ภวังคจิต
กราบสวัสดีมิตรธรรม
มีความสงสัยครับ ว่า ภวังคจิตนี้ มีเวทนาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะ จิตทุกดวง ต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วยใช่ไหมครับ (มาถึงตรงนี้ขอรบกวนถามแทรกนิดนึงครับว่า เจตสิกอะไรบ้าง หรือสภาพธรรมอะไรบ้าง ที่เกิดกับจิตทุกดวงไม่เว้นเลยแม้แต่ดวงเดียว)
แล้วทีนี้ ภวังคจิต เป็นจิตชาติวิบากเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิสนธิด้วยอุเบกขาเวทนา อย่างเช่น สัตว์ในอบาย หรือผู้ที่ปฏิสนธิในสุคติด้วยอุเบกขาเวทนา ก็จะหลับแล้วมีเวทนาเป็นอุเบกขาใช่ไหม
ส่วนผู้ที่อยู่ในสุคติแล้วปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนา เวลาหลับ ก็จะเป็นโสมนัสใช่ไหม เพราะบางคนเวลาหลับก็บอกว่า รู้สึกเฉยๆ ส่วนบางคนก็อยากนอนเหลือเกิน เพราะ บอกว่านอนแล้วเป็นสุข อย่างนี้มันจะลงรอยกันกับเรื่องนี้หรือเปล่า
งั้นก็แปลว่าเราสามารถทราบได้ว่า บุคคลใดปฏิสนธิด้วยจิตดวงไหน ได้ด้วยวิธีนี้ หรือเปล่า?
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มีความสงสัยครับ ว่า ภวังคจิตนี้ มีเวทนาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะ จิตทุกดวง ต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วยใช่ไหมครับ
ภวังคจิต คือ จิตที่ทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ ทำให้สภาพที่บัญญัติว่า สัตว์มีชีวิตอยู่ได้ ภวังคจิตเป็นวิบากจิต เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต จุติจิต
ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ ในชีวิตประจำวัน มีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ สลับกับภวังคจิต (ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย)
ส่วนเวทนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ทุกดวง เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิก จึงเกิดกับจิตที่เป็น ภวังคจิตด้วยครับ
(มาถึงตรงนี้ขอรบกวนถามแทรกนิดนึงครับว่า เจตสิกอะไรบ้าง หรือสภาพธรรมอะไรบ้าง ที่เกิดกับจิตทุกดวงไม่เว้นเลยแม้แต่ดวงเดียว)
เจตสิก ๗ ดวงที่เป็นสาธารณะ เกิดกับจิตทุกดวงเรียกว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก จิตทุกประเภท จะต้องมี เจตสิก ๗ ประเภท เกิดขึ้นป็นอย่างน้อย ครับ คือ
๑. ผัสสเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์
๒. เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก หรือเสวยอารมณ์
๓. สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จดจำ หรือคุ้นเคยในอารมณ์
๔. เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ บงการสัมปยุตธรรมให้ทำกิจของตนๆ
๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตตั้งมั่น เป็นหนึ่งในอารมณ์
๖. ชีวิตินทริยเจตสิก เป็นสภาพที่รักษาสัมปยุตธรรมให้มีชีวิตอยู่ได้
๗. มนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่สนใจ ทำให้จิตมุ่งตรงต่ออารมณ์
แล้วทีนี้ ภวังคจิต เป็นจิตชาติวิบากเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิสนธิด้วยอุเบกขาเวทนา อย่างเช่น สัตว์ในอบาย หรือผู้ที่ปฏิสนธิในสุคติด้วยอุเบกขาเวทนา ก็จะหลับแล้วมีเวทนาเป็นอุเบกขาใช่ไหม
- ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต เป็นจิตประเภทเดียวกัน คือ ชาติวิบาก และ ปฏิสนธิ เป็นจิตประเภทอะไร มีเจตสิกเท่าไหร่ ภวังคจิตในชาตินั้น หลังปฏิสนธิ ทุกดวงที่เกิดขึ้น รวมทั้ง จุติจิตที่เกิดขึ้นในชาตินั้น ก็เป็นจิตประเภทเดียวกัน เจตสิกเท่ากัน ตามปฏิสนธิจิต ครับ
เพราะฉะนั้น หากปฏิสนธิด้วย อุเบกขาเวทนา ภวังคจิต ที่มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ต้องเป็นอุเบกขาเวทนา ครับ จุติจิตก็ต้องเป็นอุเบกขาเวทนาด้วย ครับ
ส่วนขณะที่หลับสนิท คือ ขณะที่ภวังคจิตเกิดติดต่อกัน นั้น เวทนาเจตสิกก็ต้องเป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิ นั่นคือ อุเบกขาเวทนา หาก ปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขาเวทนา ครับ
ส่วนผู้ที่อยู่ในสุคติแล้วปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนา เวลาหลับ ก็จะเป็นโสมนัสใช่ไหม เพราะ บางคนเวลาหลับก็บอกว่า รู้สึกเฉยๆ ส่วนบางคนก็อยากนอนเหลือเกิน เพราะบอกว่านอนแล้วเป็นสุข อย่างนี้มันจะลงรอยกันกับเรื่องนี้หรือเปล่า
- หากปฏิสนธิจิต ประกอบด้วยเวทนาเจตสิกที่เป็น โสมนัสเวทนา ภวังคจิต ก็ต้องเป็นโสมนัสเวทนา และ จุติจิตก็ต้องประกอบด้วยโสมนัสเวทนาเช่นกัน ครับ
เพราะฉะนั้น ขณะที่หลับสนิท ก็มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนา ขณะที่หลับสนิท คือ ภวังคจิตเกิดต่อเนื่องนั้น ภวังคจิตก็เป็นโสมนัสเวทนา จุติจิตก็เป็นโสมนัสเวทนา ครับ
ซึ่งผู้ถามกล่าวว่า เวลาหลับ ก็จะเป็นโสมนัสใช่ไหม เพราะบางคนเวลาหลับก็บอกว่า รู้สึกเฉยๆ ส่วนบางคนก็อยากนอนเหลือเกิน เพราะบอกว่านอนแล้วเป็นสุข อย่างนี้มันจะลงรอยกันกับเรื่องนี้หรือเปล่า
- พระธรรมเป็นเรื่องละเอียด และ ต้องพิจารณาทีละขณะจิต ขณะที่ตื่นขึ้นมาแล้ว บอกว่า เมื่อกี้หลับไปรู้สึกเฉยๆ ในความเป็นจริง ขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้เลย เพราะ ภวังคจิต เป็นจิตที่ไม่อาศัยทวารเกิดขึ้น ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ครับ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไปรู้ความรู้สึกในขณะที่หลับสนิท
เพราะฉะนั้น ก็เป็นการนึกเดาเอาเองของผู้ที่หลับและตื่นขึ้นมา ว่าเฉยๆ เพราะ ยังไงก็นึกไม่ออกถึง ภวังคจิต เพราะ ดับไปนานแล้ว ครับ และ ไม่มีทางที่จะรู้ได้ในขณะที่หลับสนิท และ ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนา หลับก็เป็นโสมนัสเวทนา
ในความเป็นจริง ความรู้สึกโสมนัสนั้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อหลับจะต้องเกิดการยิ้ม หรือ มีความสุข แต่เป็นเวทนาเจตสิกที่เกิดกับจิตชาติวิบาก ตัวเจตสิกนั้นก็เป็นชาติวิบากไปด้วย เป็นเพียง ทำหน้าที่รู้สึก โดยเป็นชาติวิบาก ไม่ได้มีกำลังเลย ครับ เพราะ เป็นภวังคจิต เปรียบเหมือนตอนตาย จุติจิตเกิด เพียงขณะเดียว ไม่ได้หมายความว่า คนที่ตายจะต้องมามีความสุข ในขณะที่จุติจิตเกิด แต่เป็นเพียงโสมนัสเวทนาที่ทำหน้าที่รู้สึกโสมนัสที่ไม่มีกำลัง อ่อนมาก และเป็นจิตชาติวิบาก ที่เป็นผลของกรรม
และขณะที่บอกว่า อยากนอนเหลือเกิน นอนแล้วมีความสุข ขณะที่ภวังคจิต เกิดขึ้น ที่หลับสนิท จะไม่รู้ตัวเลยว่ามีความสุข เพราะ เป็นจิตชาติวิบาก และ ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้ แต่เมื่อตื่นขึ้นมา แล้ว สบาย สดชื่น ขณะนั้น สบาย ก็เกิดความสุข โสมนัส
ในขณะที่ตื่น ก็พอใจ ความสบาย ที่เกิดจาการตื่นในขณะนั้น ไม่ใช่ขณะที่หลับสนิทครับ เพราะ ไม่สามารถรู้ได้ในขณะที่หลับสนิท เพราะฉะนั้น จึงเป็นคนละขณะจิต ตื่นขึ้นมาสบาย มีความสุข ตื่นแล้ว จึงติดในเวทนานั้น ที่ตื่นแล้ว ไม่ใช่ที่กำลังหลับสนิท ครับ การอยากนอน จึงเป็นโลภะที่ติดข้อง ที่เกิดขึ้น จากการติดในเวทนา มีโสมนัสเวทนาที่สบายหลังจากตื่นแล้ว ครับ
ซึ่งในความเป็นจริง การอยากนอน ชอบนอน ไม่ได้ตัดสินว่าจะทำให้เป็นภวังคจิตที่โสมนัสตามที่กล่าวมา เพราะ โดยทั่วไป ส่วนมาก สัตว์โลก ย่อมไม่อิ่ม คือ พอใจ ด้วยเหตุประการหนึ่ง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ การไม่อิ่มในการนอน หรือ ชอบนอน ประการหนึ่ง ครับ ดังนั้น โดยมากจึงชอบนอน ไม่ใช่เฉพาะว่า จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัส หรือ ภวังคจิตที่เป็นโสมนัส ครับ
งั้นก็แปลว่าเราสามารถทราบได้ว่า บุคคลใดปฏิสนธิด้วยจิตดวงไหนได้ด้วยวิธีนี้หรือเปล่า?
- เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถตัดสินได้ ด้วยวิธีนี้ ตามเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมีวิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือ ภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุปัจจัย
ภวังคจิต ของบุคคลผู้เกิดเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดนั้น เป็นวิบากจิต ที่ประกอบด้วยเหตุ คือ เป็นสเหตุกกุศลวิบาก เพราะอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย ๒ เหตุ คืออโลภะ กับ อโทสะ ถ้าเป็นผู้ปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๓ ก็มี ปัญญา (อโมหะ) เกิดร่วมด้วย และนอกจากจะมีกุศลวิบากในชีวิตประจำวัน แล้ว อกุศลวิบาก ก็มีเช่นกัน ซึ่งเป็นวิบากจิต ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ยกตัวอย่างเช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีใครทำให้
เราไม่สามารถทราบได้ว่าเราปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือ เหตุ ๓ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ล่วงเลยไป ควรอย่างยิ่งที่จะสะสมปัญญาต่อไป เพราะ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เวลาของการฟังพระธรรม ในชาตินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...