อิทธบาท ๔ .

 
Thanapolb
วันที่  21 ส.ค. 2555
หมายเลข  21596
อ่าน  3,683

ขอเรียนถามเรื่อง อิทธิบาท ๔ ซึ่งเคยได้ยินมานาน แม้ในที่ทำงานหรือในสถานศึกษา ก็มีท่านผู้หลักผู้ใหญ่ นำมากล่าวให้บุคคลได้เป็นข้อคิด คติ ในการทำกิจการงานให้สำเร็จ แต่เมื่อมาศึกษาเรื่องสภาพธรรมแต่ละอย่างในอิทธิบาท ๔ ก็รู้ (จากการฟัง การอ่าน) ฉันทะ วิริยะ เป็นเจตสิก จิตตะ เป็นจิต ที่เป็นไปได้ทั้งกุศล และอกุศล ยกเว้นวิมังสา ซึ่งเป็นปัญญาเจตสิก แสดงว่า ในพระพุทธศานา ถ้ากล่าวถึง อิทธิบาท ๔ ก็ย่อมหมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ฝ่ายกุศล

แต่ที่เขานำมาสอนกันทั่วไปทางโลก ก็มีความคลาดเคลื่อนจากพระธรรม ใช่ไหมครับ เพราะถ้าเอามาใช้กับการงาน ก็ไม่พ้นเรื่องโลภะ เสียส่วนมาก

แต่แม้จะใช้กับทางโลก การที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ต้องดูกันเป็นขณะจิตว่า ขณะที่กำลังมีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ ก็อาจมีขณะที่กุศลเกิดบ้างก็ได้ เรียกว่าเกิดกุศล อกุศล สลับกันได้ แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมก็เป็นไปกับอกุศลมากกว่า ใช่ไหมครับ ขอคำชี้แนะด้วย

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิทธิบาทที่เป็นทางแห่งความสำเร็จที่ไม่ได้คิดเองแต่เป็นไปตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นอย่างไร เมื่อเราเข้าใจอิทธิบาทได้ถูกต้องจริงๆ แล้ว ก็จะไม่สงสัยและไม่ปนกับทางโลกที่เข้าใจกันครับ

อิทธิบาท คือทางหรือที่ตั้งให้สำเร็จ ก็ต้องเข้าใจว่าสำเร็จอะไร สำเร็จการงานทางโลกหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ทางแห่งความสำเร็จในสมถภาวนาที่เป็นฌาน และสำเร็จซึ่งวิปัสสนาภาวนาที่เป็นวิปัสสนาและมรรค ไม่ใช่ความสำเร็จในกิจการงาน ในการเล่าเรียนทางโลก ครับ

ดังนั้น อิทธิบาท จึงหมายถึงสิ่งที่ให้สำเร็จซึ่งเป็นสมถภาวนาที่เป็นฌานและวิปัสสนา รวมถึงมรรคจิตด้วย ดงให้เห็นว่าจะเป็นอกุศลไม่ได้เลย จะต้องเป็นกุศลเท่านั้น

ฌานเป็นกุศล วิปัสสนาเป็นกุศล มรรคจิตเป็นกุศล อิทธิบาทจึงหมายถึงความสำเร็จ ที่เป็นไปในฝ่ายกุศลที่เป็นฌานและวิปัสสนา มรรคจิต ครับ

แต่กุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้ในขณะที่ทำงานที่ไม่ใช่การเจริญฌาน สมถภาวนา และ วิปัสสนา ที่เป็นสติปัฏฐาน แม้จะเกิดกุศลขั้นทาน ศีล การมีเมตตา เพียงชั่วขณะ การช่วยเหลือ เป็นต้น ไม่จัดเป็นอิทธิบาท แม้จะเป็นกุศลก็ตาม ครับ

อิทธิบาท ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา (ปัญญา)

ฉันทะ คือ ความพอใจ ที่เกิดได้ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต แต่เมื่อเป็นอิทธิบาทแล้ว จะต้องเป็นฉันทะที่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น และต้องเป็นไปในสมถภาวนา และ วิปัสสนาเท่านั้น เพราะ เป็นอิทธิบาท

วิริยะ เกิดกับจิตที่เป็นกุศล อกุศลก็ได้ แต่เมื่อเป็นอิทธิบาทแล้ว วิริยะ ความเพียรนั้น จะต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น ในระดับขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาหรือมรรคจิต

จิตตะ คือ จิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นกุศลเท่านั้น ระดับสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

ส่วน วิมังสา คือ ตัวปัญญา ที่เป็นปัญญาระดับสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา หรือ ระดับมรรคจิต

สรุปได้ว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ในอิทธิบาท จะต้องเป็นกุศล แต่ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา คือ จะต้อเป็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ที่เป็นขั้น สมถภาวนาที่เป็นฌาน และ เป็นฉันทะ วิริยะ จิตตะ ในขั้นวิปัสสนาภาวนา ไม่ใช่เพียงกุศลทั่วๆ ไป จะเป็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ในอิทธิบาท ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 22 ส.ค. 2555

การทำการงานที่ทำกันอยู่จนสำเร็จ ขณะที่ต้องการกำลังหมกมุ่น ให้งานสำเร็จ จิต เป็นอะไร เป็นอกุศลหรือกุศล ครับ หรือว่ามีความต้องการที่เป็นโลภะให้สำเร็จ และขณะนั้น ก็มี โทสะ ประกอบด้วย ขณะที่ไม่พอใจเพียงเล็กน้อย ขณะที่ทำ และ ขณะที่เป็นอกุศล มีโมหะด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นอกุศล จะเป็นอิทธิบาทไม่ได้ครับ

และแม้เกิดกุศลจิตสลับในขณะที่ทำงาน ก็ต้องพิจารณาว่า หากไม่ใช่กุศลที่เป็นขั้นการเจริญฌาน ขั้นวิปัสสนาที่เป็นสติปัฏฐาน กุศลที่เกิดนั้นในขณะที่ทำงานจึงไม่ใช่อิทธิบาทครับ

ซึ่ง ขณะทำงานกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม หรือไม่ กำลังแทงตลอดสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมหรือไม่ อันเป็นการอบรมวิปัสสนา เพราะ อิทธิบาท หมายถึงทางแห่งความสำเร็จที่เป็นไปในการอบรมวิปัสสนาด้วย แต่ขณะทำงานแล้วสำเร็จ ไม่ใช่หนทางในการอบรมวิปัสสนา เลยจึงไม่ใช่อิทธิบาท ครับ

เพราะฉะนั้น เราจะเอาคำว่าอิทธิบาทมาใช้ว่า ทางแห่งความสำเร็จในเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะอิทธิบาท มุ่งหมายถึงการอบรมปัญญา ที่เป็นไปในฝ่ายกุศลขั้นสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา และอิทธิบาท ยังเป็นองค์ธรรมเครื่องตรัสรู้ การทำการงานจนสำเร็จ จึงไม่ใช่อิทธิบาท เพราะไม่ใช่สมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่มรรคจิต และ ไม่ใช่องค์ธรรมการตรัสรู้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 22 ส.ค. 2555

ซึ่งก็สามารถพิจารณาโดยละเอียดได้ครับว่า การทำงานจนสำเร็จ เล่าเรียนจนสำเร็จ จำเป็นไหม จะต้องเป็นไหม จะต้องเป็นอิทธิบาท ขณะนั้นมี ฉันทะ ได้ไหมในการทำงาน มีครับ แต่อย่าลืมว่า ฉันทะ เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ ขณะนั้นมีความต้องการที่จะให้สำเร็จ จึงเป็นโลภะที่ประกอบด้วยฉันทเจตสิกครับ มีวิริยะได้ไหม ได้ครับ แต่วิริยะเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้น เป็นความเพียรที่เกิดกับโลภมูลจิตที่เป็นอกุศล ครับ มีจิตด้วย เพราะจะทำการงานไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิต แต่จิตเป็นอกุศล มีวิมังสาไหม ไม่มี ครับ และ แม้กุศลทั่วไป ที่เกิดในขณะที่ทำงาน แม้งานจะสำเร็จด้วยกุศลที่เกิดสลับ แต่เมื่อไม่ใช่กุศลขั้นฌาน และ วิปัสสนา ก็ไม่ใช่วิมังสา ถ้าเป็นวิมังสาแล้ว ต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เป็นไปในระดับสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีวิมังสา ครับ

การทำการงานจึงสำเร็จได้ แม้ อกุศลจิต ก็ได้ ครับ มีให้เห็นทั่วไป สำหรับคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม แต่ทำการงานสำเร็จ เรื่องต่างๆ มากมาย ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นอิทธิบาท เมื่อทำการงานสำเร็จครับ

เพราะฉะนั้นการแปลความหมายของคำว่าอิทธิบาท จะมาใช้โดยคิดเองในเรื่องอื่นไม่ได้ ครับ ต้องพิจารณาคำอธิบายเพิ่มเติม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่ามุ่งหมายถึงอะไรในเรื่องของอิทธิบาท ครับ

ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ละเอียดในการศึกษาพระธรรม

เชิญอ่านข้อความพระไตรปิฎกที่แสดงคำอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องอิทธิบาท

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 226

บทว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา

ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอิทธิบาท ๔ ซึ่งรวมอยู่หมวดเดียวกัน โดยอรรถว่า เป็นเครื่องสำเร็จ มีสภาวะต่างกันด้วยอำนาจสภาพ มีความพอใจ เป็นต้น ซึ่งเจือกันทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตตระ ด้วยอำนาจแห่งสมถะ วิปัสสนาและมรรค โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท ซึ่งประกอบด้วยความพอใจ ความตั้งใจมั่น ความเพียรและการปรุงแต่ง ดังนี้.

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม เป็นจิตเกิดดับสืบต่อกันทีละขณะ จะเห็นได้ว่า ถ้าขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้เป็นไปในเรื่องของกุศล ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล การอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด (ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก และ กิริยา) นี้คือ ความเป็นจริง อกุศลจิตเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน ถ้าจะมีกุศลเกิดบ้าง ก็แทรกสลับกับอกุศลซึ่งมีเป็นอย่างมาก

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ไม่คิดเอง ถ้าคิดเอาเองก็ย่อมจะไม่ตรงตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง

แม้แต่ในเรื่องของอิทธิบาท ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นบาท หรือเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งความสำเร็จ (แปลได้ แต่ความเข้าใจมีหรือไม่ ต้องพิจารณาจริงๆ ) อิทธิบาททั้ง ๔ ประการ เป็นธรรมขั้นสูง เป็นฝักฝ่ายในการตรัสรู้อริยสัจจธรรม

ขอยกตัวอย่างประกอบ ในเรื่องของการคิดธรรมเอง

ในสมัยที่กระผมเป็นเด็กนักเรียน เวลาเข้าห้องเรียน คุณครูก็จะให้ร้องเพลงอิทธิบาท ๔ เพราะ คุณครูบอกว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนให้ประสบความสำเร็จ มีความสำเร็จในการเล่าเรียน เป็นต้น มีว่า "ฉันทะ คือ ความพอใจ วิริยะนั้นไซร้ คือ ความขยัน จิตตะ ตั้งใจไว้มั่น วิมังสา นั้นหมั่นนึกตรึกตรอง" ซึ่งก็ไม่ถูกตั้งแต่ต้น เพราะอิทธิบาททั้ง ๔ ประการ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสำเร็จ สำเร็จในที่นี้ คือ สำเร็จเป็นฌานขั้นต่างๆ หรือ สำเร็จด้วยการแจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ไม่ใช่ความสำเร็จในการเล่าเรียน หรือ สำเร็จในการประกอบอาชีพการงาน

แต่เมื่อกล่าวถึงความสำเร็จในทางโลก เช่น สำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน สำเร็จในการประกอบอาชีพ ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง ไม่พ้นไปจากความพอใจในการทำงาน ไม่พ้นไปจากความขยันหมั่นเพียร เพราะเหตุว่า ผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการประกอบอาชีพการงาน ย่อมถึงสำเร็จในทางโลก ตามที่เข้าใจได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นไปในอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล

เพราะขณะใดก็ตาม ที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต และ ในการอบรมเจริญปัญญาแล้ว นอกนั้น เป็นอกุศลทั้งหมด (ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบากจิตและกิริยาจิต) ถึงจะมีฉันทะ มีวิริยะ แต่ก็ไม่ใช่อิทธิบาท

ดังนั้น ในการศึกษาพระธรรม จึงจะต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อมีความมั่นคงในความเป็นจริงแล้ว ใครจะกล่าวอย่างไร ก็ยังคงมีความมั่นคงในความถูกต้องตามพระธรรมได้ เพราะสิ่งใดผิด คือ ผิด สิ่งใดถูก คือ ถูก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Lamphun
วันที่ 23 ส.ค. 2555

เพลงอิทธิบาท ๔ ผมก็เคยท่องครับ

พระธรรม จะมาอธิบายกันโดยย่อ นี่ไม่ได้เลยนะครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 23 ส.ค. 2555

อิทธิบาท ๔ ต้องเกิดกับกุศลเท่านั้น เป็นโลกุตตรก็ได้ หรือ เป็น โลกียะก็ได้ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีอิทธิบาท ๔ เกิดร่วมด้วย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณอ. ผเดิม, อ. คำปั่น และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 16 ส.ค. 2562

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kornisasuwan
วันที่ 10 ส.ค. 2565

กราบอนุโมทนาด้วย กับอาจารย์เผดิมและ อาจารย์คำปั่นที่กรุณามาให้ ได้ความรู้เรื่อง อิทธิบาท 4 อย่างถูกต้องค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ