ศีลกับวินัย

 
miran
วันที่  21 ส.ค. 2555
หมายเลข  21595
อ่าน  9,969

ศีลกับวินัยอย่างเดียวกันหรือไม่

มีข้อเหมือนหรือแตกต่าง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่คำว่า ศีล และ วินัย ก็มีความละเอียดลึกซึ้งเพราะ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่มีความลึกซึ้งในตัวของมันเอง

คำว่า วินัย โดยความหมายทางโลก หมายถึง ระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติ เป็นวินัย แต่ในความเป็นจริง ในพระพุทธศาสน วินัย หมายถึง เครื่องกำจัด กำจัดอย่างวิเศษ ขัดเกลาอย่างวิเศษ กำจัด ขัดเกลาอะไร ก็ต้องเป็นการกำจัด สภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรมและกิเลส สภาพธรรมอะไรก็ตามที่กำจัดเสียซึ่งความไม่ดี ชื่อว่า วินัย

วินัย มี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย และ ปหานวินัย

สังวรวินัย คือ เครื่องกำจัดกิเลส ด้วยการสังวร หรือ สำรวม ซึ่งแบ่งเป็นสังวร ๕ อย่าง คือ สีลสังวร สติสังวร ขันติสังวร ญาณสังวร วิริยสังวร

สังวรทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นส่วนหนึ่ง ของ วินัย ที่เป็น สังวรวินัย ซึ่ง สีลสังวร ก็คือ การสำรวมด้วยศีล ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็ศีล ๕ ถ้าเป็นบรรพชิต ก็สิกขาบท เพราะ สีลสังวร เป็นวินัย เพราะ กำจัดกิเลสที่หยาบทางกาย วาจา สติสังวร คือ การสำรวมด้วยสติ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ลักษณะสภาพธรรมทางตา หู ... ใจ ญาณสังวร การสำรวมด้วยปัญญา ขันติสังวร ัการสำรวมด้วยขันติ และ วิริยสังวร การสำรวมไม่ให้กิเลสเกิดด้วย วิริยะ จะเห็นนะครับว่า ที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดกิเลส ที่เป็นอรรถ ความหมายของวินัย

ศีล

ส่วน ศีลนั้นก็มีหลากหลายนัย ศีล หมายถึง ความประพฤติที่งดเว้นทางกาย วาจา ก็ได้ (วารีตศีล) ศีล ยังหมายถึง การประพฤติสิ่งที่สมควรทางกาย วาจา (จารีตศีล) มีการเลี้ยงดู มารดา บิดา เป็นต้น และศีล ยังหมายถึง ความเป็นปกติ ที่เป็นทั้งกุศลศีล อกุศลศีล แต่เมื่อกล่าวโดย ศีลที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อละกิเลส ย่อมมุ่งหมายถึง กุศลศีล ดังนั้น ศีลที่งดเว้นทางกาย วาจา ก็เช่น ศีล ๕ ศีลของพระภิกษุ จึงชื่อว่า สีลสังวร

ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในพระไตรปิฎก ทรงแสดง ว่า ศีล มี ๔ อย่าง คือ

๑. เจตนา เป็น ศีล

๒. เจตสิก เป็น ศีล

๓. ความสำรวม สังวร เป็นศีล

๔. อาการไม่ก้าวล่วง เป็นศีล

เจตนา เป็น ศีล หมายถึง เจตนาที่งดเว้นจาก การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น เช่น ยุงกัด ก็ไม่ตบ ขณะที่งดเว้น ไม่ตบในขณะนั้น ก็เป็น ศีล ที่เป็นเจตนาศีล เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์

เจตสิก เป็น ศีล คือ การงดเว้นจากความโลภ (อนภิชฌา) งดเว้นจากการพยาบาท (อพยาบาท) และ มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) ชื่อว่า เจตสิกศีล

การไม่ก้าวล่วงเป็นศีล คือ เจตนาสมาทานศีล หรือที่ถือเอาด้วยดี ด้วยตั้งใจที่จะขอรักษาศีล เช่น ไปต่อหน้าพระ และขอสมาทานจะรักษาศีล ขณะนั้นมีเจตนาที่จะประพฤติ รักษากาย วาจาที่เป็นไปด้วยดี ชื่อว่า เป็นศีล เพราะ มีความไม่ก้าวล่วงด้วยการสมาทานศีล ครับ จึงเป็นศีล

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ส.ค. 2555

ความสำรวม หรือ สังวร เป็น ศีล ความสำรวม สังวรในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการสำรวมภายนอกที่ทำสำรวม กิริยาสำรวม แต่ สำรวม สังวร หมายถึง การสำรวมด้วยจิตที่เป็นกุศล มุ่งที่ จิต เป็นสำคัญ ซึ่งการสำรวม หรือ สังวรนั้นมี ๕ ประการ คือ

ปาฏิโมกขสังวร คือ การประพฤติงดเว้นและปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุ ชื่อว่า เป็นศีล

สติสังวร คือ การมีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชื่อว่า สติสังวร เป็นศีล

ญาณสังวร ปัญญาเกิด ละกิเลส ชื่อว่า สังวรด้วยปัญญาและการพิจารณาสิ่งที่ได้มาที่เป็นปัจจัย มี อาหาร เป็นต้นของพระภิกษุ พิจารณาด้วยปัญญาแล้วจึงบริโภค ก็ชื่อว่า ญาณสังวร เป็นศีลในขณะนั้นด้วยครับ คือ ปัจจยสันนิสิตตศีล

ขันติสังวร ความเป็นผู้อดทนต่อหนาวและร้อน เป็นต้น ชื่อว่า สำรวมด้วยขันติ

วิริยสังวร คือ ปรารภความเพียรไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญขึ้น เป็นต้น ชื่อว่าสำรวมด้วยวิริยะ

จากที่กล่าวมา จะเห็นนะครับว่า ศีล นั้น เป็นส่วนหนึ่งของวินัย คือ สังวร ๕ ที่เป็นศีลก็เป็น วินัย และ สีลสังวร ก็เป็นส่วนหนึ่งของวินัย ด้วยเหตุผลที่ว่า วินัย หมายถึง เครื่องกำจัดกิเลส เพราะฉะนั้น ศีล ก็เป็นธรรมส่วนหนึ่ง ที่กำจัดกิเลส วินัย จึงกว้างกว่า ศีล โดยนัยนี้ ครับ

วินัย ยังแบ่งเป็น สังวรวินัย ได้กล่าวไปแล้ว และยังแบ่งเป็น ปหานวินัย ซึ่ง มี ๕ อย่างดังนี้

ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน สมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน และนิสสรณปหาน

ปหาน หมายถึง การสละ การละ ซึ่งก็มีหลากหลายนัยดังนี้ ครับ

ตทังคปหาน คือ การละองค์นั้นๆ ด้วยวิปัสสนาญาณ เช่น ขณะที่เกิดวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ก็ละ ความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ชั่วขณะนั้น ละ ความไม่รู้ กิเลสในชั่วขณะนั้น ครับ เป็นวินัย เพราะ กำจัดกิเลสในขณะนั้นชั่วขณะ

วิกขัมภนปหาน หมายถึง ฌานขั้นต่างๆ ขณะนั้น ละ กำจัด นิวรณ์ มีความติดข้องในขณะนั้น เป็นต้น ครับ

สมุจเฉทปหาน การละกิเลสได้เด็ดขาด ด้วย มรรคทั้ง ๔ ชื่อว่า สมุจเฉทปหาน

ปฏิปัสสัทธิปหาน คือ ขณะที่เป็นผลจิต เป็นการระงับกิเลสที่ละได้แล้ว

นิสสรณปหาน คือ พระนิพพาน เพราะ ละ สภาพธรรมที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง คือ จิต เจตสิก รูป ไม่มีอีกเลยในพระนิพพาน ครับ

สรุปได้ว่า การละทั้งหมด การกำจัดทั้งหมด เป็นวินัย วินัยจึงกว้างขวาง ครอบคลุมทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา มรรค ผล นิพพาน

ส่วนศีล แคบกว่า เป็นเพียงศีล และเป็นส่วนหนึ่งของวินัย เพราะ ศีล ก็เป็นเครื่องกำจัด ละกิเลสได้เช่นกัน แต่ก็ตามระดับของศีล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
miran
วันที่ 23 ส.ค. 2555

อธิบายได้ดีทำให้เข้าใจมากขึ้นครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 23 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุครับ

ขอรบกวนถามปัญหาเพิ่มเติมด้วยครับ จากที่ว่า

เจตสิก เป็น ศีล คือ การงดเว้นจากความไม่โลภ (อนภิชฌา) งดเว้นจากการพยาบาท (อพยาบาท) และ มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) ชื่อว่า เจตสิกศีล

มีความสงสัยว่า การงดเว้นจากความไม่โลภ (อนภิชฌา) นี่คืออย่างไรหรือครับ ทำไมจึงงดเว้นจากความไม่โลภ แทนงดเว้นจากความโลภอ่ะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 23 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

พิมพ์ผิดครับ ได้แก้ไขแล้ว ขออนุโมทนาที่ช่วยตรวจดู ครับ ต้องเป็นงดเว้นจากความโลภ ตามที่คุณนิรมิตกล่าวไว้ครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ นั้น มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง

สำคัญที่ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใดก็ตาม ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า พระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นไปเพื่อกำจัดขัดเกลาบาปธรรม ขัดเกลาธรรมที่เป็นอกุศลไปตามลำดับ จนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้น แม้ในเรื่องของศีล ก็ดี วินัย ก็ดี ไม่พ้นไปจากการขัดเกลากิเลส ถ้ากล่าวโดยความหมายแล้ว วินัย มีความหมายหลายอย่าง แต่ที่พอจะเข้าใจได้ชัดเจนที่สุด คือ วินัย แปลว่า ขจัดธรรมฝ่ายเศร้าหมองออกไป พระธรรมทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เป็นเพื่ออย่างนี้

สำหรับ ศีล มีอรรถที่กว้างขวางมาก การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ก็เป็นศีล การน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม ก็เป็นศีล การสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ปิดกั้นไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นที่เป็นการสำรวมอินทรีย์ ก็เป็นศีล, ในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์มรรค ทั้ง ๘ องค์ ซึ่งมีองค์ของศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) ด้วย ก็เป็นศีล ที่เป็นโลกุตตรศีล ทั้งหมดนั้น ก็ล้วนเป็นไป เพื่อกำจัดขัดเกลากิเลสเช่นเดียวกัน

เมื่อมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มากยิ่งขึ้น เข้าใจเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้มีการงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เราที่รักษาศีล แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น เป็นศีลที่ประกอบด้วยปัญญา ศีลจะบริสุทธิ์ขึ้น เพราะมีความเข้าใจถูก เห็นถูกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 29 ก.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Komsan
วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 พ.ค. 2561

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ต๊ะ
วันที่ 1 ต.ค. 2562

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 16 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Witt
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ก.ไก่
วันที่ 11 ก.ย. 2563

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ