สงสัยเรื่องวิบากจิต

 
นิรมิต
วันที่  24 ส.ค. 2555
หมายเลข  21607
อ่าน  2,185

กราบสวัสดีมิตรธรรมทุกท่านครับ

คือมีความสงสัยเกี่ยวกับวิบากจิตในวิถีจิตน่ะครับ

คือ สำหรับ ปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เป็น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ๕ ดวงนี้ (ปัญจฯ ๔ + สัมปฏิจฉันนะ ๑) จะเป็นกุศลวิบาก ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์ธรรมดา หรืออกุศลวิบาก ก็ย่อมเป็นอุเบกขาเวทนาทั้งสิ้น ถูกต้องใช่ไหมครับ

แล้วทีนี้ พอเป็น กายวิญญาณ อันนี้จะแยกเป็น ๒ คือ ถ้าเป็นผลของกุศล ทั้ง อติอิฏฐารมณ์ และ อิฏฐารมณ์ ก็เป็นสุขเวทนา (ใช้ว่าสุข ไม่ใช่โสมนัส ถูกต้องใช่ไหมครับ)

หรือถ้าเป็นผลของ อกุศล ก็จะเป็นทุกขเวทนา (ไม่ใช้ว่า โทมนัส เช่นกัน ใช่ไหมครับ) ซึ่งขณะที่เป็นสุขเวทนา และทุกขเวทนาทางกาย ก็คือเฉพาะ กายวิญญาณจิต เท่านั้น ไม่ต่อไปถึง สัมปฏิจฉันนะ ใช่ไหมครับ คือ พอเป็นสัมปฏิจฉันนะก็จะเป็น อุเบกขาเวทนาทันที ทั้งกุศลและอกุศล เพราะไปเกิดที่หทยวัตถุ ไม่ได้เกิดที่กายปสาทะอย่างกายวิญญาณจิต ใช่ไหมครับ?

ทีนี้ ตรงนี้มีความสงสัยอีกว่า ถ้าเป็นเวลาที่กระทบสัมผัสแล้ว มันรู้สึกเฉยๆ ล่ะครับ มันก็มีนี่ครับ ที่รู้สึกเฉยๆ งั้น ทำไมในวิถีจิต ตรงที่เป็นกายวิญญาณ ถึงไม่มีที่เป็นอุเบกขาเวทนา มีแต่สุขเวทนา และทุกขเวทนา ทั้งๆ ที่เวลากระทบสัมผัสแล้ว รู้สึกเฉยๆ ก็มีนี่ ครับ?

ต่อจากนี้ พอถึงสันตีรณะ อันนี้คือถ้าเป็นอติอิฏฐารมณ์ ก็เป็นโสมนัสเวทนา (ถ้าใช้คำว่าเป็นโสมนัส เพราะเกิดที่หทยวัถุ ถูกต้องใช่ไหมครับ) ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ก็เป็นอุเบกขาเวทนา แล้วต่อไปก็ โวฏฐัพพนะ ชวนะเสพ เสร็จ พอเป็นตทาลัมพนะ อันนี้ก็คือ รู้อารมณ์ต่อ ที่เป็นวิบากแบบเดียวกับสันตีรนะ อีก ๒ ขณะ ที่หทยวัตถุ เหตุเพราะ รูปยังไม่ดับ เท่านั้นเอง ถูกต้องใช่ไหมครับ


ทีนี้ มีข้อสงสัยต่อว่า เพราะว่า ถ้าพิจารณาโดยความเป็นแต่ละขณะจิตอย่างนี้ และผลของวิบากที่ยึดความเป็น อติอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ เป็นการให้ผลวิบากที่ดีและไม่ดี

แล้วถ้าอยู่บนสวรรค์ละครับ ทุกอย่างล้วนอติอิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์ไปหมด ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้มีอนิฏฐารมณ์เลย หรืออาจจะมีบ้าง แต่ก็ยากนักที่จะเกิดขึ้น แต่กระนั้น ก็ยังถูกด่าได้ มีการถูกด่าด้วยผรุสวาจา หรือติฉินนินทาต่างๆ นานา ซึ่งขณะที่ถูกด่า เอาแบบจะๆ เลยก็ได้ เสียงที่ด่า ก็ย่อมต้องเป็น อิฏฐารมณ์อยู่แล้ว เพราะเป็นเสียงทิพย์ อย่างนี้แล้ว อันนั้นจะชื่อว่าเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ในเมื่อเป็นการถูกด่า แต่เสียงที่ด่าเป็นเสียงทิพย์?

หรือแม้แต่ มนุษย์คนเดินดินอย่างเราๆ ธรรมดาๆ เวลาถูกด่าด้วยแม่ค้าปากตลาด ก็พอจะพิจารณาได้ว่า เสียงนั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คำด่าก็อนิฏฐารมณ์ ก็เข้าเค้ากันอยู่ว่า ต้องเป็นอกุศลวิบากแน่ๆ

แต่เวลาโดนเหน็บโดนแนมด้วยคำพูดหวานๆ เสียงหวานๆ ของใครก็แล้วแต่ ขณะนั้น เสียงที่ปรากฏก็ไม่ได้เป็นอนิฏฐารมณ์ แว้ดๆ ๆ แบบแม่ค้าปากตลาด แต่กลับเป็นเสียงหวานๆ ชวนฟัง แล้วอย่างนี้ มันเป็นอะไรกันแน่ ในเมื่อโดนด่า โดนว่า ก็ต้องเป็นผลของอกุศลวิบาก เพราะไม่ได้โดนชมอยู่ และจิตคนที่ว่า ก็เป็นอกุศล กำลังกระทำอกุศล วจีกรรมคือผรุสวาจา แต่เสียงที่เราได้ยินล้วนอิฏฐารมณ์ น่าฟังเหลือเกิน อย่างงี้ มันก็ไปขัดกับหลักวิบากของวิถีจิตน่ะสิครับ??

ขอความกรุณาชี้แนะด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คือ สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เป็น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ๕ ดวงนี้ (ปัญจฯ ๔ + สัมปฏิจฉันนะ ๑) จะเป็นกุศลวิบาก ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ หรือ อิฏฐารมณ์ธรรมดา หรืออกุศลวิบาก ก็ย่อมเป็น อุเบกขาเวทนาทั้งสิ้น

ถูกต้องใช่ไหมครับ

- ถูกต้อง ครับ

แล้วทีนี้ พอเป็น กายวิญญาณ อันนี้จะแยกเป็น ๒ คือ ถ้าเป็นผลของกุศล ทั้งอติอิฏฐารมณ์ และ อิฏฐารมณ์ ก็เป็นสุขเวทนา (ใช้ว่าสุขไม่ใช่โสมนัสถูกต้องใช่ไหมครับ)

หรือถ้าเป็นผลของอกุศล ก็จะเป็นทุกขเวทนา (ไม่ใช้ว่าโทมนัสเช่นกันใช่ไหมครับ)

- ถูกต้อง ครับ

ซึ่งขณะที่เป็นสุขเวทนาและทุกขเวทนาทางกาย ก็คือเฉพาะ กายวิญญาณจิต เท่านั้น ไม่ต่อ ไปถึง สัมปฏิจฉันนะ ใช่ไหมครับ คือ พอเป็นสัมปฏิจฉันนะก็จะเป็น อุเบกขาเวทนาทันที ทั้งกุศลและอกุศล เพราะไปเกิดที่หทยวัตถุ ไม่ได้เกิดที่กายปสาทะอย่างกายวิญญาณจิต ใช่ไหมครับ?

- ถูกต้อง ครับ

ตรงนี้มีความสงสัยอีกว่า ถ้าเป็นเวลาที่กระทบสัมผัสแล้ว มันรู้สึกเฉยๆ ล่ะครับ มันก็มีนี่ครับ ที่รู้สึกเฉยๆ งั้น ทำไมในวิถีจิต ตรงที่เป็นกายวิญญาณ ถึงไม่มีที่เป็นอุเบกขาเวทนา มีแต่สุขเวทนาและทุกขเวทนา ทั้งๆ ที่เวลากระทบสัมผัสแล้วรู้สึกเฉยๆ ก็มีนี่ครับ?

- ในความเป็นจริง มีความรู้สึกสุขและทุกข์อยู่ ในขณะที่กระทบสัมผัสทางกาย เพียงแต่สุขน้อย ... มาก และทุกข์น้อย ... มาก ไม่ปรากฏกับเราครับ เหมือนน้ำแก้วใหญ่ใส่เกลือไปหนึ่งเม็ด ต้องมีความเค็ม แต่เค็มน้อย ... มาก จนไม่รู้ เพราะ น้อย ... มาก ครับ


ต่อจากนี้ พอถึงสันตีรณะ อันนี้คือถ้าเป็นอติอิฏฐารมณ์ ก็เป็นโสมนัสเวทนา (ถ้าใช้คำว่าเป็นโสมนัส เพราะเกิดที่หทยวัถุถูกต้องใช่ไหมครับ) ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ก็เป็นอุเบกขาเวทนา แล้วต่อไปก็โวฏฐัพพนะ ชวนเสพ เสร็จ พอเป็นตทาลัมพพนะ

อันนี้ก็คือ รู้อารมณ์ต่อ ที่เป็นวิบากแบบเดียวกับสันตีรนะ อีก ๒ ขณะ ที่หทยวัตถุ เหตุเพราะ รูปยังไม่ดับ เท่านั้นเอง ถูกต้องใช่ไหมครับ

- เกิดที่หทยวัตถุ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโสมนัส ขึ้นอยู่กับ อารมณ์ และ ประเภทของจิต ครับ ส่วนตทาลัทพนะจิต เกิดเพราะ มีอารมณ์ชัดเจน และ รูปนั้นยังไม่ได้ดับไป


ทีนี้ มีข้อสงสัยต่อว่า เพราะว่า ถ้าพิจารณาโดยความเป็นแต่ละขณะจิต อย่างนี้ และ ผลของวิบากที่ยึดความเป็น อติอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ เป็นการให้ผลวิบากที่ดีและไม่ดี

แล้วถ้าอยู่บนสวรรค์ล่ะครับ ทุกอย่างล้วนอติอิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์ไปหมด ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้มีอนิฏฐารมณ์เลย หรืออาจจะมีบ้าง แต่ก็ยากนักที่จะเกิดขึ้น แต่กระนั้น ก็ยังถูกด่าได้ มีการถูกด่าด้วยผรุสวาจา หรือติฉินนินทาต่างๆ นานา ซึ่งขณะที่ถูกด่า เอาแบบจะๆ เลยก็ได้ เสียงที่ด่า ก็ย่อมต้องเป็นอิฏฐารมณ์อยู่แล้ว เพราะเป็นเสียงทิพย์ อย่างนี้แล้ว อันนั้นจะชื่อว่าเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก

ในเมื่อเป็นการถูกด่า แต่เสียงที่ด่าเป็นเสียงทิพย์?

- ก็ต้องพิจารณาถึง คำที่ได้ยิน คือ เสียงที่ได้ยิน ไม่ใช่ ความหมายที่ประสงค์จะด่า เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคำที่มีเสียงดัง ที่กล้าแข็ง แม้อยู่บนสวรรค์ ก็เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ ครับ


หรือแม้แต่ มนุษย์คนเดินดินอย่างเราๆ ธรรมดาๆ เวลาถูกด่าด้วยแม่ค้าปากตลาด ก็พอจะพิจารณาได้ว่า เสียงนั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คำด่าก็อนิฏฐารมณ์ ก็เข้าเค้ากันอยู่ ว่าต้องเป็นอกุศลวิบากแน่ๆ

แต่เวลาโดนเหน็บ โดนแนมด้วยคำพูดหวานๆ เสียงหวานๆ ของใครก็แล้วแต่ ขณะนั้นเสียงที่ปรากฏ ก็ไม่ได้เป็นอนิฏฐารมณ์แว้ดๆ ๆ แบบแม่ค้าปากตลาด แต่กลับเป็นเสียงหวานๆ ชวนฟัง แล้วอย่างนี้มันเป็นอะไรกันแน่ ในเมื่อโดนด่าโดนว่า ก็ต้องเป็นของอกุศลวิบาก เพราะไม่ได้โดนชมอยู่ และจิตคนที่ว่าก็เป็นอกุศล กำลังกระทำอกุศล (วจีกรรม) คือ ผรุสวาจา แต่เสียงที่เราได้ยินล้วนอิฏฐารมณ์ น่าฟังเหลือเกิน อย่างงี้ มันก็ไปขัดกับหลักวิบากของวิถีจิตน่ะสิครับ??

- ตามที่กล่าวแล้ว อารมณ์ ไม่ได้พิจารณาที่ความหมายของผู้ประสงค์ที่จะพูด แต่อยู่ที่เสียงนั้นว่า เป็นอิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้น การได้ยินเสียงเพราะ เสียงหวาน แม้ผู้กล่าวต้องการจะว่า ก็เรื่องของคนอื่น แต่ผู้ที่ได้ยิน คือ จิตได้ยินเสียงที่ดี ก็เป็นกุศลวิบาก ที่มีอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ดี เป็นอารมณ์ ครับ

ส่วนคนที่ด่า ก็เป็นอกุศลจิตของคนนั้น ส่วนผู้ที่ได้ยินเสียงที่ดี ก็เป็นกุศลวิบาก ครับ จึงต้องแยกกัน

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาสาธุ อ.ผเดิมครับ

ก็คือพิจารณาโดยหมายเอา ทวิปัญจทวาราวัชชนจิตที่กระทบเป็นเกณท์ว่า จะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ก็ตายตัวอย่างนี้ คืออิฏฐารมณ์ย่อมต้องเป็น ผลของกุศล และ อนิฏฐารมณ์ก็ต้องเป็นผลของอกุศล

ธรรมะ นี่ละเอียดจริงๆ เหลือเกิน ต้องเอาบัญญัติ เอาเรื่องราวออกให้หมด ให้เหลือแต่ละขณะจิตจริงๆ ใช่ไหมครับ ในการพิจารณาอย่างนี้

ทีนี้ ถึงจะพอจะเห็นภาพขึ้นแล้วครับ เพราะบางทีถ้าเป็นเสียงที่ดีจริงๆ ชวนฟัง บางทีก็เคลิ้ม ไม่ได้สนใจเลยว่า จะเป็นคำด่าหรือคำชม หรือบางทีมีคำชม แต่เสียงแผดแก้วหู ตัวเราก็ไม่ได้ยินดีแต่ประการใด

แต่ก็ยังมีความสงสัยเหลืออยู่นิดนึง ตรงที่ว่า มันจะยังมีอะไรละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ลงไปอีกได้หรือเปล่า เพราะตามเรื่องที่ว่า พระพุทธองค์ทรงโดนกล่าวตู่จากนางจิณจมาณวิกา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า นางกล่าวตู่ด้วยเสียงไพเราะน่าฟัง หรือด้วยเสียงไม่น่าฟัง แต่ท่านทรงแสดงโดยหมายเอานัยว่า กล่าวตู่ ว่าเป็นอกุศลวิบากของท่าน ในกาลที่ท่านเคยได้กล่าวใส่ความพระนันทะ พระสาวกของพระสัพพาภิภูพุทธเจ้า

ทีนี้ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ก็แปลว่า การถูกกล่าวตู่ ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ถูกกล่าวตู่ ด้วยอิฏฐารัมณโสตวิญญาณจิต ก็ทำได้นี่ครับ แล้วอย่างงี้ จะเป็นผลของกุศล หรืออกุศลกันแน่ หรือเป็นได้ทั้งสอง แล้วแต่กาล แล้วแต่ฐานะ?

ขอรบกวนชี้แนะด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 25 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเข้าใจว่า วิบาก เป็นธรรมที่มีจริง กุศลวิบากหรืออกุศลวิบากในชีวิตประจำวัน ก็คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว จะตรงกันข้ามเลย คือ ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้ เป็นเพราะอดีตกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น ถึงคราวให้ผล ผลเช่นนั้นจึงเกิดขึ้น

ทั้งหมด ล้วนเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัย ทั้งสิ้น ครับ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 25 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ. คำปั่น และ อ. ผเดิม อย่างมาก ที่ให้เข้าใจความละเอียดของธรรม พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดและเข้าใจยากจริงๆ

จึงขอร่วมสนทนาด้วยในประเด็นของวิปากจิต

ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยไปร่วมสนทนาธรรมกับสหายธรรมกลุ่มย่อย มีท่านผู้กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ถึงเรื่องที่กำลังรับผลของกรรมว่า อย่างนี้อย่างนั้นเป็นผลของกุศลกรรมหรือผลของอกุศลกรรม

ซึ่งท่านอาจารย์กล่าวว่า ขณะที่กำลังรับผลของกรรมก็คือขณะที่เป็นวิปากจิต ขณะปฏิสนธิเป็นผลของกรรม ขณะจุติจิตเกิด ก็เป็นผลของกรรม ขณะที่เป็นภวังค์ก็เป็นผลของกรรม เมื่อเกิดมาแล้วผลของกรรมก็ไม่ได้ให้ผลเป็นภวังคจิต ซึ่งทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้เท่านั้น ต้องเห็น ต้องได้ยิน ... และกระทบสัมผัสอารมณ์ที่ดี และไม่ดี ซึ่งก็แล้วแต่กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมให้ผล ผู้ศึกษาพระธรรม ต้องเป็นผู้ละเอียดเข้าใจว่าขณะที่ เห็น ขณะที่ ได้ยิน ... เป็นวิปากจิต ไม่ใช่ไปอยากรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ว่าขณะนั้นๆ เป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แล้วจะรู้ได้ไหม?

แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ... เป็นผลของกรรม หลังจากเห็นแล้วกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิด กระทำกรรมใหม่ ซึ่งก็จะให้ผลเป็นวิปากในภายหน้า และท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ในวิทยุเทปตอนหนึ่งซึ่งมีประโยชน์มาก ขอนำมากล่าวเพื่อความเข้าใจ ท่านกล่าวว่า

วันหนึ่งๆ ถ้าเข้าใจว่าเป็นวิปาก ระลึกขึ้นได้ว่าเป็นวิปากในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน แล้วเป็นกุศล เป็นอกุศลต่อจากนั้น ก็จะทำให้รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย

ขณะนี้กำลัง เห็น กำลัง ได้ยิน ... เป็นผลของกรรม เป็นวิปากจิต ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องรู้ ต้องเข้าใจความละเอียดนี้ ไม่ใช่เพียงแต่รู้เหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ ว่าเป็นผลของกรรม แต่ขณะที่กำลังเห็นนี้เอง เป็นผลของกรรม

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

จากคำถามที่ว่า

ธรรมะนี่ละเอียดจริงๆ เหลือเกิน ต้องเอาบัญญัติ เอาเรื่องราวออกให้หมด ให้เหลือแต่ละขณะจิตจริงๆ ใช่ไหมครับ ในการพิจารณาอย่างนี้

- ถูกต้อง ครับ


จากคำถามที่ว่า

ทีนี้ ถึงจะพอจะเห็นภาพขึ้นแล้วครับ เพราะบางทีถ้าเป็นเสียงที่ดีจริงๆ ชวนฟัง บางทีก็เคลิ้ม ไม่ได้สนใจเลยว่า จะเป็นคำด่าหรือคำชม หรือบางทีมีคำชม แต่เสียงแผดแก้วหู ตัวเราก็ไม่ได้ยินดีแต่ประการใด

แต่ก็ยังมีความสงสัยเหลืออยู่นิดนึง ตรงทีว่า มันจะยังมีอะไร ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ลงไปอีกได้หรือเปล่า เพราะตามเรื่องที่ว่า พระพุทธองค์ทรงโดนกล่าวตู่จากนางจิณจมาณวิกา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า นางกล่าวตู่ด้วยเสียงไพเราะน่าฟัง หรือด้วยเสียงไม่น่าฟัง แต่ท่านทรงแสดง โดยหมายเอานัยว่า กล่าวตู่ ว่าเป็นอกุศลวิบากของท่าน ในกาลที่ท่านเคยได้กล่าวใส่ความพระนันทะ พระสาวกของพระสัพพาภิภูพุทธเจ้า

ทีนี้ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ก็แปลว่าการถูก กล่าวตู่ ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ถูกกล่าวตู่ ด้วยอิฏฐารัมณโสตวิญญาณจิต ก็ทำได้นี่ครับ แล้วอย่างงี้จะเป็นผลของกุศลหรืออกุศลกันแน่ หรือเป็นได้ทั้งสอง แล้วแต่กาล แล้วแต่ฐานะ?


เป็นคำถามที่ดี ครับ

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและเข้าใจจริงๆ ว่า วิบาก คืออะไร เป็นสำคัญ

สำหรับในตัวอย่าง ในเรื่องนางจิญจมาณวิกา ที่กล่าวตู่ พระพุทธเจ้า ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกแสดงไว้ครับว่า พวกอัญเดียรถีย์ เสื่อมจากลาภ สักการะ จึงใช้ให้นางจิญจมาณิวิกา ไปใส่ร้าย ว่าร้ายพระพุทธเจ้า จนในวันหนึ่ง ท่ามกลางบริษัท คือ บริษัท ที่เป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร เป็นต้น นางจิญจมาณวิกา ก็กล่าวตู่ว่าร้ายพระพุทธเจ้า ด้วยคำที่ไม่จริง ซึ่งในพระไตรปิฎก แสดงชัดเจนครับว่า ด้วยคำด่า แน่นอน ครับ ว่า คงไม่พูดด้วยเสียงที่ดีแน่นอน เพราะ เป็นการด่า เสียงต้องดัง กล้าแข็ง และ มุ่งทำร้ายผู้อื่นด้วย ด้วยถ้อยคำที่ไม่จริงและเป็นคำด่าด้วย ดังข้อความที่ว่า

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 257

กล่าวว่า "มหาสมณะ พระองค์ (ดีแต่) แสดงธรรม แก่มหาชนเท่านั้น. เสียงของพระองค์ไพเราะ. พระโอษฐ์ของพระองค์สนิท; ส่วนหม่อมฉัน อาศัยพระองค์ ได้เกิดมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว พระองค์ไม่ทรงทราบเรือนเป็นที่คลอดของหม่อมฉัน, ไม่ทรงทราบเครื่องครรภ์บริหาร มีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น, เมื่อไม่ทรงทำเอง ก็ไม่ตรัสบอกพระเจ้าโกศลหรืออนาถบิณฑิกะ หรือนางวิสาขามหาอุบาสิกา คนใด คนหนึ่ง แม้บรรดาอุปัฏฐากทั้งหลายว่า ท่านจงทำกิจที่ควรทำแก่นางจิญจมาณวิกานี้, พระองค์ทรงรู้แต่จะอภิรมย์เท่านั้น, ไม่ทรงรู้ครรภ์บริหาร" เหมือนพยายามจับก้อนคูถ ปามณฑลพระจันทร์ ฉะนั้น ด่าพระตถาคต ในท่ามกลางบริษัทแล้ว.


จะเห็นนะครับว่า ด่า พระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ต้องได้รับอกุศลวิบาก เมื่อว่าโดยพระอภิธรรม โสตวิญญาณเกิดขึ้น (ที่เกิดจากอกุศลกรรม ที่ได้ยินเสียงไม่ดี) มีการกล่าวว่าร้าย ที่เป็นเสียงที่ไม่ดี ส่วน ถ้อยคำที่ไม่จริง ก็เป็นการสมมติขึ้นว่า ไม่จริงอย่างไร ตามสมมติชาวโลก ที่ไม่ใช่ตัวเสียง แต่เป็นบัญติสมมติว่า ไม่จริง เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาพิจารณาตัวเสียงที่เป็นอารมณ์ว่า จะต้องเป็นอนิฏฐารมณ์ ครับ

เพราะฉะนั้น อาศัยกรรมที่เคยกล่าวตู่ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงแสดง สมมติโวหาร โดยนัยพระสูตรว่า แม้เราก็ถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำที่ไม่จริง แต่ ก็ต้องเข้าใจโดยละเอียด

โดยนัยพระอภิธรรมว่า ก็ต้องได้ยินเสียงที่ไม่ดี ที่ถูกสมมติว่า คำว่าร้าย กล่าวตู่ ที่เป็นคำด่า ครับ

จึงกล่าวได้ว่า ถูกกล่าวตู่ ทำให้ได้ยินเสียงไม่ดี และ คำที่กล่าวตู่ ก็เป็นเสียงที่ไม่ดีด้วย ครับ จึงชื่อว่า เป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้เกิด โสตวิญญาณ ที่เป็นอกุศลวิบาก ครับ และ ขอยกตัวอย่างในเรื่องนาง สุนทรีปริพาชิกา ที่พระพุทธเจ้า และ พระสาวกด้วย ถูกกล่าวตู่ว่าร้าย จากเรื่องของนางสุนทรีปริพาชิกา เพราะ ผลของกรรมที่พระองค์ และ พระสาวก ๕๐๐ รูป เคยเกิดเป็นดาบส ว่าร้ายฤาษีผู้มีฤทธิ์ และ ก็ไปบอกศิษย์ตนอีก ๕๐๐ ศิษย์ทั้งหลาย ก็ไปกล่าวตู่ว่าร้าย ฤาษีนั้น ให้คนอื่นฟังอีก ด้วยเศษของอกุศลกรรม ก็ทำให้ถูกกล่าวตู่ และว่าร้าย (ในเรื่องนางสุนทรีปริพาชิกา) จากชาวบ้าน และคนอื่นๆ ที่หาว่า พระองค์ และ พระสาวก เป็นคนฆ่า คือ ได้ยินเสียงที่ไม่ดี จากผู้อื่น ไม่ใช่จากนางสุนทรีปริพาชิกา เพราะ มีอกุศลกรรมเป็นปัจจัย ครับ ทำให้ได้ยินเสียงไม่ดี โดยสมมติว่า เป็นคนนั้น คนนี้พูด ครับ

สรุปได้ว่า ก็ต้องย้อนกลับมาที่พระอภิธรรมทีละขณะจิต อีกนั่นเอง และอารมณ์ของจิตนั้น แม้เสียงที่ได้ยิน หากเป็นเสียงที่ดี ไม่ว่าใครจะกล่าว เพราะ ใครกล่าว ก็เป็นการสมมติขึ้น ไม่เกี่ยวกับปรมัตถ์ หากเป็นเสียงที่ดี ก็ต้องเป็นกุศลวิบาก หากเป็นเสียงที่ไม่ดี ก็ต้องเป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า ก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ที่ถูกด่า ว่าร้าย ในคำที่ไม่จริง ซึ่ง คำที่ไม่จริง เป็นการสมมติขึ้นของชาวโลก ว่าเรื่องนี้ไม่จริง ที่เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ แต่สิ่งที่จริงและพิจารณาว่าเป็นโสตวิญญาณอกุศลวิบาก คือ เสียงที่ไม่ดีที่ได้ยินในขณะนั้น ที่เป็นปรมัตถ์ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ส.ค. 2555

สาธุ สาธุ สาธุ

ขอกราบอนุโมทนาสาธุ อ.คำปั่น, คุณเมตตา และ อ.ผเดิม ครับ

ธรรมะละเอียดจริงๆ

สมดั่งที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวไว้ว่าจะละไม่ได้เลยแม้พยัญชนะเดียว

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 25 ส.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มอีก เพราะมีความสงสัยต่อครับ ...

คือ การได้พบพระธรรม การได้ฟังพระธรรม ก็จะต้องเป็นผลของกุศลแน่ๆ ใช่ไหมครับ และต้องเป็นถึงขั้นญาณสัมปยุตต์ด้วย

ซึ่งพระธรรม โดยนัยว่า เป็นเพียงเสียง ที่ได้ฟังจากท่านอาจารย์สุจินต์ก็ดี ได้ฟังจากท่านอื่นก็ดี หรือ เป็นสีสันวรรณะ ที่ปรากฏให้ได้อ่านในอินเทอร์เน็ต ก็ดี ในหนังสือก็ดี ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม เพราะฉะนั้น จิตเห็น และได้ยิน ขณะนั้น ก็ต้องเป็น มหาวิบาก ดวงใดดวงหนึ่งใน ๔ ดวง ที่เป็นญาณสัมปปยุตต์แน่นอน ถูกต้องใช่ไหมครับ

มันก็ไม่พ้นไปจากเรื่องราวอีกนี่ครับ เพราะพระธรรมจะอธิบายให้เข้าใจ ให้เราๆ ปฏิบัติตามกันได้ ย่อมต้องอาศัยสมมติสัจจะ เพื่อปุถุชนจะได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น มันย่อมต้องเกี่ยวเนื่องด้วย เรื่องราว ที่เป็นคำอธิบาย ลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะถ้าเสียงนี้ไม่สืบต่อจนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสมมติสัจจะ ให้เราได้เกิดมโนทวารวิถี ตรึก นึก ทำมนสิการะเนืองๆ ให้เข้าใจ ก็ย่อมไม่มีวันที่จะบรรลุธรรมได้เลย

แต่กระนั้น ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรม ที่เป็นเสียงไม่ดี ... ทางตาอาจจะอธิบายยากสักหน่อยใช่ไหมครับ เพราะมันไม่ค่อยชัด อย่างถ้าตัวหนังสือขยุกขยือ หรือหนังสือสกปรก ตัวหนังสือก็พาสกปรก อะไรแบบนี้ มันไม่แน่ชัดว่า ต้องเป็นผลของอกุศลเสมอไป ไม่ชัดเท่าเสียง

แต่เสียง ถ้าได้ยิน อาจจะคนแก่ๆ เสียงไม่น่ารื่นรมณ์ ไม่น่าฟัง แต่ท่านทรงธรรม ท่านก็อธิบายธรรม ให้เราได้เข้าใจ ให้เราได้ฟัง

ซึ่งเสียงนั้น อนิฏฐารมณ์แน่ๆ เพราะอะไร เพราะคนที่ไม่ตั้งใจฟังพระธรรม หรือไม่เคยฟังพระธรรม พากันไม่ฟัง ด้วยเหตุผลว่า เสียงไม่น่าฟัง ใช่ไหมครับ เสียงนี้อนิฏฐารมณ์ แต่เรื่องราวที่เสียงกำลังเป็นไป ที่เป็นสมมติสัจจะ เป็นพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ต้องมีกุศลสูงถึงขั้นมหาวิบากญาณสัมปปยุตต์ จึงจะได้ฟัง และฟังดีๆ ก็เป็นสติ ให้ปฏิบัติธรรม ให้เข้าใจธรรม ให้บรรลุธรรมกันเสียด้วย

อย่างนี้จะอธิบายได้อย่างไรล่ะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมากครับ ซึ่งเราจะต้องแยกระหว่าง ขณะที่เป็นวิบาก คือ ขณะที่ เห็น ได้ยิน เป็นต้น ขณะหนึ่ง กับขณะที่ไม่อยากฟัง ไม่ชอบ ที่เป็นอกุศลจิตอีกขณะหนึ่ง ซึ่ง การชอบ หรือ ไม่ชอบ การอยากฟัง ไม่อยากฟัง ไม่ได้เป็นตัวแปรที่จะเป็นตัวตัดสินว่า วิบากนั้นจะเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก ครับ

ยกตัวอย่าง เช่น สุนัข และ สุกร ชอบ คูถ สิ่งสกปรก ความชอบ ไม่ได้ตัดสินว่า เป็นกุศลวิบาก เพราะ คูถ ในขณะที่ได้กลิ่น ก็เป็นกลิ่นที่เหม็น แต่สุนัข และ การได้รับกลิ่นที่เหม็น ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ก็เป็นอกุศลวิบากไปแล้ว เพราะฉะนั้น กุศลวิบากหรืออกุศลวิบากที่เป็นเห็น ได้ยิน เป็นต้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ความชอบ ไม่ชอบส่วนตัว เพราะการชอบ ไม่ชอบ เป็นไปตามการสะสม ชอบในสิ่งที่เป็นอกุศลวิบากก็ได้ และไม่ชอบ ในสิ่งที่เป็นกุศลวิบากก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับกรรมของคนนั้นเป็นสำคัญ เมื่อกรรมดีให้ผล ก็ได้ยินเสียงที่ดี เมื่อกรรมไม่ดีให้ผลก็ทำให้ได้ยินเสียงที่ไม่ดี

และอีกตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็อธิบายครับว่า

แม้เสียงของพระพุทธเจ้า เป็นอติอิฏฐารมณ์ เป็นเสียงที่ดียิ่ง แต่ เมื่ออัญเดียรถีย์ได้ฟัง ก็อยากปิดหู ไม่ชอบเลย ความไม่ชอบ ก็ส่วนความไม่ชอบ แต่ขณะที่อัญเดียรถีย์ได้ยินเสียงพระพุทธเจ้า แม้พระองค์จะมีพระชนม์มายุ ๘๐ ปี ก็ดุจเสียงพรหมที่ไพเราะ ขณะนั้น เป็น กุศลวิบากทางหู แต่ อัญเดียรถีย์ก็ไม่อยากฟัง และ แม้ผู้ที่ไม่สนใจธรรมเลย ก็ไม่อยากฟัง เบื่อ เพราะ ไม่ได้สะสมปัญญามา เพราะฉะนั้นการไม่อยากฟัง เป็นไปตามการสะสม ไม่ได้เป็นตัวตัดสิน ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรือ จะเป็นอกุศลวิบาก เพราะความชอบหรือไม่ชอบ การอยากฟัง หรือ ไม่อยากฟัง ครับ

โดยนัย แม้จะกล่าว การสมมติว่าเป็นธรรม ลองเปิดเครื่องเสียงดังๆ เปิดเอ็มพี 3 เร่งเสียงให้สุด หูแทบแตก ทั้งๆ ที่เป็นเสียงเดียวกัน และ สมมติว่าเป็นเสียงธรรม ครับ แต่ก็เป็นอกุศลวิบากได้ เพราฉะนั้น พิจารณาที่ปรมัตถ์ คือ เสียงในขณะนั้น เป็นสำคัญ หรือ ลองพูดคำในธรรม พูดด้วยเสียงอันดังๆ มากๆ จะชอบ หรือ ไม่ชอบ ก็ตาม แต่ขณะนั้น ก็เป็นอกุศลวิบากทางหู ที่ได้ยินเสียงที่ดังมากๆ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เสียงคนแก่ๆ คนไม่อยากฟัง แต่ไม่ได้หมายความว่า การไม่อยากฟังของคนที่ไม่สะสมปัญญามา หรือ พวกที่เห็นผิด จะทำให้เสียงนั้น เป็นอกุศลวิบากไป เพราะการไม่อยากฟัง ซึ่งอาจจะเป็นกุศลวิบาก ที่เป็นเสียงนิ่มๆ ไปเรื่อยๆ ก็ได้ ครับ ซึ่งก็ต้องเป็นวิสัยของผู้รู้ ที่มีปัญญา ที่จะรู้โดยละเอียดว่า ขณะใดเป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นไม่มีกำลัง ไม่ชัดเจน ครับ

ดังนั้น เสียงที่กล่าวธรรม ที่ได้ยินในเสียงกำลังดี ทำให้ฟังรู้เรื่อง การฟังรู้เรื่อง ไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก เพราะ ตามการสะสม แต่ การได้ยินเสียงที่ดี คือ เสียงที่เหมาะสม ไพเราะ ก็เป็นอิฏฐารมณ์ ไม่ว่าคำนั้น จะสื่อความหมายถึงเรื่องอะไรก็ตาม ครับ

เพราะ ในวาระแรก คือ ปัญจทวารวิถี ยังไม่รู้ความหมายใช่ไหมครับ ว่าเป็นเสียงใคร มีความหมายว่าอะไร แต่ขณะนั้น ก็เกิด โสตวิญญาณทางปัญจทวารแล้วในวาระแรก ซึ่งก็เป็นกุศลวิบากก็ได้ อกุศลวิบากก็ได้ แล้วแต่ว่า เสียงนั้น จะเป็นเสียงที่เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ทั้งๆ ที่เสียงนั้น ยังไม่มีการคิดนึกความหมายในวิถีนั้นเลย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนา อ.ผเดิม เป็นอย่างยิ่งครับ

ขอรบกวนถามเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อนนะครับ

ถ้าตัดเรื่อง อติอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ออกไป ไม่ต้องกล่าวถึง เอาเฉพาะตัวจิต ชาติวิบาก ที่เกิดทางปัญจทวาร ถ้าเกิดดับสืบต่อเป็นเรื่องราว ที่เป็นพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว ย่อมต้องเป็น กุศลวิบากญาณสัมปยุตต์ แน่นอน ถูกต้อง ใช่ไหมครับ แล้วเสมอไปไหม อย่างไรครับ?

ส่วนใครจะพิจารณาตามหรือไม่พิจารณาตาม เพื่อได้รับประโยชน์ ก็แล้วแต่ อุปนิสัยและการอบรมเจริญปัญญามาของผู้นั้นๆ เอง

แล้ว การเจริญวิปัสสนานี้ ถือเป็นภาวนามัย ซึ่งเป็นการกระทำกุศลกรรม ถูกต้องใช่ไหม ครับ ซึ่งถ้าเป็นการเจริญวิปัสสนา ที่ถูกต้อง ถูกทาง แล้ว ย่อมถือเป็นการกระทำกุศลกรรม ที่เป็นญาณสัมปยุตต์ และมีผลสองอย่างก็คือ

๑. ให้ผลเป็นอุปนิสสยปัจจัย ในการทำให้ปัญญาเจริญขึ้นๆ

๒. ให้ผลเป็นวิบาก คือให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์ ตามควรแก่กำลัง และ ย่อมต้องได้รับผลคือ นำพาให้พบพระสัจจธรรม เพื่ออบรมปัญญาต่อไปในอนาคต อย่างนี้ใช่หรือไม่ อย่างไร ครับ?

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

ถ้าตัดเรื่อง อติอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ออกไป ไม่ต้องกล่าวถึง เอาเฉพาะตัวจิตชาติวิบากที่เกิดทางปัญจทวาร ถ้าเกิดดับสืบต่อเป็นเรื่องราวที่เป็นพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมต้องเป็น กุศลวิบากญาณสัมปยุตต์ แน่นอน ถูกต้องใช่ไหมครับ แล้วเสมอไปไหม อย่างไรครับ?

ส่วนใครจะพิจารณาตาม หรือ ไม่พิจารณาตาม เพื่อได้รับประโยชน์ ก็แล้วแต่อุปนิสัย และ การอบรมเจริญปัญญามาของผู้นั้นๆ เอง

- ขณะที่ได้ยินเสียง เป็นวิถีจิตทางปัญจทวาร ในขณะนั้น ยังไม่มีเรื่องราว มีแต่เพียงรูปธรรม ที่เป็นเสียง ที่เป็นอารมณ์ของ โสตวิญญาณที่เกิดขึ้น

จิตเมื่อเกิดขึ้น ก็จะต้องรู้อารมณ์เสมอ คือ จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ และ จะต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น การได้ยินเสียง ทางปัญจทวาร ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกได้ยิน คือ เสียง เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาที่ตัววิบากจิต ในขณะนั้น และ อารมณ์ที่ถูกจิตรู้ด้วย ทิ้งไม่ได้ ครับ ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบากทางหู ถ้าเป็นโสตวิญญาณ จิตที่ได้ยินที่เป็นกุศลวิบาก ก็จะต้องได้ยินเสียงที่ดี ถ้าเป็นอกุศลวิบากทางหู จิตได้ยิน ที่เป็นผลของอกุศลกรรม ก็จะต้องมีอารมณ์ คือ เสียงที่ไม่ดี ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินเสียงทางปัญจทวาร จึงยังไม่มีเรื่องราว แต่เมื่อไหร่ที่เป็นเรื่องราว นั่นเป็น มโนทวารวิถีวาระหลังๆ แล้วครับ

เพราะฉะนั้น การพิจารณา ก็ต้องพิจารณา ทางปัญจทวาร วาระแรก ที่เกิดโสตวิญญาณ ที่ยังไม่มีเรื่องราวของที่เป็นชื่อของพระธรรม หรือ บัญญัติ ว่าเป็นพระธรรมของพระพุทธเจ้า ครับ และก็ต้องพิจารณาอารมณ์ คือ เสียงในขณะนั้นด้วย ครับ ซึ่งตามที่กล่าวไปแล้วครับ เสียงที่ดังมากๆ แม้จะเป็นเสียงที่กล่าวธรรม เสียงดังสนั่น ขณะที่ได้ยินเสียง ทางปัญจทวารยังไม่มีเรื่องราว เสียงที่ดังมากๆ ไปยืนอยู่ใกล้ลำโพง ก็ต้องเป็นอนิฏฐารมณ์ ที่เป็นเสียงที่ไม่ดี โสตวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบาก และวาระจิตอื่นๆ ก็อาจคิดถึง คำที่ได้ยิน หรือ ฟังไม่รู้เรื่องก็ได้ ทั้งๆ ที่คนพูด พูดออกไมค์และอ่านพระธรรมพระพุทธเจ้าอยู่ แต่ได้ยินเสียงที่ดังมากๆ อยู่ใกล้ลำโพง ดังนั้นก็ต้องกลับมา พิจารณาที่ตัวปรมัตถธรรมเป็นสำคัญ ครับ


แล้ว การเจริญวิปัสสนานี้ ถือเป็นภาวนามัย ซึ่งเป็นการกระทำกุศลกรรม ถูกต้อง ใช่ไหม ครับ

ซึ่งถ้าเป็นการเจริญวิปัสสนา ที่ถูกต้อง ถูกทาง แล้ว ย่อมถือเป็นการกระทำกุศลกรรม ที่เป็นญาณสัมปยุตต์ และมีผลสองอย่างก็คือ

๑. ให้ผลเป็นอุปนิสสยปัจจัย ในการทำให้ปัญญาเจริญขึ้นๆ

๒. ให้ผลเป็นวิบาก คือให้ผลทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์ตามควรแก่กำลัง และ ย่อมต้องได้รับผล คือ นำพาให้พบพระสัจจธรรม เพื่ออบรมปัญญาต่อไปในอนาคต


- ถูกต้อง ครับ

ก็ทำให้เห็นสิ่งทีดี ได้ยินสิ่งที่ดี เป็นต้น ซึ่ง บัญญัติว่าเป็นพระธรรม แต่ก็ต้องเป็นการได้ยินเสียง เสียงนั้นกำลังดี ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ครับ และ ก็เมื่อคิดนึกก็เป็นเรื่องราวของธรรม ที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
bsomsuda
วันที่ 26 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
นิรมิต
วันที่ 26 ส.ค. 2555

กราบอนุโมทนาจริงๆ ครับ แจ่มแจ้งแล้วครับ

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 ส.ค. 2555

จากที่คุณนิรมิตสอบถามว่า

"ถ้าตัดเรื่อง อติอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ออกไป ไม่ต้องกล่าวถึง เอาเฉพาะตัวจิต ชาติวิบากที่เกิดทางปัญจทวาร ถ้าเกิดดับสืบต่อเป็นเรื่องราวที่เป็นพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมต้องเป็น กุศลวิบากญาณสัมปยุตต์ แน่นอน ถูกต้องใช่ไหมครับ"

ผมมีข้อสงสัยว่า "กุศลวิบากญาณสัมปยุตต์" เป็นจิตขึ้นในวิถีจิตทางปัญจทวาร ได้หรือไม่ครับ หากได้ ตัวอย่างเช่น โสตวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันติรณจิต ตทาลัมพนจิต ในวิถีจิตทางโสตทวาร เป็นกุศลวิบากญาณสัมปยุตต์ ตลอดสายในวาระนั้นๆ จะใช่หรือไม่ครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 28 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 14 ครับ

กุศลวิบากญาณสัมปยุตต์ หรือ มหาวิบากจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา สามารถทำกิจปฏิสนธิ คือ เกิด และ ปวัตติกาล คือ หลังจากที่เกิดแล้ว คือ ขณะที่เป็นภวังคจิต และ จุติ ตทาลัมพนะ

วิถีทางปัญจทวาร เกิด ทวิปัญจวิญญาณจิต ที่เป็นกุศลวิบาก เช่น เห็นสีที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี แต่ จิตที่เป็นโสตวิญญาณ เป็นอเหตุกจิต ที่เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ และ อโมหเจตสิก (ปัญญา) ครับ รวมทั้ง สัมปฏิจฉันนจิต สันติรณจิต ที่เป็นกุศลวิบาก ก็เป็นอเหตุกจิต ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่เป็นกุศลวิบาก เป็นอเหตุกจิต ครับ จึงไม่ใช่ กุศลวิบากญาณสัมปยุตต์ แต่เมื่อถึง ตทาลัมพนจิต สามารถเป็นมหาวิบากจิตที่ประกอบด้วยปัญญาได้ เพราะ เป็นผลมาจากกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ ครับ

สรุปได้ว่า ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ ทางปัญจทวารวิถี เป็นอเหตุกะ ไม่ใช่ มหากุศลวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา เพียงแต่ว่า ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ ที่เป็นอเหตุกกุศลวิบาก เป็นผลมาจาก กุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาให้ผลในปวัตติกาล คือ หลังจากเกิดแล้ว ได้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 ส.ค. 2555

เข้าใจได้มากขึ้นทีเดียวครับ

สำหรับ ตทาลัมพนจิต ซึ่งเป็นวิบากที่เกิดต่อจากชวนจิตนั้น มีได้ทั้งทางปัญจทวาร และมโนทวาร

ในส่วนของมโนทวารนั้น มหาวิบากจิตประกอบด้วยปัญญา ซึ่งตามมาจากชวนจิตที่เป็นกุศลจิตประกอบด้วยปัญญานั้น ค่อนข้างชัดเจน แต่หากเป็นทางปัญจทวาร ชวนจิตทางทวารนี้ มีโอกาสที่จะเป็นกุศลจิตประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้ ตทาลัมพนจิตสืบต่อด้วย มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ด้วยหรือไม่ ครับ

ขออนุญาตรบกวนอาจารย์ผเดิมอีกนิดนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
paderm
วันที่ 28 ส.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 16 ครับ

ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
thilda
วันที่ 24 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ