นามรูปปริจเฉทญาณ

 
นิรมิต
วันที่  21 ส.ค. 2555
หมายเลข  21594
อ่าน  7,682

ขอกราบเรียนถามมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีความสงสัยเรื่องนามรูปปริจเฉทญาณครับ คือ ขณะนั้น ที่ชื่อว่า นามรูปปริจเฉทญาณ คือ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมะแต่ละลักษณะอย่างรวดเร็วจริงๆ คือ อะไรเกิดก็ระลึกได้หมด จนปรากฏเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ไม่เนื่องกันเหมือนแต่ก่อน

อย่างเช่น พอรูปารมณ์ปรากฏ ก็รู้ชัดว่านี่รู้ปารมณ์ ต่อจากนั้นถ้าสัททารมณ์ปรากฏก็รู้ว่านี่สัททารมณ์ ไม่เนื่องกับรูปารมณ์ หรืออะไรก็ตามปรากฏทางปัจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว แล้วมโนทวาราวัชชนจิตเกิด ก็รู้ว่านี่มโนทวาราวัชชนจิต แค่ไม่ได้ปรากฏเป็นตัวเราคิด เป็นตัวเราเห็น หรือเป็นโลกทั้งโลกที่สืบเนื่องกัน เห็นแต่ละลักษณะ จะเห็นจะได้ยิน ... กระทบสัมผัสหรือคิดนึกไปในเรื่องราวอะไรก็ตามแต่ มีสติเกิดระลึกในแต่ละอย่างตลอดจนโลกทั้งโลกไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ลักษณะแต่ละลักษณะที่จิตกระทำกิจนั้นๆ

เข้าใจอย่างนี้ถูกหรือเปล่าครับ? หรือมีลักษณะอย่างหนึ่ง ที่เป็นสภาพธรรมที่ชื่อว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ที่เป็นชื่อของจิตดวงหนึ่งเกิด แล้วกระทำกิจรู้ว่ารูปกับนามต่างกัน

อย่างไหนคือนามรูปปริจเฉทญาณครับ?


อีกคำถามครับ ลักษณะของอาการ "เข้าใจ" คือ มีอาการเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ในเรื่องทางโลกก็ดี ในเรื่องทางธรรมก็ดี คือ แค่ "เข้าใจ" ลักษณะของอาการ "เข้าใจ" ที่มันรู้สึกว่า "อ้อ" หรืออาการ "ถึงบางอ้อ" เนี่ย เป็นจิตอะไร เป็นปัญญาหรือเปล่า? หรือเป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ แล้วโดยส่วนมากคือจิตประเภทไหนครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
นิรมิต
วันที่ 21 ส.ค. 2555

สงสัยเพิ่มเติมครับ ขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณนี่ เกิดตอนไหนก็ได้เมื่อปัจจัยพร้อมใช่ไหม

อย่าง เกิดระหว่างการเดิน กระทำกิจการงาน หรืออะไรก็ได้ใช่ไหม ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดตอนจิตไม่คิด แล้วนั่งระลึกสภาพธรรม คือ ขณะทำงานก็ดี กำลังประชุมก็ดี กำลังใช้หัวคิดเรื่องนั้นนี้ก็ดี ขณะนั้นถ้าปัจจัยพร้อม แล้วสติเกิด นามรูปปริจเฉทญาณก็เกิดได้ทุกที่ใช่ไหม

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นวิปัสสนาญาณ ขั้นที่ ๑ ที่เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ ที่รู้ตามความเป็นจริงของนามธรรมและรูปธรรม ที่แยกขาดจากกันอย่างชัดเจน เพราะ ปัญญาคมกล้า ในขณะนั้น ครับ โดยไม่ใช่เพียงการรู้ลักษณะของรูปเท่านั้น ก็ไม่สามารถรู้ความแตกต่าง เพราะ ไม่รู้ลักษณะของนาม แต่ต้องประจักษ์ตัวนามธรรมด้วย และ ปัญญาถึงพร้อม เห็นถึงความแตกต่างแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดทางมโนทวาร ทางใจที่สามารถรู้นามธรรมได้ ครับ ซึ่งขณะนั้น โลกสมมติ อัตตา ความเป็นสัตว์ บุคคล ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่สภาพธรรม แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตที่เป็นวิปัสสนาญาณ เกิด ครับ


สงสัยเพิ่มเติมครับ ขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณนี่ เกิดตอนไหนก็ได้เมื่อปัจจัยพร้อมใช่ไหม อย่าง เกิดระหว่างการเดิน กระทำกิจการงาน หรืออะไรก็ได้ใช่ไหม ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดตอนจิตไม่คิด แล้วนั่งระลึกสภาพธรรม คือ ขณะทำงานก็ดี กำลังประชุมก็ดี กำลังใช้หัวคิดเรื่องนั้นนี้ก็ดี ขณะนั้นถ้าปัจจัยพร้อม แล้วสติเกิด นามรูปปริจเฉทญาณก็เกิดได้ทุกที่ใช่ไหม

- ถูกต้อง ครับ เพราะว่า การรู้ความจริง ก็คือ รู้ตัวสภาพธรรม ที่กำลังมีกำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำงาน อยู่ที่ไหน ไม่ปราศจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมเลย จะขาดเพียงปัญญาที่จะไปรู้เท่านั้น

และ ในความเป็นจริง คิดเกือบตลอดเวลา แม้เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็นเป็นคนนั้น คนนี้ ยังไม่รู้สึกชอบ หรือ ไม่ชอบเลย ขณะนั้นก็ชื่อว่าคิดแล้ว คิดเป็นเรื่องราวเป็นสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น จิตก็มี เจตสิกก็มี รูปก็มี ในชีวิตประจำวัน เมื่อปัญญาถึงพร้อม สติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณ และจนถึงการดับกิเลส ถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็สามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อปัญญาถึงพร้อม ครับ

แม้ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมมา ต้องไปอยู่ในคุก แต่ ท่านก็บรรลุธรรมในคุก เพราะปัญญาเกิดถึงพร้อมในขณะนั้น เพราะ ในคุก หรือที่ไหน ก็ไม่ปราศจากธรรม โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องไปหาธรรม ที่ห้องปฏิบัติ หรือ ในป่าเลย สำคัญ คือ การอบรมเหตุ คือ ปัญญา ให้เจริญขึ้นเป็นสำคัญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 21 ส.ค. 2555

อีกคำถามครับ ลักษณะของอาการ "เข้าใจ" คือ มีอาการเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ในเรื่องทางโลกก็ดี ในเรื่องทางธรรมก็ดี คือ แค่ "เข้าใจ" ลักษณะของอาการ "เข้าใจ" ที่มันรู้สึกว่า "อ้อ" หรืออาการ "ถึงบางอ้อ" เนี่ย เป็นจิตอะไร เป็นปัญญาหรือเปล่า? หรือเป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ แล้วโดยส่วนมากคือจิตประเภทไหนครับ?

- ความเข้าใจ ก็เป็นศัพท์ทั่วไปที่ใช้กัน ดังนั้น วิชาทางโลก เรื่องราว การตัดสินใจ การทำงานที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ใช้คำว่า เข้าใจ คือ เข้าใจในเหตุผลของเรื่องราวนั้น ตามทฤษฎี ตามหลักการนั้น ที่บัญญัติไว้ว่า ๔ บวก ๔ เป็น ๘ และ มีคำถามประยุกต์ก็ตอบได้ ก็ใช้คำว่า อ๋อ เข้าใจในเรื่องนั้น ซึ่งก็ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่กำหนดขึ้นของปุถุชน

ดังนั้น การเข้าใจ อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ปัญญาในพระพุทธศาสนา เพราะ ไม่ใช่การรู้ตามความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน ครับ แต่ก็เป็นความต้องการที่คิดนึก และนึกได้ด้วยโลภะก็ได้ครับในเรื่องทางโลก ซึ่งปัญญาในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นความเห็นถูก ที่รู้ตามความเป็นจริงของกฎของธรรม สัจจะ เช่น ในเรื่องเหตุและผล ที่เป็นกรรม และ ผลของกรรม ก็ชื่อว่า ปัญญา การรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็ชื่อ ปัญญา ความเข้าใจในเรื่องราวทางโลก และ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมในพระพุทธศาสนาต่างกัน ด้วยว่า ความเข้าใจทางโลกแต่ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ แต่ ความเข้าใจ ที่เป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญาหรือความเข้าใจที่เกิดขึ้น ละความไม่รู้ และ ละกิเลส ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
akrapat
วันที่ 6 ก.ย. 2555

ถ้ายังสงสัยอยู่ แสดงว่า รู้ยังไม่ชัด ถ้ารู้ชัดแล้วจะไม่สงสัย รู้ชัดคือ คือ รู้ว่าแต่ละขณะ มันแยกกันโดยชัดเจน มันถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญา ถ้ารู้แล้วยังสงสัยอยู่ว่าใช่หรือไม่ แสดงว่ายังไม่ใช่ตัวปัญญาหรอก แต่อนุโมทนาครับ ค่อยๆ สังเกต ค่อยศึกษาไป วันใดวันหนึ่ง ถ้ารู้ชัดขึ้นมา คำถามก็คงไม่มี

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sea
วันที่ 14 ก.พ. 2565

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Naiyadee
วันที่ 13 พ.ค. 2565

อนุโมทนาสาธุด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kornisasuwan
วันที่ 10 ส.ค. 2565

ถ้าถึงเฉพาะ แสดงว่าปัญญาทำกิจอย่างนั้นๆ จนสิ้นสงสัยใช่มั้ยคะ

ขออนุโมทนาอย่างยิ่งที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ส.ค. 2565

การศึกษาตั้งแต่เบื้องต้น คือการฟังพระธรรม ก็ต้องเริ่มให้ถูกต้องว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมแต่ละอย่างที่เกิดจากเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วในแต่ละขณะ ซึ่งความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นนี้ จะนำไปในหนทางที่ถูกต้องในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ตามความเป็นจริงต่อๆ ไป

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ