การตรึกไปในสัญญาของปุถุชนและพระอริยเจ้า

 
นิรมิต
วันที่  19 ส.ค. 2555
หมายเลข  21585
อ่าน  2,038

กราบสวัสดีมิตรธรรมทุกท่าน

คือมีความสงสัยว่า เวลาที่ปุถุชนตรึกไปในสัญญาความจำได้หมายรู้ โดยมีลักษณะของอกุศลจิต (โทสะ โลภะ โมหะ) เป็นอารมณ์ เช่น ตรึกนึกไปในลักษณะของสภาพจิตที่เป็นโทสมูลจิต โลภมูลจิต โมหมูลจิต ขณะนั้นลองสังเกตดูว่า มีขณะที่ตรึกไปในสัญญาของลักษณะอกุศลจิตเหล่านั้น จิตก็เหมือนกำลังรับรู้ซึ่งลักษณะของอกุศลเหล่านั้น

แล้วถ้าเป็นพระอริยเจ้าที่ท่านละกิเลสแล้ว ตั้งแต่พระโสดาบันก็ได้ ถ้าพระโสดาบันกำลังตรึกไปในสัญญาที่จำลักษณะของ อิสสา และ มัจฉริยะ หรือ ลักษณะของ วิจิกิจฉา

เมื่อตรึกแล้วมีสัญญาของลักษณะสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นอารมณ์ได้ อย่างนี้ถือว่าละอกุศลเหล่านั้นได้แล้วหรือ?

คือ ยังมีสัญญาจำได้ในลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้น สัญญาที่จำได้หมายรู้ในลักษณะของทุกข์ และอกุศลยังมีอยู่ ไม่ไ่ด้ละทิ้งสัญญาเหล่านั้นไปด้วยหรือ?

มีอีกเรื่อง อยากขอเรียนถามครับ คือ สงสัยว่า คำว่า "ทิพย์" บนสวรรค์นี้ มีความหมาย ขอบเขตกว้างแค่ไหน และสภาพอย่างไรชื่อว่า "เป็นทิพย์"

กราบอนุโมทนาสาธุครัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
นิรมิต
วันที่ 19 ส.ค. 2555

อ้อ สงสัยอีกเรื่องครับ

คือ สงสัยว่า เทวดานี่ฆ่าฟันกันเองได้ด้วยหรือครับ อย่างในเรื่องของการรบกันของอสูรกับเทพชั้นดาวดึงส์ อันนี้เป็นเพียงตำนานหรือว่าเป็นเรื่องจริงมีบอกไว้ในพระไตรปิฏกครับ?

แล้วถ้าเทวดาฆ่ากันเองได้ แปลว่าการตายของเทวดาก็ต้องมีมากกว่า ๔ อย่างดังที่มีบอกไว้คือ ๑. อายุขยะ ๒. โกรธขยะ ๓. อาหารขยะ ๔. กรรมขยะ

หรือการตายด้วยเหตุนี้จะรวมลงเป็นกรรมขยะครับ?

แล้วสุดท้ายนี้ ที่ว่าตายเพราะโกรธนี่ ต้องโกรธแค่ไหน โกรธแบบไหนอ่ะครับถึงจะตาย เพราะที่เคยอ่านเรื่องราวมาก็มีจำพวกเทพที่โกรธ กระทืบเท้า ชี้หน้า อะไรทำนองนี้ ก็ไม่เห็นตายนี่ครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คือมีความสงสัยว่า เวลาที่ปุถุชนตรึกไปในสัญญาความจำได้หมายรู้ โดยมีลักษณะของอกุศลจิต (โทสะ โลภะ โมหะ) เป็นอารมณ์ เช่น ตรึกนึกไปในลักษณะของสภาพจิตที่เป็นโทสมูลจิต โลภมูลจิต โมหมูลจิต ขณะนั้นลองสังเกตดูว่า มีขณะที่ตรึกไปในสัญญาของลักษณะอกุศลจิตเหล่านั้น จิตก็เหมือนกำลังรับรู้ซึ่งลักษณะของอกุศลเหล่านั้น แล้วถ้าเป็นพระอริยเจ้า ที่ท่านละกิเลสแล้ว ตั้งแต่พระโสดาบันก็ได้ ถ้าพระโสดาบันกำลังตรึกไปในสัญญา ที่จำลักษณะของ อิสสา และ มัจฉริยะ หรือ ลักษณะของ วิจิกิจฉา เมื่อตรึกแล้วมีสัญญาของลักษณะสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นอารมณ์ได้

อย่างนี้ถือว่าละอกุศลเหล่านั้นได้แล้วหรือ? คือ ยังมีสัญญาจำได้ในลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้น สัญญาที่จำได้หมายรู้ในลักษณะของทุกข์ และอกุศลยังมีอยู่ ไม่ไ่ด้ละทิ้งสัญญาเหล่านั้นไปด้วยหรือ?

- ความเป็นจริง สัญญา เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกๆ ประเภท ทำหน้าที่ จำ จำในอารมณ์นั้น ดังนั้น สัญญาก็เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลด้วย

แต่สำหรับพระโสดาบัน ท่านละ อิสสา มัจฉริยะ วิจิกิจฉา ความเห็นผิดแล้ว คือ ละอนุสัยกิเลสหมดสิ้น ไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการกระทบอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทาง ตา ... กาย และ มีใจที่คิดนึก ก็จะไม่เกิดกิเลสประเภทนี้ เมื่อไม่เกิดกิเลสเหล่านี้ สัญญาเจตสิก ที่จะต้องเกิดกับจิตทุกประเภทเสมอ ก็จะไม่เกิดอกุศลจิตประเภทที่เป็นโลภมูลจิต ประกอบด้วยความเห็นผิด เมื่อไม่เกิดจิตประเภทนี้ สัญญาเจตสิกที่จำในอารมณ์และทำให้เกิดความเห็นผิด จำในความเห็นผิดนั้นก็ไม่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น โดยทำนองเดียวกัน เมื่อจิตที่ประกอบด้วยอิสสา มัจฉริยะ วิจิกิจฉา ไม่เกิดขึ้นอีก เพราะดับหมดสิ้นแล้ว สัญญาเจตสิกที่จะเกิดกับจิตที่ประกอบด้วย อิสสา มัจฉริยะและ วิจิกิจฉา ก็ไม่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่มีการจำโดยอิสสา ...วิจิกิจฉา เพราะ ไม่เกิด จิตประเภทนี้ ก็จำไม่ได้ ครับ

ส่วน สัญญาเจตสิกของพระโสดาบัน ก็เกิดกับจิตประเภทอื่นๆ ต่อไป เช่น โทสมูลจิต พระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับ ก็เกิด สัญญาเจตสิก จำหมายในอารมณ์ที่โกรธ จำหมายในความโกรธที่เกิดขึ้น แต่ สัญญาเจตสิกที่จำในอารมณ์ที่โกรธ ก็ทำหน้าที่จำ ตามประเภทจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะไม่เกี่ยวข้องกับ กิเลส อิสสา เป็นต้น ของพระโสดาบันที่ละแล้ว

เพราะฉะนั้น สัญญาที่เกิดขึ้นแต่ละจิต แต่ละประเภท ก็ทำหน้าที่จำ ในจิตประเภทนั้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ครับ พระโสดาบัน จึงยังจำด้วยคลาดเคลื่อน ในอกุศลที่ยังมีอยู่ แต่อกุศล กิเลสที่ท่านละแล้ว ย่อมมีสัญญาเจตสิก การจำคลาดเคลื่อน ที่เกิดกับอกุศลประเภทนั้นอีกครับ


มีอีกเรื่อง อยากขอเรียนถามครับ คือ สงสัยว่า คำว่า "ทิพย์" บนสวรรค์นี้ มีความหมาย ขอบเขตกว้างแค่ไหน และสภาพอย่างไรชื่อว่า "เป็นทิพย์"

- ทิพย์ในที่นี้ คือ ประณีตมากๆ โดยทั่วไป รูป ประเภทเดียวกัน เช่น ธาตุดิน เป็นต้น ที่มีลักษณะแข็ง อ่อน ก็มีความแตกต่างกันของธาตุดินแต่ละอย่าง ถ้าหยาบมาก ก็แข็งมาก แต่ถ้าประณีตมากๆ ก็อ่อนนุ่มมากๆ เกิดจากผลของกุศลกรรมที่ประณีต มีกำลัง ก็ทำให้รูปนั้นประณีต จนประณีตมาก ถึงความเป็นทิพย์ในสวรรค์ เป็นต้น ครับ


อ้อ สงสัยอีกเรื่องครับ คือ สงสัยว่า เทวดานี่ฆ่าฟันกันเองได้ด้วยหรือครับ อย่างในเรื่องของการรบกันของอสูรกับเทพชั้นดาวดึงส์ อันนี้เป็นเพียงตำนานหรือว่าเป็นเรื่องจริงมีบอกไว้ในพระไตรปิฏกครับ?

- มีจริงในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะ เทวดายังมีกิเลสอยู่ เป็นธรรมดา


แล้วถ้าเทวดาฆ่ากันเองได้ แปลว่าการตายของเทวดาก็ต้องมีมากกว่า ๔ อย่าง ดังที่มีบอกไว้คือ ๑. อายุขยะ ๒. โกรธขยะ ๓. อาหารขยะ ๔. กรรมขยะ หรือการตายด้วยเหตุนี้ จะรวมลงเป็นกรรมขยะครับ?

- ตามที่แสดงไว้ครับ ว่า การสู้รบกันของเทวดา เพียงทำให้ร่างกาย รู้สึก ร้อนๆ เท่านั้น เมื่อถูกตี เป็นต้น ไม่ได้ทำให้ตาย ครับ


สุดท้ายนี้ ที่ว่าตายเพราะโกรธนี่ ต้องโกรธแค่ไหนโกรธแบบไหนอ่ะครับถึงจะตาย เพราะที่เคยอ่านเรื่องราวมาก็มีจำพวกเทพที่โกรธ กระทืบเท้า ชี้หน้า อะไรทำนองนี้ ก็ไม่เห็นตายนี่ครับ?

- ความโกรธ และ ความอิจฉา ริษยา เนื่องด้วยเทวดามีร่างที่ประณีตมาก เมื่อถูกธาตุไฟ เกิดขึ้นเผา ก็ทำให้เกิดการเคลื่อน จุติได้ ครับ แต่ที่สำคัญ ต้องมีกรรมเป็นปัจจัยสำคัญ เหตุปัจจัยอื่นก็ประกอบที่ทำให้ตาย ครับ ซึ่งคงไม่สามารถจะไปวัดว่าความโกรธ ความอิสสา ริษยาเท่าไหร่ได้ แต่ต้องมีกำลังแน่นอน และก็ไม่รู้ว่า กรรมจะให้ผลจนทำให้จุติเกิด ตายเมื่อไหร่ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 20 ส.ค. 2555

จากคำตอบของอาจารย์ผเดิมในข้อคำถามแรกของท่านผู้ถาม แสดงว่า พระโสดาบัน ท่านไม่มี อิสสา มัจฉริยะ และ วิจิกิจฉา เกิดอีกเลยเพราะดับเป็นสมุจเฉทแล้ว แต่ท่านก็ยังจำได้ใช่มั้ยครับว่า อิสสา มัจฉริยะ และ วิจิกิจฉา ตอนก่อนที่ท่านจะเป็นพระโสดาบันนั้น ลักษณะเป็นอย่างไร เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

กราบขอบพระคุณและ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 20 ส.ค. 2555

เรียน คุณ daris ครับ

ถูกต้อง ครับ แต่ไม่ได้ระลึกที่ตัว อิสสา และกิเลสที่ดับไปแล้ว ที่เป็นลักษณะในปัจจุบัน เพราะ ดับไปนานแล้ว ครับ แต่ สามารถระลึก นึกถึงได้ ที่เคยมีลักษณะในสภาพธรรมนั้น ที่เป็นบัญญัติเนื่องด้วยปรมัตถ์ แต่ระลึกที่ไม่ใช่ มีปัจจุบันขณะ คือ มี ลักษณะของอิสสา และ กิเลสที่ได้ดับไป ที่เป็นลักษณะจริงๆ ครับ เพียงแต่ มี สัญญาที่เคยจำไว้ ในลักษณะนั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิรมิต
วันที่ 20 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มนะครับ

คือถ้าอย่างนั้น ในเมื่อจำไม่ได้ จะทราบได้อย่างไรครับว่า กิเลสประเภทนั้นๆ เคยมีกับจิตนี้ เคยเกิดกับจิตนี้ และดับไปแล้ว คือ ยังพอจะมีสัญญา ที่จำได้ ที่ทำให้ทราบได้มั้ยครับว่า ลักษณะของกิเลสประเภทนั้นๆ ที่ทำการละออกไปได้แล้ว เคยมีลักษณะอย่างไร คือ ไม่ได้เกิดเป็น โลภเจตสิก ทิฏฐิสัมปยุตต์ หรือ เกิดจิตที่มี อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นกุศลจิตก็ได้ ที่ระลึกไปในลักษณะของสภาพกิเลสที่ละได้แล้ว (อย่างนี้จะได้หรือเปล่า)

เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเรา ว่าให้ละอกุศลทั้งหลาย ถ้าสัญญาไม่มีจำได้ว่าลักษณะของอกุศลนั้นเป็นอย่างไร หรือ พอละได้แล้ว ก็ลืมอกุศลเหล่านั้นสิ้น ลืมไปเลยว่าลักษณะของอกุศลเหล่านั้นเป็นอย่างไร อย่างนั้นพระพุทธองค์ก็ต้องสั่งสอนเราไม่ได้ หรือเปล่าครับ?


สงสัยเพิ่มอีกว่า ศาตราวุธของเหล่าเทพที่เนรมิตขึ้นมาฟาดฟันกัน มีผลกับมนุษย์ได้หรือเปล่าครับ?

แล้วที่ว่า เทวดากายเป็นทิพย์ แต่ถ้าเป็นเทวดาชั้นต้นๆ อย่างจาตุมหาราชิกา เคยอ่านเจอว่า ท่านก็ถูกพระที่เอาขวานตัดต้นไม้ ไปโดนแขนลูกของเทวดาท่านขาด แปลว่ายังมีกายหยาบหรือครับ?

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 20 ส.ค. 2555

อ้อ ขออนุโมทนา อ.ผเดิม และคุณ daris ครับ แหะๆ

พอดีตอนกำลังพิมพ์ คำถามของคุณดาริสยังไม่ขึ้น เลยถามซ้อนกันเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 20 ส.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 20 ส.ค. 2555

เรียนคุณนิริมิต ในความเห็นที่ 5 ครับ

สงสัยเพิ่มอีกว่า ศาตราวุธของเหล่าเทพที่เนรมิตขึ้นมาฟาดฟันกัน มีผลกับมนุษย์ได้หรือเปล่าครับ?

- มีได้ ครับ

แล้วที่ว่า เทวดากายเป็นทิพย์ แต่ถ้าเป็นเทวดาชั้นต้นๆ อย่างจาตุมหาราชิกา เคยอ่านเจอว่าท่านก็ถูกพระที่เอาขวานตัดต้นไม้ ไปโดนแขนลูกของเทวดาท่านขาด แปลว่ายังมีกายหยาบหรือครับ?

- เพราะว่า วิมานของเทวดาที่เป็นรุกเทวดา ชั้นต่ำ อาศัยอยู่ในต้นไม้ เมื่อวิมานอยู่ในต้นไม้ เมื่อพระภิกษุตัดต้นไม้ ก็ทำให้โดนแขนของผู้ที่อยู่อาศัยได้ ที่เป็นลูกของเทวดาที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ ครับ ซึ่ง คำว่าหยาบของเทวดาชั้นต่ำ ก็ยังละเอียด แต่ไม่มากเท่าเทวดาชั้นสูงๆ และก็สามารถถูกตัดแขน ขาได้ ตามเรื่องที่เกิดขึ้นในพระไตรปิฎก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 20 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งถึงวาระที่พระองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เพื่อให้พุทธบริษัทเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อจะได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อจะได้ขัดเกลากิเลสอกุศลให้ลดน้อยลง จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคลได้,

พระอริยบุคคล ตรงกันข้ามกับปุถุชนอย่างสิ้นเชิง สำหรับชีวิตของปุถุชน มีกิเลสมากมายนานาประการที่ยังไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย เพราะการที่จะดับกิเลสได้จริงๆ จะต้องเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล (พระโสดาบัน ถึง พระอรหันต์) เท่านั้น จึงจะสามารถดับกิเลสได้

ดังนั้น สำหรับปุถุชนผู้ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส อยู่ในโลกของความมืดมิด ด้วยอำนาจของอวิชชา (ความหลง, ความไม่รู้) มานานแสนนาน และอวิชชานี้เอง เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศล และเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง

จึงควรอย่างยิ่งที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป เพราะการที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายกิเลสได้ จนกระทั่งดับได้ตามลำดับขั้นนั้น ก็ต้องด้วยความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Graabphra
วันที่ 20 ส.ค. 2555

กินพริกก็รู้ว่าเผ็ด จำความเผ็ดได้ครับ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กิน นึกถึงความเผ็ดได้ กิเลสที่ละได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องจำอีก แต่รู้ว่ากิเลสมีโทษมากอย่างไร ทั้งของตนและผู้อื่นเมื่อแสดงออกมาทางกายวาจา ไร้สาระที่จะต้องจำ แม้ความจำเรื่องกิเลสก็ไม่อยากจำ ลักษณะของกิเลสก็ไม่อยากจำ เพราะไร้สาระไม่มีประโยชน์แต่ยังไงก็ต้องจำ ด้วยสัญญาทำหน้าที่ของสัญญา บังคับไม่ได้ว่าจะลืมให้ได้ใช่ไหมครับ

กินพริกตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ อยากลืมความจำเรื่องความเผ็ดของพริกก็ลืมไม่ได้ ถ้าลืมไม่ได้ ก็แค่จำไว้ แต่ไม่กลับไปกินอีก (แค่เปรียบเทียบครับ ผมยังกินครับ) แต่ความเผ็ดของพริกจะคิดไปทำไมครับ แต่คิดน้อยลงไปเรื่อยๆ ๆ ๆ จนน้อยลงทุกทีๆ ๆ ๆ

สิ่งที่ควรจำคือพระธรรมคำสอน การละกิเลส การเจริญกุศลต่างๆ ธรรมมะยังมีธรรมดำธรรมขาว ธรรมดำรู้ไว้จำไว้ ธรรมขาวควรจำควรปฏิบัติตาม

มรรคมีองค์ ๘ ไม่มีเรื่อง สวรรค์ นรก การสู้รบของเทวดา (ถ้าจำไม่ผิด) แต่มีเรื่องคุณธรรมของเทวดาที่ควรนึกถึง เช่น หิริ โอตตัปปะ และควรอนุโมทนาตอนนี้เลย มีสิ่งที่เป็นประโยชน์สามารถปฏิบัติได้ รู้ได้ด้วยตนเอง ในชาตินี้ ในเวลานี้ เดี๋ยวนี้ ถ้ามีปัญญาพร้อม

ไม่ควรสงสัยในสิ่งที่เกินวิสัยมนุษย์มากเกิน ถ้าเจริญมรรค ๘ อาจจะทราบว่า ความสงสัยเป็นสภาพธรรม ถ้ามีปัญญาก็เจริญมุทิตาในคุณธรรมของเทวดาทันทีเดี๋ยวนี้ได้เลย ไม่ควรคิดเรื่องการสู้รบมากนัก เพราะไม่ทำให้หมดกิเลสและกุศลไม่เจริญได้ครับ

เมื่อเจริญมรรคมีองค์ ๘ กุศลเจริญมากขึ้น สติปัญญาเกิดบ่อยๆ ขึ้น ความสงสัยเรื่องต่างๆ ก็น้อยลง สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ก็คิดน้อยลง เพราะสติเกิดรู้ว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นกุศล คิดเรื่องใดทำให้กุศลเจริญ ปัญญาเจริญ ก็คิดเรื่องนั้นบ่อยขึ้น และสติเกิดรู้ว่าเป็นกุศล (สภาพธรรม)

เมื่อใดคิดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ สติ (สติเกิดบ่อยขึ้น จากการเจริญสติ ขั้น ทาน ศีล ภาวนา) เกิดรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ละความคิดนั้นโดยเร็ว หากปัญญาเกิดคิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ (กุศล) ทันที

หรือแม้แต่เรื่องเดียวกันที่เป็นอกุศล จากเมื่อก่อนไม่ได้เจริญมรรค ๘ ก็เป็นกุศลได้ด้วยปัญญาจากการ เจริญมรรค ๘ ครับ

สิ่งที่ควรเจริญควรสงสัยคือมรรคมีองค์ ๘ เจริญให้มาก สงสัยให้มาก ถามให้มาก ฟังให้มาก ศึกษาให้มาก ให้ละเอียดที่สุด ตั้งแต่เริ่มต้นจนหมดความสงสัย

ครับผมเองก็ศึกษาอยู่ครับ

(คัดลอกมาครับ) องค์ของมรรค ๘ ได้แก่ ...

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือ ปัญญาเจตสิก ละมิจฉาทิฏฐิ

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ วิตกเจตสิก ละมิจฉาสังกัปปะ

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ คือ สัมมาวาจาเจตสิก ละมิจฉาวาจา

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือ สัมมากัมมันตเจตสิก ละมิจฉากัมมันตะ

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ สัมมาอาชีวเจตสิก ละมิจฉาอาชีวะ

๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือ วิริยเจตสิก ละมิจฉาวายามะ

๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ คือ สติเจตสิก ละมิจฉาสติ

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ คือ เอกัคคตาเจตสิก ละมิจฉาสมาธิ

ผิดพลาดไปก็ขออภัยครับ ถ้าควรแก้ไขก็แก้ไขและแนะนำได้เลยครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ประสาน
วันที่ 20 ส.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ส.ค. 2555

อนุโมทนาสาธุ อ.ผเดิม คุณ khampan.a และ คุณ Graabphra ครับ

ที่สงสัยเรื่องเทวดา อันนี้ก็แค่สงสัยเฉยๆ อ่ะครับ จึงอยากจะรับทราบข้อมูลที่มีในพระไตรปิฎกจริงๆ แต่ก็ไม่ได้ติดข้องหรืออะไรมาก เพราะเทวดาก็เป็นเรื่องเหนือวิสัยตาเนื้ออยู่แล้ว แหะๆ

แต่อยากขอเรียนคุณ Graabphra ในเรื่องนี้นิดนึง คือว่าอันนี้ไม่ทราบว่าผมตีความผิดหรือถูก แต่จากประโยคที่คุณ Graabphra ตอบว่า

- มรรคมีองค์ ๘ ไม่มีเรื่อง สวรรค์ นรก การสู้รบของเทวดา (ถ้าจำไม่ผิด) แต่มีเรื่องคุณธรรมของเทวดาที่ควรนึกถึง เช่น หิริ โอตตัปปะ และควรอนุโมทนาตอนนี้เลย มีสิ่งที่เป็นประโยชน์สามารถปฏิบัติได้ รู้ได้ด้วยตนเอง ในชาตินี้ ในเวลานี้ เดี๋ยวนี้ ถ้ามีปัญญาพร้อม-

ถ้าเป็นเรื่องว่า ในมรรคมีองค์ ๘ หรือ ทางสายกลางอันเป็นไปเพื่อการดับทุกข์นั้น มิได้มีกล่าวถึงเรื่อง นรก สวรรค์ เฉยๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณ Graabphra ไม่เชื่อเรื่องนรก หรือ สวรรค์ ก็ขออนุญาตเรียนขอโทษก่อนนะครับ คิดเสียว่าที่กล่าวต่อไปนี้ก็เพื่อท่านที่ไม่เชื่อนรก สวรรค์ มาอ่านจะได้พิจารณาตามดูนะครับ

ขออนุญาตนำคำกล่าวของท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ได้ฟังมาอธิบายให้เป็นศัพท์ของตัวเองนะครับ

ว่า ในเมื่อชาตินี้มี ชาติหน้าย่อมมี เมื่อโลภะ ยังไม่ได้ดับ ย่อมเป็นปัจจัยให้ภพหน้าต่อไป มีปรากฏ สุดแล้วแต่กรรมจะจัดสรรให้เป็นไป

เมื่อในโลกนี้มีสุขมีทุกข์ต่างๆ กัน มีลักษณะรูปร่างก็วิจิตรต่างๆ กัน แม้ในภพมนุษย์นี้เอง ก็ยังเห็นได้ว่า มีสัตว์ชนิดอื่นปรากฏอยู่ดั่งเช่นเดียรัจฉานภูมิ ก็ทราบได้ว่า กรรมมีจริง กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้วิจิตรต่างๆ กันออกไป ให้มีอัตภาพสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามแต่กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมจะให้ผล

และในเมื่อกรรมเป็นปัจจัยให้ชีวิตสัตว์วิจิตรได้ปานนี้ ถ้ากุศลกรรมที่กระทำนั้นมีมาก มีประณีตเหลือเกิน มีประณีตจริงๆ ผลของกรรมนั้น ย่อมต้องเป็นวิบากที่ประณีต อันจะต้องมีภพภูมิที่รองรับการให้ผลของวิบากนั้นๆ ดั่งเช่น สวรรค์ หรืออกุศลกรรมที่กระทำมีประมาณมากเหลือเกิน มีความหนักเหลือเกิน เกินกว่าภพมนุษย์และดิรัจฉานจะรับผลของกรรมอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นสถานที่ให้ผลวิบากอย่างนั้น เช่น นรก ก็ย่อมต้องมี

สวรรค์และนรก ในรายละเอียดปลีกย่อยมากมายนั้น เราก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้จริงหรือไม่ เพราะไม่ได้ไปสัมผัสได้ด้วยตัวเอง แต่ย่อมทราบได้ว่า สถานที่ที่มีลักษณะทุกข์แสนสาหัส เยี่ยงนรก และอบายอื่นๆ ทั้งหลาย หรือ สถานที่ที่มีลักษณะสุขอย่างเหลือล้นคณานับ ดั่งเช่นสวรรค์ และพรหมโลก ย่อมมีได้ เพราะเหตุปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น คือ อกุศลกรรม มี

และหากว่า สวรรค์ นรกไม่มี ชาติหน้าไม่ปรากฏ เราๆ ท่านๆ จะละกิเลสกันเพื่ออะไร ในเมื่อตายแล้วก็ไม่มีสถานที่อย่างนั้นจะให้ไปเกิดอีก แล้วจะละกิเลสกันไปทำไม จะกระทำกุศลกันเพื่อเหตุอันใด ก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลดั่งที่สมควรจะเป็น

ขออนุโมทนาสาธุทุกๆ ท่านครับ :)

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Graabphra
วันที่ 22 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ ในคำชี้แนะ และทุกๆ ท่านที่ร่วมสนทนาครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ