การไม่คบพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาผู้ที่ควรบูชา ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจาก
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 170
เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากปรารถนาความ
สวัสดีจึงพากันคิดมงคลทั้งหลายขอพระองค์โปรด
ตรัสบอกมงคลด้วยเถิดพระเจ้าข้า.
พรรณนาคาถาว่าอเสวนาจ
พระคาถาว่า อเสวนาจพาลานํเป็นต้น. ในพระคาถานั้น บทว่า อเสวนา
ได้แก่ การไม่คบ ไม่เข้าไปใกล้.
บทว่า พาลานํความว่า ชื่อว่าพาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้
อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้าหายใจออก
ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา. ซึ่งพาลเหล่านั้น.
บทว่า ปณฺฑิตานํความว่า ชื่อว่าบัณฑิต เพราะดำเนินไป อธิบาย
ว่า ดำเนินไปด้วยคติ คือความรู้ในประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันและภายภาคหน้า
ซึ่งบัณฑิตเหล่านั้น.
บทว่า เสวนา ได้แก่ การคบ การเข้าใกล้ ความมีบัณฑิตนั้น
เป็นสหาย มีบัณฑิตนั้น เป็นเพื่อน ความพรักพร้อมด้วยบัณฑิตนั้น.
บทว่า ปูชา ได้แก่ การสักการะ เคารพนับถือ กราบไหว้.
บทว่า ปูชเนยฺยานํ แปลว่า ผู้ควรบูชา.
บทว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงประมวลการไม่คบพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาผู้ที่ควรบูชา ๑ ทั้งหมด
จึงตรัสว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตม. ท่านอธิบายว่า คำใดท่านถามว่า
โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดมเถิด ท่านจงถือคำนั้นว่า มงคลอันอุดม
ในข้อนั้นก่อนนี้เป็นการพรรณนาบทแห่งคาถานี้.
ส่วนการพรรณนาความแห่งบทนั้น พึงทราบดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น.
ฉะนั้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเสมือนบุรุษผู้ฉลาดในทางอย่างที่ตรัสไว้ว่า
ดูก่อนติสสะคำว่าบุรุษผู้ฉลาดในทางนี้เป็นชื่อ
ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. จริงอยู่ตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นฉลาดรู้โลกนี้ฉลาดรู้
โลกอื่นฉลาดรู้ถิ่นมัจจุฉลาดรู้ทั้งมิใช่ถิ่นมัจจุ
ฉลาดรู้บ่วงมารฉลาดรู้ทั้งมิใช่บ่วงมาร.
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายไฟลามจากเรือนไม้อ้อหรือ
เรือนหน้าย่อมไหม้แม้เรือนยอดซึ่งฉาบไว้ทั้งข้าง
นอกข้างในกันลมได้ลงกลอนสนิทปิดหน้าต่างไว้
เปรียบฉันใดดูก่อนภิกษุทั้งหลายภัยทุกชนิด
ย่อมเกิดเปรียบฉันนั้นเหมือนกันภัยเหล่านั้น
ทั้งหมดเกิดจากพาลไม่เกิดจากบัณฑิต
อุปัทวะทุกอย่างย่อมเกิดฯลฯอุปสรรคทุกอย่างย่อมเกิดฯลฯ
ไม่เกิดจากบัณฑิต. ดูก่อนภิกษุทั้งหลายดังนั้นแลพาลเป็นภัย
บัณฑิตไม่เป็นภัยพาลอุบาทว์บัณฑิตไม่อุบาทว์
พาลเป็นอุปสรรคบัณฑิตไม่เป็นอุปสรรคดังนี้.
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
นรชนผู้ใดผูกปลาเน่าด้วยปลายหญ้าคาแม้หญ้าคา
ของนรชนผู้นั้นก็มีกลิ่นเน่าฟุ้งไปด้วย
การคบพาลก็เป็นอย่างนั้น.
ไม่ควรพบพาลไม่ควรพึงไม่ควรอยู่ร่วมกับพาล
ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัยกับพาลและไม่ควรชอบใจ.
ท้าวสักกะ ตรัสถามว่า
ท่านกัสสปะทำไมหนอพาลจึงไม่เชื่อท่าน
โปรดบอกเหตุมาสิเพราะเหตุไร
ท่านจึงไม่อยากเห็นพาลนะท่านกัสสปะ.
อกัตติบัณฑิตตอบ
คนปัญญาทรามย่อมแนะนำข้อที่ไม่ควรแนะนำ
ย่อมประกอบคนไว้ในกิจที่มิใช่ธุระ
การแนะนำเขาก็แสนยากเพราะเขาถูกว่ากล่าวโดยดี ก็โกรธ
พาลนั้นไม่รู้จักวินัย การไม่เห็นเขาเสียได้ก็เป็นการดี.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการคบพาลโดยอาการทั้งปวงอย่าง
นี้ จึงตรัสว่าการไม่คบพาลเป็นมงคล บัดนี้เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต
จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล.
สัตว์ทุกประเภทผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ๑๐
มีเจตนางดเว้นปาณาติบาตเป็นต้น
ชื่อว่าบัณฑิตในจำพวกพาลและบัณฑิตนั้น.
นรชนผู้ใดห่อกฤษณาไว้ด้วยใบไม้แม้ใบไม้ของ
นรชนผู้นั้นก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง
การคบบัณฑิตก็เหมือนอย่างนั้น.
อนึ่งเล่า เมื่อท้าวสักกะจอมทวยเทพประทานพร
แก่อกิตติบัณฑิตก็กล่าวว่า
ควรคบบัณฑิตควรฟังบัณฑิตควรอยู่ร่วมกับบัณฑิต
ควรทำการเสวนาปราศรัยกับบัณฑิต
และควรชอบใจบัณฑิตนั้น.
ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสถามว่า
ท่านกัสสปะทำไมหนอบัณฑิตจึงไม่ทำต่อท่าน
โปรดบอกเหตุมาสิเพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยากพบบัณฑิตนะท่านกัสสปะ.
อกิตติบัณฑิตตอบว่า
บัณฑิตย่อมแนะนำเรื่องที่ควรแนะนำ
ไม่จูงคนไปในกิจมิใช่ธุระ
แนะนำเขาก็ง่ายดีเพราะเขาถูกว่ากล่าวโดยดี
ก็ไม่โกรธบัณฑิตนั้นรู้วินัย
สมาคมกับบัณฑิตนั้นได้เป็นการดี.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต โดยธรรมทั้งปวง
อย่างนี้ จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล. บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญ
การบูชาบุคคลผู้เข้าถึงความเป็นผู้ควรบูชาโดยลำดับ ด้วยการไม่คบพาลและ
การคบบัณฑิตนั้น จึงตรัสว่า ปูชาจปูชเนยฺยานํมงคลํ
การบูชาผู้ที่ควรบูชาเป็นมงคล.
การบูชาปูชเนยยบุคคลเหล่านั้น แม้เล็กน้อย
ก็เป็นประโยชน์สุขตลอดกาลยาวนาน.
อรรถกถาท่านอธิบายได้อย่างละเอียดเลยนะครับ
ผมจึงเข้าใจได้เลยว่า มงคลแรกๆ นี้ จึงเริ่มจาก
การไม่ไปคบกับคนพาล ก่อนอื่น เพราะเปรียบเสมือนเริ่มจุดไฟเผาบ้าน
แม้จะไปเริ่มจุดไฟด้านไหนแม้ด้านนอกด้านหน้า (เข้าใจว่าไม่เป็นไร)
แต่ที่สุดไฟย่อมไหม้ทั้งเรือน ยากที่จะแก้ไขแล้ว
ส่วนมงคลที่ตามมาก็ตรงกันข้ามเลยนะครับ
ใครมีกุศลวิบากที่ดี ก็จะได้พบบัณฑิต แต่ก็ควรไม่ประมาทที่จะรับฟัง
เหตุผลของบัณฑิตนะครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอและทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาคุณหมอ และ คุณผู้ร่วมเดินทาง ครับ ขอร่วมสนทนาในประเด็นนี้ใน
เรื่องการไม่คบคนพาล ที่พระองค์ตรัส การไม่คบคนพาลก่อนข้ออื่นๆ ดังที่อรรถกถา
อธิบาย ด้วยเหตุผลที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดในหนทาง คือ มีทั้งทางที่ผิด และ
ทางที่ถูก พระองค์ทรงบอกทางผิดว่าไม่ดีอย่างไร มีอันตรายอย่างไร คนที่เดินทาง
มา จะได้ไม่ไปทางนั้น จึงค่อยบอกทางที่ถูก ทางนี้ที่ควรไป เพราะ ถ้าเราไม่รู้ว่าทาง
นี้มีโทษ มีภัยอันตรายจริงๆ เพียงแต่บอกว่า ทางนี้อย่าไป ไปทางนี้ดีกว่า ย่อมไม่เชื่อ
แต่เมื่อบอกโทษของทางที่จะไป ที่เป็นทางผิด ว่ามีโทษอย่างไร คือ การคบคนพาล
และ พระองค์แสดงสิ่งที่เป็นมงคล คือ การไม่คบคนพาล ย่อมเว้นโทษจากสิ่งที่ไม่ดี
ก่อน เมื่อเว้นโทษจากสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ย่อมถือเอาสิ่งที่ดี คือ การคบบัณฑิต นี่คือเหตุผล
ข้อที่ 1
ข้อที่ 2 ที่พระพุทธเจ้าตรัส การไม่คบคนพาล ก่อน การคบบัณฑิต เพราะว่า โดย
ทั่วไป สัตว์โลกนับถือ มงคล ที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ดี คือ การเห็น การได้ยิน เช่น เห็นสี
สวยๆ ได้ยินเสียงเพราะๆ ก็จะนำมาซึ่งมงคล การได้เห็นผู้ที่เห็นผิด จะนำมาซึ่งความ
ไม่เป็นมงคล พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้าม ด้วยการไม่คบคนพาลก่อน เพราะ ไม่นำมาซึ่ง
มงคล หรือความเจริญต่างๆ เลย ครับ
ซึ่ง เมื่อผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาให้ผล ย่อมทำให้พบบัณฑิต และก็ ยินดี
พอใจในสิ่งที่ถูกต้อง และอัธยาศัยที่สะสมความเห็นถูกมา ย่อมหลีกเร้นจากความเห็น
ผิดและคนพาล ดังเช่นที่คุณผู้ร่วมเดินทางกล่าวไว้ในผลของกุศล ครับ
ขออนุโมทนาคุณหมอ คุณผู้ร่วมเดินทาง และทุกท่าน ครับ
คนสมัยนี้ที่จะรู้ว่าผู้ใดเป็นบัณฑิต ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะคนส่วนใหญ่ขาด
การพิจารณาถึงเหตุ และผลของพระธรรมคำสอน เลยไม่สามารถรู้ว่า อาจารย์ท่านใด
สอนถูกต้องตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มักจะคิดเอาเอง หรือฟังคำแนะนำ
จากผู้อื่นว่าท่านนี้ สอนดี สอนเก่ง หรือไม่ก็คิดว่า ควรเชื่อตามที่พระท่านสอน ก็เลย
เสียโอกาส ที่จะได้ฟังความจริง ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ท่านอาจารย์สุจินต์ เคย
กล่าวไว้ว่า ควรจะเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาว่า ท่านใดที่สอนให้รู้ความจริงขณะนี้...
พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงสัจจธรรม ความจริงของชีวิต ทุกขณะ ท่านกล่าว
ว่าไม่ใช่ฟังท่านคนเดียว ฟังท่านใดก็ได้ที่สอนให้รู้ความจริงขณะนี้ เพราะพระไตรปิฎก
ก็พูดถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ไม่พ้นจาเรื่องของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
...กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอเพิ่ม
คุณผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกๆ ท่านด้วยค่ะ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การคบกับคนพาลนั้น นำไปสู่ความเสื่อม คือ นำไปสู่อกุศลธรรมทั้งปวง นำความ
ทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้เท่านั้น แต่ถ้าได้เข้าใกล้บัณฑิต ได้ฟังพระธรรม พิจารณา
ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ย่อมนำไปสู่การเจริญขึ้นของกุศลธรรม และเป็นเหตุนำไปสู่การรู้
แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ นำประโยชน์สุขมาให้โดยส่วนเดียว
การคบคน จึงเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความเสื่อมหรือความเจริญ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้
จึงควรอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงคนพาล ไม่คบคนพาล แต่ควรคบหาสมาคมกับบัณฑิต
เท่านั้นซึ่งจะทำให้ผู้คบหามีโอกาสได้ฟังสัจจธรรม ได้ฟังความจริง ทำให้มีโอกาสได้
ประพฤติธรรมถูกต้อง ได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ครับ
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"การคบคนพาลผู้มีความเห็นผิด เปรียบเหมือนกับน้ำหวานที่ถูกผสมกับยาพิษ
ก็กลายเป็นน้ำขมเฝื่อนไป "
"เพราะเป็นผู้ไม่เห็นผิดจึงย่อมได้สหายดี"
...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และทุกๆ ท่านครับ..
ความเข้าใจและปัญญาเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถค่อยๆ ถอยห่างจากคนพาลได้เอง-
ในที่สุด หรือถึงแม้ว่าจะต้องอยู่ในที่ที่มีคนพาล ก็ยังรักษาจิตใจไม่ให้พาลตามได้
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ มงคลบทนี้ละเอียดลึกซึ้้งมาก
ความเห็นผิดมีโทษมาก
"การคบคนพาลผู้มีความเห็นผิด เปรียบเหมือนกับน้ำหวานที่ถูกผสมกับยาพิษ
ก็กลายเป็นน้ำขมเฝื่อนไป" "
ความเห็นผิดอาจเกิดกับผู้คบกับคนพาลได้ จึงเป็นอันตรายมาก
พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงประมวลการไม่คบพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาผู้ที่ควรบูชา ๑ ทั้งหมด
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผู้ร่วมเดินทาง คุณผเดิม คุณเมตตา
และ
คุณคำปั่น พร้อมทั้งทุกท่านครับ