การพอใจในถ้อยคำและวิธีการพูด
อยากทราบว่าการติดในถ้อยคำของผู้พูด ฟังแล้วหลงใหล
จัดเป็นการพอใจในอะไรคะ (ไม่ได้พอใจในน้ำเสียง แต่พอใจในวิธีการพูดและเรื่องที่พูด)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การพอใจ หลงใหลในวิธีการพูด และ เรื่องที่พูด ด้วยโลภะ ก็เป็นความพอใจ ในนิมิต อนุพยัญชนะที่เป็นบัญญัติ เรื่องราวเป็นอารมณ์ ครับ คือ ขณะนั้น ชอบวิธีการพูดอย่างนั้น ก็เป็นโลภะ ขณะนั้น ไม่ได้มีความพอใจ สนใจในพระธรรม หรือ ขณะที่ชอบเรื่องที่พูด ด้วยถ้อยคำสละสลวย ก็เป็นโลภะ ที่ติดข้องในถ้อยคำสละสลวยนั้นที่เป็นเรื่องที่พูด แสดงให้เห็นครับว่า โลภะ ติดข้องเกือบทุกอย่าง แม้เพียงเห็น ก็ติดข้องแล้ว โดยยังไม่รู้ว่าเป็นใคร บุคคลใด สิ่งใด และ เมื่อเห็นแล้ว ก็ยินดีในรูปร่างสัณฐาน ที่บัญญัติว่าเป็นบุคคลนั้น และ ก็ติดข้องในเสียงที่ได้ยิน เพียงแค่เสียง ยังไม่รู้ความหมาย ก็ติดข้องในเสียงนั้น และ เมื่อรู้ความหมายก็ติดข้องในเรื่องราวที่พูด ที่เป็นถ้อยคำสละสลวยได้เช่นกัน ดังนั้น โลภะ จึงติดข้องแม้บัญญัติ เรื่องราวได้ ครับ
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ต่อไปในอนาคตกาล ชนทั้งหลาย จะยินดี พอใจ ในถ้อยคำของนักปราชญ์ ที่กล่าวถ้อยคำ สละสลวย วิจิตร แต่ ไม่สนใจ พระธรรมของเราที่เป็นพระสูตร พระอภิธรรม เป็นต้น ที่ลึกซึ้ง ที่เราแสดงดีแล้ว ไม่สำคัญว่า ควรสดับฟัง แต่ ยินดี สดับตรับฟัง ถ้อยคำของนักปราชญ์ที่สละสลวย พระธรรมของเรา ก็จะค่อยๆ อันตรธานไป
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... พระธรรมอันตรธานไป [อาณีตสูตร]
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ความเลื่อมใสของบุคคล แบ่งเป็น ๔ พวกใหญ่ๆ คือ
๑. เลื่อมใส เชื่อถือ เพราะ การเห็น
๒. เลื่อมใส เชื่อถือ เพราะ การได้ยินเสียง
๓. เลื่อมใส เพราะ ความเศร้าหมอง
๔. เลื่อมใส เพราะ มุ่งที่ตัวธรรม คุณธรรม
ซึ่ง โดยมาก สัตว์โลกส่วนใหญ่ จะเลื่อมใสเพราะ การเห็น คือ เห็นรูปลักษณ์ภายนอก จึงเลื่อมใส น่าเชื่อถือ รองลงมา คือ เลื่อมใสเพราะ การได้ยินเสียง หมายถึง ได้ยินว่าผู้นี้มีชื่อเสียง ก็เลื่อมใส มากกว่า คนที่ไม่มีชื่อเสียง หรือ อีกนัย ก็หมายถึง การมีเสียงไพเราะ หรือ วิธีการพูดที่ดีก็ได้ครับ ว่าน่าเลื่อมใส ส่วนรองลงมาอีก คือ เลื่อมใสเพราะความเศร้าหมอง คือ ดูแต่งกายที่เรียกว่า สมถะ หรือ แต่งกายแบบปอนๆ ซึ่งดูน่าเชื่อถือ เป็นต้น และ ท้ายสุด คือ เลื่อมใสเพราะ คุณธรรม หรือ ตัวธรรม คือ เลื่อมใสไม่ใช่ดูที่รูปลักษณ์ภายนอก การแต่งกาย การมีชื่อเสียง แต่มีปัญญารู้ว่าผู้นี้มีคุณธรรมจึงเลื่อมใส ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า คนแสนคน จะมีเพียง ๑ คนเท่านั้น ที่เลื่อมใสโดยธรรม นอกนั้นก็เลื่อมใสโดยข้ออื่นๆ ครับ
นี่แสดงว่า เป็นเรื่องยากที่ บุคคลจะเลื่อมใสที่ตัวพระธรรม เป็นสำคัญ ที่ไม่ใช่ วิธีการพูด คำพูดสละสลวย ความมีชื่อเสียง รูปลักษณ์ภายนอก ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ... รูปสูตร .. บุคคลเลื่อมใส ๔ จำพวก
พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงโทษของการเลื่อมใส ๕ ประการว่า เมื่อบุคคลมีความเลื่อมใสเฉพาะคนแล้ว เมื่อบุคคลนั้น จากไป หรือ ตายจากไป ก็จะทำให้ผู้นั้น ไม่รับฟังผู้อื่น ไม่ฟังพระธรรมมากพอเหมือนแต่ก่อน เพราะ เลื่อมใสในตัวบุคคลเป็นสำคัญ ไม่ได้เลื่อมใสในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง บุคคลนั้นก็ย่อมห่างจากพระธรรมวินัย นี่คือโทษของการเลื่อมใสในเฉพาะบุคคล ครับ
ดังนั้น ประโยชน์ของการฟังพระธรรม คือ ฟังผู้อ่าน สาส์น โดยไม่ได้สนใจในตัวผู้อ่านสาส์น ว่าเป็นใคร แต่รับฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพในพระธรรม เพราะ มีพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ไม่ว่าใครจะกล่าว ก็สำคัญ คือ ความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ ในสิ่งที่ได้รับฟัง โดยไมได้มุ่งไปที่ความสละสลวยของถ้อยคำและ วิธีการพูด แต่มุ่งที่สาระสำคัญในพระธรรมบทนั้นที่ได้ฟัง เพราะ คำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความสละสลวย สมบูรณ์ด้วย อรรถ พยัญชนะ ทุกบท ทุกคำอยู่แล้วสำหรับผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่ ซึ่งก็คือสิ่งที่มีจริงๆ เมื่อเป็นความจริงก็ย่อมจะพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย ไม่ว่าจะเป็นในยุคใดสมัยใด ความจริงนี้ก็ไม่เปลี่ยน นี้คือความหมายของธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด และพระองค์ก็ทรงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวงตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเป็นสำคัญ โดยต้องใช้คำหรือพยัญชนะเพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจว่า กำลังแสดงถึงอะไร เพื่อเข้าถึงตัวจริงของสภาพธรรม
ทั้งหมดนั้นเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลัปรากฏตามความเป็นจริง ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ก็คือ เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ฟังด้วยจุดประสงค์อื่น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า คำพูดแม้ตั้งพัน แต่ไม่ได้ประกอบด้วยประโยชน์ ก็สู้คำพูดเพียงคำเดียวที่ประกอบด้วยประโยชน์ที่ฟังแล้วทำให้กิเลสสงบไม่ได้
การที่เราติดในถ้อยคำที่คนอื่นพูด เป็นโลภะที่ยินดีในคำที่ฟังแล้วยังให้ติดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ค่ะ