กาม [สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา]
ความหมายของกาม
กาม หมายถึง ความใคร่ มี ๒ ความหมาย ได้แก่
กิเลสกาม คือ สภาพธรรมที่ติดข้อง ยินดี พอใจ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภะ
วัตถุกาม คือ สภาพธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ซึ่งอรรถกถา แสดงไว้ว่า ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด เว้นโลกุตตรธรรม ๙ ไม่เป็นวัตถุกาม ธรรมนอกนั้น เป็นวัตถุกามทั้งหมด กาม เป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นกระทั่งหลับไม่พ้นจากกาม แต่ไม่เห็นโทษในกาม ซึ่งมีปัจจัยจึงเกิด และดับ และไม่กลับมาอีก ซึ่งเพราะยากที่จะเห็นอย่างนี้ ก็เห็นในคุณอันน้อยของกาม
คุณของกาม
คำว่า “อัสสาทะ” แสดงคุณของกาม ซึ่งไม่ใช่คุณประโยชน์ แต่หมายถึง “นำมาซึ่งความยินดี พอใจ แช่มชื่นใจ” แท้จริง กามมีคุณน้อย มีทุกข์มาก เพราะเมื่อมีความติดข้องในกาม ขณะนั้นปิดกั้นกุศลธรรมไม่ให้เกิด “เมื่อเกิดในโลกของ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ก็ติดอะไรไม่ได้ นอกจากติดในสิ่งที่ปรากฏด้วยความคิดที่ว่าไม่ได้ดับไปบ้าง ด้วยความพอใจบ้าง”
โทษของกาม
ไม่สามารถที่จะเห็นโทษของกาม เหมือนอย่างพระอรหันต์ได้ เพราะปัญญา และคุณธรรมก็ห่างกันไกลแสนไกล ขณะนี้ยังไม่รู้ความจริง และก็ไม่ใช่ปัญญาขั้นพระสกทาคามี ที่เห็นโทษของกามจริงๆ ที่อบรมปัญญา เพื่อดับความติดข้องในกาม เพราะฉะนั้นโทษของกาม ที่กำลังเผชิญอยู่ตรงนี้ “ อยู่ที่การไม่รู้ ความจริงของกาม และเข้าใจกามว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ” เพราะฉะนั้นต้องฟังธรรมเพื่อเข้าใจขึ้น
กามโดยความเป็นของลวง
เมื่อธรรม ไม่ได้ปรากฏด้วยดีกับปัญญา จึงเห็นแต่มายา หรือความลวงของสิ่งซึ่งเกิดดับ โดยไม่ปรากฏร่องรอยของการเกิดดับ จึงลุ่มหลงติดข้องในนิมิต ในสิ่งที่กำลังปรากฏ
อ่านข้อความเตือนสติ ทั้งหมดจากสุภากัมมารธิดาเถรี คาถา..ข้อความเตือนสติเรื่องสุภากัมมารธิดาเถรีคาถา