สติปัฎฐาน และ ปัญญา ที่เกิดทางปัญจทวาร

 
peeraphon
วันที่  22 ส.ค. 2555
หมายเลข  21600
อ่าน  2,287

เรียนถามท่านอาจารย์ครับ

จากการศึกษาพระธรรม เข้าใจว่า สติปัฎฐาน และ ปัญญา สามารถเกิดได้ทางมโนทวารวิถี เท่านั้น ไม่สามารถเกิดทาง ปัญจทวารทั้งห้าได้. แต่พอศึกษาลงไปอีก ก็เข้าใจว่า หาก สติปัฎฐาน และ ปัญญาเจตสิก ไม่สามารถเกิด ทางปัญจทวารทั้งห้าได้แล้ว จะดับ กิเลส ทั้งห้าทวารได้อย่างไร

จึงอยากขอความอนุเคราะห์ จากท่านอาจารย์ว่า อันที่จริงแล้ว สติปัฎฐานสามารถเกิดได้ทางปัญจทวารหรือไม่ครับ? เนื่องด้วยจากการพิจารณาสภาพธรรมส่วนตัวแล้ว สติ และ ปัญญา ไม่เคยปรากฏทางทวารทั้งห้านี้เลยครับ แต่ปรากฏทางมโนทวารวิถีครับ

หากว่า สามารถเกิดได้ ลักษณะของ สติปัฎฐาน และ ปัญญา ทางปัญจทวาร เป็นอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจทีละคำ เพื่อประโยชน์ในความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ถาม และสำหรับสหายธรรมที่เป็นผู้เริ่มต้น ครับ

ปัญจทวาร คือ ทางที่ทำให้เกิดวิถีจิต ที่เป็นจิตประเภทต่างๆ ซึ่ง ปัญจะ หมายถึง ๕ เพราะฉะนั้น ปัญจทวาร จึงหมายถึง ทางทั้ง ๕ ที่ทำให้เกิดจิตประเภทต่างๆ ที่เป็นวิถีจิต ทั้ง ๕ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

มโนทวาร ทางที่ทำให้เกิดจิต (วิถีจิต) ที่รู้ได้ทางใจ

สติปัฏฐาน คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาและเจตสิกฝ่ายดี มีศรัทธา สติ เป็นต้น ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม มีจิต เจตสิก และ รูปธรรม มี เสียง สี กลิ่น เป็นต้น ก็ได้ ครับ

ซึ่ง สำหรับ ปัญญา ที่เป็นอโมหเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีงาม มีกุศลจิต เป็นต้น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา สำหรับวิถีจิตนั้น กุศลจิตจะเกิดที่ชวนจิต และ ชวนจิตนั้น ไม่ได้มีเฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น ชวนจิต เกิดได้ทางปัญจทวารด้วย ซึ่ง ชวนจิต ก็คือ จิตที่แล่นไป เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เช่น ทางปัญจทวาร คือ อาศัย ทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อมี สี มากระทบที่ตา เป็นปัจจัยให้มีการเห็นเกิดขึ้น เมื่อเห็นแล้ว จิตอื่นๆ เกิดสืบต่อ และก็ถึงชวนจิต

สำหรับปุถุชน ผู้ที่หนาด้วยกิเลส แม้เพียงเห็น เพียงสี ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลย ก็เกิดอกุศลจิตที่ชวนจิตแล้ว พอใจ ในสีสวยๆ อย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้ตัว แม้แต่ทาง หู เมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่าดังมาก ขณะเพียงวิถีจิตแรก ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงฟ้าผ่า แต่ก็ได้ยินเสียงนั้นแล้ว เกิดจิตอื่นๆ สืบต่อ จนถึง ชวนจิต โดยมากก็เป็นอกุศล เมื่อได้ยินเสียงดัง เกิดโทสมูลจิตนั้น นี่แสดงว่า กุศล และ อกุศล สามารถเกิดได้ทางปัญจทวาร อย่างรวดเร็ว ไม่รู้ตัวเลย ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

จึงกลับมาที่ ประเด็นที่ว่า สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวาร คือ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้หรือไม่

ตามที่กล่าวแล้วครับว่า สติปัฏฐาน ก็เป็นกุศล แต่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็สามารถเกิดทางปัญจทวารได้ เพราะ ทางปัญจทวารก็มีวิถีจิตที่เป็น ชวนจิตด้วย ครับ

ยกตัวอย่าง การเกิดสติปัฏฐานทางปัญจทวาร ว่ามีลักษณะอย่างไร นะครับ

ขณะนี้ได้ยินเสียง โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) เกิดขึ้น จิตอื่นๆ สืบต่อ เมื่อปัญญาถึงพร้อม สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ ลักษณะของเสียงนั้น โดยเกิดที่ชวนจิต ทางปัญจทวารระลึกรู้ว่า เสียงเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น ครับ เพราะ เสียงที่เป็นอารมณ์ ตลอดวิถีทางปัญจทวาร ยังไม่ได้ดับไป กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานก็เกิดรู้ลักษณะของรูป คือ เสียง ที่ยังไม่ได้ดับไปได้

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ มโนทวาร แต่สำหรับทางปัญจทวารนั้น สติปัฏฐาน ไม่สามารถรู้ ลักษณะของนามได้ เพราะ ทางปัญจทวาร มี รูป เป็นอารมณ์ คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ ลักษณะของรูปนั้น ทางปัญจทวาร ได้ ครับ แต่ก็ต้อง เป็นผู้มีปัญญามากพอสมควร และ สติปัฏฐาน ก็สามารถเกิดทางมโนทวาร ที่สามารถระลึกลักษณะของนามธรรมได้ มี จิต เจตสิก เป็นต้นได้ ครับ

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ปรากฏทางปัญจทวาร เพราะ จะต้องอบรมปัญญามามาก และ ที่สำคัญ สติปัฏฐาน ที่เกิดทางมโนทวาร ก็ต้อง ไม่ใช่เรื่องของการคิดนึก ตรึกพิจารณาตัวธรรม แต่ต้องเป็น สติและปัญญาที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น โดยไม่ได้คิดนึกเป็นเรื่องเลย ครับ จึงเป็นเรื่องยากและไกล ซึ่ง สติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึกไตร่ตรองตัวสภาพธรรม เพราะถ้าเข้าใจว่า เป็นการคิดนึกถึงตัวสภาพธรรม ก็อาจจะทำให้เข้าใจว่า เกิดทางปัญจทวารไม่ได้ เพราะไม่สามารถคิดนึกได้ทางปัญจทวาร ครับ

สรุปได้ว่า สติปัฏฐานสามารถเกิดได้ทางปัญจทวารและมโนทวาร แต่แนะนำเพิ่มอีกครับ ว่า แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ในแต่ละขั้น จะเกิดทางมโนทวารเท่านั้น ไม่เกิดทางปัญจทวาร เพราะ วิปัสสนาญาณ มีการรู้ลักษณะของนามธรรม ตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอด ซึ่งทางปัญจทวาร ไม่สามารถรู้นามได้ รู้ได้เฉพาะรูป จึงสามารถเกิดปัญญา ที่คมกล้า ที่รู้นามและรูป โดยนัยต่างๆ ตามความเป็นจริง วิปัสสนาญาณจึงเกิดเฉพาะทางมโนทวาร ส่วน สติปัฏฐาน เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ มโนทวาร ตามที่ได้อธิบายมา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 22 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
daris
วันที่ 23 ส.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

๑. สติปัฏฐาน ที่เกิดทางมโนทวาร วาระที่ ๓ ขึ้นไป ก็ยังสามารถรู้รูปได้ ใช่มั้ยครับ ถ้าลักษณะของรูป ยังปรากฏ โดยที่ยังไม่คิดนึกเป็นเรื่องราว บัญญัติ ไปซะก่อน

๒. เวลาที่ ลักษณะของจิต ปรากฏกับสติปัฏฐาน ต่างกับ เวลาที่ลักษณะของจิต ปรากฏกับวิปัสสนาญาณ ต่างกันอย่างไรครับ

(คือ พอจะเข้าใจตาม เรื่อง ว่าเวลาที่จิต ปรากฏกับวิปัสสนาญาณ จะต้องปรากฏเป็นสภาพรู้ล้วนๆ ที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปน รูปกับนามต้องปรากฏความแยกขาดทีละลักษณะโดยสิ้นเชิง ไม่มีโลกที่รวมกันอยู่ แต่เวลาสติปัฏฐานเกิด ก็ยังต้องเหมือนว่า มีโลกทุกอย่างรวมกัน แต่เป็นชั่วขณะที่สติระลึกที่รูปหนึ่งรูปใด นามหนึ่งนามใด ... ประเด็นคือ รู้สึกเหมือนว่า รูป มันปิดบังนามอยู่ตลอดเวลา เช่นเวลาที่เสียงปรากฏ ก็สนใจในเสียง บางครั้งก็มีโอกาสที่สติจะเกิด ระลึกรู้เสียงได้บ้าง แต่ไม่ได้ระลึกถึงจิตที่ได้ยินเสียงนั้นเลย เลยคิดไม่ออก แม้ในขั้นพิจารณา ว่าการที่สติจะระลึก ลักษณะของจิตนั้น จะระลึก ในลักษณะอย่างไร ในเมื่อเราเคยชินกับรูป ทำให้เหมือนว่ามีรูป มาปิดบังตลอดเวลา)

ขออภัยที่อาจจะถามวกวน แต่เป็นความสงสัยที่บรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ค่อนข้างยากน่ะครับ

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 24 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

๑. สติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวาร วาระที่ ๓ ขึ้นไป ก็ยังสามารถรู้รูปได้ ใช่มั้ยครับ ถ้าลักษณะของรูป ยังปรากฏ โดยที่ยังไม่คิดนึกเป็นเรื่องราว บัญญัติ ไปซะก่อน

- ถ้าเลยวาระหลัง มีวาระที่ ๓ ไปแล้ว ลักษณะรูป ย่อมไม่ปรากฏ เพราะ มโนทวาร มีบัญญัติเป็นอารมณ์แล้ว คิดนึกในรูปที่เห็น หรือ ได้ยิน

๒. เวลาที่ลักษณะของจิต ปรากฏกับสติปัฏฐาน ต่างกับ เวลาที่ลักษณะของจิตปรากฏกับวิปัสสนาญาณต่างกันอย่างไรครับ

- ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ สติปัฏฐานเกิด หรือ วิปัสสนาญาณเกิด ต่างก็มีสภาพธรรมเป็นอารมณ์ และ เหมือนกันตรงที่ มีแต่สภาพธรรมเท่านั้นปรากฏ เพียงแต่ว่า ความแตกต่างของทั้งสอง คือ ปัญญา ความรู้ชัดต่างกัน

ถ้าเป็นเพียงสติปัฏฐานที่เกิด ขณะนั้น ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น แต่เป็นเพียงปัญญา ที่ไม่คมกล้า ไม่รู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงธรรม หากสติปัฏฐานมีกำลังมากขึ้น ก็รู้ลักษณะของเจตสิก เช่น รู้ลักษณะของโลภะ ว่าเป็นแต่เพียงโลภะ

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ จะมีตัวธรรมเป็นอารมณ์ แต่ มีปัญญาที่คมกล้า มีกำลัง ที่แทงตลอดสภาพธรรม อย่างละเอียดลึกซึ้ง ตามระดับขั้นของวิปัสสนาญาณ แต่ละขั้น ถ้าเป็นขั้น ๓ และ ๔ ก็จะไม่ใช่รู้ว่า เป็นแต่เพียงธรรม แต่รู้การเกิดดับของสภาพธรรมที่ละเอียด และรู้ได้ยาก หรือ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ รู้โดยความเป็นปัจจัย ที่ไม่ใช่รู้ว่า เป็นแต่เพียงธรรม หรือ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ที่รู้ละเอียด ที่แยกขาดระหว่าง นามและรูป ที่ไม่ใช่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม เป็นแต่เพียงโลภะ ซึ่งวิปัสสนาญาณเกิดได้ เพราะ ปัญญามีกำลัง อันสะสมมาจาก สติปัฏฐาน ที่เกิดบ่อยๆ เนิ่นนาน และทั่วทั้ง ๖ ทวารแล้ว ครับ

นี่คือความแตกต่าง คือ ความคมกล้า ของระดับปัญญาที่แตกต่างกัน ครับ แต่ ขณะนั้น ทั้งสอง ก็มีแต่สภาพธรรมปรากฏเท่านั้น ไม่มีโลกอื่นมาปะปน แต่ที่เหมือนกันทั้งสอง อีกประการหนึ่ง คือ เมื่อวิปัสสนาญาณดับไป และ สติปัฏฐานดับไป ปัญญาไม่เกิด โลกก็กลับมาเหมือนเดิม และ ก็ทำให้ไม่รู้ ในลักษณะของสภาพธรรมและยังยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลได้ เพราะยังไม่ใช่ พระโสดาบัน

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 24 ส.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

๑. ถ้าสติปัฏฐานระลึกรู้ รูปในปัญจทวาร ชวนวิถีในมโนทวารวาระแรก ที่ต่อจากปัญจทวาร ก็ต้องเป็นสติปัฏฐานด้วยใช่รึเปล่าครับ

๒. พอจะบอกเป็นหลักกว้างๆ ได้หรือไม่ครับว่า โดยทั่วไปแล้ว สภาพธรรมที่สติจะระลึกได้นั้น มีความยากง่ายต่างกันอย่างไร คือสติมักจะระลึกอะไรได้ก่อน สำหรับผู้เริ่มต้นที่สติเพิ่งเกิด (คือเป็นหลักคร่าวๆ ไม่ใช่กฎตายตัว)

ผมขอยกตัวอย่างตามความเข้าใจของผมนะครับ หากผิดกรุณาแก้ไขด้วยครับ

- รูปน่าจะระลึกง่ายกว่านาม เพราะปรากฏอยู่เป็นปกติ

- เจตสิกบางประเภท รู้ง่ายกว่าจิต เช่น โทสเจตสิก โลภเจตสิก ปีติเจตสิก เพราะเวลาปรากฏ ถ้ามีกำลังก็ปรากฏชัด

- จิตคิดรู้ง่ายกว่า จิตเห็น ... สัมผัส เพราะเรามักจะสนใจรูป มากกว่าจิตที่รู้รูป

- อุเบกขาเวทนารู้ยากกว่าเวทนาอื่น

- เจตสิกบางประเภท จะรู้ได้ ก็ต่อเมื่อเป็น วิปัสสนาญาณ เช่น ผัสสเจตสิก วิตกเจตสิก ผิดถูกอย่างไร กรุณาให้ความรู้ด้วยครับ

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นิรมิต
วันที่ 24 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนา อ. ผเดิม ครับ

ขอรบกวนสอบถามเพิ่มเติม ก็คือ ถ้าเป็นสติปัฏฐานปรกติ ก็สามารถรู้ได้แค่ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง โดยเป็นจิต ที่เกิดพร้อมปัญญา เพราะเป็นญาณสัมปยุตต์ แต่ยังไม่ได้คมกล้า ถึงขั้นวิปัสสนาญาณลำดับต่างๆ ที่ค่อยๆ รู้ เพิ่มขึ้นๆ ถูกต้องใช่ไหมครับ

แล้วก็ ที่สติปัฏฐานเกิดกับปัญจทวารวิถี อันนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจอ่ะครับ คือ สติเกิดที่ตอนไหนของปัญจทวารวิถีครับ เกิดตรง ชวนวิถี ๗ ขณะ หลังจากโวฏฐัพพนะดับแล้ว ใช่หรือไม่ ประการใดครับ แล้วหลังจากนั้น มโนทวารวิถีที่เกิดต่อ ก็จะมีชวนเป็นสติเหมือนกันตลอด เสมอหรือเปล่า?

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

๑. ถ้าสติปัฏฐานระลึกรูปในปัญจทวาร ชวนวิถีในมโนทวารวาระแรกที่ต่อจากปัญจทวารก็ต้องเป็นสติปัฏฐานด้วยใช่รึเปล่าครับ

- เป็นอย่างนั้น ครับ

๒. พอจะบอกเป็นหลักกว้างๆ ได้หรือไม่ครับว่า โดยทั่วไปแล้วสภาพธรรมที่สติจะระลึกได้นั้นมีความยากง่ายต่างกันอย่างไร คือสติมักจะระลึกอะไรได้ก่อนสำหรับผู้เริ่มต้นที่สติเพิ่งเกิด (คือเป็นหลักคร่าวๆ ไม่ใช่กฎตายตัว)

- โดยทั่วไป ก็คือ สภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน และ ถ้าเป็นรูป ก็คือ รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ที่เป็นโคจรรูป มี สี เสียง กลิ่น ... เป็นต้น แต่ไม่ตายตัวว่าจะระลึกลักษณะสภาพธรรมอะไร ครับ

ผมขอยกตัวอย่างตามความเข้าใจของผมนะครับหากผิดกรุณาแก้ไขด้วยครับ

- รูปน่าจะระลึกง่ายกว่านาม เพราะปรากฏอยู่เป็นปกติ

... แล้วแต่ครับ ไม่จำเป็น เพราะ นาม ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็มี เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน ดังนั้น แล้วแต่ว่า ผู้นั้นสะสมอะไรมา สะสมที่จะเป็นผู้รู้นามก่อน หรือ รูปก่อน ครับ

- เจตสิกบางประเภทรู้ง่ายกว่าจิต เช่น โทสเจตสิก โลภเจตสิก ปีติเจตสิก เพราะเวลาปรากฏถ้ามีกำลังก็ปรากฏชัด

... คำว่าเกิดขึ้นมีกำลัง จนปรากฏชัดเพราะเกิดบ่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรู้ได้ง่ายกว่า ครับ แล้วแต่ปัญญา และการสะสมมาของบุคคลนั้น และ เกิดบ่อยจนมีกำลัง ก็อาจทำให้หลงลืมสติได้ง่ายด้วยเช่นกัน เช่น โกรธมากๆ เป็นต้น ดังนั้น ไม่ตายตัว

- จิตคิดรู้ง่ายกว่า จิตเห็น ... สัมผัส เพราะเรามักจะสนใจรูปมากกว่าจิตที่รู้รูป

... ไม่จำเป็นอีกเช่นกัน ครับ เพราะ การจะสนใจก็ส่วนหนึ่ง ส่วน สติปัฏฐานที่จะเกิดรู้อะไร ก็ส่วนหนึ่ง ครับ

- อุเบกขาเวทนารู้ยากกว่าเวทนาอื่น

... ถ้าโดยความละเอียดของเวทนาแต่ละประเภทก็เป็นอย่างนั้น ครับ

- เจตสิกบางประเภทจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ เช่น ผัสสเจตสิก วิตกเจตสิก ผิดถูกอย่างไรกรุณาให้ความรู้ด้วยครับ

... ไม่ต้องถึงวิปัสสนาญาณ ครับ แม้ สติปัฏฐานที่เกิดบ่อยๆ มีกำลังและรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร ก็สามารถเกิดระลึกรู้เจตสิกได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ขอรบกวนสอบถามเพิ่มเติม

ก็คือ ถ้าเป็นสติปัฏฐานปรกติ ก็สามารถรู้ได้แค่ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง โดยเป็นจิตที่เกิดพร้อมปัญญา เพราะเป็นญาณสัมปยุตต์ แต่ยังไม่ได้คมกล้าถึงขั้นวิปัสสนาญาณลำดับต่างๆ ที่ค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้นๆ ถูกต้องใช่ไหมครับ

- ถูกต้อง ครับ ทั้งสอง ก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาทั้งคู่ แตกต่างกันที่กำลังของปัญญาที่รู้ชัดแตกต่างกัน


แล้วก็ ที่สติปัฏฐานเกิดกับปัญจทวารวิถี อันนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจอ่ะครับ คือ สติเกิดที่ตอนไหนของปัญจทวารวิถีครับ เกิดตรง ชวนวิถี ๗ ขณะ หลังจากโวฏฐัพพนะดับแล้วใช่หรือไม่ ประการใดครับ แล้วหลังจากนั้น มโนทวารวิถีที่เกิดต่อ ก็จะมีชวนเป็นสติเหมือนกัน ตลอด เสมอหรือเปล่า

- ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
daris
วันที่ 25 ส.ค. 2555

เข้าใจขึ้นมากครับ

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ส.ค. 2555

ขอกราบอนุโมทนาเช่นกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ส.ค. 2555

ขออนุญาตรบกวนถามเพิ่มเติมอีกสักหน่อยครับผม

ที่ว่า สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้เจตสิกได้เนี่ย ระลึกอย่างไรครับ เพราะเข้าใจว่า การจะทราบเจตสิกได้ ไม่ใช่ด้วยการระลึก แต่ด้วยการตรึก ถึงจะทราบว่าเจตสิกในจิตที่เกิดและดับไปแล้วนั้น มีอะไรบ้าง

เพราะเข้าใจว่า สติคือการระลึกเพียงแวบเดียวของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยไม่ได้รู้ว่า นั่นคือจิตอะไร หรือมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย เพราะยังไม่ใช่มโนทวารวิถีที่จะรับอารมณ์ต่อๆ จนนึกคิด เป็นเรื่องราว ก็เพียงมีลักษณะของสภาพธรรมะนั้นๆ ปรากฏ โดยเห็นตรงๆ ว่าจิตนี้เป็นอย่างนี้ อย่างเห็น คือ เห็น เท่านั้น

แต่ถ้าจะระลึก เจตสิก อันนี้ไม่ทราบว่าระลึกอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 11 ครับ

ต้องเข้าใจครับว่า สติปัฏฐาน คือ การรู้ตัวลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่การคิดนึกเป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ซึ่ง เจตสิกเป็นนามธรรม จึงรู้ทางมโนทวาร เพราะทางมโนทวาร นั้น สามารถมีอารมณ์ คือ รูป นามและบัญญัติ ก็ได้ด้วย ในเมื่อเจตสิกก็เป็นนามธรรมที่มีจริง และ แต่ละเจตสิกก็มีลักษณะแต่ละเจตสิก

ขณะที่ เจตสิกปรกาฏเกิดขึ้น สติปัฏฐานที่อบรมมานาน มีกำลังมาก ก็สามารถรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่เกิดทางมโนทวารวิถีที่ชวนจิตได้ ครับ แต่ขณะที่ตรึกนึกถึงธรรม ขณะนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐานครับ เพราะ มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ ไม่ได้รู้ตัวลักษณะของปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ มีเจตสิก เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ส.ค. 2555

ขอกราบอนุโมทนาครับ เข้าใจมากขึ้นแล้วครับ

อีกคำถามครับ สติ มีรูป นาม และนิพพาน เป็นอารมณ์ได้

แต่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ไม่ได้ ถูกต้องใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

จิต และ เจตสิก เป็นสภาพรู้ รู้ทุกอย่าง ครับ คือ นาม รูป และ บัญญัติ สิ่งที่ไม่มีจริงด้วย

เจตสิก ก็เป็นสภาพรู้ สติเจตสิก ก็ต้องรู้ได้ทุกอย่าง คือ มีอารมณ์ได้ ทั้ง จิต เจตสิก รูป นิพพาน และ บัญญัติด้วย อย่างมีอารมณ์เป็นบัญญัติเรื่องราวเช่น สติขั้นคิดนึก สติขั้นทาน สติขั้นศีล สติขั้นสมถภาวนา

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เห็นเป็นขอทาน เกิดจิตสงสารคิดจะให้ ขณะที่คิดจะให้ มีสติขั้นทานเกิดขึ้น โดยมี บัญญัติ เรื่องราวเป็นอารมณ์ คือ ขอทาน เป็นบัญญัติแล้ว นี่คือสติขั้นทาน ขณะที่ เห็นคนแก่จะข้ามถนน คิดจะช่วย ขณะที่เห็นคนแก่ เป็นทางมโนทวารแล้ว มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ชวนจิต ทางมโนทวารเกิดกุศลจิต โดยมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ สติก็มีอารมณ์ คือ บัญญัติเป็นอารมณ์ คือ คนแก่ ในขณะนั้นครับ เพราะฉะนั้น จิตรู้อะไร เจตสิกก็รู้อย่างนั้น สติเจตสิก เป็นเจตสิกที่งาม เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท และสามารถมีอารมณ์เดียวกับจิตได้ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ เรื่องราวด้วยครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ส.ค. 2555

แจ่มแจ้งยิ่งนักครับ สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 26 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
peeraphon
วันที่ 27 ส.ค. 2555

เรียนอาจารย์ครับ

ขอบพระคุณครับ. เนื่องจากมีผู้ถามเพิ่มเติม และผมมีข้อสงสัยเพิ่มเติมครับ

ในข้อความที่ว่า

"แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ จะมีตัวธรรมเป็นอารมณ์ แต่ มีปัญญาที่คมกล้า มีกำลัง ที่แทงตลอดสภาพธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้ง ตามระดับขั้นของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ถ้าเป็นขั้น ๓ และ ๔ ก็จะไม่ใช่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่รู้การเกิดดับของสภาพธรรมที่ละเอียด และรู้ได้ยาก หรือ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ รู้โดยความเป็นปัจจัย ที่ไม่ใช่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม หรือ วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ที่รู้ละเอียด ที่แยกขาดระหว่างนามและรูป ที่ไม่ใช่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม เป็แต่เพียงโลภะ"

เข้าใจว่าเมื่อลักษณะของ วิปัสสนาญาณ ขั้นต่างๆ ยังไม่ปรากฏ แต่อยากทราบในประโยคที่ว่า ถ้าเป็นขั้น ๓ และ ๔ ก็จะไม่ใช่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม แต่ รู้การเกิดดับของสภาพธรรมที่ละเอียด และรู้ได้ยาก

. อยากทราบลักษณะของการเกิดดับของสภาพธรรมที่ละเอียดครับ. ในตรงนี้ไม่แน่ใจว่า ละเอียด และออกมาเป็นการอธิบายได้หรือไม่ครับ


ยังอยู่ที่ความเห็นที่ 3 ครับ ในข้อความที่ว่า

๑. สติปัฏฐานที่เกิดทางมโนทวารวาระที่ ๓ ขึ้นไปก็ยังสามารถรู้รูปได้ใช่มั้ยครับ ถ้าลักษณะของรูปยังปรากฏ โดยที่ยังไม่คิดนึกเป็นเรื่องราวบัญญัติไปซะก่อน

- ถ้าเลยวาระหลัง มีวาระที่ ๓ ไปแล้ว ลักษณะรูปย่อมไม่ปรากฏ เพราะ มโนทวารมีบัญญัติเป็นอารมณ์แล้ว คิดนึกในรูปที่เห็น หรือ ได้ยิน

ทุกครั้งหรือไม่ว่า เมื่อจิตเห็นดับไปแล้ว มโนทวารวาระที่ ๒ นึกคิด รู้อารมณ์เดียวกกันกับจิตเห็น และ มโนทวารวาระที่ ๓ สืบต่อ. วาระที่ ๓ นี้ ทุกครั้งหรือไม่ว่าจะต้องมีบัญญัติ เป็นอารมณ์เท่านั้นครับ? หลายๆ ครั้งที่พิจารณา ดูเหมือนไม่เสมอไปที่จะต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์ครับ.


ขอขอบพระคุณ และ อนุโมทนา ท่านอาจารย์ และ สหายธรรม ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
paderm
วันที่ 27 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 17 ครับ

การเกิดดับที่ละเอียด หมายถึง โดยทั่วไป เรามักจะคิดเป็นเรื่อราวของสภาพธรรม ว่าไม่เที่ยง เห็นเกิดแล้วดับ โดยการคิดนึก แต่ เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ ที่เห็นการเกิดดับ ย่อมรู้โดยละเอียด คือ รู้การเกิดดับของตัวสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นและดับไปในขณะนี้จริงๆ ครับ

ละเอียด เพราะ ปัญญาคมชัดที่จะเห็นการเกิดดับของรูปทีละกลาป และ ของนามที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วก็รู้ได้ ครับ

ส่วนประเด็นมโนทวารวิถี ซึ่งในคำถาม มุ่งหมายถึง รูป เป็นสำคัญ ในวาระที่ ๓ จึงตอบโดยนัยที่ว่า มีรูป เป็นอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้มุ่งตอบในส่วนของนาม

เพราะฉะนั้น เมื่อมุ่งตอบในคำถามที่ถามว่า มี รูป เป็นอารมณ์ใน มโนทวารวาระที่ ๓ ได้ไหม

คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะ เป็นการคิดนึกเรื่องราวของรูป ที่เป็นบัญญัติเป็นอารมณ์ ครับ เพราะฉะนั้น คำตอบนี้ จึงมุ่งตอบคำถามที่ถาม โดยนัยที่ถามในเรื่องของรูป ในวาระที่ ๓ เป็นสำคัญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
peeraphon
วันที่ 29 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
thilda
วันที่ 6 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
peem
วันที่ 18 ส.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ