โลภะ และ อุปาทาน และ ทิฏฐิ

 
นิรมิต
วันที่  31 ส.ค. 2555
หมายเลข  21640
อ่าน  2,944

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมทุกท่าน

กระผมอยากทราบว่า โลภะ และ อุปาทาน นี่เป็นสภาพธรรมะอย่างเดียวกันใช่ไหม แต่ อุปาทานนี่ หมายโดยนัยแคบกว่า คือหมายถึง โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือเปล่า เพราะอุปาทานตามที่เข้าใจมีความหมายว่า ยึดมั่นถือมั่นเอามาเป็นของเรา หรือ เพราะติดข้องเห็นว่าดีเห็นว่างามเลยยึดเอามา

หรือหมายถึงโลภะทั้งหมด โดยนัยเดียวกันว่า เป็นลักษณะของการยึดมั่นถือมั่น ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ปล่อยอารมณ์นั้นไป ครับ?

หรือว่ามีความแตกต่างกัน อย่างไรครับ?

---------------

ทิฏฐิเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโลภะ ลักษณะของทิฏฐิ นี้ คือ เชื่อว่าโลกไม่มี เชื่อว่าบุญ บาป กรรม ไม่มี เชื่อต่างๆ ที่ไม่ตรงกับสภาพธรรมะตามความเป็นจริง เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดเป็นลักษณะของทิฏฐิเจตสิก ถูกต้องไหมครับ

แล้วอย่างการที่มีความคิดว่า โลภะนี้ดี หรือ โทสะนี้ดี อย่างเช่น ในกรณีที่ว่า ถ้ายังมีอกุศลนิดหน่อย ก็คงจะดีในทางโลก เพราะโลภะ เป็นการทำให้การทำงานสนุก ก็ไม่เครียดกับการทำงาน หรือโทสะ ในการสั่งสอนลูกอะไรแบบนี้ ต้องมีบ้าง ความเห็นแบบนี้ถือว่าเป็นทิฏฐิเจตสิกหรือเปล่าครับ ถ้าไม่ใช่แล้วเป็นอะไรครับ

---------------

สุดท้ายนี้ รบกวนขอท่านวิทยากรและมิตรธรรม ช่วยแสดงโทษของโลภะ แบบในลักษณะของปรมัถตธรรม คือในขณะที่ติดข้อง ในขณะที่ยินดีพอใจ เพราะยากจะเห็นได้จริงๆ เลย ในขณะที่ติดข้องแล้วเป็นโสมนัสเวทนา ขณะนั้นเป็นสุข มองไม่ออกถึงความไม่ดีของโลภะเลย เพราะเป็นสุข เป็นโสมนัสเวทนา

ต่อเมื่อสิ้นสุขของโลภะ สิ้นโสมนัสเวทนา จึงเกิดโทสมูลจิต จึงมีการแสวงหาปัจจัยต่างๆ นานา ที่จะเป็นเหตุปรุงแต่งให้โลภะเกิด ด้วยการกระทำอกุศลประการต่างๆ บ้าง กุศลประการต่างๆ บ้าง ต้องดิ้นรนกระทำเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เป็นทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ จึงจะเห็นโทษของโลภะที่ว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะสิ่งทั้งหลายมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด ไม่ตั้งอยู่ตลอดไปได้ เพราะสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ แต่ไอ้ตอนที่โลภะมันยังเกิดสืบต่อหลายๆ วาระ เป็นโลภะที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา มันมองเห็นโทษได้ยากเหลือเกิน เพราะอย่างบางคนที่ชีวิตพบเจอแต่สิ่งดีๆ มีแต่อิฏฐารมณ์เต็มไปหมด ทั้งชีวิตมีแต่ความเพลินเพลินยินดีเป็นโลภะ ไปถามเขาว่า มีทุกข์อะไรบ้าง ไอ้ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ จากอาการเจ็บป่วย หรือจากความขุ่นเคืองขัดใจเล็กๆ เขาก็มองไม่เห็น เพราะเขามีสุขมากกว่า เขาก็มีความเห็นว่า ก็สุขสบายดี ไม่เห็นมีทุกข์อะไรจะต้องให้ดับ แล้วก็ไม่เห็นจะต้องเจริญกุศลเพราะก็มีสุขดีอยู่แล้ว

เลยอยากจะทราบโทษ โดยลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นว่า มีโทษมากมายประการใดบ้าง จะได้เป็นเครื่องเตือนสติให้เห็นโทษของโลภะ แม้เพียงเล็กน้อย จะได้คลายออกไปเสีย เพราะถ้าเล็กน้อย ยังไม่เห็นโทษ ก็คงเป็นปัจจัยให้ต่อไปใหญ่ก็คงจะไม่เห็นโทษได้เหมือนกัน

ขอกราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กระผมอยากทราบว่า โลภะ และ อุปาทาน นี่เป็นสภาพธรรมะ อย่างเดียวกัน ใช่ไหม แต่อุปาทานนี่ หมายโดยนัยแคบกว่า คือหมายถึง โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือเปล่า เพราะอุปาทานตามที่เข้าใจมีความหมายว่า ยึดมั่นถือมั่นเอามาเป็นของเรา หรือเพราะติดข้อง เห็นว่าดี เห็นว่างามเลยยึดเอามา

หรือหมายถึงโลภะทั้งหมด โดยนัยเดียวกันว่า เป็นลักษณะของการยึดมั่นถือมั่น ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ปล่อยอารมณ์นั้นไปครับ

หรือว่ามีความแตกต่างกัน อย่างไรครับ?

---------------------------------------------------------------------

อุปาทาน คือ ความยึดมั่น มี ๔ ได้แก่

กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

โดยสภาพธรรม ได้แก่ โลภเจตสิกอย่างเดียวก็ได้ โดยไม่มีความเห็นผิด เช่น ติดข้องมากๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกามุปาทาน ส่วน ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ เป็นทิฏฐิเจตสิก คือ มีความเห็นผิดด้วย ครับ

เพราะฉะนั้น อุปาทานมีความหมายกว้างกว่าโลภะเจตเสิก แต่ อุปทานทั้ง ๔ เป็นจิตที่เป็นประเภทโลภะ คือ เป็นโลภะทั้งหมด เป็นโลภมูลจิต ครับ แล้วแต่ว่า จะมีความเห็นผิด หรือ ไม่มีความเห็นผิด ครับ เพียงแต่ว่า โลภะที่มีกำลังอ่อน ไม่ได้ติดข้องมาก ก็ไม่ได้เป็นถึงอุปาทาน ที่มีความยึดมั่นที่มีกำลัง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ก.ย. 2555

ทิฏฐิเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโลภะ ลักษณะของทิฏฐินี่ คือ เชื่อว่าโลกไม่มี เชื่อว่าบุญ บาป กรรม ไม่มี ความเชื่อต่างๆ ที่ไม่ตรงกับสภาพธรรมะตามความเป็นจริง เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดเป็นลักษณะของทิฏฐิเจตสิก ถูกต้องไหมครับ

- ถูกต้องครับ นี่ก็เป็นความเห็นผิดอย่างหยาบๆ แต่ แม้การประพฤติข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด เจริญหนทางที่ผิดในการดับกิเลส ก็เป็น ทิฏฐิ ความเห็นผิดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ทิฏฐิเจตสิกที่เป็นความเห็นผิด จึงมีอย่างละเอียด จนถึงหยาบ มีกำลัง ครับ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แล้วอย่างการที่มีความคิดว่า โลภะนี้ดี หรือ โทสะนี้ดี อย่างเช่นในกรณีที่ว่า ถ้ายังมีอกุศลนิดหน่อยก็คงจะดีในทางโลก เพราะโลภะ เป็นการทำให้ การทำงานสนุก ก็ไม่เครียดกับการทำงาน หรือโทสะ ในการสั่งสอนลูกอะไรแบบนี้ ต้องมีบ้าง ความเห็นแบบนี้ ถือว่าเป็นทิฏฐิเจตสิกหรือเปล่าครับ ถ้าไม่ใช่แล้วเป็นอะไรครับ

------------------------------------------------

- อกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง ย่อมทำลายตนเอง คือ จิตของผู้นั้นก่อนใคร เพราะฉะนั้น อกุศล กิเลส ไม่ว่ามากหรือน้อย ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ดี

คูถ แม้มีประมาณน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น ไม่ได้หมายความว่า ของที่สกปรก เมื่อมีน้อยจะทำให้หอม ครับ ซึ่ง ความคิดว่า อกุศลดี ก็ย่อมเป็นความเห็นผิดที่ละเอียดได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 2 ก.ย. 2555

สุดท้ายนี้ รบกวนขอท่านวิทยากรและมิตรธรรม ช่วยแสดงโทษของโลภะ แบบในลักษณะของปรมัตถธรรม คือในขณะที่ติดข้อง ในขณะที่ยินดีพอใจ เพราะยากจะเห็นได้จริงๆ เลย ในขณะที่ติดข้องแล้วเป็นโสมนัสเวทนา ขณะนั้นเป็นสุข มองไม่ออกถึงความไม่ดีของโลภะเลย เพราะเป็นสุข เป็นโสมนัสเวทนา

ต่อเมื่อสิ้นสุขของโลภะ สิ้นโสมนัสเวทนา จึงเกิดโทสมูลจิต จึงมีการแสวงหาปัจจัยต่างๆ นานาที่จะเป็นเหตุปรุงแต่งให้โลภะเกิด ด้วยการกระทำอกุศลประการต่างๆ บ้าง กุศลประการต่างๆ บ้าง ต้องดิ้นรนกระทำเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ให้เป็นทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ จึงจะเห็นโทษของโลภะที่ว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะสิ่งทั้งหลายมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด ไม่ตั้งอยู่ตลอดไปได้ เพราะสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ แต่ไอ้ตอนที่โลภะมันยังเกิดสืบต่อหลายๆ วาระ เป็นโลภะที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา มันมองเห็นโทษได้ยากเหลือเกิน เพราะอย่างบางคนที่ชีวิตพบเจอแต่สิ่งดีๆ มีแต่อิฏฐารมณ์เต็มไปหมด ทั้งชีวิตมีแต่ความเพลินเพลินยินดีเป็นโลภะ ไปถามเขาว่ามีทุกข์อะไรบ้าง ไอ้ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ จากอาการเจ็บป่วย หรือจากความขุ่นเคือง ขัดใจเล็กๆ เขาก็มองไม่เห็น เพราะเขามีสุขมากกว่า เขาก็มีความเห็นว่าก็สุขสบายดี ไม่เห็นมีทุกข์อะไรจะต้องให้ดับ แล้วก็ไม่เห็นจะต้องเจริญกุศล เพราะก็มีสุขดีอยู่แล้ว

เลยอยากจะทราบโทษ โดยลักษณะของปรมัตถธรรมขณะนั้น ว่ามีโทษมากมายประการใดบ้าง จะได้เป็นเครื่องเตือนสติให้เห็นโทษของโลภะแม้เพียงเล็กน้อย จะได้คลายออกไปเสีย เพราะ ถ้าเล็กน้อยยังไม่เห็นโทษ ก็คงเป็นปัจจัยให้ต่อไปใหญ่ก็คงจะไม่เห็นโทษได้เหมือนกัน

------------------------------------------------------------------

ผู้ที่จะเห็นโทษของโลภะ คือ เห็นด้วยปัญญา และ จะต้องเป็นปัญญา ระดับสูงมากๆ เพราะฉะนั้น ทำไมเราไม่เห็นโทษของโลภะ ทั้งๆ ที่โลภะเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน นั่นแสดงว่า เพราะ ปัญญายังน้อยมาก ที่สำคัญ กิเลสมีมาก และ หากเป็นผู้ละเอียดก็จะเข้าใจว่า กิเลสจะต้องละเป็นลำดับ

เพราะฉะนั้น จึงเหลือวิสัยที่จะละโลภะ ความยินดี พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เป็นกามคุณ ๕ พระอนาคามีถึงจะละได้ แม้แต่ พระโสดาบัน ก็ยังยินดีพอใจ ในกามคุณ ๕ มีนางวิสาขา ที่ยินดี พอใจในการแต่งตัวสวยงาม เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ตรง ตรงจากการศึกษาพระธรรมว่า กิเลสที่จะต้องละเป็นอันดับแรก คือ ความยินดีพอใจในความเห็นผิด ว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล คือ ละความเห็นผิดนั่นเอง ครับ เพราะฉะนั้น หากข้ามขั้นที่จะละ จะให้เห็นโทษของกิเลส คือ โลภะ ก็ไม่มีทางเป็นไปไปได้ เพราะ ยังไม่รู้ตัวกิเลสที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เมื่อไม่รู้จักศัตรู ก็ไม่มีทางละศัตรู เห็นโทษได้จริงๆ เป็นแต่เพียงการคิดนึกเป็นเรื่องราวว่า โลภะไม่ดีอย่างนั้น อย่างนี้ แต่โลภะก็เกิด เพราะ ปัญญาขั้นคิดนึก ที่คิดเห็นโทษของโลภะ ไม่ใช่หนทาง ละโลภะ และไม่ใช่ การเห็นโทษของโลภะจริงๆ

เพราะ โลภะ และ อกุศลอื่นๆ จะมีไม่ได้เลยหากไม่มีความไม่รู้ เพราะฉะนั้น เรามักจะคิดแต่ โลภะ โทสะ ลืม ไม่เห็นโทษของโมหะเลย ที่น่ากลัว ที่เป็นอวิชชา ความไม่รู้ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น การจะเห็นโทษของโลภะ และ กิเลสอื่นๆ คือ รู้จักโลภะ และกิเลสอื่นๆ ด้วยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นั่นคือ การเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้โลภะที่เกิดขึ้น ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือหนทางการละโลภะ ละกิเลส และ เป็นการเห็นโทษจริงๆ เพราะ เห็นโทษด้วยการรู้ลักษณะ และ รู้ว่า แม้ปัญญาก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

กิเลส จะต้องละเป็นลำดับขั้น คือ ละความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลก่อน ก็จะถึงการละโลภะ ได้ในที่สุด ซึ่ง การเห็นโทษที่ประเสริฐ และเป็นทางของการละกิเลส คือ การรู้ลักษณะของกิเลสในชีวิตประจำวัน ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน

ซึ่ง การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นนั่นเอง เป็นหนทาง ที่จะเริ่มรู้จักโทษของกิเลส เพราะ ทำให้เกิดสติระลึกรู้ตัวกิเลส ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ นี่คือหนทางการละกิเลสที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นิรมิต
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ขอกราบอนุโมทนา อ.ผเดิม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปาทาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความยึดมั่นถือมั่น สภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมไม่พ้นไปจาก โลภะ (โลภเจตสิก) และ ทิฏฐิ (ทิฏฐิเจตสิก) ซึ่งเป็นความเห็นผิด

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อุปาทาน เป็นกิเลส ที่มีกำลังยึดมั่นถือมั่น ดังนั้น อุปาทาน จึงไม่มีเฉพาะตัณหาหรือโลภะเท่านั้น ยังมีความเห็นผิดที่เป็นสภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่นด้วย ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี้คือ ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่จริงที่สุด

พระธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งหมดทั้งปวง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจ ตามความเป็นจริง ได้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง เมื่อเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่เข้าใกล้อกุศล แต่จะถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุด แล้วตั้งใจมั่น ในการที่จะอบรมเจริญกุศลต่อไป ซึ่งเป็นเครื่องเตือนที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะศึกษาจาก พระธรรม ในส่วนใด เรื่องใด ก็ตาม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์โดยแท้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ถ้าสะสมโลภะไว้มากๆ เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการทางสุจริต ก็แสวงหาทางทุจริต ทำให้ล่วงศีล ๕ เป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ ท่านจึงอุปมาโลภะว่าเหมือนลิงติดตัง คือเอามือไปจับ มือก็ติด เอาเท้าไปจับ เท้าก็ติด เอาปากไปจับ ปากก็ติด สุดท้ายก็ถูกนายพรานเอาไปฆ่า ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"กิเลสจะต้องละเป็นลำดับขั้น"

"กิเลสที่จะต้องละเป็นอันดับแรก คือ ความยินดีพอใจ ในความ เห็นผิดว่า มีเรา มีสัตว์

บุคคล คือ ละความเห็นผิดนั่นเอง ครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม อ.คำปั่นและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 21 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ