไม่คบหาด้วย คงไม่เกี่ยวกับจะจ่ายเงินค่างานด้วยหรือไม่

แต่อยู่ที่กรรมที่เราเคยทำมาแล้ว และจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นๆ หรือไม่ต่างหาก

เมื่อมีวิบากกรรมที่ต้องได้ยิน ได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้ว จะจ่ายเงินมากน้อย เอาอกเอาใจเพื่อนในคณะในสาขาอย่างไร ก็คงจะไม่พ้นต้องโดนอคติ ติฉิน นินทาอยู่ดี แหละครับ

ดังน้ัน จะคิด จะกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม ด้วยใจที่เป็นกุศลดีที่สุด

ลองพิจารณาหัวข้อธรรมข้อนี้ดูนะครับ

การใช้ทรัพย์

ก็จะพอทราบได้ว่า การใช้โภคทรัพย์อย่างไร ที่เรียกว่าหมดไปโดยชอบแก่เหตุ หมดไปโดยสมควร

ขออนุโมทนาในความมั่นคงและเป็นผู้ตรงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 19 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
mild
วันที่ 22 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไกลจากกิเลส

ถ้ามั่นคงแล้วก็จะทราบว่า ไม่มีความบังเอิญเลยที่มาเจอเพื่อนเช่นนี้ อยู่สาขานี้เพราะสร้างเหตุไว้แล้ว และ ชอบ-ชัง ก็อนิจจังทั้งคู่ การเจอเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ระหว่างถูกต้องและถูกใจใครหลายคน แต่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นการทดสอบความมั่นคง การอาจหาญในธรรม ว่าความจริงคือความจริง ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด หรือจะมี มานะ ว่าเป็นเรา เราดี เราไม่ควรถูกเพื่อนโกรธจึงยอมทำสิ่งที่ผิด ถ้ามั่นคงในธรรมะ จึงได้ชื่อว่าอาจหาญในธรรม และในทุกอาชีพก็มีเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจระหว่างถูกใจกับถูกต้องเสมอ แต่อย่างไหนจึงจะเรียกว่าอาจหาญในธรรมละครับ? กุศลมี ผลของกุศลย่อมมี อกุศลมี ผลของอกุศลก็มี และหลากหลายเช่นกัน

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Graabphra
วันที่ 22 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 24 ส.ค. 2555

ขอกราบอนุโมทนาคำตอบของทุกๆ ท่าน และขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคนนะครับ

อย่างที่ อ. หลายๆ ท่านได้เรียนแล้ว ที่ได้พบได้เจอกับเพื่อนอย่างนี้ ได้อยู่คณะนี้ ได้พบเจอเหตุการณ์อย่างนี้ เพราะเหตุปัจจัยในอดีตส่งให้มาเป็นอย่างนี้ เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตทั้งนั้น

และแต่ละคนก็มีการสั่งสมกิเลสมามากบ้างน้อยบ้างต่างๆ กัน และยิ่งเป็นสังคมวัยรุ่น วัยเรียนมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นธรรมดาที่บุคคลในวัยนี้จะยังไม่เห็นทุกข์ จะยังไม่หน่ายในกาม จะยังยินดีพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ติดข้องอยู่ค่อนข้างมาก

เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบก่อนว่า เพราะสังคมเป็นแบบนี้ ทราบแล้ว อย่าไปรังเกียจ อย่าไปติฉัน เพราะจากการพิจารณาโวหารของท่านเจ้าของกระทู้แล้ว คิดว่าคงจะเกิดโทสะไม่น้อยกับการที่พบเจออะไรอย่างนี้ เพราะเป็นผู้สั่งสมกุศลปัจจัยมาที่จะน้อมไปกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นคุณงามความดี เป็นที่เกื้อกูล ไม่ได้น้อมไปในการกระทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์ หรือเป็นไปเพื่อยังกิเลสให้เกิด

เพราะฉะนั้น ควรที่จะเกิดสติระลึกด้วยว่า ขณะที่เกิดขุ่นเคือง ในเพื่อนบ้าง ในรุ่นพี่บ้าง ที่แนะนำทางไม่ดี หรือชักชวนทางไม่ดีให้แก่เรา ก็ควรที่จะรู้ว่าโทสะที่ขุ่นเคืองนี้ ก็เป็นอกุศลชนิดหนึ่ง ที่ควรละ ด้วยความเข้าใจว่า เขาเหล่านั้นก็เป็นไปด้วยอำนาจกิเลส ไม่ได้มีตัวตน สัตว์ บุคคล ที่กำลังชักชวนเราให้กระทำกรรมอันไม่ชอบ แต่เพราะกิเลสเป็นสภาพธรรมที่กระทำอย่างนั้น เพราะเขาสั่งสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ก็ควรจะที่เกิดจิตเมตตา ไม่ใช่รังเกียจหรือติฉันในสังคมที่อยู่ เพราะอะไร เพราะอยู่ที่ไหน อยู่โลกไหนๆ ถ้ายังไม่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้น มีกิเลสที่อุปมาดุจคูถเน่าเหม็นด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่จะมากบ้าง น้อยบ้าง ก็แล้วแต่ผู้นั้นจะสั่งสมมา

ก็ควรที่จะรู้เหตุปัจจัยว่า เราทำกรรมให้มาได้พบเจอสังคมแบบนี้ คือได้ยิน ได้เห็น ความเป็นไปของกิเลสเหล่านี้ของบุคคลอื่น ก็ควรที่จะนึกดีใจเสียดีกว่านึกขุ่นใจ ว่า โอ้หนอ เราได้เห็นกิเลสแล้วว่าไม่น่าเสพส้องด้วยประการอย่างนี้ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ตัวเรา ได้ประโยชน์ คือได้เห็นโทษของกิเลส แล้วก็น้อมนำเข้ามาสู่ตน เพื่อพิจารณาว่า อันตัวเรา ยังมี แม้สักนิดนึง ที่จะเป็นได้เหมือนอย่างที่คนอื่นเป็นอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมี ก็ไม่ควรไปติเขา ไม่ควรเลย เพราะตัวเรา ถึงแม้จะมีน้อย ก็ไม่ควรเกิดมานะว่า ตัวเรามีกิเลสน้อยกว่าเขา แต่ควรให้ทราบว่า แม้นตัวเราก็ยังมีกิเลส ก็ควรที่จะค่อยๆ ละต่อไป และควรที่จะเมตตาต่อสังคมที่กำลังอยู่ ว่าทุกท่าน เพื่อน และรุ่นพี่ทุกๆ คน เป็นผู้หมกมุ่นด้วยกิเลส เป็นผู้ไม่เห็นพระสัจจธรรม ย่อมควรแก่การเมตตา ไม่ได้ควรแก่การรังเกียจเลย เมื่อเมตตาแล้ว ก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขขึ้น

และการที่เพื่อนจะมาเลิกคบนั้นก็ถ้าเพื่อนนั้นเป็นกัลยาณมิตร เป็นบุคคลที่ ควรจะคบ และน่าคบจริงๆ ย่อมไม่มามีอคติกับตัวเราด้วยเรื่องเหตุเพียงเท่านี้ ถ้าเขาจะมามีอคติและเลิกคบกับเราด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ด้วยเรื่องไร้สาระอย่างนี้ ก็ควรแล้วหรือที่เราจะยังเรียกเขาว่าเป็นเพื่อนกับเราได้อีก??

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 16 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 24 ม.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ