ชาคริยานุโยค คือ อย่างไร

 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่  5 ก.ย. 2555
หมายเลข  21682
อ่าน  17,063

กราบเท้าอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงทุกท่าน

กราบรบกวนสอบถามครับ

๑. ชาคริยานุโยค จากที่ค้นหาใน มศพ. (ส่วนของการสนทนาธรรม) มีข้อความดังส่วนล่างนี้ครับ

แต่เมื่ออ่านแล้ว สงสัยว่า ลักษณะ เ่ช่น

* จงกรม ๕ คือ อย่างไร และ

* การนั่ง

* การเดินจงกรม

* สำเร็จสีหไสยา

* ทำอุฏฐานสัญญา

* อาวรณิยธรรม

เป็นต้น ดังนั้นไม่ทราบว่า เฉพาะอาการทำอย่างนี้อย่างนี้ จะเป็นการเจริญสติได้เท่านั้นครับ ซึ่งก็ไม่ใช่ เพราะอาจารย์ไม่ได้สอนแบบนี้

หรือเป็นไปได้ไหมครับว่า สำคัญที่ท่าทาง ลักษณะอาการ อย่างนี้อย่างนี้ถึงจะเจริญสติได้ หรือ เป็นเฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่ปกติของท่าน (ซึ่งปกติก็สามารถเจริญสติได้ในทุกขณะอย่างอาจารย์เคยสอน)

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 47

ข้อความบางตอนจาก ...

๖. อปัณณกสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด

... ก็ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอนอย่างไร ภิกษุ ในพระธรรมวินัยนี้เวลากลางวัน ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ๔ ด้วยการจงกรม ๕ ด้วยการนั่ง เวลากลางคืน ตอนยามต้น ก็ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตอนยามกลาง สำเร็จสีหไสยา โดยข้างเบื้องขวาซ้อนเท้าให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญา ไว้ในใจ ตอนยามปลาย กลับลุกขึ้นชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งอย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอน

บทว่า ชาคริยานุโยคมนุยุตฺโต ความว่า ภิกษุย่อมขวนขวายประกอบความเป็นผู้ตื่นอยู่ โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุพึงแบ่งกลางวันและกลางคืนออกเป็น ๖ ส่วน แล้วพึงประกอบความเพียรในกลางวันด้วยการจงกรมและนั่ง

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชาคริยานุโยค หมายถึง เป็นผู้ที่มีความเพียร ตื่นอยู่ หากได้อ่านในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ ให้ภิกษุทั้งหลาย กำจัดนิวรณ์ และ เดินจงกรม เป็นต้น ซึ่ง การพิจารณาธรรมก็ต้องโดยละเอียด จะเห็นคำว่า ตื่นอยู่ ไม่ใช่เพียงตื่นโดยไม่หลับ จะเป็น ชาคริยานุโยค ที่เป็นการเพียร เพื่อถึงการดับกิเลสได้ แต่จะต้องตื่นจากกิเลส คือ มี สติสัมปชัญญะ คือ มีสติและปัญญาเกิดขึ้นในขณะที่ทำกิจ มีการเดินจงกรม ด้วย ครับ

ดังนั้น จะเพียร โดยขาดปัญญาไม่ได้ แต่ เป็นการแสดงถึง ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรมแล้ว ของเพศพระภิกษุที่มีความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา การเดินจงกรมก็เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้ไม่ให้หลับ และ แก้ความเมื่อยที่นั่งนาน หรือ อยู่ในอิริยาบถ ซ้ำๆ

เพราะฉะนั้น เดินจงกรม ไม่ใช่ว่าจะเป็นวิธีปฏิบัติธรรม แต่ขณะที่ปฏิบัติ คือ ขณะที่สติสัมปชัญญะ หรือ สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด ครับ

ชาคริยานุโยค ที่เป็นผู้มีความเพียร ตื่นอยู่ ตื่นด้วยปัญญา หากไม่มีปัญญา ก็ไม่ชื่อว่าผู้ตื่นอยู่ ครับ เพราะฉะนั้น สำคัญที่ความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ และ ไม่ใช่การเอาอย่างตามที่อ่าน แต่ก็ต้องรู้ว่า สะสมมาแบบไหน เพราะปัญญาสามารถเกิดได้ในอิริยาบถต่างๆ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม โดยไม่มีตัวตนที่จะไปทำให้สติ จะทำความเพียร หรือ จะต้องมีความเพียร จึงจะเกิดสติ ปัญญา ครับ

อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ถึงพร้อม ย่อมเป็นปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น มีความเพียรแล้ว เพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะ ไม่มีใครที่จะเพียรและมีปัญญาที่รู้ความจริงด้วย ครับ

การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่า พระองค์ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ที่จะเพียรในการเห็นประโยชน์ที่จะไม่หลับ แต่ก็ให้รู้ว่า ชาคริยานุโยค ขาดปัญญา คือ ความเป็นผู้ตื่นด้วยปัญญา ไม่ได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยการปฏิบัติที่ผิด (คือ ปฏิบัติผิด แต่เข้าใจผิดว่าปฏิบัติถูก) นั่นไม่ใช่ ความเพียรที่ถูกต้อง แต่เป็นไปกับด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ตื่นที่ไม่หลับ มีการนั่ง มีการเดิน เป็นต้น แต่ถ้ายังเป็นไปกับด้วยกิเลส ไม่เป็นไปกับด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก จะเป็นผู้ตื่นไม่ได้เลย เพราะตื่น ต้องตื่นจากกิเลส ตื่นจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความเพียรที่เกิดขึ้นเป็นไป ที่เป็นความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ก็ต้องเป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญา ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 7 ก.ย. 2555

ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุมีความเข้าใจมีปัญญาก็เจริญได้ แต่ยุคนี้คนเข้าใจธรรมมีน้อยมาก และ ส่วนมากทำตามๆ กันด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจก็ไม่ถูก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 10 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองอย่างสูงสุด

และ พี่วรรณี ด้วยครับ

ขออนุโมทนากุศลที่ทุกท่านได้เจริญแล้ว

ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแก่อาจารย์และผู้ใฝ่ในการฟังพระธรรมทุกเมื่อ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 15 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Nataya
วันที่ 15 พ.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 16 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ