อุโบสถศิลข้อ 7
เรียน ท่านอาจารย์ผเดิม
ผมขอรบกวนเรียนถามท่านอาจารย์ผเดิมดังนี้ครับ
๑. การดูข่าวการเมือง หรือ สารคดีที่ให้ความรู้ เช่น สารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ หรือ สารคดีในทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ผิดศีลข้อ ๗ หรือไม่ อย่างไรครับ
๒. คำอาราธนาปฏิชาครอุโบสถ คือการรักษาอุโบสถศีล โดยเริ่มรักษาในวันรับ คือ ก่อนวันพระหนึ่งวัน และรักษาในวันส่ง คือหลังวันพระอีกหนึ่งวัน นี้ ... แตกต่างจากการอาราธนาปกติอุโบสถศีล คือการรักษาศีลในวันพระเพียงวันเดียว หรือไม่ อย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. การดูข่าวการเมือง หรือสารคดีที่ให้ความรู้ เช่น สารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ หรือสารคดีในทางวิทยาศาสตร์ ต่างๆ ผิดศีลข้อ ๗ หรือไม่ อย่างไรครับ
- ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ของการรักษาศีล ๘ คืออะไร ครับ
การรักษาศีล ๘ หรือ ถ้ารักษาในวันพระ เป็นต้น ก็เรียกว่า ศีลอุโบสถ ซึ่งมี ๘ ข้อ เป็นการรักษาศีล เพื่อเป็นไปในการขัดเกลากิเลสมากขึ้น จากที่เคยรักษาศีล ๕ ด้วยการเห็นประโยชน์ ของการเจริญกุศล และ เห็นประโยชน์ ของการขัดเกลากิเลสมากขึ้น การรักษาศีล ๘ จึงไม่ใช่เป็นไป เพื่อการได้ผลของบุญ แต่เป็นไป เพื่อขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ ครับ
ซึ่งจากที่ถามในประเด็นของศีลข้อที่ ๗ ใน ศีล ๘
ศีลข้อที่ ๗ คือ
๗. เว้นจาก ฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่น อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
ซึ่งในอรรถกถา อธิบายศีลข้อนี้ ครับ ว่า การดูในที่นี้ คือ การดู ไม่ใช่เพียงการดู เท่านั้น การฟังด้วย การดู หรือ การฟังอะไรก็ตาม ที่เป็นข้าศึก ทำลายอกุศล ด้วยมีเจตนาดู หรือ ฟังสิ่งนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส ครับ
เพราะฉะนั้น เมื่อรักษาศีล ๘ แล้ว การดู หรือ การฟังที่เหมาะสม ซึ่งใน มังคลถทีปนี ก็อธิบายว่า ควรเป็นการดู หรือ การฟังพระธรรม ที่เป็นไป เพื่อความเจริญขึ้นของกุศล และ ปัญญา เป็นสำคัญ ครับ เพราะฉะนั้น การดูข่าวการเมือง การดูสารคดีชีวิตสัตว์ เป็นต้น ย่อมไม่สมควรในการรักษาศีล ๘ ย่อมทำให้ผิดศีลข้อที่ ๗ ได้ เพราะ เป็นการดู การฟัง ที่เป็นข้าศึก ทำลายฝ่ายกุศลธรรม ทำให้เกิดกิเลสได้ง่าย
ดังนั้น การรักษาศีล ๘ ก็ต้องเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสมากขึ้น ไม่ใช่เพียงศีล ๕ การดู การฟัง ก็ควรเป็นไป เพื่อความเป็นประโยชน์ที่จะขัดเกลากิเลส มีการฟังพระธรรม เป็นต้น ครับ
ดังข้อความในพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๓
การดูสิ่งที่เป็นข้าศึก เพราะทำลายธรรมฝ่ายกุศล โดยเป็นปัจจัย ทำให้เกิดกิเลส ชื่อว่า วิสูกทัสสนะ หรือ การดู การเห็นที่เป็นข้าศึก ก็ชื่อว่า วิสูกทัสสนะ.
๒. คำอาราธนาปฏิชาครอุโบสถ คือ การรักษาอุโบสถศีล โดยเริ่มรักษา ในวันรับ คือ ก่อนวันพระหนึ่งวัน และ รักษาในวันส่ง คือ หลังวันพระอีกหนึ่งวัน นี้แตกต่างจากการอาราธนาปกติอุโบสถศีล คือ การรักษาศีล ในวันพระเพียงวันเดียวหรือไม่ อย่างไรครับ
- คำอารธนา ของวันรับ และ วันส่ง ก็เหมือนกันกับวันปกติที่รักษา ศีลอุโบสถ ครับ เพราะต่างก็มีเจตนารักษาศีลทั้ง ๘ ข้อเหมือนกัน เพียงแต่รักษาศีล ๘ มากวันขึ้น เท่านั้น ครับ
ขอนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์ด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
"... ผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลต้องเป็นคนดี คือ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล แล้วต้องเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีปกติรักษาศีล ๕ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้รักษาศีล ๕ เป็นปกติแล้ว จะรักษาอุโบสถศีล ก็คิดดูว่า จะรักษาเพื่ออะไร ในเมื่อปกติก็ไม่ได้เป็นผู้รักษาศีล ๕
ด้วยเหตุนี้ การรักษาอุโบสถศีลจึงต้องเป็นผู้เจริญกุศล และขัดเกลากิเลสด้วยการอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้มีความจริงใจ มีสัจจะต่อตนเอง ไม่ใช่รักษากันเพราะต้องการอานิสงส์ หรือว่า ต้องการผลของอุโบสถศีล โดยที่ตัวเองก็ยังเป็นผู้ไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริงใจ หรืออาจจะเป็นผู้มี มายา หลอกลวง แข่งดี โอ้อวด แล้วก็จะรักษาอุโบสถศีล นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การกระทำทุกอย่าง ควรจะต้องเป็นผู้มีปัญญา รู้เหตุผลในกุศลที่จะกระทำ ไม่ใช่เพียงต้องการได้รับอานิสงส์ หรือผลของอุโบสถศีลเท่านั้น ..."
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"การรักษาศีล ๘ จึงไม่ใช่เป็นไปเพื่อการได้ผลของบุญ
แต่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ ครับ"
"... ผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลต้องเป็นคนดี คือ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล
แล้วต้องเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีปกติรักษาศีล ๕"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกท่านครับ